วังวนแห่งความไม่รู้: (บทกลับ) ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้


ก่อนที่เราจะจัดการความรู้ เราต้องจัดการความไม่รู้ก่อน ไม่งั้นจะหลงทางไปอีกไกล

เมื่อผมมานั่งทบทวนจากประสบการณ์การทำงาน KM ได้พิจารณาเห็นว่า ผมได้พบคนจำนวนหนึ่งที่ชอบนำเสนอในสิ่งที่ไม่ค่อยเป็นประโยชน์กับใครสักเท่าไหร่ แต่ตัวเองนั้นมั่นใจเหลือเกินว่า สิ่งที่ตนนำเสนอนั้นดีสุดๆ ถ้าไม่ทำจะมีปัญหา (ที่คิดเอาเอง) ในด้านต่างๆมากมายนานับประการ ฟังตอนแรกก็น่าสนใจอยู่หรอก แต่พอคิดดูอีก ๒-๓ รอบก็พบความเพ้อฝันแฝงมาเกือบจะทั้งหมด ยกเว้นบางมุมที่พอจะฟังได้บ้าง แต่โดยภาพรวมนั้นแทบหาส่วนที่เป็นประโยชน์จริงๆ แทบไม่ได้เลย

 

ผมก็เริ่มมาทบทวนว่า คนคนนั้นกำลังมีระบบคิดเป็นอย่างไร ก็พอมาได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า เขาคิดว่าเขารู้ในสิ่งที่เขาไม่รู้ ทั้งบางส่วนและเกือบทั้งหมด  ผลการกระทำของเขาอาจสร้างความเสียหายให้กับสังคมอย่างมากมาย ที่น่าจะป้องกันได้ถ้าใช้ KM อย่างถูกหลักการ

แล้วทางออกคืออะไร 

 

ผมจึงขออ้างถึงคำพูดของนักจัดการความรู้ระดับปรมาจารย์ (ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์) ว่า ก่อนที่เราจะจัดการความรู้ เราต้องจัดการความไม่รู้ก่อน ไม่งั้นจะหลงทางไปอีกไกล ก่อนที่จะได้กลับมาเข้าทางที่ถูกต้อง อันเนื่องด้วยเราทุกคนมีความไม่รู้มากกว่าความรู้เป็นสิบเท่าร้อยเท่า แค่จัดการความรู้มันเป็นเพียงเศษละอองขององค์ความรู้ทั้งหมดที่เราอาจต้องมี  ฉะนั้นการจัดการความไม่รู้ซะก่อน จะทำให้เรารู้ว่าเรายังไม่รู้อะไร โดยเฉพาะสิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้ สิ่งที่ไม่จำเป็นก็วางไว้ก่อนก็ได้

 

เมื่อรู้ว่าเราไม่รู้อะไรบ้าง เราก็จะรู้ว่าเราควรจะไปค้นหาความรู้ที่ไหน กับใคร เมื่อไรดี ความรู้ที่ได้ก็จะนำมาจัดการร่วมกับความรู้ที่เรามี ทำให้เรามีชุดความรู้ที่ค่อนข้างครบถ้วนพอที่จะนำมาใช้งานได้จริง ไม่ใช่เพียงสาละวนกับสิ่งที่ตัวเองรู้เท่านั้น  แต่ความจริงแล้ว การจัดการความรู้ที่มีก็อาจนำไปสู่การค้นหาความไม่รู้ได้เช่นกัน แต่ก็จะเป็นทางอ้อมกว่าการจัการความไม่รู้ซะก่อน จะครบถ้วนและรอบคอบกว่ามาก  เช่นเดียวกับการทำช่องจดหมายให้ครบจำนวนคนในสำนักงาน แทนการจัดช่องจดหมายตามจดหมายที่มีคนส่งมาให้คนบางคน ประเด็นแรกจะครอบคลุมและรอบคอบกว่าประเด็นหลังกว่าหลายเท่า

 

หรือท่านชอบแบบหลังมากกว่าก็ไม่ว่าอะไร เพราะยังไงเราก็ไปทำในสิ่งเดียวกันให้ครบอยู่ดี ครับ

หมายเลขบันทึก: 60368เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2006 17:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ไม่รู้ แปลว่า รู้น้อย รู้ แปลว่า รู้มาก รู้บ้างไม่รู้บ้างถือว่าเป็นเรื่องปกติ อาจารย์เคยได้ยินคำว่ารู้แต่โง่ไหมครับ ท่านเมาเซตุง มีวิธีจัดการอยู่เหมือนกัน

พ่อผมสอนตั้งแต่สมัยเด็กๆ สักตอนอายุสัก ๑๒ ขวบคงได้ ว่า

ในสังคมนี้มีคนประเภทไม่รู้ไม่ชี้ อยู่มากมาย ปล่อยเขาไปเถอะ อย่าไปกวนเขาเลย เขาอยู่ดีของเขาแล้ว

เราควรค้นหาคนที่รู้แล้วชี้ ที่มีอยู่บ้างไว้เป็นครูเรา

พยายามไปคุยกับคนที่รู้แต่ไม่ชี้ เราจะได้ความรู้จากเขา

แต่ ให้หลีกคนที่ไม่รู้แล้วชอบชี้ให้ไกลๆเลยครับ

ผมไม่ค่อยเข้าใจหรอก มานึกออกตอนหลังนี่เองครับครูบา ว่าปัญหาสังคมมันอยู่ที่คนกลุ่มนี้จริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท