อภิชญา วรพันธ์ : ทำ “เรื่องใหญ่” ให้เป็น “เรื่องเล็ก”


เมื่อเช้าธรรศเห็นแม่แต่งตัวก่อนออกจากบ้าน และคงเห็นแม่แต่งตัวต่างจากที่จะไปทำงาน ธรรศถามแม่ว่า

ธรรศ - วันนี้แม่จะไปไหนหรือครับ

แม่ - แม่ไม่ได้ไปทำงาน แม่มีกิจกรรมค่ะ

ธรรศ - อ๋อ พาเด็กที่ป่วยไปเที่ยวหรือครับ

แม่ - ค่ะ วันนี้พาเด็กๆ ไปดู Disney on Ice แล้วพี่ธรรศอยากดูมั้ยคะ

ธรรศ - ไม่หรอกครับ ก็ธรรศแค่ไอนิดเดียว ไม่ได้เป็นอะไรมาก

555 แม่ฟังแล้วก็ขำมาก แหม! หมอธรรศแยกแยะอาการเป็นมาก เป็นน้อยได้อีก และธรรศก็แน่ใจว่าตัวเอง “ไม่ได้ป่วย” เพราะฉะนั้นถึงจะชวนไปดู Disney on Ice ธรรศก็ไม่ไป เพราะทราบว่าแม่พา “เด็กป่วย” ไปเที่ยว

แม่ถามธรรศต่อว่า

แม่ - แล้วที่ธรรศเป็นมะเร็งล่ะคะ

ธรรศ - โอ๊ย! นั่นน่ะ ธรรศหายแล้ว

แหม ... นี่ก็เก่งอีก หมอธรรศวินิจฉัยว่าโรคว่าหายแล้ว

ช่วงที่ทราบว่าธรรศเป็นมะเร็ง ธรรศอายุ 3 ปี 10 เดือน แม่บอกธรรศว่า ที่ธรรศไม่สบายก็เพราะ ธรรศมี “เจ้าป่อง” ในท้อง และจะต้องให้คุณหมอจัดการเอาเจ้าป่องออกไป

เมื่อธรรศอายุประมาณ 7 ปี แม่บอกธรรศว่า โรคที่ธรรศเป็นนั้น

- ภาษาเด็กๆ เรียกว่า “เจ้าป่อง”

- ภาษาไทย เรียกว่า “มะเร็ง”

- ภาษาอังกฤษ เรียกว่า CANCER

ตั้งแต่นั้นมา ธรรศก็จะจำชื่อโรคที่ตัวเองเป็นได้ และก็ทราบว่าตัวเองมีไตข้างเดียว เพราะอีกข้างตัดออกไปแล้ว ถ้าใครถามธรรศว่าเป็นโรคอะไร ธรรศก็จะบอกว่า เป็นมะเร็ง ส่วนธรณ์เอง แม่ก็บอกให้ทราบเช่นเดียวกับธรรศ บอกให้ทราบพร้อมๆ กัน

หลังจากนั้นธรรศเคยถามแม่ว่า

ธรรศ - แม่ครับ เป็นมะเร็งแล้วต้องตายมั้ย

แม่ - แล้วที่พี่ธรรศไปงานศพคนอื่นๆ กับแม่ เค้าไม่ได้เป็นมะเร็ง เค้าตายมั้ยคะ

ธรรศ - ตายครับ คุณแม่เคยบอกว่าทุกคนก็ต้องตาย

แม่ - ถ้างั้นคนเป็นมะเร็งจะตายมั้ยล่ะคะ

ธรรศ - ก็ต้องตาย

แม่ - ใช่ค่ะ ก็ตายเหมือนกันทุกคน

หลายคนสงสัย และถามว่า ธรรศยังเล็ก ทำไมต้องบอกลูกเรื่องเป็นมะเร็ง พูดเรื่องอื่นก็ได้ หรือไม่ต้องพูดก็ได้ และทำไมต้องคุยกับลูกเรื่องตาย ในมุมมองของแม่มีเหตุผล 2 ประการ ที่คุยเรื่องดังกล่าวคือ

- การรู้จักตัวเอง ถึงแม้ธรรศจะเป็นเด็ก แต่ก็สามารถรับรู้แบบง่ายๆ แบบที่เด็กจะพอเข้าใจได้ เหมือนกับการเรียนหนังสือ ก็มีหลายระดับชั้น เริ่มจากง่ายไปหายาก ซึ่งแม่รู้สึกว่า เรื่องแบบนี้คุยกับเด็กง่ายกว่าการคุยกับผู้ใหญ่เสียอีก และแม่ก็คิดว่า ธรรศก็ “มีสิทธิ์” ที่จะรู้เรื่องของตัวเอง และ “ควร” จะต้องรู้เรื่องของตัวเอง เพราะถ้าแม้แต่เรื่องของตัวเอง เรื่องในตัวของตัวเอง .... แม่ยังไม่อยากให้ธรรศรู้ เรื่องอื่นก็น่าจะเป็นเรื่องไกลตัว ที่ไม่จำเป็นต้องรู้ เราจะต้องส่งไปเรียนที่โรงเรียนทำไม หรือเราควรรู้เรื่องไกลตัว มากกว่าเรื่องในตัวเอง

- ความปกติของชีวิต เมื่อธรรศเป็นโรคมะเร็งก็ต้องยอมรับว่า ชีวิตของธรรศมีความไม่แน่นอนมากขึ้นกว่าเดิม การปูพื้นฐานความเข้มแข็งให้ “ใจ” ขอธรรศจึงเป็นเรื่องสำคัญ การที่ธรรศรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง แม้ว่าจะไม่รู้ลึกซึ้งเพราะยังเป็นเด็ก แต่ธรรศก็ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องผิดปกติอะไรมากมาย คงไม่ต่างจากเป็นหวัดนัก เพราะธรรศก็ทำอะไรๆ ได้เหมือนเด็กปกติคนอื่นๆ ดังนั้นธรรศก็จะไม่รู้สึกว่าโรคมะเร็งมีภาพที่น่ากลัว ถึงแม้ต่อไปธรรศจะเรียนรู้สภาพความเป็นจริงของโรคมากขึ้น แต่ในเมื่อธรรศและคนในครอบครัวก็พูดถึงโรคมะเร็ง อยู่กับโรคมะเร็งด้วยความปกติ พูดถึงความตายด้วยความปกติ จิตใจของธรรศก็ “น่าจะปกติ” เพราะเราคุยกันแบบปกติ ในเรื่องปกติของชีวิต ถ้าลูกมีพื้นฐานจิตใจที่เข้มแข็ง มองภาพสิ่งต่างๆ ด้วยการยอมรับความเป็นจริง ก็น่าจะเป็นการดีสำหรับการเดินทางที่จะต้องมีในอนาคต ไม่ว่าจะเดินทางด้วยเหตุอะไร

คนส่วนใหญ่เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ก็เริ่มเตรียมตัวสำหรับการเป็นแม่ เตรียมพร้อมสำหรับการเลี้ยงดูลูก แต่การเตรียมใจของลูกให้พร้อม .... หากจะต้องเดินทาง ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน

เป็นเรื่องน่าแปลกที่เรามักเห็นความสำคัญของ “ การอยู่ ” มากกว่าการตาย ซึ่งเห็นได้จากหนังสือเคล็ดลับ หรือการแนะนำการดูแลตัวเอง การดูแลสุขภาพกาย การดูแลสุขภาพจิต คอร์สสุขภาพต่างๆ ... สารพัดชนิด

แต่เมื่อพูดถึง “ความตาย” คนส่วนใหญ่มักไม่อยากนึกถึง หรือไม่ต้องการให้พูดถึง ทั้งๆ ที่ทุกคนก็ต้องตาย ทำไมไม่คิดวางแผนระยะยาวเพื่อเตรียมตัวสำหรับการเดินทาง ซึ่งทุกคนต้องพบแน่นอน

สำหรับแม่นั้น การช่วยเตรียมตัว และการช่วยเตรียมใจของลูกให้พร้อมสำหรับการเดินทาง ไม่ว่าจะเกิดในวาระใด ก็ถือว่าเป็นหน้าสำคัญอีกประการหนึ่ง

การทำ “เรื่องเล็ก” ให้เป็น “เรื่องใหญ่”เป็นเรื่องที่พบได้ในสังคมทั่วๆ ไป เป็นเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ฝ่ายใดอย่างแท้จริง

ส่วนการทำ “เรื่องใหญ่”ให้เป็น “เรื่องเล็ก”นั้น ดูน่าจะเป็นเรื่องที่แปลกในสังคม แต่ก็น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าการทำเรื่องเล็ก ให้เป็นเรื่องใหญ่

ในกรณีของธรรศ เรื่องที่คนอื่นเห็นว่า “ใหญ่” นั้น ที่จริงก็เป็นเรื่องของตัวธรรศเอง ธรรศก็ควรทราบเรื่องของตัวเอง และเป็นเรื่องความปกติของชีวิต

การบอกธรรศให้ทราบว่าเป็นโรคมะเร็ง การคุยกับธรรศเรื่องความตาย

ก็คงคล้ายกับการทำเรื่องใหญ่ (ในความรู้สึกของคนอื่น) ให้เป็นเรื่องเล็ก (ในความรู้สึกของแม่)

ซึ่งแม่ก็ตั้งใจที่จะทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก ต่อไป ….

คำสำคัญ (Tags): #death public awareness#Pal2Know#Pal2Know9
หมายเลขบันทึก: 603591เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2016 23:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มีนาคม 2016 23:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ชอบมากค่ะ คุณแม่ของน้องธรรศเก่งจัง คุยแบบสะท้อนให้น้องคิดเอง ด้วยภาษาง่าย ๆ

เป็นกำลังใจให้คุณแม่นะคะ ติดตามมาจากหลายๆแหล่ง เชื่อว่าคุณแม่ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่สำหรับทั้งสองหนุ่มแล้วค่ะ เป็นผู้ใหญ่ในร่างเด็กคือมีจิตใจที่มั่นคงและมีวิธีคิดในทางที่ดี เข้าใจชีวิตยิ่งกว่าผู้ใหญ่หลายๆคนอีกนะคะคุณแม่ยอดเยี่ยมจริงๆ

ชื่นชมความคิดมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท