ศีล ในพระคาถาอันเป็นโอวาทปาติโมกข์


ในพระคาถาอันเป็นโอวาทปาติโมกข์ (ปาฏิโมกข์ ก็เรียก) สี่บาทแรกของพระคาถานั้น เป็นพุทธพจน์ที่เราคุ้นเคยกันดี นั่นคือ

สพฺพปาปสฺส อกรณํ

กุสลสฺสูปสมฺปทา

สจิตฺตปริโยทปนํ

เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ

การไม่ทำบาปทั้งปวง

การยังกุศลให้ถึงพร้อม

การทำจิตให้ขาวรอบ (ผ่องใส)

นี่ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.

ก่อนที่จะพิจารณาถึงความหมายในคำตรัส คงต้องทำความเข้าใจกับคำว่า คาถา และ บาท กันก่อนค่ะ คำตรัสของพระพุทธเจ้าที่อาจารย์ทางภาษานำมาร้อยเรียงตามแบบแผนเฉพาะเพื่อให้จำง่าย เรียกว่าคาถา ในแต่ละคาถา จะมี ๔ บาท ดังนั้น สพฺพปาปสฺส อกรณํ ก็เป็นบาทหนึ่ง กุสลสฺสูปสมฺปทา ก็เป็นอีกบาทหนึ่ง ตั้งแต่ สพฺพปาปสฺ อกรณํ ถึง เอตํ พุทฺธน สาสนํ ทั้ง ๔ บาทนั้นรวมเป็นหนึ่งคาถา อย่างนี้เป็นต้น

เมื่อพิจารณาทีละบาท จะเห็นว่าคำตรัสนี้ ก็คือไตรสิกขาในอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง โดยที่ สพฺพปาปสฺ อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง ก็คือ ศีล กุสลฺสูปสมฺปทา การยังกุศลให้ถึงพร้อม ก็คือสมาธิ และ สจิตฺตปริโยทปนํ ก็คือปัญญา และด้วยความที่ศีล สมาธิ ปัญญา คือการปฏิบัติที่รวมเรียกว่ามรรคมีองค์ 8 ดังนั้น ความหมายของคำตรัสนี้ จึงเป็นการปฏิบัติที่เป็นวิธีพัฒนาตนของบุคคล จากปุถุชน ค่อยๆหมุนวน ไปสู่กัลยาณปุถุชน จนถึงพระอริยบุคคลในระดับต่างๆ ตามการแก่รอบของมรรค

ในที่นี้ ขอนำเพียงบาทแรกของพระคาถานี้ มาพิจารณาก่อนดังต่อไปนี้นะคะ

สพฺพปาปสฺส อกรณํ

 

คำว่าบาปมาจากศัพท์ในภาษาบาลีว่า "ปาป" (ปา-ปะ) มีคำแปลต่างๆ เช่น กรรมอันยังสัตว์ให้ถึงทุคคติ ภาวะที่ทำให้ถึงทุคติ สิ่งที่ทำให้จิตตกต่ำ เพราะ "พอบาปเกิดขึ้น ความคิดไม่ดีเกิดขึ้น โทสะ โลภะ เกิดขึ้น จิตก็ตกต่ำลงไป และนำไปสู่ทุคติด้วย" (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) - เชื่อกรรม-รู้กรรม-แก้กรรม)

สิ่งที่ทำให้จิตตกต่ำลงดังที่เรียกว่าบาปนี้ ไม่ได้มีเพียงการ "ไม่ทำความชั่ว" ทั้งทางกาย วาจา ใจ เท่านั้น แต่ยังหมายความรวมไปถึงการ "ไม่ทำความดี" ด้วย เพราะเมื่อรู้ว่าสิ่งใด เรื่องใด เป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่ควรทำ แต่ไม่อาจตัดใจทำ ก็คือการปล่อยให้จิตถูกตัณหา ทิฏฐิ อคติ มานะ พาไป จนไม่สามารถทำความดีได้นั่นเอง

ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ ก็เช่น

เด็กชาย ก. เห็นโอกาสที่จะหยิบเงินจากกระเป๋าของคุณครู เฝ้าแต่วนเวียนคิดว่าจะหยิบดีหรือไม่หยิบดี ในที่สุด ตัดสินหยิบเงินในกระเป๋าของคุณครู

นาย ก. รู้ว่านาย ข. ซึ่งเป็นพนักงานคนใหม่ในแผนกเดียวกันเป็นคนขยัน มีความตั้งใจในการทำงาน มีน้ำใจดี เมื่อคอยจับตาดูนาย ข. ก็ชวนให้คิดไปว่า นาย ข. อาจกลายเป็นคู่แข่งของตนในอนาคต ต่อมา นาย ข. มาขอความช่วยเหลือโดยขอให้สอนในสิ่งที่นาย ก. มีความชำนาญให้ นาย ก. หาทางบ่ายเบี่ยงเรื่อยไปเพื่อที่จะได้ไม่ต้องสอนงานให้ เพราะกลัวว่าถ้านาย ข. มีความชำนาญเหมือนตน ตนจะมีความก้าวหน้าในการงานสู้นาย ข.ไม่ได้

นาง ก. มีคู่แล้ว แต่แอบสนใจนาย ข. อย่างชู้สาว นาง ก. คิดว่าแค่คิดถึงอยู่เพียงในใจคงไม่เป็นไร จึงปล่อยใจให้ใช้จินตนาการถึงนาย ข. ทุกครั้งที่พบกัน และไม่เคยคิดหักใจจากนาย ข. มาพอใจแต่ในคู่ของตนเลย

นางสาว ก. มีเรื่องขัดใจกับนางสาว ข. วันหนึ่ง นางสาว ก. เห็นนางสาว ข. พลัดตกน้ำ นางสาว ข. ว่ายน้ำไม่เป็น จึงร้องขอความช่วยเหลือ นางสาว ก. เห็นเหตุการณ์โดยตลอด ทั้งๆที่นางสาว ก. ว่ายน้ำเก่ง แต่ก็ไม่ให้ความช่วยเหลือนางสาว ข. แต่อย่างใดเพราะนึกถึงเรื่องที่เคยขัดใจ จึงรีบเดินหลีกไปทันที

การกระทำของทั้งเด็กชาย ก. นาย ก. นาง ก. และ นางสาว ก. ต่างก็เรียกว่าบาปด้วยกันทั้งสิ้น เพราะทำในสิ่งที่น้อมใจตนให้ตกต่ำ พวกเขาต่างตกอยู่ใต้การครอบงำของกิเลส จนไม่สามารถห้ามใจไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควร หรือชักชวนให้ตนทำในสิ่งที่ควรได้

โดยที่เด็กชาย ก. ปล่อยให้ความโลภในทรัพย์ครอบงำจนทำผิดศีล คือถือเอาของที่เขาไม่ให้ การไม่ละความคิดที่จะหยิบเงินในกระเป๋าของคุณครู ก็คือไม่ขวนขวายทำในสิ่งดี ซึ่งในที่นี้ คือการหักห้ามใจ เมื่อไม่พยายามหาเหตุผลที่จะหักห้ามใจ ในที่สุด จึงยินดีที่จะทำบาป

สมดังที่ตรัสในพระคาถาที่ว่า

อภิตฺเรถ กลฺยาเณ

ปาปา จิตฺตํ นิวารเย

ทนฺธํ หิ กรโต ปุญฺญํ

ปาปสฺสมึ รมตี มโน ฯ

บุคคล พึงขวนขวายในกรรมอันงาม พึงห้ามจิตจากบาป

เพราะว่า เมื่อบุคคลทำบุญช้า ใจจะยินดีในบาป.

บาปมีธรรมที่ตรงข้ามกันคือ "ปุญฺญ" หรือ บุญ ซึ่งมีคำแปลว่า เครื่องชำระบาป ทางสู่สุคติ

เนื้อความตามที่ตรัสว่า เพราะว่าเรามีการกระทำที่เรียกว่า “บุญ” ช้า ซึ่งหมายถึงการห้ามจิตจากบาปช้า เราจะยินดีในบาป แสดงว่า เมื่อเราห้ามจิตจากบาป เราได้ทำบุญไปในคราวเดียวกัน เพราะการกระทำคือการห้ามใจจากบาปนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ เป็นกรรมอันงาม เป็นกรรมที่นำตนสู่สุคติ (กรรม แปลว่าการกระทำ) เป็นการชำระบาปออกจากใจ

แล้วทำไมเหตุใด การห้ามใจจากบาปจึงเป็นบุญหรือคะ

ก็เพราะว่า ธรรมทั้งปวงมีฉันทะ หรือ ความพอใจเป็นมูล (ฉันทมูลกา) เมื่อพอใจ จึงกระทำตามความพอใจอยู่เรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากหากเราขโมยสำเร็จสักครั้งเราจะยินดีกับความสำเร็จนั้น เกิดปีติ สุข ขึ้น

ปีติและสุขนี้ เป็นคำกลางๆค่ะ เป็นผลของการกระทำที่ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะในด้านดีหรือร้าย เมื่อสุขใจเพราะการกระทำอย่างไร เราก็มักจะทำอย่างนั้นซ้ำๆ เพราะเหตุที่จิตได้สุขจากการขโมย จึงทำให้อยากขโมยอยู่เรื่อยๆ และเมื่อทำผิดซ้ำๆ ผลของการกระทำผิดก็ย่อมนำเราไปสู่ความทุกข์ร้อนในที่สุด ดังนั้น การห้ามใจจากบาปจึงเป็นการรื้อทางสู่ทุคติของตนออกเสีย สร้างทางสู่สุคติอันเป็นบุญขึ้นแทน

ดังนั้น เมื่อหลงทำผิดและรู้ตัวว่าได้ทำผิดลงไปแล้ว จึงควรละความพอใจในผลของความผิด ละความคิดที่จะทำผิดในครั้งต่อๆไป เพื่อค่อยๆคลายความเคยชินในการทำผิดนั้นอันจะนำทุกข์มาสู่

สมดังที่ตรัสในอีกพระคาถาหนึ่งว่า

ปาปญฺเจ ปุริสา กยิรา

น นํ กยิรา ปุนปฺปุนํ

น ตมฺหิ ฉนฺทํ กยิราถ

ทุกฺโข ปาปสฺส อุจฺจโย ฯ

ถ้าบุคคลพึงทำบาปไซร้ ไม่พึงทำบาปนั้นบ่อยๆ

ไม่พึงทำความพอใจในบาปนั้น

เพราะว่า การสั่งสมขึ้นซึ่งบาปนำมาซึ่งทุกข์.

การพิจารณาเพื่อให้เห็นตรงสภาวะว่าสิ่งใดเป็นบาป เป็นอกุศล สิ่งใดเป็นบุญ เป็นกุศล เพื่อให้เกิดความเห็นว่าการปฏิบัติใดตรงต่อการสิ้นไปของความทุกข์ ของกิเลสนี้ ก็คือ ทิฏฐุชุกัมม์ การทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ หรือ ทางแห่งความดี ที่ตั้งแห่งการทำบุญ ทั้ง ๑๐ นั่นเอง และข้อนี้ จัดว่าเป็นการทำบุญข้อที่สำคัญที่สุดเพราะสามารถชำระบาปได้อย่างแท้จริง

ส่วนนาย ก. เพราะปล่อยให้ความโลภในความก้าวหน้าในอาชีพครอบงำ ความหลง (โมหะ) และความขัดเคืองใจ (โทสะ) ครอบงำ จึงเกิดการเพ่งเฉพาะ (อภิชฌา) ต่อตัวนาย ข. ต่อความดีงามของนาย ข. ด้วยใจที่ประกอบด้วยความระแวง ด้วยขาดเมตตา ด้วยริษยา จนไม่สามารถพลอยยินดีกับสิ่งดีๆที่นาย ข. มีอยู่ ทำอยู่ (มุทิตา) ได้

เมื่ออกุศลธรรมเหล่านี้จรมาครองใจเนืองๆ ก็เท่ากับมีภพตั้งอยู่ จนเมื่อเกิดเหตุเฉพาะหน้า คือนาย ข. มาขอความช่วยเหลือ ชาติ จึงมี คือมีใจที่ขาดกรุณา เกิดความตระหนี่จนไม่สามารถให้ธรรมทานอันเป็นศิลปวิทยาได้ อันนำไปสู่การกระทำทางกาย วาจา คือการหาทางปฏิเสธ

สำกรับนาง ก. ที่มีคู่อยู่แล้ว มีความรักแบบหนุ่มสาว อันเป็นไปตามธรรมดาของบุคคลในโลกที่ยังติดข้องกับความรื่นรมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อันเป็นไปตามธรรมชาติของจิตที่ต้องมีปีติ สุข เป็นอาหารหล่อเลี้ยงเช่นเดียวกับกาย ที่ต้องมีสิ่งที่ทานเข้าไปหล่อเลี้ยง ซึ่งอาหารที่จิตหาได้ง่ายที่สุดก็คือสุขจากการเสพทางตา หู เป็นต้น เหล่านั้น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่บุคคลในโลกจะยังมีความรักด้วยยังไม่สามารถหาสุขที่ประณีตกว่ามาหล่อเลี้ยงจิตได้ตลอดเวลา

สมดังที่สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ได้ทรงอธิบายว่า

ในสิกขาบท 5 หรือ ศีล 5 หรือ เบญจศีลนั้น ต้องอบรมคู่กับเบญจธรรมหรือธรรมอันดีงาม ๕ อย่างที่เกื้อกูลแก่ศีล คือ

ไม่ฆ่าสัตว์ ต้องอบรมคู่กับเมตตาและกรุณา

ไม่ถือเอาของที่เขาไม่ให้ ต้องอบรมคู่กับสัมมาอาชีวะ

ไม่ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ต้องอบรมคู่กับความพอใจแต่เพียงในคู่ของตน ความสำรวมยับยั้งควบคุมตนในทางกามารมณ์

ไม่พูดปด ต้องอบรมคู่กับสัจจะ ความสัตย์ ความซื่อตรง และ

ไม่เสพของมึนเมา ต้องอบรมคู่กับสติสัมปชัญญะ ระลึกได้และรู้ตัวเสมอ คือฝึกตนให้รู้จักยั้งคิด ให้รู้ว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ

เมื่อนาง ก. ไม่อบรมความพอใจในคู่ของตน ไม่สำรวมในกาม เนื่องจากความรักของชายหญิง เป็นรักที่ประกอบด้วยตัณหา เพราะเกิดจากความปรารถนาจะให้ซึ่งกันและกัน เพื่อเสพสิ่งที่ให้ความรื่นรมณ์จากกันและกัน เสพปีติ สุข อันเป็นอาหารของจิตจากกันและกัน ใจจึงเป็นไปตามธรรมชาติของตัณหา ที่เมื่อไม่ได้ก็ไขว่คว้า ครั้นได้มาก็สุข พอใจอยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นก็ชาชินกับสุขที่ได้เสพ แล้วจึงเบื่อ อยากได้สิ่งอื่นมาเสพแทน เมื่อพอใจสิ่งใหม่แต่ไม่สามารถเสพสุขจากสิ่งนั้นในความเป็นจริงได้ ประกอบกับไม่มีการอบรมตน ก็ยึดสิ่งนั้นไว้สร้างเรื่องราวให้ได้เสพสุขอยู่เพียงในใจ โดยไม่รู้ว่านั่นเป็นเหตุแห่งทุกข์ใหญ่ เนื่องจากทำให้หลงอยู่ในความคิดปรุงแต่ง หลงอยู่ในกาลทั้งสาม

เพราะธรรมชาติของการคิด คิดวาดฝันถึงอนาคตอยู่ในปัจจุบันครั้งหนึ่ง ก็จำไว้อย่างนั้นครั้งหนึ่ง คิดครั้งต่อไป ก็นำสิ่งที่จำไว้อันเป็นอดีตไปแล้วมาคิดต่อ เป็นอย่างนี้เรื่อยๆไป จนโลกในความเป็นจริงกับในจินตนาการ ห่างกันออกไปเรื่อยๆ เมื่อโลกทั้งสองนี้ห่างกันมากๆเข้า ก็จะรับไม่ได้ ต้องระเบิดเป็นทุกข์เพราะความอดกลั้นครั้งใหญ่ หรือ ละเมิดสิกขาบทออกมา

เพราะการคิดปรุงแต่งไปตามตัณหานั้น จัดเป็นอภิสังขาร และอภิสังขารก็จัดเป็นมารจำพวกหนึ่ง เรียกว่า อภิสังขารมาร เมื่อทำความคุ้นเคยกับมารก็ย่อมพบกับความทุกข์ในที่สุด

ด้านนางสาว ก. ที่เห็นนางสาว ข. ตกน้ำแล้วรีบเดินหลีกไป ไม่ยอมให้ความช่วยเหลือ ปล่อยให้นางสาว ข. ดิ้นรนจนอาจถึงแก่ชีวิตอยู่ตามลำพังนั้น ก็เพราะนางสาว ก. ปล่อยให้ความพยาบาท (คือความปองร้ายเขาหรือความคิดที่ว่าเขาจงถูกเบียดเบียน เขาจงเดือดร้อน) ความผูกโกรธ (คือทำความโกรธที่ดับไปแล้วให้กลับขึ้นมาอีก ทำให้รู้สึกโกรธขึ้นมาใหม่) เป็นต้น ครอบงำจิต จึงไม่คิดหาทางช่วยเหลือนางสาว ข. ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนซึ่งหน้า

ที่เป็นอย่างนี้ เพราะทุกคนตามที่กล่าวเล่ามา ขาดการอบรมเมตตาให้เกิดขึ้นแก่จิตนั่นเองค่ะ ซึ่งคนที่ตนไม่เมตตามากที่สุดก็คือตนเองนั่นเอง เพราะไม่เมตตาตน จึงปล่อยจิตตนให้ตกสู่ที่ต่ำ ยอมให้อกุศลธรรมครอบงำจิต จนไม่สามารถทำในสิ่งที่เป็นบุญ ไม่สามารถทำในสิ่งที่ชำระบาปได้ กิเลส บาปอกุศลธรรมจึงพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ

ตรัสให้เรามีปกติเห็นภัยแม้ในโทษเพียงเล็กน้อย เพราะสิ่งที่ประทุษร้ายใจแม้จะมาจากกิเลสเล็กน้อยดุจธุลี แต่หากไม่มีการปัดกวาด ยอมให้ตกทับถม นานๆเข้า ก็กลายเป็นดินกองโตที่ทำความสะอาดได้ยากยิ่งขึ้น

ชีวิตก็จะหาความเป็นปกติ หรือ เป็นศีล ได้ยากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

เมื่อไม่มีศีล ตน ก็ทำทุคติให้ตน

สพฺพปาสฺส อกรณํ จึงเป็นสิ่งที่เราพึงให้ความใส่ใจ เพราะเป็นจุดเริ่มอันนำไปสู่จิตที่มีความสม่ำเสมอในที่ทั้งปวงด้วยไม่เอนเอียงยามถูกกระทบด้วยโลกธรรม สู่ปัญญา ที่พาพ้นทุกข์ได้ ในที่สุด

หมายเลขบันทึก: 602808เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2016 14:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2022 17:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ศีลคือ พุทธบทแห่งการศึกษาเรียนรู้ข้อประพฤติ ปฏิบัติให้สอดคล้องกับพุทธุดมคติ เมื่อศึกษาเข้าใจแล้วพึงกระทำหรือแสดงไปตามบทหรือกรอบนั้นๆ ในพุทธศาสนามีศีลหลายระดับเช่น ระดับชาวบ้าน ระดับผู้เข้าใกล้รัตนไตรและผู้สละชีวิตเข้าไปสู่ร่งเงาศาสนาคือ พระภิกษุ

ศีลชาวบ้าน (ศีล๕) เป็นข้อห้ามหรืองดเว้น และมีหลักธรรมให้น้อมนำมาถือทดแทนคือ เมตตา เสียสละ สันโดษ สัจและสติ

ศีลพระภิกษุ เป็นทั้งข้อห้ามและข้อให้ปฏิบัติตาม (๒๒๗ ข้อ)

นั่นคือ ศีล ที่เป็นข้อวัตร ให้ศึกษาไว้เป็นกรอบว่า อะไรเหมาะสม ไม่เหมาะสม

นอกจากนั้น ยังมีศีลสังวร ศีลอินทรียสังวรอีกเช่น อายตนภายใน ภายนอก ศีลสังวรในการอยู่ การกิน ในวิถีชีวิตประจำวัน ซึ่งมานอกพระปาฏิโมกข์ ที่ละเอียดมากกว่า ข้างบน และทำตามได้ยากกว่า ถ้าทำได้ ศีลข้างบนก็จะละเอียดตามด้วย

ปัจจุบัน เราก้เข้าใจผิดว่า อันไหนที่พระพุทธเจ้าสอนกันแน่ ให้ดูตามแรงโน้มพุทธประสงค์ว่า เป็นเพื่อสะสมหรือไม่ เป็นไปเพื่อมักมาก ตัดกิเลส เพื่อดับทุกข์ เพื่อความไม่สะดวกต่อการดำรงชีพหรือไม่นั่นคือ ศีลทั้งกฎและวัตรครับ

ขอบคุณที่เสนอมุมพุทธทัศน์ครับ

Thank you for the gift of dhamma - and a very refreshing explanation.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท