ข้อเสนอเชิงนโยบาย ICT เพื่อกศน. ก่อความคิดของดิศกุล


บนหนทางที่ไม่สิ้นสุด ....การก่อตัวของพันธมิตรที่สนใจในเรื่องเดียวกันจะเป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนาไอซีทีสู่วิถึชาวบ้านได้รับการสานต่ออย่างต่อเนื่องต่อไป

ข้อเสนอเชิงนโยบาย  ไอ  ซี ที  เพื่อ  กศน.ก่อความคิดของ   ดิศกุล         

เมื่อผมได้รับการประสานจาก ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ ว่าผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน อยากให้พวกที่ไปศึกษาดูงานที่อังกฤษมาสุมหัวกันในการประชุมปฏิบัติการ ICT  สำหรับ กศน. ซึ่งจะจัดที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ ในวันที่   1-3 พฤศจิกายน 2549  ให้พยายามทำตัวให้ว่างไว้ จึงต้องตอบปากรับคำไว้ก่อนในฐานะพันธมิตร ที่ตลุยกรุงลอนดอนมาด้วยกันเห็นภาพเด็ด ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในเมืองไทย และยังได้พบตำรวจถือปืนกลย่างกราย เข้ามาหา  ด้วยเราสองคนเดินเข้าไปในที่มิอนุญาตให้คนภายนอกเข้าในยามเช้าที่ฟ้ายังไม่สาง ...

ในการพยายามทำตัวให้ว่างบนความจริงที่ไม่ว่าง ทุกอย่างก็ลงเอยด้วยดีแม้มีความทุกลักทุเลในการเดินทางไปลำปาง  คุณมาลี  ผ่องสุภา ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดฉะเชิงเทรา  ได้ไปจองตั๋วรถไฟให้ได้เป็นที่นั่งสุดท้ายของตู้นอนและอยู่ท้ายขบวนที่สุดพอดี มิได้ลิ้มรสของการนั่งรถไฟมานานหลายปีเลย มาสัมผัสบรรยากาศอีกครั้งเหมือนกับนอนในเปลที่แกว่งซ้าย แขว่งขวา ดูน่าอภิรมย์ สมคุณค่าของชีวิตและโชคดีที่ที่พบพันธมิตรบนตู้รถไฟซึ่งปลายทางอยู่ที่การประชุม ICT เหมือนกันคือ ดร.ปรีชา ชคัตตรยาพงษ์ และ รองสมพร คงสกุล ที่ศูนย์การศึกษาทางไกลไทยคม และอาจารย์วิฑูรย์ ภูลังกา เจ้าหน้าที่ ICT  ของสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน                   

การเดินทางสิ้นสุดบนรถไฟซึ่งยังรักษามาตรฐานของการเสียเวลาอยู่เสมอ รถไฟถึงที่หมายช้ากว่าหนึ่งชั่วโมง จึงรีบทานอาหาร ก๋วยจั๊บเจ้าเด็ดหน้าสถานีรถไฟที่ใคร ๆ ที่มาเมืองรถม้าลำปาง ต่างก็นิยมชมชอบอาหารร้านนี้ เสร็จแล้วตรงรี่ไปเข้าที่พักโรงแรมพิณ เพื่ออาบน้ำแบบด่วนมุ่งสู่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ และร่วมประชุมอย่างทันเวลา หรือเพราะว่า ดร.สุชิน ถ่วงเวลาเพื่อรอเราจึงดึงเกมส์ พิธีเปิดการประชุมให้ยืดไปอีกนิด                  

การประชุมจัดในบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพันธมิตรจากหลายองค์กรทั้งจากมหาวิทยาลัยองค์กรเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชาว กศน. เมื่อผ่านขั้นตอนพิธีเปิดการประชุมไปแล้วความคิดต่าง ๆ ก็พรั่งพรูออกมาในประเด็นที่หยิบยกมาไม่ว่าจะเป็นเรื่อง  e – learning   เรื่องประเด็นที่ท้าทายเกี่ยวกับ ICT เรื่องแนวทางความร่วมมือและแนวทางการพัฒนา e – learning   ในอนาคต เรื่องขอสรุปกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมไปถึงกลไกให้  ICT ไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวบ้าน ล้วนคุยกันอย่างออกรสชาติได้ข้อสรุปเชิงเอกสารเป็นปึกใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการสอดแทรกด้วยการไปดูงานบ้านสามขาชุมชนแห่งการเรียนรู้ สำหรับผมได้เรียนรู้จากปรากฏการณ์ที่พบในหมู่บ้าน ทำให้ต้องหันมามองจากความคิดที่ก่อนมีมุมมองในฐานะนักวิจัยเชิงปริมาณต้องหันมาให้ความสำคัญของมุมมองการวิจัยเชิงคุณภาพกระบวนทัศน์ของผมจะต้องเป็นแบบผสมผสานเพราะได้สัมผัสกระบวนการทางปัญญาในชุมชนอันมีความหมายมากกว่าสิ่งที่เห็นด้วยตาเปล่า

สรุปตบท้ายของการประชุมผมได้รับมอบหมายจาก ดร.สุชิน ให้นำเสนอแนวคิดเชิงนโยบายในฐานะนักบริหาร จึงได้ตกตะกอนความคิดทั้งแบบมหภาคและจุลภาค เป็นสาระสำคัญ ดังนี้ ผมคิดว่าข้อเสนอเชิงนโยบายนั้นหากคิดให้ครบถ้วนกระบวนความก็จะต้องทำกระบวนการนโยบายให้เห็นเป็นขั้นตอนใน 4 ขั้น คือ  ขั้นก่อตัวนโยบาย  ขั้นกำหนดนโยบาย ขั้นปฏิบัติตามนโยบาย และขั้นการประเมินนโยบาย  โดยฐานความคิดผสมผสานทั้งแนวคิดเชิงมหภาค และจุลภาค มองแบบนักนโยบายที่มองแบบใหญ่ก็ต้องใช้หลักคิดที่ว่า คิดใหญ่ ไม่คิดเล็ก ขณะเดียวกันก็มองในจุดที่เป็นจุลภาค โดยใช้หลักคิดที่ว่า ทำแบบเจ๊กจากเล็กไปใหญ่ (เพราะว่าทำแบบไทยจากใหญ่ไปเล็ก)  เริ่มจากขั้นก่อตัวนโยบาย ผลจากการเสวนาครั้งนี้ถือว่าเป็นจุดการก่อตัวที่สำคัญโดยพันธมิตร มาพบกันโดยอาศัยหลักการของเหมา เจ๋อ ตุง แบบคอมมิวนิสต์ ที่ว่า ปรับทุกข์  ผูกมิตร คบคิด จัดตั้ง เป็นยุทธการป่าล้อมเมืองในการสร้างขยายเครือข่ายพันธมิตร แบบไม่เป็นทางการสู่ความเป็นทางการโดยจุดที่จะต้องผลักดันต่อไปคือสร้างความตระหนักแก่ผู้นำ กศน. ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับ Top Management  ลงมา ถ้าหัวไม่ส่ายหางก็ไม่กระดิก ฉันใดก็ฉันนั้น

ต่อมาในขั้นกำหนดนโยบาย  พึงดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ    (1) พัฒนาระบบงานสานความเชื่อมโยง ICT สู่วิถีแห่งปัญญา โดยจัดทำแผนแม่บท ICT กศน. ประกอบกับการจัดระบบส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ (มากกว่าระบบจัดความรู้ให้) คำนึงถึงสภาพภูมิสังคมไทย และการใช้พลานุภาพของพันธมิตร (2) การเตรียมความพร้อมของทรัพยากรของ กศน.  โดยมีการ Retool  และ Retrain เพื่อให้มีการสร้างนักจัดการความรู้ นัก ICT ตลอดจนผู้อำนวยความสะดวกในพื้นที่ (Local Facilitator) มีการกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ ICTขั้นต่ำของแต่ละหน่วยงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอทุกแห่งต้องได้รับการดูแลให้มีความพร้อมขั้นพื้นฐาน มีการกำหนด Competency  ด้าน ICT ด้านนักจัดการความรู้ของบุคลากรตลอดจนมี ซี ไอ โอ ในแต่ละหน่วยงาน กศน. เพื่อทำหน้าที่ด้าน ICT อย่างเป็นระบบ และ (3) ขยายตัวอย่าง Best Practice จากหมู่บ้าน 3 ขา สู่หมู่บ้านอื่น ๆ ซึ่งอาจจะเกิดหมู่บ้านร้อยขา พัน ขา (เรียกเล่น ๆ ว่า หมู่บ้านกิ้งกือ) โดยขายไอเดียผ่านช่องทางต่าง ๆ

ต่อมาในขั้นปฏิบัติตามนโยบาย  ก็เป็นหน้าที่ของแต่ละหน่วย กศน. ในพื้นที่แล้ว อาทิ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัด และ ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ จะนำไปสู่การปฏิบัติได้แค่ไหน ซึ่งให้ความสำคัญกับระบบการบริหารจัดการ ที่เรามักเชื่อว่า Management make  impossible , Possible  ซึ่งหน่วยเหนือหรือสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน ต้องมีการกระจายนโยบายสู่การปฏิบัติ (Policy Deployment) อย่างถ้วนทั่วทุกตัวคน กศน. ถึงพื้นที่ (Involvement of  People) ขั้นนี้แหละจะชี้ความสำเร็จของวิสัยทัศน์ต้องมีการนำไปปฏิบัติ ดังกล่าวที่ว่า “Vision without action is just a dream, action without action is just activity , vision and  action together can change world” ซึ่งการปฏิบัติการพัฒนาไอซีทีจากสิ่งที่มีอยู่แต่ค่อย ๆ พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง

ได้ยกตัวอย่าง ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ใช้ยุทธศาสตร์ทำจากเล็กไปใหญ่ โดยเริ่มจากนโยบายคุณภาพของผู้บริหาร ที่ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะเตรียมคน กศน. แปดริ้ว รองรับการเปลี่ยนแปลงในคุณลักษณะ ดังนี้คือ จำกัดจำนวน ล้วนไฮเท็ค เช็คมาขึ้น ยืนในแผน   แน่นประสาน งานมีคุณภาพ และได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ภายใต้แนวคิด “Padrew One” ซึ่งหมายถึง One Network for Everyone บุคลากรทุกคน จะได้รับการพัฒนาให้สามารถใช้ ICT ในการทำงานในหน้าที่ได้โดยทุกคนมีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ในระบบเครือข่าย กศน. แปดริ้ว ทุกคนไม่มีข้อยกเว้นว่าอายุมากเกินไปแล้วจะไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงาน เหมือกับที่เหมา เจ๋อ ตุง ได้พูดไว้ว่า คนแก่ที่เคยว่าโง่นี้แหละเป็นผู้ที่สร้างทัศนียภาพใหม่และในตอนนี้กำลังพัฒนาเคียงคู่กับ e – Government  เช่น มีตู้ให้คำแนะนำ Online แก่นักศึกษาในบริเวณ ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเมือง ที่ติดเครื่องหมายข้างตู้ว่า  7 x 14 (หรือ Seven Twenty - four)  คือ บริการตลอด  7 วัน 24 ชั่วโมง เป็นตัวอย่างพอหอมปากหอมคอ

แล้วต่อด้วยขั้นการประเมินต่อเนื่องทดแทนสิ้นสุดของนโยบาย เป็นขั้นสุดท้ายซึ่งจะต้องประเมินดูว่านโยบายนี้เกิดผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ เหมาะสมที่จะทำต่อเนื่องหรือจะมีนโยบายอื่นมาทดแทนหรือสิ้นสุดนโยบาย                  

นี้คือเพียงความคิดของดิศกุล ที่ได้นำเสนอในท่ามกลางพันธมิตร National Workshop on  ICT  for  NFE  ที่ลำปาง... จบลงด้วยการอภิปรายทั่วไปโดยผมได้รับมอบหมายจาก ดร. สุชิน ให้ทำหน้าที่ประธานนำการอภิปราย ตบท้ายรายการ เก็บตก ยกประเด็นที่เป็นโจทย์ให้คิด สะกิดชวนให้หาข้อสรุปเพิ่มเติมเสริมแต่ง จนครบถ้วนสมบูรณ์ความคิดอิ่มตัว ก็ล่วงเลยเวลาไปเกือบบ่ายโมง โดยไม่รู้สึกหิวข้าวเลย เพราะอิ่มกับการสนทนา ดั่งที่ในหนังจีนกำลังภายในที่จอมยุทธ์มักพูดกันว่า ได้ดื่มสาเกกับผู้รู้ใจ แม้จะดื่มสักพันจอกก็มิเมา แต่ในบรรยากาศเช่นนี้ ผมของกล่าวว่า ได้สนทนา กับผู้รู้ใจ แม้เวลาล่วงไป ก็ไม่ติดใจอาหารกลางวัน                  

บนหนทางที่ไม่สิ้นสุดจากการประชุมปฏิบัติการครั้งนี้ไม่ว่าการผลักดันให้มีนโยบาย ไอซีที เพื่อ กศน. จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็ไม่สำคัญเท่ากับการก่อตัวของพันธมิตร ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันนั้นจะเป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนาไอซีทีสูวิถีชาวบ้านได้รับการสานต่ออย่างต่อเนื่องต่อไป                                                   

ดิศกุล   เกษมสวัสดิ์

หมายเลขบันทึก: 60225เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2006 13:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)
  • ดีจังเลยครับ
  • ชอบอ่าน
  • ชอบสำนวนนี้ครับ
  • ได้ดื่มสาเกกับผู้รู้ใจ แม้จะดื่มสักพันจอกก็มิเมา
  • เป็นเหล้าข้าวบ้านผม จอกเดียวจอดครับ
  • ขอบคุณครับผม
ดีจังเลยค่ะผอ. แต่น่าจะพาไปดูตัวอย่างหมู่บ้าน 3 ขา ที่ลำปางนะคะ เราจะได้สัมผัสบรรยากาศจริงไงค่ะ ขอบคุณผอ.ที่นำสาระดีๆมาให้พวกเราได้อ่านกันนะคะ

การคิดคนเดียวความรู้ก็หยุดอยู่เพียงแค่คนนั้น  แต่การที่เราได้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้สามารถทำให้เราได้แสดงความรู้ที่มีอยู่และได้รับรู้ถึงทัศนะของผู้อื่นด้วย  และยิ่งเป็นเรื่อง ICT ที่จะนำมาสู่การพัฒนาสู่วิถีชาวบ้าน ยิ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ และควรที่จะสนับสนุนอย่างยิ่ง 

        ขอให้นโยบาย ICT ประสบความสำเร็จนะคะ

  • อาจารย์ขจิต ครับ ผมมีวิธีปราบเหล้าขาวไม่ให้ออกฤทธิ์ได้ โดยใช้การเอายาธาตุน้ำแดงไปผสม จะทำให้ดื่มแล้วมิเมา กลายเป็นยาระบายอย่างดีเลยครับ เคยใช้ตอนรับราชการอยู่ที่จังหวัดยโสธรไปทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านเพราะเป็นงานกศน. เจอเหล้าขาวทุกวันจะไม่ดื่มชาวบ้านก็จะหาว่ารังเกียจ ก็จำต้องดื่มเล็กน้อยอย่างมีสติและสร้างภูมิคุ้มกันโดยใช้สูตรเด็ดพกยาธาตุไปด้วยครับ ดังนั้นน่าจะสยบเหล้าขาวบ้านอาจารย์ได้ครับ ตอนนี้อาจารย์คงหายป่วยแล้วนะครับ ลองซักจอกซิ.....
  • ประกาศเพิ่มเติม พบคำพิมพ์ผิดในบทความนี้ครับ บรรทัดที่ 14 จากล่างขึ้นบนขอแก้ไขจาก 7x14 เป็น 7x24 ครับ

ขอบคุณ คุณนุ่น และคุณทัศนีย์ ที่ให้ความเห็น แล้วจะหาโอกาสพาไปบ้านสามขา นะครับ

ถ้าจะไปดูงานบ้านสามขา  ก็อยากจะไปดูพื้นสวนโลกด้วยค่ะ
ป้าแป้นครับ พื้นสวนโลก คืออะไรเอ่ย ป้าพิมพ์ผิดหรือเปล่า....

ขอประทานโทษคะ พืชสวนโลกค่ะ จะพาไปไหมคะ

ป้าแป้นครับ ลองรวบรวมสมัครพรรคพวกซิ แล้วมาคุยกันจะพยายามหาทางสนับสนุนให้ได้ไปพืชสวนโลกนะครับ
ผมได้ข้อมูลจากที่ อ.ดิศกุล ได้มาเพยแพร่มากเลยครับ

สวัสดีครับ คุณ Raysuke ขอบคุณที่เข้ามาเรียนรู้ครับ

ข้อมูลน่าสนใจเป็นความรู้ดีครับ
เป็นความรู้ดีครับ ขอให้ อ.ดิศกุล มีผลงานดีๆแบบนี้มาให้ความรู้เรื่อยๆนะครับผมจะแวะมาอ่านบ่อยๆ
นลินทิพย์ สังข์เจริญ

ขอขอบคุณท่านผอ.ศนจ.ฉะเชิงเทรา   ที่นำความรู้ใหม่ๆ มาให้อ่านอยู่เสมอ...ในบทความทุกข้อได้ทั้งเนื้อหาสาระความรู้และแนวคิดในการปฏิบัติงานอยู่เสมอค่ะ

ขอบคุณ คุณ samano คุณ Talki และคุณนลินทิพย์ ครับ ที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

   ได้อ่านบทความด้านบนของท่าน  ผอ.ดิศกุล  แล้วทำให้ผมมีความรู้สึกว่า  "วันนี้คงไม่ต้องเปลี่ยนผ้าพันแผลที่หัวใจ"  ผมรับรู้ได้เช่นนั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท