@Moui
ภูมิจิต ศิระวงศ์ประเสริฐ

หนึ่งวันผ่านไป หลังสภานิติบัญญัติมีมติรับร่าง พรบ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์


ในฐานะที่เป็นผู้ใช้และให้บริการข้อมูลและระบบคอมพิวเตอร์ เคยคิดกังวลบ้างไหมคะ ว่ากฏหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรกับชีวิตเรา

อยากเล่าเรื่องกฏหมายฉบับนี้ค่ะ เพราะติดตามมาระยะเวลาหนึ่ง (ก็หลายปีล่ะ) ดิฉันรอคอยให้มีกฏหมายลักษณะนี้ออกมานานแล้ว แต่ก็แอบๆ ห่วง คนที่ไม่เคยเห็นความสำคัญของกฏหมายฉบับนี้ เกรงว่า ผู้ไม่ได้ศึกษาอาจจะกลายเป็นคนทำผิดกฏหมายไปอย่างไม่เจตนาก็ได้ค่ะ

โดยที่ไม่ใช่เป็นนักกฏหมาย การเข้าไปเรียนรู้ทำความเข้าใจเรื่องของกฏหมาย การออกกฏหมาย การตีความกฏหมาย ช่างเป็นเรื่องยากเย็นเข็นใจ (แถมคนทำงานไอที ไม่ถนัดงานด้านภาษากฏหมายด้วยสิ) เวลาแกะแต่ละมาตรามาพยายามทำความเข้าใจ มันน่าเบื่อเหลือเกินค่ะ แต่ว่า มันส่งผลกระทบต่อตัวเรา และต่ออาชีพเราอย่างน่ากลัว

ร่างกฏหมายฉบับนี้ เขียนมาหลายปีแล้ว มีการขอประชุมเข้าไปแก้ไขข้อความให้รัดกุมหลายหน แต่ก็ยังไมไ่ด้เข้าสภาอดีตนายกทักษิณเสียที จวบจนปีปัจจุบัน 2549 ได้รับเกียรติเป็นกฏหมายฉบับแรกที่ผ่านมติรับร่างนี้ โดยที่ผู้ติดตามกฏหมายฉบับนี้ มีข้อกังวลกับหลายๆ มาตราที่ระบุไว้ในกฏหมาย อย่างไรก็ตามเป็นที่น่ายินดีว่า ทางสภานิติบัญญัติมีมติให้แต่งตั้งกรรมมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ข้อมูลนี้ยังไม่รับรอง จนกว่าจะมีการประกาศจากสำนักเลขาของสภาฯ ก่อนค่ะ

ขอแนะนำสำหรับผู้สนใจเกี่ยวกับกฏหมายฉบับนี้ เข้าไปอ่านได้ที่ Wiki ที่ทาง Nectec (ผู้ร่าง พรบ.) ได้จัดทำขึ้นที่ การพัฒนากฎหมาย ICT ขออนุญาตยกส่วนที่เป็นคำถามเกี่ยวกับความสำคัญของกฏหมายฉบับนี้มาให้อ่านนะคะ (เผื่อคนที่เข้าไปที่ วิกิ งงๆ วิธีการใช้งาน)

ทำไมต้องมีกฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ?

เนื่องจากการประกอบอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์นั้น มีความแตกต่างไปจากการประกอบอาชญากรรมแบบเดิมมาก และกฎหมายที่มีอยู่เดิมไม่สามารถนำมาปรับใช้กับพฤติกรรมใหม่ๆ ที่ก่อเกิดความเสียหายต่อสังคม

อยากทราบว่าประเทศใด ได้บัญญัติกฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์แล้วบ้าง?

มีการบัญญัติกฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ในต่างประเทศสามารถจำแนกได้เป็น 3 ลักษณะคือ

  1. การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา อาทิ ประเทศ เยอรมัน แคนาดา ออสเตรเลีย อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ค ญี่ปุ่น
  2. การบัญญัติเป็นกฎหมายเฉพาะ อาทิ ประเทศอังกฤษ สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน อิสราเอล
  3. บัญญัติรวมอยู่ในกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ อาทิ ประเทศฟิลิปปินส์ อินเดีย

อย่างไรก็ตาม แม้รูปแบบของการพัฒนากฎหมายในแต่ละประเทศ อาจจะหลากหลายแตกต่างกันไปบ้าง แต่การกำหนดฐานความผิดหลักมักจะคล้ายคลึงกัน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงลักษณะของการใช้คอมพิวเตอร์ ในการกระทำความผิดเป็นสำคัญ

 

องค์การระหว่างประเทศ มีแนวทางเกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรม ทางคอมพิวเตอร์อย่างไรบ้าง?

องค์การระหว่างได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรม ทางคอมพิวเตอร์และได้ดำเนินการเพื่อหาแนวทาง ในการแก้ไขปัญหา ดังจะเห็นได้จาก

องค์การสหประชาชาติ

  • International review of criminal policy - United Nations Manual on the prevention and control of computer-related crime

OECD

  • Recommendation No. R(89)9 Analysis of Legal Policy in 1986

Council of Europe

  • Computer Related-Crime : Recommendation No. R(89)9,adopted by the committee of Ministers of the Council of Europe on 13 September 1989
  • Recommendation No. R (95) 13 of the Committee of Ministers to Member States Concerning Problems of Criminal Procedure Law Connected with Information Technology ,adopted by the Committee of Ministers on 11 September 1995
  • Convention on Cybercrime (ETS 185) ซึ่งขณะนี้มีประเทศต่างๆ ลงนามเป็นภาคี อนุสัญญาดังกล่าวแล้ว 30 ประเทศ [1]

 

ทำไมประเทศไทยจึงต้องบัญญัติกฎหมาย อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เป็นกฎหมายเฉพาะ แทนที่จะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา?

เนื่องจากลักษณะการก่ออาชญากรรมลักษณะพิเศษ  จึงควรมีกฎหมายใหม่ที่ไม่กระทบต่อโครงสร้างประมวลกฎหมายอาญาเดิม เพียงแต่กฎหมายนี้จะเข้ามาทำหน้าที่อุดช่องว่าง ทางกฎหมายของประมวลกฎหมายอาญาที่ไม่สามารถ นำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ นอกจากนี้ในการบังคับใช้กฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ จำเป็นต้องมีอำนาจพิเศษของเจ้าพนักงานบางประการ  อาทิ การถอดรหัสลับข้อมูล  การเรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ เป็นต้น  อีกทั้งการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา จำเป็นต้องใช้เวลาค่อนข้างนานจึงเห็นควรให้มีกฎหมายเฉพาะ ในลักษณะพระราชบัญญัติ เพื่อให้ทันต่อการกระทำผิดรูปแบบใหม่ ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ่น

 

ร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านความเห็นชอบ จากคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2545 ได้ใช้แนวทางของกฎหมายต่างประเทศ ในการยกร่างหรือไม่

ในชั้นการพิจารณายกร่างนั้นคณะอนุกรรมการฯ และคณะทำงานได้พิจารณาศึกษาเปรียบเทียบ จากอนุสัญญาว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ของ Council of Europe  ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่วัตถุประสงค์ เพื่อประเทศภาคีอนุสัญญามีกฎหมายเกี่ยวกับ อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เป็นไปในแนวทางเดียวกับ  นอกจากนี้ยังได้พิจารณาประกอบกับกฎหมายหลายๆ  ประเทศ อาทิ เยอรมัน อังกฤษ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา อินเดีย ฯลฯ ด้วย

 

หากมีการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายนี้ จะใช้กฎหมายใด มาปรับใช้ได้?

เนื่องจากการลงโทษทางอาญาแก่ผู้กระทำผิดจะต้องใช้กฎหมาย ที่บัญญัติไว้ในขณะกระทำความผิด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่นที่มีโทษทางอาญามาปรับใช้แก่กรณี เท่าที่ปรับใช้ได้เนื่องจากกฎหมายอาญามีหลักว่า ต้องตีความโดยเคร่งครัด

 


จัดทำโดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ


 

 คุณๆ เริ่มเห็นผลกระทบกันหรือยังคะ

 

ไว้จะรวบ link เรื่องนี้ืที่ลงหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ มาให้อ่านนะคะ (วันนี้ขอแว๊บไปงานนอกสถานที่ก่อน)

 

 

หมายเลขบันทึก: 60125เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2006 07:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดียามเช้าค่ะ  คุณภูมิจิต

  • บันทึกของคุณภูมิจิตดีมากเลยค่ะ
  • ครูอ้อยกำลังศึกษาด้านนี้ด้วย
  • จะนำเก็บไว้เป็นเอกสารเพื่อการค้นคว้านะคะ
  • หากมีอะไรดีดีที่สมควรเป็นเอกสารสาระน่ารู้
  • กรุณานำส่งมาให้ครูอ้อยด้วย จักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
  • ขอบคุณค่ะ
อรุณสวัสดิ์ค่ะครูอ้อย แล้วหนูจะเอามาโพสต์เพิ่มนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท