ศึกษานิเทศก์...เพื่อนเรียนรู้ของครู


ในยุคของสังคมแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษานิเทศก์ไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาของครู ไม่ได้มีอำนาจเหนือครู แต่เป็นเพื่อนเรียนรู้ไปกับครู


        คนแถวบ้านของดิฉันมักจะงง เมื่อถามว่าตอนนี้ดิฉันทำงานอะไรอยู่ แล้วได้รับคำตอบว่าดิฉันทำงานเป็น "ศึกษานิเทศก์" เพราะชาวบ้านเขาไม่รู้จักตำแหน่งหน้าที่นี้ บางคนพอจะคุ้นกับคำว่าศึกษาฯ รีบแสดงความดีใจกับดิฉันว่าเป็นใหญ่เป็นโตแล้ว เพราะเขาเข้าใจผิดคิดว่าเป็น "ศึกษาธิการอำเภอ" หรือ "ศึกษาธิการจังหวัด" ไปโน่น

        ทำให้ดิฉันต้องบอกหน้าที่ของศึกษานิเทศก์ให้พวกเขาเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า เรามีหน้าที่ช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแนะนำทางวิชาการแก่ครู เพื่อให้คุณครูทำการสอนได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ …. นี่ไม่ใช่คำตอบที่ครอบคลุมภารกิจของเราทั้งหมด เป็นเพียงคำตอบพื้น ๆ ที่คิดว่าจะทำให้เขาเข้าใจได้ง่าย

        ซึ่งถ้าจะพูดกันให้เป็นภาษาทางวิชาการสักนิด น่าจะบอกว่าเราทำหน้าที่ "แนะนำช่วยเหลือให้คำปรึกษาแก่ครู และบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนเผยแพร่หลักวิชาและแนวทางพัฒนาคุณภาพของครู เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพและปรับปรุงการเรียนการสอนให้เป็นไปตามนโยบายทางการศึกษา" นั่นเอง

        ในการทำงานของคณะศึกษานิเทศก์ สพท.สพ.2 นั้น เราทำงานภายใต้วิสัยทัศน์ที่ระบุว่าเราจะใช้การนิเทศแบบมีส่วนร่วม ผ่านเครือข่ายการปฏิบัติงาน (Network) ด้วยกระบวนการจัดการความรู้ (KM) การวิจัยและพัฒนาเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (PAR&D) เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาการบริหารจัดการ และการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไปสู่คุณภาพตามมาตรฐานชาติ

        มีโครงสร้างการทำงานเริ่มจากคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลและนิเทศการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ซึ่งมี ผอ.สพท.เป็นประธาน หัวหน้ากลุ่มนิเทศฯ เป็นกรรมการและเลขานุการ กรรมการประกอบด้วย ผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐ 1 ท่าน ผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของเอกชน 1 ท่าน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 ท่าน เป็นบอร์ดในการทำงาน

      

        และเราไม่ได้ทำงานการนิเทศฯ โดยลำพังยังมีบุคคลอีก 5 กลุ่มร่วมทำงานกับเราด้วย คือ คณะรอง ผอ.สพท.สพ.2 ผู้รับผิดชอบศูนย์เครือข่ายสถานศึกษา คณะกรรมการบริหารศูนย์อำเภอ คณะกรรมการบริหารศูนย์เครือข่ายสถานศึกษา คณะกรรมการนิเทศภายในโรงเรียน และคณะกรรมการเครือข่ายครูผู้นำพัฒนาการจัดการเรียนรู้ (RTC) 

        โดยเราจะมีรูปแบบดำเนินการนิเทศ 3 รูปแบบ คือ 

                1) นิเทศปูพรม  เป็นการนิเทศเต็มพื้นที่ โดยคณะกรรมการทุกชุดออกเยี่ยมเยียน พบปะทุกโรงเรียนของทุกอำเภอ (อู่ทอง สองพี่น้อง ดอนเจดีย์) ในวันเวลาพร้อมกัน เพื่อรับฟังปัญหา ความต้องการของโรงเรียน เยี่ยมเยียนให้กำลังใจ และร่วมชื่นชมผลงานดี-ผลงานเด่นของโรงเรียน ซึ่งเราจะออกนิเทศฯ ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยข้อมูลที่เราได้รับจะนำมาจัดลำดับความสำคัญของปัญหาและความต้องการเพื่อเป็นฐานของการปรับปรุงพัฒนา และนำผลงานดี-ผลงานเด่นของแต่ละโรงเรียนมาเผยแพร่เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

                2) นิเทศแบ่งโซน เป็นการนิเทศโดยแบ่งพื้นที่เป็น 3 อำเภอ (อู่ทอง สองพี่น้อง ดอนเจดีย์) รับการนิเทศฯ ในวันเวลาตามลำดับ ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนของทุกปี การนิเทศรูปแบบนี้จะมีเครื่องมือไปเก็บข้อมูล (โรงเรียนประเมินตนเอง และคณะกรรมการประเมิน) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการนิเทศ กำกับ ติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนตามยุทธศาสตร์ของเขตพื้นที่ฯ นั่นเอง ผลของการนิเทศฯ ก็จะนำไปวางแผนพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของเขตพื้นที่ฯ ต่อไป

                3) นิเทศเฉพาะเจาะจง เป็นการนิเทศตามความต้องการจำเป็นของแต่ละโรงเรียน โดยอาจเกิดจากโรงเรียนหรือศูนย์เครือข่ายสถานศึกษาร้องขอขึ้นมา หรือทางสำนักงานเขตฯ เห็นความจำเป็นที่ต้องลงไปให้ความช่วยเหลือ แนะนำ แก้ไขปัญหาบางอย่างให้แก่โรงเรียน ซึ่งเราดำเนินการนิเทศรูปแบบนี้ได้ตลอดทั้งปี

                     โดยเฉพาะในปีนี้ ผอ.สพท.ท่านมีนโยบายให้พวกเราไปดำเนินการพาผู้บริหารและคุณครูใช้การวิจัยและพัฒนาเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (PAR&D) แก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพผู้เรียน โดยใช้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นวิธีการนิเทศ กำกับ ติดตาม และเป็นส่วนหนึ่งในการเก็บข้อมูลการวิจัย จึงเรียกได้ว่าในปีนี้เราจะได้นำกระบวนการวิจัยมาใช้สำหรับการนิเทศเฉพาะเจาะจงด้วย

        ไม่ว่าจะเป็นการนิเทศแบบใดก็ตาม จะต้องนำพาครูให้สามารถพัฒนาคุณภาพเด็กไทยให้เป็นพลังของแผ่นดินได้ ในยุคของสังคมแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษานิเทศก์ไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาของครู ไม่ได้มีอำนาจเหนือครู แต่เป็นเพื่อนเรียนรู้ไปกับครู และเป็นผู้นำพาความรู้ประสบการณ์อย่างมีศิลปะ จากครูคนหนึ่งไปสู่ครูอีกคนหนึ่ง จากโรงเรียนหนึ่งไปสู่อีกโรงเรียนหนึ่ง และจากเขตพื้นที่ฯ หนึ่งไปสู่อีกเขตพื้นที่ฯ หนึ่งได้ด้วย....


หมายเลขบันทึก: 60123เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2006 06:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดียามสายค่ะคุณ ศน.กุ้ง  ผู้ขยันขันแข็ง

  • บันทึกนี้ดีมาก ทำให้ผู้ไม่รู้  ได้รู้ว่า ศน.คือใครมีศักยภาพอย่างไร ทำหน้าที่อะไร  ที่เกี่ยวกับการศึกษา
  • ครูอ้อยขอชื่นชมกับ ศน.ของสพท.กทม.เขต 2 ที่ขยันหมั่นเพียรจนทำให้ครูที่โรงเรียนมีสิทธิไปศึกษาดูงานี่ต่างประเทศ (นิวซีแลนด์) ถึง 2 ท่าน  คือ  ครูธนาตา  พีรกันทรากร และครูอ้อย
  • แต่เนื่องจากเมื่อ ปี 2548 ครูอ้อยได้ทุนไปต่างประเทศแล้ว..กติกา..ภายใน 5 ปี ไม่ให้ไปได้ทุนซ้ำกัน ครูอ้อยเลยบายค่ะ
  • ความใส่ใจของ ศน.เขต 2 ที่รายงานการสอบภาษาอังกฤษอย่างเคร่งครัด  จึงทำให้  ครูธนาตาได้ไปนิวซีแลนด์ ถึง 1 เดือน
  • ซึ่งครูอ้อยจะรายงานให้ทราบในบันทึกในโอกาสต่อไป
  • สำหรับ ศน.กุ้ง ครูอ้อยศึกษาจากผลงานและการเขียนบันทึกของคุณกุ้งแล้ว  พบว่า คุณกุ้ง  มีความพยายามบากบั่นในหน้าที่การงานมากมาย

คุณกุ้งเป็น ศน.ที่ดี ที่ลบภาพไม่ดีของ ศน.ออกจากมโนคติของครูอ้อยได้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

  • ขอบคุณคุณครูอ้อยค่ะ
  • ยังมี ศน.ที่มีความรู้ความสามารถอีกมากมายหลายคนที่ทำงานเพื่อครูโดยไม่ได้แสดงตัวให้เป็นที่รู้จัก
  • หลาย ๆ คนเป็นแบบฉบับที่เรายึดถือเป็นต้นแบบของ "ศึกษานิเทศก์" ที่ดีได้
  • การเป็นตัวอย่างที่ดีในทุกสาขาอาชีพนั้น ต้องอาศัยการพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ ยึดมั่นอยู่ในคุณธรรม มุ่งสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม หรือพูดง่าย ๆ ว่าเราต้องรู้จักการ "ครองตน ครองคน และครองงาน" จึงจะทำให้เราสามารถไปสู่จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติงานได้เป็นผลสำเร็จ
  • ขอบคุณคุณครูอ้อยที่มอบความรู้สึกดี ๆ ให้แก่กัน คุณกุ้งยังเป็นศึกษานิเทศก์ไม่ได้นาน ประสบการณ์ยังน้อย จึงต้องเรียนรู้อีกเยอะ จะมีอยู่มากตอนนี้ ก็คือ ความตั้งใจจริงในการทำงานค่ะ
  • ขอแสดงความยินดีกับครูอ้อย เจ้าของรางวัล "สุดคะนึง" เดือนตุลาคมนี้อีกครั้งหนึ่งค่ะ
ชอบใจ Paragraph สุดท้ายมากครับ เห็นภาพ เห็นพลังดีมาก

ดีค่ะ...ทำให้เข้าใจ ในบทบาทและหน้าที่ การเป็นศน.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท