ความสุขคนไทย....ความสุขที่พอเพียง


ความสุขคนไทย....ความสุขที่พอเพียง
ท่ามกลางความเจริญก้าวหน้าด้านวัตถุ,เทคโนโลยีที่ทันสมัย ดูเหมือนจะทำให้ชีวิตมนุษย์สุขสบายขึ้น แต่หลายคนกลับพบว่า เรายังคงต้องทำงานหนัก ยังคงเหน็ดเหนื่อย ว้าวุ่น เครียด และเป็นทุกข์กับชีวิตมากขึ้น

ทางด้านการแพทย์ มนุษย์ในปี ค.ศ.2000 มีอายุยืนยาวขึ้นหนึ่งเท่าตัวของบรรพบุรุษเรา ในปี ค.ศ.1900 โรคติดต่อหลายชนิดถูกกวาดล้างจนหมดไป แต่โรคที่เกิดจากความเครียด ความทุกข์ และสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษภัย อัตราการตายจากการฆ่ากันตายและฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น โรคซึมเศร้าจะเป็นปัญหาที่เป็นภาระโรค และเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลเป็นลำดับ 2 รองจากโรคหัวใจในอีก 10 กว่าปีข้างหน้า

ในทางการแพทย์เอง ตลอดเวลาที่ผ่านมา ตัวชี้วัดที่ใช้ในการดูความเจริญก้าวหน้ายังคงเป็นเรื่องของความทุกข์ เราดูอัตราป่วย อัตราตาย ตัวเลขความพิการ ในทางสุขภาพจิตเช่นกัน เรามักจะมองผู้ป่วยทางจิตว่ามาจากความผิดพลาดบางอย่างในสมอง ความบกพร่องของพัฒนาการและการเจริญเติบโตในครอบครัว ข้อเสีย ปมด้อยของผู้คนที่มาเป็นผู้ป่วยของเรา จนทำให้คนมองว่าแพทย์ จิตแพทย์ นักจิตวิทยาหรือคนที่ทำงานกับผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิต มองโลกในแง่ลบ ใช้จิตวิทยาด้านลบ (Negative Psychology) มากเกินไปหรือไม่ เราดูแลรักษาผู้ที่มีปัญหาทางจิตจากติดลบให้เป็นศูนย์ ทำอย่างไรเราถึงจะทำให้สภาพจิตใจอารมณ์ของผู้คนอยู่ในทางบวกให้มากขึ้น เราควรส่งเสริมสภาพจิตใจให้แข็งแรงสมบูรณ์ และมีความสุขเหมือนทางร่างกายหรือไม่ เราน่าจะศึกษาและใช้จิตวิทยาในทางบวก (Positive Psychology) ให้มากขึ้น

ได้มีการพูดถึงความสุข (Happiness) ในแง่มุมต่างๆ Robert Cloninger จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้พูดถึงการพยายามช่วยเหลือผู้ป่วยทางจิตให้มีอารมณ์ในทางบวก มีการพัฒนาของบุคลิก มีความพึงพอใจในชีวิตและจิตวิญญาณของตนเอง โดยใช้ Psychoeducation program ที่เรียกว่า "The happy life : voyages to well-being"

Dr.Edward Diener แห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า Dr.Happiness ได้ใช้เวลามากกว่า 20 ปี ศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้คนมีความสุขหรือไม่มีความสุข เช่น

-เงินทอง ความร่ำรวย หลายคนคิดว่าเมื่อมีเงิน มีความร่ำรวยมากขึ้นแล้วจะมีความสุข แต่การศึกษาพบว่า เมื่อความต้องการพื้นฐานของมนุษย์สมบูรณ์แล้ว เช่น มีอาชีพ มีบ้าน มีรถ มีครอบครัว ความร่ำรวยที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้คนมีความสุขมากขึ้น ศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ Richard Layard พบว่าในสังคมประเทศทางตะวันตก ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา รายได้เฉลี่ยต่อหัวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงสองเท่าตัว แต่ไม่ได้มีความสุขเพิ่มมากขึ้น

-ระดับสติปัญญาและการศึกษาไม่มีส่วนสัมพันธ์กับความสุข ในทางตรงข้ามพ่อ-แม่หรือผู้คนในยุคสมัยก่อนไม่ได้รับการศึกษามากนัก แต่พวกเขาก็มีความสุข

-อายุและสภาพสมรสคนสูงอายุจะมีความสุขมากกว่าคนหนุ่มสาว คนที่กำลังจะแต่งงาน มีความสุข รวมทั้งคนที่แต่งงานแล้วจะมีความสุขมากกว่าคนโสด

-ความเชื่อในศาสนา การมีความเชื่อในศาสนาทำให้จิตใจมีความสุข อาจเป็นเพราะพระธรรม คำสั่งสอน หรือการเข้าไปอยู่ในกลุ่มคนที่คอยให้กำลังใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

-สัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้างและคนในครอบครัวมีส่วนทำให้คนมีความสุข โดยเฉพาะการสนับสนุนจากคนในครอบครัวและชุมชน

-การได้ทำสิ่งที่ชอบในชีวิต ทำให้คนมีความสุขได้

จากการสำรวจของ World Value Survey โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนในปี ค.ศ.2004 ใน 82 ประเทศทั่วโลกเกี่ยวกับ Subjective well being โดยดู Happiness และ Life satisfaction score พบว่า คนฟิลิปปินส์มีความสุขมากที่สุดในเอเชีย มากกว่าคนในประเทศที่ร่ำรวย เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน และมากกว่าประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น ไทย มาเลย์ และสิงคโปร์ โดยพบข้อสังเกตที่สำคัญในคนฟิลิปปินส์คือ มีความยืดหยุ่นสูง และพึ่งพาตนเองพึ่งพาครอบครัวมากกว่าคนภายนอก

การประเมินหรือหาตัวชี้วัดด้านความสุข ความพึงพอใจในชีวิตของประชาชนเป็นสิ่งที่มีผู้สนใจมากขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อมและสุขภาพอนามัย ตัวอย่าง เช่น

-สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้พัฒนาเครื่องมือดัชนีความก้าวหน้าของมนุษย์ (Human Achievement Index-HAI) และดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index-HDI)

-สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้พัฒนา ดัชนีชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Index-SDI) ที่ครอบคลุมมิติการพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม

-ดัชนีความอยู่ดีมีสุข (Well-Being Index-WBI) ที่ครอบคลุมมิติทางสุขภาพ ความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ ครอบครัว สิ่งแวดล้อม และการบริหารข้าราชการที่ดี

นอกจากนี้ยังมีตัวชี้วัดความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ) ของกรมพัฒนาชุมชน ตัวชี้วัดความสุข ของเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน และตัวชี้วัดเมืองไทยแข็งแรง (Healthy Thailand) โดยตัวชี้วัดทั้งหมดนี้ ให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ครอบครัว ชุมชน วัฒนธรรม ความภูมิใจของครัวเรือนและชุมชนไทยเป็นตัวชี้วัดทางอ้อมของความสุข

กรมสุขภาพจิตเองได้พัฒนาตัวชี้วัดความสุขของจิตใจหรือสุขภาพจิต ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 โดยดูถึง

-สภาวะสุขภาพทางจิต (Mental State)

-สมรรถภาพทางจิตใจ (Mental Capacity)

-คุณภาพของจิตใจ (Mental Quality)

-สิ่งสนับสนุน (Supporting Factor)

ภูฏานเป็นประเทศเดียวในโลกนี้ได้ประกาศใช้ตัวชี้วัดความสุขของชาติ Gross National Happiness หรือ GNH ซึ่งเริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 โดยกษัตริย์ Jigme Single Wangchuk ที่มีแนวคิดในการนำศาสนา วัฒนธรรม วิถีชีวิตและความเป็นอยู่มาเป็นเครื่องชี้วัดในการพัฒนาประเทศ ควบคู่ไปกับตัวเลขความเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยตัวชี้วัดความสุขจะรวมถึงความสุขที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายนอก (Hedonic Happiness) กับความสุขภายใน (Eudaimonic Happiness) ที่เกิดจากความสงบภายใน การตระหนักรู้ตนเองและการอยู่ดีมีสุข Well-being

ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ที่จะใช้ในปี 2551-2555 ได้เน้นถึงสภาพสังคมที่มีความสุข รวมทั้งการใช้ระบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นความสุขที่พอเพียงของคนไทย เราคงต้องมาช่วยกันคิดและหาตัวชี้วัด เพื่อทำให้ความสุขที่พอเพียงของคนไทยเป็นจริง

คนต้นเรื่องโดย  : นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์

                    มติชนออนไลน์ วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2549

                                                                            บุญรักษาครับพี่น้อง

                              

                    
คำสำคัญ (Tags): #ความสุข
หมายเลขบันทึก: 59941เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2006 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท