โครงการเครือข่ายประสานงานวิจัยคลินิกสหสถาบัน (ควคส.)


โครงการเครือข่ายประสานงานวิจัยคลินิกสหสถาบัน (ควคส.)

       โครงการนี้ดำเนินการมาแล้ว 3 ปี   โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย   ร่วมกับ สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) ในลักษณะโครงการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการวิจัยคลินิก (capacity building)     สำหรับปี 2549 ได้รับเงินสนับสนุนจาก วช. & สวรส.

        ผมได้รับจดหมายเชิญจาก ศ. นพ. ปิยทัศน์  ทัศนาวิวัฒน์   ผู้ประสานงานกลางของโครงการ   ซึ่งเราเรียกชื่อย่อ ๆ กันว่าโครงการ CRCN (Clinical Research Collaboration Network) เข้าร่วมประชุมผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษา   กำหนดเป้าหมาย   และชี้แนะแนวทางดำเนินงาน ในวันที่ 4 พ.ย.48 ตอนบ่าย   แต่ผมติดนัดอื่นที่ชะอำ   จึงให้ความเห็นในบล็อกนี้แทน

        อ่านจากเอกสารที่ส่งมา   โครงการ CRCN ทำหน้าที่หนุนคนอื่นให้สร้างผลงานวิจัย   ผลงานวิจัยไม่ได้เกิดจาก CRCN เอง   CRCN เป็นหน่วยให้บริการด้าน networking และ technical support    การวัดผลงานของ CRCN อยู่ที่ผลงานของโครงการวิจัยซึ่งจะต้องไปหาเงินสนับสนุนเอาเอง   หรือ CRCN จะช่วยแนะนำเชื่อมโยงให้

        นี่คือความซับซ้อนและความยากของการจัดการ CRCN

        ในเวลา 3 ปีที่ผ่านมา   ได้เกิดกลุ่มวิจัย 8 กลุ่ม   แต่ละกลุ่มมีผลงานมากบ้างน้อยบ้าง   มีคำถามสำคัญคือผลงานนั้น justify ทรัพยากรที่แหล่งทุนจ่ายไปหรือไม่   ได้ตกลงกับแหล่งทุนเรื่องวิธีวัดผลสำเร็จหรือ KSI (Key Success Indicators) ไว้อย่างไร   ใครเป็นผู้เซ็นสัญญาความตกลง

        ตามเอกสารระบุเป้าหมายสำคัญคือ capacity building ก็จะเกิดคำถามว่าจะวัดผลของ capacity building โดยใช้อะไรเป็นตัวชี้วัด   ถ้าใช้ผลงานตีพิมพ์เป็นตัวชี้วัด   ก็ต้องผลิตผลงานนี้ออกมา   ทางผู้สนับสนุนทุนจึงจะสามารถให้การสนับสนุนต่อได้

        ผมไม่ทราบว่าสมาชิกของกลุ่มวิจัยแต่ละกลุ่มได้มาอย่างไร   มีกลไกในการคัดเลือกอย่างไร   เดาว่าเข้ามาโดยสมัครใจ   เพราะเป็นผู้ที่ทำงานด้านนั้น ๆ ในแต่ละสถาบัน   โดยที่งานหลักคือบริการทางคลินิก   ซึ่งจะเป็นคนที่มีจุดแข็งคือมีผู้ป่วยหรือที่เราเรียกว่ามี material หรือ data  แต่มักมีจุดอ่อนด้านความสันทัดในการวิจัยและไม่ค่อยมีเวลา   ก็จะเกิดปัญหาว่าสมาชิกเหล่านี้มีความรับผิดชอบในการผลิตผลงานวิจัยแค่ไหน  ท่านเหล่านี้ได้สัญญาด้านความทุ่มเททำงานวิจัยแค่ไหน   ถ้าทุ่มเทแล้วแต่ก็ได้ผลเพียงแค่ระดับปานกลาง   ตีพิมพ์ไม่ได้  จะทำอย่างไร

        ดังนั้นข้อคิดเห็นของผมก็คือ grant ในปีที่ 4 ของโครงการ (พ.ศ. 2549) ควรให้ตรงไปยังแต่ละกลุ่มวิจัย   โดยให้กลุ่มวิจัยเสนอมาว่า output คืออะไร   และเจรจาทำความตกลงกัน   งานเจรจาทำความตกลงกันคงจะไม่น้อย   ผมนึกไม่ออกว่าใครจะเป็นผู้ลงแรง (สมอง) และเวลา

        ผมเคยเรียน อ. หมอปิยทัศน์ ว่าถ้าจะให้โครงการนี้ (ซึ่งเป็นโครงการที่เป้าหมายดีมาก  แต่อ่อนด้านการจัดการ) เกิดผลจริงจัง   อ. หมอปิยทัศน์ต้องจัดการโครงการนี้แบบ fulltime

วิจารณ์  พานิช
 27 ต.ค.48

หมายเลขบันทึก: 5993เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2005 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท