อภิมหาโครงการด้านอุดมศึกษาและวิจัย (9)


อภิมหาโครงการด้านอุดมศึกษาและวิจัย (9)

        โปรดอ่านตอนที่ 1 (click) , ตอนที่ 2 (click) , ตอนที่ 3 (click) , ตอนที่ 4 (click) , ตอนที่ 5 (click) , ตอนที่ 6 (click) , ตอนที่ 7 (click) , และตอนที่ 8 (click) ก่อนนะครับ

        ในตอนที่ 9 นี้ จะเสนอความเห็นเรื่องระบบข้อมูลและระบบ ICT

        ย้ำอีกทีนะครับ   ว่าพึงอ่านเรื่องนี้อย่างมีวิจารณญาณ   อย่าเชื่อเนื่องจาก (1) ผมมีความรู้ความเข้าใจจำกัด   (2) ความคิดเห็นของผมอาจจะผิดหรือมีอคติ   (3) ความรู้หลายอย่างจะเกิดขึ้นตอนลงมือทำ (tacit knowledge)

        ผมมีความเห็นว่า   ระบบข้อมูลและระบบ ICT ของโครงการนี้   มีเป้าหมายหรือหวังผล 4 ประการ
1. เพื่อใช้ขับเคลื่อนเครือข่ายการทำงาน   ดังนั้นต้องมีข้อมูลของหน่วยงาน/บุคคลที่มีศักยภาพสูงในการเข้ามาร่วมทำงานในโครงการ   และต้อง update ให้ทันสมัยอยู่เสมอ
2. เพื่อใช้ในการบริหารจัดการโครงการ   ลดการใช้คน   ลดการใช้กระดาษ
3. เพื่อใช้เชื่อมโยงเครือข่ายที่มีชีวิต   ให้ข้อมูล/ความรู้/ข่าวสารไหลเวียนไปมาระหว่างกันอย่างอิสระ   แต่เจ้าหน้าที่ของโครงการสามารถ capture เอามาจัดระบบและใช้ประโยชน์ได้ (data mining)
4. เพื่อใช้ monitor กิจกรรม,  ผลลัพธ์,  และผลกระทบของโครงการอย่างเป็นรูปธรรมและอย่างเป็นนามธรรม (เช่นวัฒนธรรมวิชาการ)

        ยุทธศาสตร์สำคัญยิ่งก็คือ   นำ ICT มาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการสมัยใหม่   และเอามาเป็นเครื่องมือของการสร้างความรู้แบบใหม่   จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานในรูปแบบต่าง ๆ

        ผมมองว่าโครงการนี้จะต้องเตรียมจัดให้มีระบบ database ขนาดใหญ่มากด้านการวิจัย   ทุนวิจัย   นักวิจัยและด้านบัณฑิตศึกษา   ที่ส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลภายใน   อีกส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลสาธารณะเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้ามาดูได้

        เช่นสมมติว่ามีคนอยากรู้ว่า   ณ วันที่ 20 มกราคม 2553 มีใครบ้างกำลังทำปริญญาเอกด้านคณิตศาสตร์ในประเทศไทย   ศึกษาที่สถาบันใด   ใครเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์   ก็สามารถเข้ามาค้นข้อมูลจาก database นี้ได้   เพราะเป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ

        หรือทางจุฬาฯ ต้องการทราบว่า ณ วันที่ 20 มกราคม 2553   จุฬาฯ ได้รับ scholaship ระดับปริญญาเอกสำหรับรับนักศึกษากี่ทุน   มีนักศึกษาเข้าเรียนอยู่แล้วกี่คน   เป็นสาขาใดบ้าง   เจ้าหน้าที่ของจุฬาฯ ก็สามารถใช้ password ของตนเข้ามาตรวจสอบใน database นี้ได้   โดยที่ถ้าตกลงกันว่าในระดับชั้นรายละเอียดขนาดนี้มหาวิทยาลัยอื่นเข้าดูไม่ได้และสาธารณชนก็เข้าไม่ได้   ก็จะเป็นข้อมูลที่เจ้าของข้อมูลเท่านั้นที่เข้าดูได้   รวมทั้งผู้บริหารของโครงการก็จะสามารถเข้าดูได้ทุกมหาวิทยาลัย

        ข้อมูลเหล่านี้จะเชื่อมโยงกับข้อมูลการบริหารการเงิน   การอนุมัติการเดินทางและค่าใช้จ่ายสำหรับไปฝึกทำวิจัยในต่างประเทศ ฯลฯ   รวมทั้งข้อมูลรายงานความก้าวหน้าของวิทยานิพนธ์หรือโครงการวิจัย   โดยนักศึกษาหรือหัวหน้าโครงการวิจัยเป็นผู้รับผิดชอบ upload ข้อมูล

        ระบบ ICT ควรเชื่อมโยงกับบล็อก Gotoknow.org เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาปริญญาเอก   อาจารย์ที่ปรึกษา   และนักวิจัยในสาขาเดียวกันหรือสาขาเชื่อมโยงได้รวมกลุ่มกันเป็นชุมชนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านบล็อก   เรื่องนี้ ดร. จันทวรรณ  น้อยวัน & ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์  แห่งคณะวิทยาการจัดการ มอ. คงจะช่วยออกแบบระบบให้ตอบสนองความต้องการได้

        ระบบการนำเสนอข้อเสนอโครงการ,  การอนุมัติโครงการ,  การส่งโครงการแก่ reviewer,  การส่ง progress report,  การแจ้งโอนเงินควรผ่านระบบ ICT เพื่อลดแรงงานคนและลดความผิดพลาดที่เป็น human error

        ระบบข้อมูลด้าน publication,  Thai Social Impact Factor,  นักวิจัยฝีมือดีด้านต่าง ๆ รวมทั้งผลงานในภาพรวมของแต่ละสถาบันอุดมศึกษาจะต้องอยู่ในสภาพที่เอื้อให้ผู้บริหารโครงการนี้สามารถใช้สารสนเทศนี้ในการทำงานเชิงรุก   เพื่อชักชวนหรือเชื้อเชิญนักวิจัย/อาจารย์ระดับยอดมาช่วยกันคิดโจทย์วิจัย   สำหรับแนะนำให้เป็นโจทย์วิทยานิพนธ์ที่มีผลกระทบต่อสังคมไทย 

        ในตอนต่อไปจะให้ความเห็นเรื่องการบริหารเครือข่ายวิชาการ

วิจารณ์  พานิช
 26 ต.ค.48

หมายเลขบันทึก: 5990เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2005 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอเพิ่มเติมนิดนึงนะคะอาจารย์

ระบบข่าวสารต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กรที่ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไม่ว่าจะอยู่ใน Platform ใด สามารถดึงข้อมูลมารวมกัน เพื่อนำเสนอต่อผู้อ่านได้ในที่เดียวและทันทีที่มีการ update ข้อมูล ได้โดยความสามารถของมาตราฐานการนำเสนอข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลกในรูปแบบของ XML เรียกว่า RSS Feed คะ

และระบบในการดึงมานี้ เราเรียกว่า Feed Aggregator ซึ่งทีมงานกำลังพัฒนาอยู่และให้ชื่อไว้ว่า PlanetMatter คะ เป็น Web service รูปแบบหนึ่ง (กำลังจะ Launch เร็วๆ นี้) เพื่อให้ผู้บริหารเว็บไซต์ต่างๆ ได้นำไปติดตั้งที่เว็บไซต์ของตน

PlanetMatter จะมีประโยชน์มากๆ สำหรับการเชื่อมโยงและรวบรวมข้อมูลความรู้จะหลายๆ แห่งที่ใช้ระบบแตกต่างกันเข้าไว้ด้วยกันได้ เช่น Content Management System (CMS), Blog, Web site ที่พัฒนาขึ้นเอง เป็นต้นคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท