งบฯ กระเป๋าฉีกพิษประชานิยมเพิ่มค่าหัว 30 บ


ระบอบทักษิณล้วงเงินอนาคตมาใช้มหาศาล
        ครม.ปวดหัว! ระบอบทักษิณล้วงเงินอนาคตมาใช้มหาศาล ต้องตั้งงบฯ โปะเพิ่มอีกเกือบ 5 หมื่นล้าน  เพื่อเคลียร์หนี้ประชานิยม 8.5 หมื่นล้าน จากที่ท่วมอยู่กว่าแสนล้าน ทำให้งบฯ ปี 50 ต้องตั้งขาดดุลสูงถึง           1.5 แสนล้านบาท กางตัวเลขหั่นงบฯ ผู้ว่าฯ ซีอีโอทิ้ง 4 หมื่นล้าน เพิ่มค่าหัวโครงการ 30 บาท เป็น 1,899.69 บาท ช่วยปลดหนี้โรงพยาบาล จับตารัฐบาลหอย คมช.ตั้งงบฯ ความมั่งคง-ส่งเสริมธรรมาภิบาล 3.4 แสนล้านม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2549 ว่า ครม. ได้มีมติอนุมัติการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2550 โดยให้มีการปรับเพิ่มกรอบวงเงินรายจ่ายอีก 46,200 ล้านบาท ทำให้วงเงินรายจ่ายทั้งหมดอยู่ที่ 1,566,200 ล้านบาท จากเดิมที่เคยอนุมัติกรอบรายจ่ายไว้เพียง 1,520,000 ล้านบาท ขณะที่ประมาณการรายได้เท่าเดิม คือ 1,420,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น จากเดิมอยู่ที่ 100,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 146,200 ล้านบาท  "เหตุผลที่ปรับต้องเพิ่มเพราะว่าระหว่างที่จัดทำงบประมาณ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า      มีภาระหนี้คงค้างที่หมกอยู่ เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นแล้วในโครงการต่าง ๆ เช่น หนี้ที่ต้องชำระคืนกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร, หนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร, หนี้กองทุนประกันสังคม, ค่าวิทยฐานะของครู, หนี้ธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่ขาดทุน และรัฐบาลยังไม่ได้จ่ายชดเชยให้, หนี้องค์การ       สวนยาง, องค์การคลังสินค้า (อคส.), หนี้กองทุนหมู่บ้าน และหนี้โครงการหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งคิดเป็นภาระหนี้ที่ต้องจ่ายรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 101,761 ล้านบาท" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว   ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2550 รัฐบาลจึงได้มีการตั้งงบประมาณเพื่อใช้หนี้ดังกล่าวเป็นจำนวน 85,548 ล้านบาทสำหรับสาเหตุที่ต้องมีการชำระคืน เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากกฎหมายงบประมาณแล้ว กฎหมาย       มีการระบุว่า หากมีหนี้ที่ค้างจากการดำเนินการของรัฐจะต้องตั้งงบประมาณเพื่อใช้หนี้คืนให้ครบ โดยหนี้แต่ละส่วนมีระยะเวลาการชำระคืนที่แตกต่างกัน เช่น บางโครงการเพียง 1 ปี  บางโครงการ 3 ปี หรือบางโครงการ 5 ปี เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ต้องการชำระหนี้เดิมให้หมด จึงจำเป็นต้องมีการขยายกรอบงบประมาณรายจ่ายดังกล่าว ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า จำนวนงบประมาณที่ตั้งเพื่อใช้หนี้ 85,548 ล้านบาทดังกล่าว คิดเป็นหนี้ที่ต้องจ่ายให้แก่กองทุนหมู่บ้านเฉพาะในปี 2550 จำนวนประมาณ 13,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 16,000 ล้านบาท กฎหมายกำหนดให้จ่ายในปี 2551 และ 2552 ต่อไป ม.ร.ว.ปรีดิยาธรยืนยันว่า การเพิ่มงบประมาณรายจ่ายจากกรอบเดิมนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อสัดส่วน        หนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณกว่า 41% รวมถึงเมื่อเปรียบเทียบวงเงินงบประมาณขาดดุลกับรายได้ประชาชาติ จะอยู่ที่ 1.72% เท่านั้น ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปสามารถยอมรับได้  อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณนั้นจะใช้รูปแบบใด ระหว่างการกู้ระยะยาวกับกู้ระยะสั้น แต่โดยเบื้องต้นมองว่าอาจจะใช้วิธีการออกพันธบัตรในกรณีของหนี้ระยะยาว ซึ่งก็ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องออกพันธบัตรตามวงเงินขาดดุลทั้งหมด เนื่องจากอาจมีการเบิกจ่ายงบประมาณไม่ครบตามกรอบรายจ่ายทั้งหมดก็ได้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า ตัวเลขงบรายจ่ายที่สรุปออกมานี้ ได้มีการตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นออกไปจำนวนมาก โดยก่อนหน้านี้แต่ละกระทรวงได้ขออนุมัติรวมกันถึง 2,000,000 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ถึง 500,000 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออก โดยโครงการที่ชัดเจนจะถูกตัดออกไป ได้แก่ งบกลาง ซึ่งในปี 2549 มีการอนุมัติถึง 81,000 ล้านบาท แต่ในปี 2550 อนุมัติเพียง 44,000 ล้านบาทเท่านั้น   "มีตัดไปเยอะ ที่ชัดเจนคืองบกลางที่ตัดไป ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการขยายยุทธศาสตร์พัฒนากลุ่มจังหวัดและจังหวัด  หรืองบผู้ว่าฯ  ซีอีโอ จำนวน 40,000 ล้านบาท ที่เหลือ        ก็เป็นเงินที่จะต้องจ่ายชดเชยค่าก่อสร้าง ประมาณ 2,000 ล้านบาท และงบสำรองเพื่อจ่ายชดเชยในกรณีฉุกเฉิน เช่น กรณีน้ำท่วม เป็นต้น อีกประมาณ 42,000 ล้านบาท" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวนอกจากนี้ ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายนี้ เป็นการเน้นตามยุทธศาสตร์ที่สำคัญของรัฐบาล โดยยุทธศาสตร์ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายมากที่สุด ได้แก่ ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ คิดเป็นวงเงิน 593,000 ล้านบาท รองลงมาคือ ยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงและส่งเสริมธรรมาภิบาล 343,000 ล้านบาทม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า หลังจากนี้รัฐบาลจะเร่งพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550  ให้เรียบร้อย และเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยด่วน เพื่อให้สามารถอนุมัติและออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ได้ภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2549 ก่อนที่จะประกาศใช้ และสามารถเบิกจ่ายได้ต้นเดือนมกราคม 2550 ต่อไป   ทั้งนี้ โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายปี 2550 ประกอบด้วย งบรายจ่ายประจำ 1,130,871.5 ล้านบาท    คิดเป็น 72.2% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด  รายจ่ายลงทุน 379,871.5 ล้านบาท คิดเป็น 24.3% และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 55,490.5 ล้านบาท คิดเป็น 3.5%    สำหรับงบลงทุนที่สัดส่วนอยู่ที่ 24.3% นั้น เนื่องจากเป็นการรวมภาระการใช้หนี้เข้าไปด้วย โดยก่อนหน้านี้งบลงทุนมีสัดส่วนถึงกว่า 26% ใกล้เคียงกับปีงบประมาณ 2549  "รายจ่ายประจำเพิ่มเยอะ เพราะว่ารัฐบาลที่แล้วอนุมัติเบี้ยหวัดบำนาญให้ข้าราชการเยอะ เพิ่มจาก 518,000 ล้านบาท เป็น 607,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 89,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่าย        ด้านบุคลากรทั้งสิ้น  รัฐบาลนี้ทำอะไรไม่ได้เพราะว่ารัฐบาลชุดก่อนได้อนุมัติไปตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่มาเบิกจ่ายในปีนี้ เราก็ต้องเดินตาม ส่วนค่าสาธารณูปโภคและค่าเช่าทรัพย์สินไม่เพิ่ม" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวด้าน นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ครม.เห็นชอบอัตราเหมาจ่ายรายหัวสำหรับการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปีงบประมาณ  2550  ในอัตรา 1,899.69 บาทต่อคน  ซึ่งลดลงจากงบประมาณ     ที่เสนอขอไป 2,089.20 บาทต่อคน แต่ก็ถือว่าสูงกว่าปีงบประมาณ 2549 ที่ได้รับในอัตราเหมาจ่ายรายหัว 1,659.30 บาท ประมาณ 240 บาท ซึ่งต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรีและ ครม. ที่เห็นความสำคัญของสุขภาพคนไทย ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะบริหารจัดการงบประมาณให้ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการให้บริการประชาชน และในวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้           จะมีการประชุมข้าราชการระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อชี้แจงแนวทางการจัดการบริหารงบประมาณที่ได้รับ "เราเข้าใจว่างบประมาณมีจำกัดและต้องนำไปพัฒนาในทุกด้าน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองก็ได้บอกว่าเคยเป็นประธานมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ได้เห็นความขาดแคลนและความยากลำบากของแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่

สาธารณสุขอื่น ๆ เพราะคนไข้มากขึ้นแต่แพทย์น้อย บางคนทนทำงานไม่ไหวก็ลาออกไป คนที่อยู่ยิ่งต้องทำงานหนักขึ้น"
 
นพ.มงคลกล่าวว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธรชี้แจงว่างบประมาณที่มีอยู่มีเพียงเท่านี้ แต่อีกไม่นานจะมีการจัดทำงบประมาณของปี 2551  ดังนั้นหากขาดเหลืออะไรก็สามารถเพิ่มเติมงบประมาณในปี 2551 ได้อีกรมว.สาธารณสุขบอกว่า ทั้ง  สธ. และ สปสช. จะบริหารจัดการงบประมาณที่ได้มาให้ได้ประโยชน์สูงสุด  และให้บริการกับประชาชนกลุ่มที่ด้อยโอกาส เช่น ประชาชนในพื้นที่ชนบทห่างไกล คนไร้สัญชาติตามแนว        ชายขอบประเทศ ซึ่งมีคนบางส่วนเกิดในประเทศไทยแต่การพิสูจน์สัญชาติทำได้ไม่ครอบคลุม ซึ่งขณะนี้ประเมินว่าเฉพาะในภาคเหนือมีอยู่ประมาณ 2 ล้านคน ยังไม่รวมคนที่ไม่มีบัตรประชาชนจากภาคอื่น ๆ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีจำนวนมาก ซึ่งคนกลุ่มนี้ถึงแม้จะไม่มีบัตรประชาชน แต่เมื่อเจ็บป่วยมาโรงพยาบาลก็ต้องรักษาให้ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการประชุม ครม. มีการหารือเรื่องสัดส่วนเงินเดือนที่อยู่ในงบรายหัวตามที่ก่อนหน้านี้ สธ. ได้เสนอให้ลดสัดส่วนเงินเดือนในงบประมาณลงจากเดิม 79% เหลือ 60% เพื่อให้งบประมาณด้านการรักษาพยาบาลมากขึ้นหรือไม่    นพ.มงคลกล่าวว่า ที่ประชุมไม่ได้มีการหารือกันเรื่องนี้  แต่เร็ว ๆ นี้จะมีการหารือกันและจะมีรายละเอียดเรื่องนี้ตามมาในภายหลัง  อย่างไรก็ตามคาดว่าน่าจะมีข่าวดีในเรื่องนี้ นพ.มงคลยังกล่าวอีกว่า ได้ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) แต่ละคนพยายามหาแพทย์-พยาบาลที่เกษียณอายุ หรือลาออกจากราชการ เข้ามาทำงานช่วยในการตรวจรักษาคนไข้ โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการบริหาร โดยเฉพาะในกระทรวงสาธารณสุขจะจัดหางบประมาณให้ไม่อั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งบประมาณรายหัวที่ได้ในปี 2550 เมื่อคิดจากฐานประชากร 48  ล้านคน จะทำให้ สปสช. ได้งบประมาณ 91,185 ล้านบาท และหากหักสัดส่วนเงินที่ 79% จะเหลืองบประมาณรักษาพยาบาล 19,149 ล้านบาท หรือประชาชนจะได้รับค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยประมาณ 361 บาทต่อคนต่อปีแต่หาก   สำนักงบประมาณยอมลดสัดส่วนเงินเดือนลงเป็น 60% จะทำให้ได้งบประมาณในการรักษาพยาบาลเป็น 36,474 ล้านบาท และประชาชนจะได้รับค่ารักษาพยาบาลประมาณ 759 บาทต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นจากการ          หักเงินเดือน 79%  อีกประมาณ 17,325 ล้านบาท  ซึ่งเมื่อเทียบกับงบประมาณที่หายไปจากการไม่เก็บ 30 บาท  ซึ่งมีประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี ถือว่าไม่กระทบกับการรักษาพยาบาล

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ในที่ประชุม ครม. มีการพูดคุยถึงปัญหาของแพทย์ที่ระยะหลังลาออกเป็นจำนวนมาก โดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เห็นความสำคัญและได้พูดขึ้นว่า ทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหานี้ได้  เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเพิ่มสวัสดิการให้กับหมอมากขึ้นเพื่อรักษาบุคลากรเหล่านี้ไว้กับภาครัฐ    นอกจากนี้         ม.ร.ว.ปรีดิยาธรได้กล่าวในที่ประชุมว่า จะไม่ทำให้โรงพยาบาลมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย

ไทยโพสต์  มติชน  กรุงเทพธุรกิจ ไทยรัฐ  ข่าวหุ้น  เดลินิวส์ 1

                      5 พฤศจิกายน 2549

   
หมายเลขบันทึก: 59812เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2006 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท