ทางรอดของเกษตรกรไทยยุค AEC


ทางรอดของเกษตรกรไทยยุค AEC

19 พฤศจิกายน 2558

สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

http://www.gotoknow.org/posts/597459

น่าเป็นห่วงสำหรับเกษตรกรไทยเมื่อล่วงพ้นปี 2558 ไปแล้วว่าจะสามารถโลดแล่นในสังคมเสรีของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community) [2] ได้เพียงใด เกษตรกรไทยจะมีศักยภาพที่ทัดเทียมกับเพื่อนบ้านได้หรือไม่ เพราะเกษตรกรไทยสามารถผลิตสินค้าการเกษตรส่งขายสู่ตลาดโลกโดยไร้คู่แข่งมานานแล้ว แต่ในระยะหลังที่ผ่านมา ปรากฏว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมถึงประเทศปิดอย่างสหภาพเมียนมา หรือ พม่า ก็ได้พัฒนาการเกษตรจนสามารถส่งข้าว ผลไม้ และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรออกสู่ตลาดโลกได้พอ ๆ กับประเทศไทย

เราลองมาทบทวนดูภาพรวมของการเกษตรบ้านเราจากอดีตตั้งแต่เริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นต้นมา หรือเมื่อประมาณ 30-40 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน

ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการเกษตร

ด้วยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์กายภาพของประเทศที่อยู่ติดทะเลทั้งสองฝั่งคือฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิค และฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ทำให้ประเทศไทยมีลมมรสุม มีฝนตกอย่างเหมาะสม มี “ป่าฝนเขตร้อน” (Tropical Rain Forest) [3] หรือ ป่าดิบชื้น หรือป่าดงดิบ ซึ่งพบมากทางภาคใต้และแถบจังหวัดชายทะเลภาคตะวันออก เช่น จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด [4] ที่มีการปลูกผลไม้ และยางพาราได้

ประเทศไทยมีแหล่งต้นน้ำมากมายหลายสายเช่น แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน แม่กลอง ป่าสัก สะแกกรัง ชี มูล เกิดที่ราบลุ่ม หรือ “ลุ่มน้ำต่างๆ” (Watershed) [5] มากมาย เกิดตะกอนแม่น้ำที่เหมาะแก่การเพาะปลูก ส่วนทางภาคเหนือ ก็มีอากาศเย็นสบายไม่หนาวเย็นมาก ผลไม้ก็เจริญเติบโต ได้ผลผลิตดี คนไทย จึงมีผักผลไม้ทาน ตั้งแต่ภาคเหนือจรดถึงภาคใต้ และสามารถปลูกผลไม้ได้ตลอดปี คนไทยจึงไม่เคยขาดแคลนอาหาร อีกทั้งยังสามารถ ส่งออกพืชผักและผลผลิตการเกษตร สูงเป็นอันดับต้นของโลก

ระบบการเกษตรในประเทศไทย

เราสามารถแบ่งระบบการเกษตรของไทยออกได้เป็น 2 ระบบคือ (1) ระบบการเกษตรแผนปัจจุบันหรือเกษตรเคมี และ (2) ระบบการเกษตรทางเลือก (Alternative Agriculture) [6]

เกษตรทางเลือกเป็นการทำการเกษตรอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่ใช่เกษตรเคมีดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เป็นการทำการเกษตรที่เน้นการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และวัสดุคลุมดิน การผสมผสานการปลูกพืชและสัตว์ ลดการไถพรวนและงดเว้นหรือลดการใช้สารเคมีสังเคราะห์ และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้น้อยลงจนถึงขั้นไม่ใช้เลย ได้แก่ (1) เกษตรธรรมชาติ (Natural Farming) (2) เกษตรอินทรีย์ (Organic Farming) (3) เกษตรยั่งยืน (Sustainable Agriculture) (4) เกษตรผสมผสาน (Integrated Farming) (5) เกษตรทฤษฎีใหม่ (New Theory Agriculture) (6) วนเกษตร (Agro Forestry) [7]

จุดเริ่มต้นของการเกษตรแผนใหม่ เน้นเพื่อการผลิตเชิงพานิช

เกษตรกรไทย เดิมปลูกพืชผักเพื่อกินในครัวเรือน แต่เมื่อมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) [8] ประเทศไทยได้กู้เงินต่างประเทศเพื่อการพัฒนาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infra Structure) มีการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ เพื่อการเกษตร และเพื่อการผลิตพลังงานไฟฟ้า ด้านการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตการเกษตรจากเดิมที่บริโภคกินในครัวเรือนเป็น “การผลิตเชิงพานิช” [9] “ปลูกพืชเชิงเดี่ยว” [10] เช่น ปลูกข้าวอย่างเดียว หรือปลูกปออย่างเดียว เพื่อขายให้ได้ปริมาณที่มาก และราคาที่สูง เป็นการเกษตรเพื่อการส่งออก เพื่อหาเงินเข้าประเทศมาใช้หนี้เงินกู้ ซึ่งต่อมาปรากฏว่าประเทศไทยได้เป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรจนติดอันดับต้นของโลก ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง สัปปะรด ข้าวโพด อ้อย(น้ำตาล) ผลไม้ต่างๆ อาหารทะเลสด เป็นต้น [11]

เกษตรกรไทยถึงทางตัน เกิดหนี้สิน ยิ่งทำยิ่งจน จึงเกิด “เกษตรทางเลือก” ขึ้น

ด้วยความต้องการเพิ่มผลผลิต เกษตรกรไทยจึงพึ่งพิงสารเคมี ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี ยากำจัดวัชพืชต่างๆ ที่มีต้นทุนที่สูง ทำลายธรรมชาติ ในแต่ละปีเกษตรกรไทยนำเข้าสารเคมีในปริมาณที่มาก [12] อาหารก็ปนเปื้อนด้วยสารเคมีมาก [13] เกษตรกรเกิดอาการเจ็บป่วย สุขภาพทรุดโทรมแย่ลง เมื่อปุ๋ยยาแพงขึ้น ก็ทำให้ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นด้วย เมื่อผลิตสินค้ามากสินค้าก็ล้นตลาด ขายไม่ได้ราคา เกิดภาวะหนี้สินจากการผลิต รเคมีมาก[14]

ตลอดระยะไม่น้อยกว่า 30 กว่าปีที่ผ่านมา เกษตรกรไทยจึงตกอยู่ในสภาวะที่ย่ำแย่ในชีวิต ด้วยการเกษตรแผนใหม่ดังกล่าว ซึ่งไม่เป็นไปตามความคาดหวังของเกษตรกร เพราะยิ่งทำก็ยิ่งจน มีหนี้สินพะรุงพะรังจึงเริ่มเกิดปราชญ์เกษตรชุมชนชาวบ้านขึ้นในหลายท้องที่ที่มีลักษณะคล้ายๆกัน กล่าวคือ ปราชญ์เกษตรชาวบ้านเหล่านี้ได้พยายามคิดค้นสูตร “การเกษตรรูปแบบใหม่” ของตนขึ้นมาจากประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่เอาการเกษตรแบบเดิม ไม่เอาการเกษตรแผนใหม่ที่พึ่งสารเคมี มีการพัฒนาเป็นการเกษตรผสมผสานที่เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์หลาย ๆ อย่าง ไม่เน้นการเกษตรเชิงเดี่ยว ทำการเกษตรแบบปลอดสารเคมี แบบวนเกษตร หรือการเกษตรผสมผสานรวมๆ เรียกว่า “เกษตรทางเลือก” ดังกล่าวแล้ว ซึ่งต่อๆ มาได้มีการพัฒนาต่อยอดจนแพร่หลายไปในพื้นที่ที่มีสภาพแตกต่างกันไป [15]

เกษตรกรไทยควรหันมาทำการเกษตรทางเลือกให้มากขึ้น

ด้วยประโยชน์ของ “เกษตรทางเลือก” ที่มีมากมาย เพราะมีลักษณะเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ในหลายประการ เราลองมารณรงค์ให้เกษตรกรไทยหันมาใช้ “วิถีการเกษตรทางเลือก” กันดีกว่า ด้วยการเปลี่ยนวิถีการเกษตรแบบใช้สารเคมีในต้นทุนที่สูง มาใช้วิถีการเกษตรใหม่ คือ “การเกษตรทางเลือก” ดังนี้

1. กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน เพื่อลดรายจ่ายของครัวเรือน และลดการพึ่งพาระบบเงินตราในการเกษตรที่ใช้ต้นทุนสูง

2. ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก น้ำหมักกำจัดแมลงเพื่ออาหารที่ปลอดภัย ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และต่อสภาพแวดล้อม

3. ใช้ชีวิตไม่ข้องเกี่ยวอบายมุขทั้งหลาย ดำรงวิถีชีวิตแบบธรรมะ มีการจัดทำบัญชีในครัวเรือนเพื่อเก็บและควบคุมการใช้จ่าย [16]

4. ให้ความสำคัญกับดินและน้ำ คือการพัฒนาและจัดรูปที่ดิน มีการแบ่งพื้นที่เพาะปลูกเป็นสัดส่วน และ มีแหล่งน้ำของตนเอง

5. ขนาดของพื้นที่การเกษตรที่เล็กลงทำในพื้นที่น้อย ที่สามารถทำเองได้ โดยไม่ต้องจ้างแรงงานผู้อื่น ใช้ธรรมชาติจัดการกับธรรมชาติ เลี้ยงไส้เดือนเพื่อการพัฒนาดิน เน้นการปลูกพืชผักไว้กินเอง เป็นต้น

6. เปลี่ยนเกษตรกรจากเดิมที่เป็น “ผู้ผลิต” อย่างเดียวให้เป็น “ผู้ขาย” ผลผลิตด้วย และเปลี่ยนจาก “ผู้ขายสินค้าเกษตร” เป็น “ต้นแบบของเกษตรกร” หรือเป็น “วิทยากรการเกษตร” และเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานของเกษตรกรทางเลือกของทุกที่ทุกชุมชนที่มีความสนใจและเข้ามาศึกษาดูงานที่เพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็น “ต้นแบบของการศึกษาดูงานด้านการเกษตรทางเลือก” ในที่สุด

7. มีการเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ด้วยกัน ในลักษณะของการเกษตรต่อเนื่องและครบวงจร เช่น ปลูกพืชให้สัตว์กิน เอามูลสัตว์ใส่พืช เป็นต้น เป็นการใช้ประโยชน์จากการเกษตรอย่างหนึ่งไปใช้กับการเกษตรอีกอย่างได้ โดยไม่มีสิ่งเหลือจากการเกษตร เพราะทุกอย่างใช้ประโยชน์การเกษตรได้กันหมด

8. การเพาะปลูกแบบผสมผสาน มีพืชหลายอย่างที่ครบเกือบทุกอย่าง และเลี้ยงสัตว์หลายชนิด เป็ด ไก่ ห่าน วัว โดยไม่ “เน้นราคา” แต่เน้นการผลิตเพื่อลด “ความเสี่ยง” ในเรื่องของราคา นอกจากนี้ยังไม่เน้น “การเกษตรเชิงเดี่ยว” ที่ปลูกพืชหลัก หรือเลี้ยงสัตว์หลักอย่างเดียว แต่ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์หลายชนิดคละเคล้ากันไป

9. สิ่งที่เหมือนกันอีก อย่างก็คือ เกษตรกรจะมีความสุขและไม่เป็นหนี้ เพราะเกษตรทางเลือก ทำเองทุกอย่าง มีการวางแผนการผลิตตั้งแต่การปลูกพืช การจำหน่าย มีกิน มีเก็บ ปลอดภัยจากสารเคมี ทำให้ครอบครัวมั่นคง ไม่มีอบายมุข และมีความสุขที่ได้อยู่ทำกินบนผืนดินของตนเองด้วยความภาคภูมิใจ

หากเกษตรกรไทยหันหลังให้การเกษตรแผนใหม่ที่พึ่งพาสารเคมี ราคาสินค้าถูกกำหนดโดย “กลไกตลาดโลก” โดยหันมาดำเนินการผลิตแบบ “เกษตรทางเลือก”ให้มีจำนวนเกษตรกรทางเลือกที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะทำให้เกษตรกรไทยมีความสุข มีสุขภาพดีขึ้น (Healthy Society) [17] เพราะพืชผักสีเขียว ปลอดสารพิษ อาหารสะอาดปลอดภัย ที่เรียกว่า “Green & Clean” [18] นอกจากนี้ยังเกิดพลังการผลิตที่ “สามารถกำหนดราคาสินค้าการเกษตร” ได้ เพราะชุมชนมีการดูแลช่วยเหลือกันเอง มีการควบคุมการผลิตและการจำหน่ายในปริมาณที่เหมาะสมพอดี ไม่ให้สินค้าล้นตลาด เพราะสินค้าการเกษตรมักเก็บรักษานานไม่ได้ เช่น ข้าวหากเก็บนานเกินสองปีก็เน่าเสีย เสื่อมสภาพ เป็นต้น และเมื่อถึงเวลานั้น การเกษตรของประเทศไทยก็จะก้าวเข้าสู่สังคม “ตลาดเศรษฐกิจเสรีอาเซียน” ได้อย่างสง่าผ่าเผย มีความภาคภูมิใจ สมกับความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ของประเทศที่เหนือกว่าหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ ดังที่กล่าวนำไว้แต่ต้นโดยไม่อายใคร



[1] สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 63 ฉบับที่ 8 วันศุกร์ที่ 20 - วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2558, หน้า 80, เจาะประเด็นร้อน อปท.

[2] สิ้นปี พ.ศ. 2558 ภูมิภาคอาเซียน 10 ชาติ 10 ประเทศได้เริ่มก้าวเข้าสู่ประตู “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC)” 3 เสาสำคัญได้แก่ (1) ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน(2) ประชาคมเศรษฐกิจและ(3) ประชาคมสังคมวัฒนธรรม ซึ่งในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 12 ที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2550 ได้มีการประกาศเลื่อนเป้าหมายการรวมตัวให้เร็วเข้ามาอีก 5 ปีเป็น พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) และในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 ที่ชะอำ ประเทศไทย ผู้นำอาเซียนก็ได้ร่วมลงนามในเอกสาร “Roadmap for an ASEAN Community 2009-2015” ดูใน กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ, “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC)”, กุมภาพันธ์ 2555, http://www.mfa.go.th/asean/contents/files/asean-media-center-20121126-180228-326132.pdf & ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน), “ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของ อาเซียน และประชาคมอาเซียน”, http://www.sac.or.th/databases/conference_asean_2011/?page_id=536 & ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC), http://www.baanjomyut.com/library_2/asean_community/04.html

[3] Rainforest (tropical rainforest): ป่าฝนเขตร้อน, ป่าดงดิบ, http://www.manager.co.th/science/ScienceShowWord.aspx?wordday_id=303&Alphabet=r

[4] ป่าดิบชื้น จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/ป่าดิบชื้น

[5] การจัดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, www.dnp.go.th/watershed/class.htm

ลุ่มน้ำ คือ หน่วยพื้นที่หนึ่งที่ประกอบด้วยทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ ทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น (คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์) และทรัพยากรคุณภาพชีวิต (สังคมสิ่งแวดล้อม) ระบบลุ่มน้ำประกอบด้วยทรัพยากรเหล่านี้อยู่รวมกันคละกันอย่างกลมกลืนจนมีเอกลักษณ์และพฤติกรรมร่วมกัน เป็นลุ่มน้ำที่มีลักษณะและแสดงบทบาทเฉพาะ จึงมักเรียกลุ่มน้ำเป็นทรัพยากรลุ่มน้ำ หรือระบบทรัพยากร

[6] เสรี แข็งแอ, เกษตรทางเลือก, คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลับขอนแก่น, 2548, http://vet.kku.ac.th/farm/data3/25.pdf

[7] ธานีซิตี้(นามแฝง), ระบบเกษตรในประเทศไทย : การเกษตรทางเลือก, OKnation, 29 กันยายน 2550, http://www.oknation.net/blog/kontan/2007/09/29/entry-1

[8] แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509),http://coop.eco.ku.ac.th/coopeco/learning1/five11.html

แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 มีช่วงเวลาของแผน 6 ปี โดยแยกออกเป็นช่วง 3 ปีแรก (2504-2506) และช่วง 3 ปีหลัง (2507-2509) รัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ในช่วงของแผนฉบับนี้คือรัฐบาลชุดที่ 30 ภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชน์ และรัฐบาลชุดที่ 31 ภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจร โดยแผนได้เริ่มใช้ในสมัยรัฐบาลชุดที่ 30 และได้ใช้ต่อมาจนถึงช่วงแรกของรัฐบาลชุดที่ 31 ซึ่งตามแผนพัฒนาฯฉบับนี้รัฐบาลจะถือเอาการเจริญเติบโต และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศและให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศเพื่อให้สามารถรองรับกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจการค้า โดยรัฐบาลได้เห็นความสำคัญของสหกรณ์ในการเป็นเครื่องมือของรัฐ ในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย

[9] ประสาท เกศวพิทักษ์, เกษตรปลอดภัย, http://www.thaifert.com/knowledge_detail.php?knowledgeid=27

กลุ่มเกษตรกรที่ผลิตพืชเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์คือการเกษตรที่เน้นปริมาณผลผลิต หรือผลตอบแทนจากการผลิตเต็มที่จึงเน้นใช้ปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ให้ผลเร็ว จึงเน้นการใช้ปุ๋ยและสารเคมีเป็นหลัก เช่น การผลิต ข้าว อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และสับปะรด ซึ่งในปี 2536 มีเกษตรกร ผลิต 2,542,020 ครัวเรือน เพิ่มขึ้นเป็น 3,172,492 ครัวเรือน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 64 ของเกษตรกรทั้งประเทศ

[10] ระบบเกษตรกรรมพืชเดี่ยว, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/ระบบเกษตรกรรมพืชเดี่ยว

ระบบเกษตรกรรมพืชเดี่ยว (Monoculture) เป็นระบบเกษตรกรรมที่เป็นการปลูกพืชชนิดเดียวในบริเวณกว้างเป็นวิธีที่นิยมใช้โดยเกษตรกรผู้มีเนื้อที่ในการเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก ถ้าพูดถึงป่าระบบเกษตรกรรมพืชเดี่ยวก็หมายถึงการปลูกไม้พันธุ์เดียวเท่านั้น

[11] อันดับประเทศไทย...ในอันดับโลก!!, 28 สิงหาคม 2553, http://unigang.com/Article/3554

ประเทศ ไทยเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญของโลก สามารถผลิตข้าวได้ประมาณ 27 ล้านตัน จัดเป็นอันดับ 6 ของโลก มีการส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก มูลค่า 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นข้าวสารร้อยละ 97 และผลิตภัณฑ์จากข้าวร้อยละ 7 แต่ถึงแม้ประเทศไทยจะส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ไม่มีอำนาจในการกำหนดราคาข้าวในตลาดโลกเลย (2550) & ดู วริทธิ์นันท์ ชมประเสริฐ, แนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยกับอาเซียนหลังมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ, คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2555, http://library.cmu.ac.th/faculty/econ/Exer751409/2555/Exer2555_no211

มูลค่าการส่งอออกสินค้าเกษตรของไทยกับอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550-2554 มีอัตราการเจริญเติบโตสูงถึง 13.79 เปอร์เซ็นต์

ปัจจุบันอาเซียนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญอันดับหนึ่งของไทย โดยกรมศุลกากรกล่าวว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตรกับอาเซียนร้อยละ 19 ของสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตรของประเทศ ซึ่งนับว่าสูงกว่าการค้ากับประเทศคู่ค้าที่สำคัญอย่างเช่น ญี่ปุ่น (ร้อยละ 14) ยุโรป (ร้อยละ 11) และสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 11) หากเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตนั้น ตลาดสินค้าเกษตรอันดับหนึ่งคือ ญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตรร้อยละ 20 ของสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตรของประเทศ เห็นได้ว่าความสำคัญของอาเซียนกับการเป็นตลาดรองรับสินค้าเกษตรของไทยนั้นมีมากขึ้นเรื่อย ๆ

[12] ศิริพร วันฟั่น, เกษตรกรรมปลอดพิษชีวิตปลอดภัย, 2547, http://www.tei.or.th/plibai/th_plibai59_sarakadi.html

ข้อมูลจาก กรมวิชาการเกษตร พบว่าปริมาณการใช้สารเคมีในปีพ.ศ.2546 จึงไม่น้อยกว่า 4 ล้านตัน

[13] ศิริพร วันฟั่น, 2547, อ้างแล้ว, จากการศึกษาของกรมวิชาการเกษตรพบว่า ในสารฆ่าแมลง 100 กิโลกรัม ที่ฉีดพ่นออกไป จะมีเพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้นที่ฉีดโดนแมลงและทำให้แมลงตาย แต่ส่วนที่เหลืออีก 99 กิโลกรัม จะตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม และจากข้อมูล กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบพบว่า พ.ศ. 2537 - 2542 ผักที่วางขายในท้องตลาดทั่วไป 156 ตัวอย่าง พบว่ามีผักมากถึงร้อยละ 73.72 ที่มีการปนเปื้อนของสารเคมี นอกจากนี้ยังพบสารเคมีตกค้างในสินค้าเกษตรจำพวกข้าว ผัก และผลไม้ ที่ส่งออกไปขายยังต่างประเทศจำนวนหนึ่ง ทำให้หลายประเทศ รวมถึงญี่ปุ่น ไต้หวัน นอร์เวย์ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ห้ามนำเข้าสินค้าที่มีสารเคมีตกค้างในช่วงปีพ.ศ. 2543 - 2544

[14] ศิริพร วันฟั่น, 2547, อ้างแล้ว, ทุกปีประเทศไทยต้องจ่ายเงินค่านำเข้าสารเคมีการเกษตรราว 3 หมื่นล้านบาท เทียบกับรายได้การส่งออกข้าวมูลค่า 70,532 ล้านบาทแล้ว คงได้คำตอบว่า ทำไมชาวนาไทยถึงเป็นหนี้กันไม่รู้จบ

[15] ตัวอย่างที่น่าสนใจเร็ว ๆ นี้คือ เกษตรกรสาวจบปริญญาจากต่างประเทศหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ดู “ไร่รื่นรมย์” เกษตรกรยุคใหม่ ดีกรี นร.นอก ยอมทิ้งบทบาททายาทธุรกิจร้อยล้าน, MGR Online, 12 พฤศจิกายน 2558, http://manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9580000125395

ปราชญ์ทางด้านการเกษตรพื้นบ้านที่มีชื่อเสียง ได้แก่ (1) ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม (2) มหาอยู่ สุนทรชัย (3) พ่อผาย สร้อยสระกลาง (4) พ่อคำเดื่อง ภาษี เป็นต้น

[16] ในปี 2558 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ให้ความรู้แก่เกษตรกร “การประยุกต์ใช้บัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุน” ในโครงการกระบวนการเพื่อลดต้นทุนการผลิต ภายใต้โครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ปีงบประมาณ 2559

[17] ปัญหาที่ท้าทาย สุขภาพ, โรงเรียนคุระบุรีชัยพัฒนาพิทยาคม, 2557, http://schoolweb.eduzones.com/bow2013/content.php?view=20140916125839mEC4hIN

การปฏิบัติการอันจะให้ผลบวกต่อสุขภาพของประชาชนโดยการสร้างสังคมที่มีสุขภาพดี (Healthy society) การสร้างเมืองที่มีสุขภาพดี (Healthy city) การจัดที่ทำงานที่เอื้อต่อสุขภาพ (Healthy workplace) และการทำให้เป็นโรงเรียนเพื่อสุขภาพ (Healthy school) เป็นต้น

[18] เกณฑ์การประเมินสาธารณสุขรวมใจลดโลกร้อน Green & Clean, งานอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์อนามัยที่ 5 นครราชสีมา, 2555, http://ed2.surinpho.go.th/documents/1337929207_.doc& ดูกรณีตัวอย่างใน “ไร่รื่นรมย์” เกษตรกรยุคใหม่ ดีกรี นร.นอก ยอมทิ้งบทบาททายาทธุรกิจร้อยล้าน, MGR Online ,12 พฤศจิกายน 2558, http://manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9580000125395 “ศิริวิมล กิตะพาณิชย์” “แอปเปิ้ล” เจ้าของไร่รื่นรมย์นักเรียนนอก “เมืองเมลเบิร์น” ประเทศออสเตรเลีย ที่ฝันอยากจะพลิกฟื้นผืนแผ่นดินที่เป็นสมบัติของตระกูล อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย กว่า 80 ไร่ ให้มีคุณค่า สามารถที่จะเป็นอาหารเลี้ยงคนไทยให้มีสุขภาพที่ดี พื้นที่ทำนา ข้าวหอมอุบล 30 ไร่ ปลูกพืชไร่ ทำนา และเลี้ยงสัตว์ ในรูปแบบของเกษตรอินทรีย์ มาจนถึงขณะนี้เวลาผ่านไปกว่า 1 ปี มีผลผลิตที่นำออกจำหน่าย ได้แก่ ข้าวหอมอุบล (ข้าวกล้องอินทรีย์) แตงกวา (แตงล้านหอม) มะเขือเทศ สตรอเบอร์รี และจิงจูฉ่าย (เป็นพืชกินใบ) ได้รับความนิยมในกลุ่มของคนรักสุขภาพ เพราะมีสารต้านมะเร็งสูง และเลี้ยงสัตว์ มี แกะ แพะ และเป็ด ทุกอย่างจะทำแบบเกษตรอินทรีย์ แม้แต่เลี้ยงสัตว์ ก็จะใช้อาหารที่ผลิตขึ้นมาแบบปลอดสารอันตราย

หมายเลขบันทึก: 597459เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2015 00:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2016 23:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับ


-ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะครับ


-ทางเลือก.ทางรอดของเกษตรกรไทย..


-เศรษฐกิจพอเพียง...นะครับ





ขอบคุณครับ คุณ



เพชรน้ำหนึ่ง

มาช่วยกันเขียนบทความทำนองนี้กันมาก ๆ หน่อยครับ...




พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท