ยินดีกับห้องปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อม มอ. กับ ISO17025


หากเราได้รับการรับรอง ISO 15189 ผลการทดสอบในกรอบรายการที่ขอรับรอง ก็จะถือว่ามีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล !!!

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ไปร่วมแสดงแสดงความยินดี ในวาระที่ห้องปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อม คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มอ. ได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025  งานนี้ ชวนอ.ปลื้มจิต หัวหน้าทีมนำ ISO ของภาคฯ ไปด้วย (พาไปดูงาน เตรียมไว้เมื่อถึงเวลาของเรา)

ไปถึงแล้ว รู้สึกกระอักกระอ่วนกับความไม่ประสาของตนเองค่ะ  คนอื่นเขานำดอกไม้ไปแสดงความยินดี แต่เราทั้งคู่ไปตัวเปล่า! ช่างไม่ประสาเสียเลย

งานนี้ เขาเชิญท่านรองอธิการ อ.พิชิต เรื่องแสงวัฒนา กล่าวเปิด ท่านบอกว่า  มีหน่วยงานในมอ. ประมาณ 5 แห่งเท่านั้นที่ได้รับรองระบบมาตรฐานต่างๆ และ ที่นี่ดูเหมือนจะเป็นห้องปฏิบัติการที่ 2 ที่ได้ ISO17025

ที่เราก็กำลังจะขอการรับรอง ISO 15189  ก็เป็นมาตรฐานที่แตกหน่อมาจาก ISO17025 นั่นแหละ เพียงแต่มีเนื้อหาสอดคล้องกับห้องปฏิบัติการการแพทย์มากขึ้น แต่โดยกรอบของข้อกำหนดต่างๆ เรียกว่าเป็นฝาแฝดกันเลยทีเดียว

การทำพิธีเปิดป้าย น่าทึ่งค่ะ เขาทำแบบง่ายๆ  ทำในห้องประชุมเลย เป็นการเปิดป้ายในจอคอมพิวเตอร์ค่ะ

 

จากนั้น ก็เป็นการบรรยายคู่ โดยวิทยากร 2 ท่านคือ คุณจันทร์เพ็ญ ใจธีรภาพกุล และ คุณดุษฎี มั่นความดี  จากสำนักบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ  กรมวิทยาศาสตร์บริการ ก.วิทย์ฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้การรับรอง ISO17025  สำหรับห้องปฏิบัติการทางอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ชีวภาพ  ทั้งคู่บรรยายพร้อมกัน สลับกันพูด โยนกันไปมาอย่างลื่นไหล  มืออาชีพจริงๆ ค่ะ 

ในช่วงครึ่งเช้า ผู้บรรยายให้ความสำคัญกับเรื่องที่มาที่ไปและความสำคัญของ “ข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วม” (Mutual Recognition Agreement) หรือเรียกย่อๆ ว่า MRA    โดยหน่วยงานที่ให้การรับรองห้องปฏิบัติการ หรือที่เรียกว่า accreditation bodies หรือ AD  นั้น หากต้องการให้เป็นหน่วยรับรองระดับสากล ต้องสมัคร และขอรับการประเมินกับองค์กรสากล และเมื่อผ่านก็จะได้ MRA 

ทำไมต้องให้ได้ MRA?   การได้ MRA จะแปลว่า ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจาก AD ที่ได้ MRA นั้น ก็ถือว่า เป็นห้องปฏิบัติการเทียบเคียงระดับสากล และ ผลการทดสอบจะได้รับการยอมรับทั่วโลก (tested once , accepted worldwide)  

ตอนนี้ สำนักบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ ของ กรมวิทย์ ก.วิทย์ ซึ่งตรวจรับรอง ISO17025 และ สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก.สาธารณสุข ซึ่งตรวจรับรอง ISO 15189 ได้รับ MRA แล้วทั้งคู่  ดังนั้น หากเราได้รับการรับรอง ISO 15189  ผลการทดสอบในกรอบรายการที่ขอรับรอง ก็จะถือว่ามีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล !!! (อยากให้ถึงวันนั้นเร็วๆ จัง)

ในช่วงบ่าย  วิทยากรบรรยายเรื่อง Validity of measurement  ซึ่งท่านพูดให้ฟังทั้งหลักการ และ ประเด็นปัญหาด้านปฏิบัติที่พบเจอจริงๆ  ท่านลงรายละเอียดพอสมควรจนเลยเวลา ท่านบอกว่า ในฐานะที่ทำแล็บเองมานาน  มีหลายจุดของข้อกำหนดที่เป็นยาขม จึงอยากพูดให้ฟังเยอะๆ  รายละเอียดคงไม่สามารถนำมาบันทึกในที่นี้ได้อย่างครบถ้วน  แต่แผนภูมิข้างล่าง ให้ภาพรวบยอดที่ดีมากว่า การจะได้ผลตรวจทดสอบที่ถูกต้องแม่นยำนั้น ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญต่างๆ อะไรบ้าง

ขอบพระคุณผู้อำนายการศูนย์ปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อม คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม ผศ. เจิดจรรย์ ศิริวงศ์ ที่ให้โอกาสภาควิชาพยาธิ มาร่วมแสดงความยินดี

ขอบพระคุณวิทยากรทั้งสองท่าน คุณจันทร์เพ็ญ ใจธีรภาพกุล และ คุณดุษฎี มั่นความดี  สำหรับวิทยาทานที่มีคุณค่า

 

หมายเลขบันทึก: 59730เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2006 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ขอบคุณอ.ปารมีที่นำมาถ่ายทอดต่อได้อย่างมีเนื้อมีหนังมากเลยค่ะ อ่านแล้วรู้สึกเหมือนได้ไปอยู่ในงานด้วยเลยนะคะ

ขอร่วมแสดงความยินดีด้วยค่ะ ซึ่งในขณะนี้ทางห้องปฏิบัติการของหน่วยงานกำลังทำระบบนี้อยู่ด้วยค่ะ

ยินดีกับ มอ. มานานแล้วและยิ่งดีใจกับท่านอธิการบดี มากยิ่งขึ้นที่ปัจจุบันห้องปฏิบัติการในสังกัด มอ. ได้รับการรับรอง ISO/IEC17025 มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจำนวน lab และขยายขอบข่ายในสาขาต่างๆ ชนิด continual improvement และภูมิใจจริงๆที่ตัวเองเป็นส่วนเล็กๆที่มีโอกาสช่วยพัฒนาชาติไทยค่ะ

ขอบคุณคุณดุษฎี มั่นความดี ที่มา comment บุคลากรที่อยู่ในส่วนหน่วยงานที่ให้รับการรับรองเช่นกรมวิทย์ ก็คงต้องทำงานหนักมากเช่นกัน และเป็นการทำงานหนักเพื่อให้คนอื่นได้ความดี น่าชื่นชมมากๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท