ถอดประสบการณ์ความเหมือนในความต่างระหว่างร.ร.จิระศาสตร์วิทยากับร.ร.เพลินพัฒนา


การประชุมวิชาการจัดการความรู้ ครั้งที่ 19 "โรงเรียนจัดการความรู้ปฏิรูปการศึกษา"

วันนี้ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมการประชุมวิชาการจัดการความรู้ ครั้งที่ 19 เรื่อง โรงเรียนจัดการความรู้ ปฏิรูปการศึกษา โดย สคส.ได้เชิญ ผอ.จิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์ และคณะ จากโรงเรียน
จิระศาสตร์วิทยา พระนครศรีอยุธยา และ ผอ.ธิดา  พิทักษ์สินสุข และคณะ จากโรงเรียนเพลินพัฒนา  กรุงเทพมหานคร  มาเล่าประสบการณ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการจัดการความรู้อย่างหลากหลาย พร้อมทั้งมีบรรดานักจัดการความรู้และผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ประมาณ 50 คน
เป็นไปตามเป้าหมายที่ฝ่ายผู้จัด คือ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) นำโดยคุณหมอวิจารณ์ พานิช  ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด และคณะทำหน้าที่เป็นคุณอำนวย และคุณลิขิต

กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกี่ยวกับ "การจัดการความรู้ของทั้งสองโรงเรียน" พบว่ามีความเหมือนในความแตกต่างหลายประการ เช่น
- ทั้งสองโรงเรียน มีเป้าหมายในการปฏิรูปการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนสำคัญที่สุดเหมือนกัน และมีอุดมการณ์ ความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายความสำเร็จเหมือนกันโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders)
- สำหรับความแตกต่างที่ถือเป็นความงาม เป็นสีสันของวงการศึกษาเมืองไทยที่น่าสนใจและน่าทึ่งก็มี เช่น โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา อยู่อยุธยา ตั้งมานานกว่า 45 ปี มีนักเรียนกว่า 4500 คน บุคลากร ร่วม 300 คนเศษ และดำเนินการจัดการศึกษาระดับอนุบาล ถึง ม.ต้น ผู้ก่อตั้งเป็นอดีตข้าราชการครูที่สนใจการศึกษา และมาก่อสร้างสร้างตัวเริ่มต้นจากศูนย์ และมาประสบผลสำเร็จตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน หลังจากที่ล้มลูกคลุกคลานมาหลายปี ส่วนโรงเรียนเพลินพัฒนา อยู่ที่กรุงเทพฯ ตั้งมาประมาณปีครึ่ง มีนักเรียนประมาณ 500 คน เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม ม.ต้น และ ม.ปลาย คณะผู้ก่อตั้งเป็นกลุ่มผู้คนที่มีฐานะดีสนในการศึกษามาร่วม
ลงทุนทำธุรกิจการศึกษา และประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น

สิ่งที่เป็นคุณค่าและแบบอย่าง (Best Practices) ของทั้งสองโรงเรียน ได้แก่
(1) ความมีอุดมการณ์  พบว่า ผู้ก่อตั้งมีอุดมการณ์และมุ่งมั่นที่จะจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ โดยไม่คิดหวังที่จะแสวงหาผลกำไรเป็นตัวเงิน
(2) ความมุ่งมั่น พยายาม (กัดไม่ปล่อย) พบว่า ทั้งคณะผู้บริหารและคณะครูต่างมุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละเพื่องานการศึกษาอบรมเด็กและไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เช่น โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยามีสโลแกนว่า "ที่นี่ไม่มีกาลเวลา ไม่มีวันเสาร์วันอาทิตย์ ไม่มีวันหยุด มีแต่การทำงานและพักผ่อนพอควร เพื่อจรรโลงสถาบันของเราให้ก้าวหน้าต่อไปไม่หยุดยั้ง"
(3) ความคิดริ่เริมสร้างสรรค์  พบว่า ครูและผู้บริหารได้คิดค้นวิธีการ แนวทาง หรือนวัตกรรมใหม่ๆในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ บางครั้งคิดนอกกรอบเดิมๆที่กระทรวงฯกำหนด แต่เป็นการคิดเชิงสร้างสรรค์ เช่น โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา มีโมเดลการจัดการความรู้ที่เรียกว่า "JIRASART Teaching's Model" เป็นต้น ส่วนเพลินพัฒนาค่อนข้างคิดแปลกใหม่ในกระบวนการจัดการความรู้ที่ครบวงจรทั้งในระดับสถานศึกษา พ่อแม่ ผู้ปกครอง ไปจนถึงชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างแท้จริง

หากท่านใดสนใจรายละเอียดว่าทำอย่างไร (How to) ขอเชิญติดตามไปดูได้ที่โรงเรียน หรือ สมัครเข้าร่วมประชุมสัมมนาใน "งานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ " ครั้งที่ 2 ระหว่าง
วันที่ 1-2 ธันวาคม 2548 ณ โรงแรมมิราเคิล กทม.ครับผม

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 5972เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2005 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 18:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท