การจัดการความรู้ขององค์กร


จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ…….ในองค์กรสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร

         ก้าวสู่การจัดการความรู้  ในองค์กรระยะที่ 3 “ นำ KM สวมลงในงานปฏิบัติ ’’       

 โดย:นายสายัณห์ ปิกวงศ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร7.สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร 

 จากการที่ทีมงานKMของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ได้เข้าร่วมงานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่2 ระหว่างวันที่ 1 – 2ธันวาคม 2548 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพมหานครที่ผ่านมาแล้วนั้น ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากการปฏิบัติจริง นับได้ว่าเป็นการเติมเต็ม ประสบการณ์ด้านการจัดการความรู้ ให้แก่ทีมงานKMของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ต้องขอขอบคุณทางสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม(สคส. )และ
กรมส่งเสริมการเกษตร ที่เปิดโอกาสให้สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร เป็นตัวแทนภาคส่วนราชการไทย ที่มีการใช้เครื่องมือการจัดการความรู้ที่ได้ปฏิบัติจริง ในแบบฉบับที่เหมาะสมเป็นตัวของตัวเอง โดยเป็นการเสวนา การใช้การจัดการความรู้ ในการพัฒนาสู่ความสำเร็จ(เป็นเลิศ)ของหน่วยงานราชการ ซึ่งเกิดการพัฒนาขึ้นเอง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายEm power และการพัฒนา
คุณอำนวย คุณกิจ คุณบันทึก ได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ พร้องได้นำเสนอกรณีศึกษา
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องส้ม ที่ได้มีการนำกระบวนการจัดการความรู้(KM )ไปปรับใช้

สิ่งที่เราได้รู้.นายแพทย์ประเวศ วะสี ( 2548 : 9 )ได้กล่าวให้ข้อคิดในงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่ 2 ตอนหนึ่งว่า  โลกที่หมุนเร็วขึ้นๆ อย่างนี้ ประสาทของมนุษย์ทนไม่ไหว แม้แต่ประธานธนาคารแห่งหนึ่งมีชื่อเสียงก็ยอมรับว่า พวกเขาทุกคนเครียดมาก ไม่มีเวลาจะคิดไปช่วยใคร เพราะถ้าหากพลาดจะล้มตาย จะเห็นได้ว่าการพัฒนาที่เอาเงินเป็นตัวตั้ง เป็นโครงสร้างใหญ่ทับ และหนักที่จะกดทับและบีบคั้นคนทั้งโลกอย่างไม่มีใครหยุดยั้งได้นอกจากนั้น องค์กรต่างๆ ในสังคม ล้วนมีความบีบคั้นในตัวเอง เพราะมีความสัมพันธ์ทางดิ่งในทุกองค์กรทางสังคมองค์กรแนวดิ่ง หมายถึง องค์กรที่สัมพันธ์กันด้วยอำนาจ ระหว่างคนข้างบนกับคนข้างล่าง เน้นการใช้กฎหมาย กฎระเบียบ และการสั่งการจากข้างบนลงล่าง ในองค์กรชนิดนี้การเรียนรู้จะมีน้อย เพราะคนมีอำนาจก็ใช้การสั่งการมากกว่าการใช้ความรู้ และการเรียนรู้ และต้องการให้คนไม่มีอำนาจ “ทำตามมากกว่าการเรียนรู้ คิดเอง ตัดสินใจเองโครงสร้างทางดิ่ง จึงเป็นโครงสร้างที่บีบคั้น ไม่ได้ให้คุณค่ากับศักดิ์ศรีความเป็นคนของคนทุกคนคนที่อยู่ในองค์กรเช่นนี้ จึงไม่มีความสุข ไม่รักกัน ขัดแย้งกัน และมีพฤติกรรมไม่สร้างสรรค์ต่างๆ องค์กรชนิดนี้จะทำงานให้สำเร็จได้ยาก ขาดความสำเร็จที่แท้จริง เพราะมีการเรียนรู้น้อยการจัดการความรู้ มุ่งเน้นความรู้ในตัวคน หมายถึง ความรู้ความชำนาญ ที่มีอยู่ในตัวคน แต่ละคนที่ได้มาจากประสบการณ์ชีวิตและการทำงาน ทุกคนมีความรู้อยู่ในตัว บางอย่างก็ชัดแจ้ง บางอย่างก็ซ่อนเร้น จนแม้เจ้าตัวเองก็ไม่รู้ว่าตัวเองมีความรู้นี้ ความรู้ในตัวคน ได้มาจากวิถีชีวิต จึงสอดคล้องและมีประโยชน์ต่อชีวิตและวิถีชีวิตร่วมกัน เป็นความรู้เชิงวัฒนธรรม ถ้าเคารพความรู้ในตัวคน คนทุกคนกลายเป็นคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีศักยภาพ และมีความสุข

สิ่งที่เราได้เห็นและแลกเปลี่ยนมีกลุ่มเครือข่ายการจัดการความรู้ ได้จัดนิทรรศการเพื่อแสดงผลการทำงานด้านการจัดการความรู้ ของกลุ่มอาชีพ และองค์กรต่างๆ ทั้งนี้มีภาคราชการ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ดูแล้วทุกภาคส่วนจะมีความมุ่งมั่น และอยากจะแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้ทีมงานของเราได้มีความเข้าใจ ในการจัดการความรู้มากยิ่งขึ้น และได้รู้ว่าภาคส่วนอื่น เขาเริ่มต้น KMอย่างไร การสร้างวิสัยทัศน์( KV )การแลกเปลี่ยน(KA)และการสร้างคลังความรู้( KA )รวมทั้งการทำความรู้ไปเผยแพร่ทางITและการใช้ประโยชน์ผู้เขียนได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยน พูดคุย กับทีมจัดการความรู้ของเครือข่าย เช่น-พบปะเครือข่ายKMของจังหวัดพิจิตรได้ดำเนินการจัดการความรู้ ค่อนจะประสบความสำเร็จ-พบปะเครือข่ายKMของชุมชนไม้เรียง ของคุณลุงประยงค์ รณรงค์ ที่ประสบความสำเร็จแล้ว-พบปะเครือข่ายKMของโรงพยาบาลตาก ที่ประสบความสำเร็จทั้งองค์กรนอกจากนั้น ยังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับองค์กรอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งไม่ขอกล่าวในที่นี้

สิ่งที่เป็นทุนเดิมของเราพอมาถึงจุดนี้ผู้เขียนได้มองย้อนดู สิ่งที่เรานักส่งเสริมการเกษตร ที่มีประสบการณ์การทำงานมาตั้งแต่โครงการปรับปรุงระบบส่งเสริมการเกาตรแห่งประเทศไทย ในระยะที่ 2 เมื่อปลายปี 2524 –2525 มาจนถึงปัจจุบันนี้ก็เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ถึง20ปีเศษมาแล้วพบว่า งานส่งเสริมการเกษตรที่มีอยู่ในพื้นที่และชุมชนมีไม่น้อยเลย ที่เป็นทุนเดิมของเรามีอยู่มาก เพราะเราทำมาก เช่น การฝึกอบรมและเยี่ยมเยียน การทำงานกับกลุ่มอาชีพ การพบปะเกษตรกรเป็นรายคน การจัดงานสาธิตต่างๆ เกษตรหมู่บ้านCOF การทำแปลงสาธิต แปลงทดสอบ แปลงส่งเสริม โครงการ ผกก. โครงการ คปร. โครงการ คปพ. PAP แผนชุมชน จนถึงปัจจุบันนี้ ศูนย์บริการและ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล แผนพัฒนาการเกษตรประจำตำบล FFS วิสาหกิจ  ชุมชน การผลิตพืชเพื่อให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย การทำการเกษตรดีที่เหมาะสม( GAP )ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นทุนเดิมของงานส่งเสริมการเกษตรทั้งสิ้น และลองย้อนดูให้ลึกลงไปอีกว่า แต่ละเรื่องที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น มีงานเขียนและองค์ความรู้อยู่ที่ไหนบ้าง หากนักส่งเสริมการเกษตรที่ต้องการจะศึกษา จะไปค้นดูที่ไหน บางครั้งทำไปแล้ว ไม่มีการบันทึกข้อมูลที่เป็นองค์ความรู้ไว้เป็นเรื่องๆ ก็จะลืมไปหมด จนไม่รู้จะนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร บางครั้งหากมีการโยกย้ายเจ้าหน้าที่บางตำแหน่ง ก็ไม่สามารถที่จะทำงานเชื่อมต่อกับคนเดิมได้(ในระดับพื้นที่) เพราะไม่มีการบันทึกที่เป็นองค์ความรู้เชิงประสบการณ์เอาไว้ 

การหาBest practiceงานส่งเสริมการเกษตรก่อนที่มองหาBest practiceในงานส่งเสริมการเกษตร จากประสบการณ์ของผู้เขียน มีความเข้าใจว่า นักส่งเสริมการเกษตร จะต้องมีความเข้าใจและศรัทธา ในเรื่องการจัดการความรู้( KM ) และมีความเข้าใจกับองค์กรแห่งการเรียนรู้ ( Learning Organization : LO ) เสียก่อนบางครั้งทั้งLOและ KM บางครั้งก็ต้องดำเนินการไปพร้อมๆกันสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร โดยทีมงานการจัดการความรู้ คือ คุณวีรยุทธ สมป่าสักนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร6.ได้ยกร่าง Model แนวคิดการจัดการความรู้ ในงานส่งเสริมการเกษตรของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ดังนี้                    

 ขั้นที่1การเป็นนักพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรเริ่มจากการปฏิบัติงานของนักส่งเสริมการเกษตรมือใหม่ โดยวัฒนธรรมเดิมแล้วจะมีการปฏิบัติงานตามโครงสร้างแนวดิ่ง มีการออกคำสั่งมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ปฏิบัติงานตาม โดยมีการบริหารงานส่งเสริมการเกษตรในลักษณะเป็นโครงการ แต่เดิมมีการวางแผนลักษณะ TOP Down แต่ปัจจุบันปรับเปลี่ยนมาเป็นลักษณะ BOTTOM UPเป็นต้น แต่อำนาจการตัดสินใจยังเป็นลักษณะTOP Down อยู่ไม่น้อยซึ่งนำKMมาใช้ในงานส่งเสริมการเกษตรจะต้องมีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรแต่ในปัจจุบันนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร มีนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ที่บรรจุใหม่จำนวน 8คน(ที่ทดแทนตำแหน่งที่ว่าง) ซึ่งเป็นนักส่งเสริมการเกษตรมือใหม่ และยังมีนักส่งเสริมการเกษตรมือเก่า จำนวน 10คน ที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมการจัดการความรู้ และเป็นเป้าหมายของการพัฒนาบุคลากรที่เป็นนักส่งเสริมการเกษตรไปสู่การจัดการความรู้ เพื่อชุมชนและสังคม อย่างเป็นระบบต่อไป ในขณะเดียวกัน เรายังเปิดโอกาสให้นักส่งเสรมการเกษตร ในระดับพื้นที่ ได้เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเข้าสู่การจัดการความรู้ได้ตลอดเวลา ไม่มีปิดกั้น แต่ข้อสำคัญต้องเข้ามาด้วยความสมัครใจ(ใจเปิด)ซึ่งCKOก็ยังเปิดไฟเขียวให้ตลอดเวลา          

ขั้นที่2นักพัฒนาส่งเสริมที่ปฏิบัติงานและเริ่มมีทักษะต่อเนื่องจากขั้นที่1 เมื่อบุคลากรที่เป็นบุคคลเป้าหมายในการจัดการความรู้ หรือมีใจเปิดแล้ว เริ่มมีทักษะในการเรียนรู้กับชุมชน และเกษตรกร สามารถเรียนรู้งานส่งเสริมกรเกษตร จากเทคนิคการสอนงาน( on the job training )มีประสบการณ์แล้ว เริ่มเห็นวิธีการที่น่าจะนำมาประยุกต์พัฒนางานที่ปฏิบัติ โดยมีการกำหนดทำแฟ้มสะสมงานรายบุคคล( Port Folio ) เมื่อมีการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แต่ละครั้ง จะต้องมีการนำผลงานเขียนจากการปฏิบัติงานที่เรียกว่า บันทึกภาคสนาม โดยเก็บไว้ในแฟ้มสะสมผลงานของตนเองซึ่งเรียกว่าทำแล้ว นำมาเขียนและเขียนอย่างที่ทำ เป็นต้น             

ขั้นที่ 3คุณอำนวย / วิทยากรกระบวนการ ในขั้นที่ 3 นี้  เมื่อบุคลากรเป้าหมายได้ผ่านขั้นที่ 1 – 2  แล้ว  จะต้องมีความเข้าใจ  ในการทำหน้าที่บทบาทวิทยากรกระบวนการ ( Facilitator )  หรือเรียกว่า  คุณอำนวยนั่นเอง  โดยทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์  ที่มีเข้าใจ  และพัฒนาทักษะการจัดกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง  ตามศักยภาพ  ทั้งนี้จะต้องผ่านการฝึกเป็นคุณสังเกตและคุณบันทึกมาก่อนเช่นกัน  ในขณะเดียวกันก็จะต้องเป็นนักออกแบบการจัดการกระบวนการเรียนรู้เป็นเช่นกัน  ซึ่งคุณอำนวยที่ฝึกปฏิบัติการมีทั้งในระดับจังหวัดและระดับพื้นที่  ที่จะต้องกระตุ้นให้องค์กรได้เกิดการเรียนรู้  มุ่งสู่  การสร้างองค์ความรู้  และการนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์  อย่างเต็มที่    ดังคำกล่าวมีว่าการที่จะทำหน้าที่คุณอำนวยนั้น จะต้อง  (1) ฟังเป็น              (2) สรุปเป็น               (3) บันทึกเป็น 
  
                                 (4)  กระตุ้นเป็น     (5) ใช้เครื่องมือเป็น             

ขั้นที่ 4 การวิจัยและพัฒนาในงานประจำ        เมื่อเราได้มีการฝึกบุคลากรเป้าหมาย  ได้ผ่านในขั้นที่ 1 – 3  แล้ว  จะต้องมีการนำหลักการของการวิจัย  โดยมุ่งเน้นงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ  และงานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ( PAR )  และงานวิจัยชุมชน  เป็นต้น  ท้ายสุดต้องสร้างนักวิจัยท้องถิ่น  ที่เป็นเกษตรกร ในงานส่งเสริมการเกษตร จะต้องมองงานส่งเสริมการเกษตรเป็นเรื่องเดียวกันกับงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ ฯลฯ  ไม่แยกออกจากกัน  ซึ่งเรียกว่า  ทำวิจัยในงานประจำนั่นเอง        ในขั้นตอนนี้จะมองเห็น Best Practice งานส่งเสริมการเกษตรได้ชัดขึ้น  หรือเรียกว่า  กรณีศึกษา ( Case study )  โดยมีการทำการศึกษาเป็นเรื่องๆ ไป  ทำแล้วนำมาเขียน  หากเราได้มีการพัฒนาบุคลากร  ของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร  ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทจากนักส่งเสริมการเกษตรแบบเดิมๆ  มาเป็นนักวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ( PAR ) หรือ  สร้างทีมวิจัยเชิงคุณภาพ  ให้เกิดขึ้นกับนักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพแล้ว  ต้องทำการวิจัยเชิงคุณภาพเป็น  ในขณะเดียวกัน  จะต้องค้นหาหรือสร้างนักวิจัยท้องถิ่นที่เป็นเกษตรกรที่ต้องทำวิจัย  ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรของชุมชน  ให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน นั่นเอง      

 ขั้นที่ 5 การจัดการความรู้เพื่อชุมชนสังคม        เป้าหมายสุดท้ายจะต้องพัฒนาองค์กร  โดยมีบุคลากรที่เป็นนักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ  เพื่อพัฒนาชุมชนสังคม  ให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้  มีการจัดการความรู้ด้านส่งเสริมการเกษตรในหลายๆเรื่อง  มีการกำหนดเป้าหมายที่มีวิสัยทัศน์หรือทิศทางของการจัดการความรู้  ขององค์กร  ซึ่งเรียกว่า  knowledge vision ( KV )  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญ  ซึ่งคุณอำนวยจะมีบทบาทมากในการช่วยกระตุ้นให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยเฉพาะความรู้ที่มีอยู่ในตัวคน  พร้อมอำนวยให้เกิดบรรยากาศในการเรียนรู้แบบเป็นทีม  ให้เกิดการหมุนเวียนความรู้การยกระดับความรู้  และเกิดนวัตกรรมซึ่งเรียกว่า knowledge sharing ( KS )         ส่วนคลังความรู้  หรือชุมชนความรู้ที่ได้จากการเก็บสะสมเกร็ดความรู้  ที่ได้จากกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ซึ่งจะเก็บส่วนของหางปลาที่เรียกว่า knowledge Assets (KA) ด้วยวิธีต่างๆ  เช่น ICT ซึ่งเป็นการสร้างความรู้ที่ซ่อนเร้น 
ให้ความรู้ที่เด่นชัด  นำไปเผยแพร่และแลกเปลี่ยน  หมุนเวียน ใช้พร้อมยกระดับต่อไป

บทสรุปการนำ KM สวมลงไปในงานส่งเสริมการเกษตรที่เราปฏิบัติอยู่แล้ว  ก่อนที่เราจะทำ KM เราต้องตอบให้ได้ว่า  “ เราจะทำ KM เพื่ออะไร ”   ต้องมอง KM เป็นเครื่องมือที่ชัดเจน  เมื่อมีการปฏิบัติจริง ( Action ) แล้วเราถึงจะเข้าใจว่า  การกำหนดเป้าหมาย  วิสัยทัศน์  หรือทิศทางของการจัดการความรู้  ขององค์กรจะไปทิศทางไหน  ถ้าหากจะให้การจัดการความรู้บบรลุเป้าหมายขององค์กรจะต้องมีบุคคลที่เกี่ยวข้อง  ประกอบด้วย  คุณเอื้อ  คุณอำนวย  คุณบันทึก  คุณสังเกต  เกิดการทำงานเป็นทีม  มองเป้าหมายงานขององค์กรเป็นเรื่องเดียวกัน  ไม่คิดแยกส่วน  ไม่มอง KM เป็นโครงการ  ต้องหา Best practice งานส่งเสริมการเกษตร  ต้องมีการแลกเปลี่ยนกับเครือข่าย ( COP ) นักส่งเสริมการเกษตรในปัจจุบันนี้จะต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า  เราจะทำ KM  เพื่อพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร  ให้บรรลุปรัชญาของการส่งเสริมการเกษตรแห่งประเทศไทยได้เป็นจริงเสียที ”  ซึ่งนักส่งเสริมการเกษตรในระดับพื้นที่จะได้อยู่อย่างสง่างามในสังคมได้ต่อไป          

 

คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 59696เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2006 18:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 11:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท