BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ธรรมประยุกต์ : ผลแห่งความสำเร็จขององค์กร


ธรรมประยุกต์ : ผลแห่งความสำเร็จขององค์กร

วันนี้ ไปเยี่ยมเพื่อนสหธัมมิกผู้เป็นที่รักยิ่ง ผู้เขียนก็บอกเล่าในฐานะที่เป็นสมภาร และท่านก็บอกว่าคล้ายคลึงกับหลักธรรมในปฏิสัมภิทามรรคซึ่งท่านตีความอยู่นานกว่าจะทำความเข้าใจได้ และนำมาประยุกต์กับหลักการบริหารองค์กรได้ ข้อความที่ว่าคือ (มาจากพระไตรปิฏกเล่ม ๓๑ ข้อ ๓๗๕)

"ความร่าเริงเป็นที่สุดแห่งปฐมฌาน ลักษณะแห่งที่สุดเท่าไร ลักษณะแห่งที่สุด ๔ คือ ความร่าเริงด้วยอรรถว่าธรรมทั้งหลายที่เกิดในปฐมฌานนั้นไม่ ล่วงเกินกัน ๑ ความร่าเริงด้วยอรรถว่าอินทรีย์ทั้งหลายมีกิจเป็นอันเดียวกัน ๑ ความร่าเริงด้วยอรรถ ว่านำไปซึ่งความเพียรสมควรแก่ความที่ธรรมทั้งหลายไม่ล่วงเกินกันและความที่อินทรีย์ทั้งหลายมีกิจ เป็นอันเดียวกัน ๑ ความร่าเริงด้วยอรรถว่าเป็นที่เสพ ๑ ความร่าเริง เป็นที่สุดแห่งปฐมฌาน ลักษณะแห่งที่สุด ๔ ประการเหล่านี้"

และหรือบางท่านสามารถอ่านแปลบาลีได้ ก็สามารถเทียบเคียงได้เลย...

"ปฐมชฺฌานสฺส สมฺปหํสนา ปริโยสานํ ปริโยสานสฺส กติ ลกฺขณานิ ฯ ปริโยสานสฺส จตฺตาริ ลกฺขณานิ ตตฺถ ชาตานํ ธมฺมานํ อนติวตฺตนฏฺเฐน สมฺปหํสนา อินฺทฺริยานํ เอกรสฏฺเฐน สมฺปหํสนา ตทุปควิริยวาหนฏฺเฐน สมฺปหํสนา อาเสวนฏฺเฐน สมฺปหํสนา ปฐมชฺฌานสฺส สมฺปหํสนา ปริโยสานํ ปริโยสานสฺส อิมานิ จตฺตาริ ลกฺขณานิ"

ความเข้าใจเบื้องต้นคือ นิวรณ์๕ ได้แก่สิ่งที่เป็นเครื่องปิดกั้นไม่ให้บรรลุคุณความดี จะแก้ได้ก็ด้วย พละ๕ เมื่อกำจัดนิวรณ์๕ได้ราบคาบนั้น จัดว่าเข้าถึงปฐมฌาน... ประเด็นนี้ ใครที่ไม่ค่อยจะเข้าใจก็ให้ผ่านไป

พละ๕ ได้แก่ ศรัทธา ความเชื่อ , วิริยะ ความเพียร, สติ ความระลึกได้, สมาธิ ความตั้งมั่น, และปัญญา ความรู้ทั่ว... พละ แปลว่า กำลัง (พลัง) เพื่อกำจัดนิวรณ์ (หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อินทรีย์ แปลว่า ความเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนเอง)

ต่อไปก็มาพิจารณาข้อความที่ยกได้ยกมา....
๑. "ธรรมทั้งหลายที่เกิดในปฐมฌานนั้นไม่ล่วงเกินกัน" หมายความว่า ศรัทธาก็ทำหน้าที่ของศรัทธา วิริยะก็ทำหน้าที่ของวิริยะ... เทียบกับองค์กรก็คือ ทุกคนทำหน้าที่ของตนเอง ไม่ก้าวก่ายล่วงเกินหน้าที่ของผู้อื่น

๒ "ความร่าเริงด้วยอรรถว่าอินทรีย์ทั้งหลายมีกิจเป็นอันเดียวกัน" หมายความว่า ธรรมแต่ละอย่างนั้น มีหน้าที่ตามจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน คือกำจัดนิวรณ์... เทียบกับองค์กรก็คือ ทุกคนแม้จะมีหน้าที่ต่างกัน แต่มีจุดมุ่งหมายขององค์กรเป็นอย่างเดียวกัน

๓. "ความร่าเริงด้วยอรรถว่านำไปซึ่งความเพียรสมควรแก่ความที่ธรรมทั้งหลายไม่ล่วงเกินกันและความที่อินทรีย์ทั้งหลายมีกิจเป็นอันเดียวกัน" ... เทียบกับองค์กรก็คือ การดำเนินไปขององค์กรโดยที่ทุกคนทำตามหน้าที่ของตนโดยมีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน

๔. "ความร่าเริงด้วยอรรถว่าเป็นที่เสพ" ประเด็นข้อสุดท้ายนี้แหละที่ปิยมิตรของผู้เขียนคิดอยู่นานกว่าจะเข้าใจ ถ้าในส่วนของจิตใจนั้น หมายความว่า แม้จะกำจัดนิวรณ์ได้แล้ว จิตใจก็ต้องเสพคือเสวยอารมณ์นั้นสืบต่อไป... เทียบกับองค์กรก็คือ แม้จะถึงจุดมุ่งหมายแล้วก็ตาม ทุกคนแต่ละคนก็ต้องทำหน้าที่ของตนตามจุดมุ่งหมายขององค์กรต่อไป

ส่วน "ความร่าเริง" คืออะไร ? บางท่านอาจสงสัยประเด็นนี้ ตามหลักธรรมก็คือความแช่มชื่นของจิตใจที่สามารถกำจัดนิวรณ์ได้ที่เกิดจากการเข้าถึงปฐมฌาน... เทียบได้กับองค์กรก็คือผลของความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายนั่นเอง กล่าวคือ แม้จะประสบความสำเร็จแล้วองค์กรก็จะต้องอยู่และดำเนินต่อไป และอาจพัฒนาไปสู่ระดับที่สูงขึ้นๆ ซึ่งถ้าเทียบการพัฒนาฌานก็เป็นจากปฐมฌานสู่ทุติยฌานเป็นต้น

ผู้เขียนเป็นปลื้มมากที่ได้ฟังเรื่องนี้ จึงเขียนเล่าไว้กันลืม ใครสนใจก็อาจนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารขับเคลื่อนองค์กรได้...

หลักธรรมในพระพุทธศาสนามีมากมายหลากหลายระดับ อีกทั้งในประเทศไทยก็มีผู้รู้มากมาย เสียดายที่เราไม่เห็นคุณค่าหรือไม่ให้คุณค่า จึงไม่ได้นำมาปรับใช้ในโลกของความเป็นจริง...


หมายเลขบันทึก: 596842เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2015 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2015 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท