BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

พรรษาที่ ๓๑


พรรษาที่ ๓๑

อีกพรรษาหนึ่งกำลังผ่านไป ซึ่งผู้เขียนเริ่มเขียนตั้งแต่พรรษาที่ ๒๓ และวันก่อนลองกลับไปอ่านทบทวน ก็คิดเล่นๆ ว่า พอที่จะพิมพ์เป็นเล่มเล็กๆ เผยแพร่ได้ แต่เป็นเรื่องส่วนตัวเกินไป อาจไม่น่าสนใจสำหรับคนทั่วไป ยกเว้นผู้ที่ต้องการรู้ความเป็นไปของวัดยางทอง บันทึกประจำปีที่เขียนมา จะสะท้อนประเด็นนี้ได้ค่อนข้างชัดเจน... ผู้สนใจพรรษาที่๓๐ เป็นต้น อาจอ่านย้อนหลังกลับไปได้ (คลิกที่นี้)

สำหรับพรรษานี้ ในฐานะสมภารเจ้าวัด ก็ได้ผลักดันโครงการหลายอย่างให้เป็นไปและสำเร็จตามจุดประสงค์ได้ เช่น การปรับปรุงต่อเติมกุฏีสุจริตธรรมกุลก็เสร็จเรียบร้อย สิ้นค่าใช้จ่าย ๓ แสนบาท โดยเบื้องต้นใช้เงินบัญชีส่วนตัวของสมภารทั้งหมด แต่เจ้าภาพกุฏีก็ได้จ่ายคืนให้ ทำให้เงินส่วนนี้กลับคืนมาเพื่อใช้จ่ายในโครงการอื่นต่อไป... เงินส่วนนี้ เป็นเงินนอกบัญชีวัด ส่วนหนึ่งเป็นของสมภารโดยตรงที่ได้มาจากนิยตภัตร เบี้ยชายแดน และกิจนิมนต์ส่วนตัว อีกส่วนหนึ่งมาจากที่ญาติโยมถวายไว้เป็นค่าน้ำค่าไฟหรือบำรุงวัดทั่วไป...

โครงการกุฏีหลังใหญ่เพื่อเป็นกุฏีสมภาร รองรับพระนวกะหรือพระบวชใหม่ ตลอดถึงเพื่อนสหธัมมิกที่อาจมาแวะพักหรือเยี่ยมเยือน ซึ่งวัดยางทองยังไม่มี... ซึ่งสมภารก็เก็บเงินกฐินบ้างผ้าป่าบ้างโดยไม่จ่ายเลยในระยะ ๒-๓ ปีที่ผ่านมา สำหรับปีที่ผ่านมามีอยู่ ๑ ล้าน ๕ แสน และต้นปีนี้ก็ทอดผ้าป่าอีกครั้งได้มาอีก ๓ แสน จึงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโดยผู้รับเหมาเสนอราคา ๓ ล้าน ๕ แสนกว่าๆ... ตอนนี้ ก็สร้างไปประมาณ ๕๐ เปอร์เซนต์ และต้องหาเงินเพิ่มเติมอีกประมาณ ๑ ล้าน ๔ แสน จึงจะแล้วเสร็จ... ก็หวังทอดกฐิน ๘ พ.ย.นี้ ถ้าได้สัก ๘ แสน และค่อยทอดผ้าป่าต้นปีหน้า ก็คิดว่าน่าจะแล้วเสร็จ ฉะนั้น ถ้าเป็นไปตามนี้ ปีหน้าคงจะได้จัดงานฉลองกุฏีหลังใหม่...

โครงการฟื้นฟูสัญลักษณ์บ่อยาง วันแม่ ๑๒ สิงหาคมปีนี้ ก็ได้ปลูกต้นยางอีกสิบกว่าต้น บริเวณลานวัดหน้าโบสถ์ฝังตรงข้ามสถานีดับเพลิง ก็ต้องรออีกหน่อย ไม่เกิน ๑๐ ปี บริเวณนี้ ต้องเป็นสวนป่ายางแน่นอน... ความฝันที่ว่า เห็นลูกยางร่วงหล่นจากต้น ปลิวไปตามแรงลมคล้ายใบพัดคอบเตอร์ เด็กๆ มาวิ่งเล่น จับลูกยางโยนให้หมุนไป ไม่เกิน ๑๐ ปี ถ้าไม่มรณภาพเสียก่อน คงจะทันได้เห็น...

วันนี้เป็นวันปวารณาออกพรรษา ส่วนพรุ่งนี้เป็นวันออกพรรษาจริงๆ ซึ่งเรียกกันอีกอย่างว่าวันเทโวโรหณะ เพราะคล้ายกับวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกชั้นดาวดึงส์ หลังจากไปจำพรรษาเพื่อทรงโปรดพุทธมารดา โดยทางปักษ์ใต้จะมีประเพณีชักพระหรือลากพระ ฉะนั้น พรุ่งนี้ จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวันลากพระหรือชักพระ... โดยเหตุว่าวัดยางทองตั้งอยู่ย่านคนไทยเชื้อสายจีน สมภารจึงมีความคิดว่าจะทำเรือพระตามศิลปกรรมจีนเพื่อประชาสัมพันธ์วัด แต่ยังไม่พร้อมเพราะยังหาคัซซีโครงรถไม่ได้... ตอนนี้ คัซซีรถได้มาแล้ว จะทำปีนี้ก็ไม่ทันเพราะเพิ่งได้มาไม่นาน รอปีหน้า ถ้าเป็นไปตามนี้ วัดยางทองจะมีเรือพระจีนให้ชมกันแน่นอน...

เรื่องสุดท้ายที่จะเล่าในปีนี้ก็คือ เข้าพรรษาปีนี้ ญาติโยมมาทำวัตรสวดมนต์ฟังธรรมมากหน้าหลายตายิ่งขึ้น แต่ละคืนมักจะไม่ต่ำกว่าสิบห้าคน และมีการเลี้ยงกันทุกคืน โดยพระเณรในวัดผลัดเปลี่ยนกันเทศน์ตามวาระ สร้างความปลื้มปิติให้สมภารเป็นอย่างยิ่ง... นึกย้อนไปตอนทำหน้าที่สมภารปีแรก บางคืนมาไม่ถึงห้าคน ก็ไม่ต้องเทศน์ ถ้าคืนไหนถึงห้าคนก็จะเทศน์ จะไม่ให้สมภารเป็นปลื้มได้อย่างไร...

และก็เหมือนเดิมดังปีก่อนๆ ปีหน้าถ้าสมภารไม่มรณภาพเสียก่อน ก็คงจะมาบ่นมาเล่าให้ฟังอีกครั้ง ฉะนั้น ค่อยพบกันอีกปีหน้า ถ้าอยู่ถึงพรรษาที่สามสิบสอง....

หมายเลขบันทึก: 596766เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2015 23:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2015 23:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

นมัสการพระคุณเจ้า

ยาง กับวัดยางทอง คู่กัน

วันก่อนไปวัดแถวนาท่อม มีต้นยางหลายสิบต้น มีร่องรอยของการ เจาะขุดต้นยาง เพื่อเอาน้ำมันยาง

ก็ได้คุยให้เยาวชนฟังถึงอาชีพ ดั้งเดิม การทำน้ำยาง ซึ่งเป็นยุทธปัจจัย ในอดีต ที่ต้องใช้น้ำมันยาง

(มีโอกาสจะไปนมัสการ ครับ)

นมัสการพระอาจารย์ครับ เดี๋ยวนี้ผมปั่นจักรยานไปถึงสงขลา แต่ส่วนใหญ่พอไปถึงก็เริ่มมืดแล้วเลยไม่ได้มีโอกาสแวะไปที่วัดเสียทีครับ วันหลังถ้ามีโอกาสออกเร็วหน่อยจะแวะไปกราบพระอาจารย์ครับ

-กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ

-สาธุ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท