โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตำบลละ 5 ล้าน


โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตำบลละ 5 ล้าน

24 กันยายน 2558

สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

ความวุ่นวายเล็ก ๆ เกิดขึ้น ณ ที่ว่าการอำเภอในเวลานี้ก็คือ ทุกหมู่บ้านชุมชนกำลังจัดทำโครงการเพื่อเสนออำเภอและจังหวัดอนุมัติแผนงานโครงการมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน และตำบล หรือ “โครงการฯหมู่บ้านละ 1 ล้าน”และ “โครงการฯตำบลละ 5 ล้าน”

ความเป็นมา

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลและอนุมัติงบประมาณ ตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอ 2 มาตรการ คือ (1) มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน โดยการให้สินเชื่อกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง หรือ “โครงการฯกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้าน” วงเงิน 60,000 ล้านบาท และ (2) มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล หรือ “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตำบลละ 5 ล้านบาท” จำนวน 7,255 ตำบล วงเงินรวม 36,275 ล้านบาท รวมเม็ดเงินอัดฉีดเกือบแสนล้านบาท [2]

ตำบลละ 5 ล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ

จุดสนใจอยู่ที่ “โครงการตำบลละ 5 ล้าน” ด้วยเป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซา เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ ให้ประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอยในวงกว้าง เนื่องจากประชาชนเก็บออมเงินมากกว่าการใช้จ่าย สาเหตุเพราะคนไทยส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจไทยลดลง โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ กำหนดการใช้จ่ายเงินตามโครงการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 สำหรับโครงการฯตำบลละ 5 ล้านบาท กำหนดให้คณะกรรมการหมู่บ้านเป็นผู้เสนอโครงการและส่งโครงการให้แก่อำเภอและจังหวัดภายในวันที่ 30 กันยายน 2558 [3]

ดังนั้น การอัดฉีดเม็ดเงินลงไปสู่พื้นฐานเศรษฐกิจทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ ตามโครงการตำบลละ 5 ล้านบาทนั้น ก็เพื่อคาดหวังว่าจะมีการใช้เงินจับจ่ายใช้สอยกันในระดับชุมชนมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว

ลักษณะของโครงการตำบลละ 5 ล้าน 3 ลักษณะ [4]

(1) เป็นโครงการเกี่ยวกับการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ (2) เป็นโครงการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง การปรับเปลี่ยนการปลูกพืชใหม่ที่มีตลาด การเปลี่ยนแปลงอาชีพ การสร้างฝาย ปลูกต้นไม้หรือป่าชุมชน เป็นต้น (3) โครงการด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพของคนในหมู่บ้าน/ชุมชน ส่งเสริมการประกอบอาชีพ การปรับปรุงซ่อมแซมศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์บริการผู้สูงอายุ เป็นต้น

กรณีศึกษาตำบลละ 5 ล้าน

ในมุมมองโครงการฯ เบื้องต้น เห็นว่ามีแง่มุมกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เริ่มจากโครงการต้องมาจากปัญหาความต้องการของหมู่บ้านชุมชนในตำบล เป็นนัยตามสูตรของการแบ่งสรรปันส่วนว่า โครงการนี้ต้องแบ่งสรรปันงบประมาณ 5 ล้านให้เฉลี่ยลงไปในแต่ละหมู่บ้านให้เท่า ๆ กันกรณีตำบลใดมีหมู่บ้านจำนวนมาก เช่น 20 หมู่บ้าน หรือ 22 หมู่บ้านก็ต้องเอา 20 หรือ 22 ไปหาร 5 ล้านบาท ก็จะตกเฉลี่ยหมู่บ้านละประมาณ 250,000 บาท ตำบลใดมีหมู่บ้านน้อยเพียงไม่ถึง 10 หมู่บ้านก็จะมียอดเฉลี่ยจัดสรรลงหมู่บ้าน เป็นเงินหมู่บ้านละกว่า 500,000 บาท เป็นต้น จากคำถามเริ่มต้นนำไปสู่ปัญหาที่ตามมาอีกหลาย ๆ คำถามได้แก่ ใครเป็นผู้ดำเนินการ ใครเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ การกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับหมู่บ้านชุมชนจะเกิดขึ้นจริงจังเพียงใด มีช่องทางในการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือไม่ อย่างไร และสุดท้ายการดำเนินการตามโครงการมีประสิทธิภาพเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหมู่บ้านชุมชน และของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและการกระตุ้นให้เศรษฐกิจที่ซบเซาได้ฟื้นตัวขึ้นเพียงใด

ปัญหาอุปสรรค

แนวทางการดำเนินโครงการมีลักษณะเป็น “โครงการประชานิยม” ดังเช่นรัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาแล้วในหลายโครงการการ ระยะเวลาที่เร่งรีบเป็นปัญหาข้อจำกัดแรกในการดำเนินการตามโครงการ เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายเงินตามโครงการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 หากไล่เรียงดูระยะเวลาดำเนินการแล้วถือเป็นโครงระยะสั้นเร่งด่วนที่มีระยะเวลาดำเนินการเพียงประมาณสองสามเดือนเท่านั้น

จุดเด่นของโครงการก็คือ การรวมศูนย์การบริหารอำนวยการโครงการไว้ที่อำเภอ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน (กำนัน) และคณะกรรมการหมู่บ้านในแต่ละหมู่บ้านเป็นผู้รับผิดชอบโครงการโดยตรง ประกอบกับมีการยกเว้นระเบียบให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการตกลงราคาได้ในวงเงินที่ไม่เกิน 500,000 บาท [5] เพื่อให้การดำเนินการตามโครงการมีระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องใช้วิธีการสอบราคา ประกวดราคา หรือวิธีอื่นที่มีระยะเวลาการจัดซื้อจัดจ้างที่ยาวนานกว่า จึงทำให้โครงการฯ ไม่มีการแข่งขันกันเสนอราคา เพราะวิธีตกลงราคาเป็นวิธีการที่ใช้ระยะเวลาได้รวดเร็ว แต่การพิจารณาหาผู้รับจ้างที่เหมาะสมน่าจะเป็นภาระของผู้ดำเนินการโครงการ

แม้การฮั้วประมูลงานจ้างอาจไม่เกิดขึ้นโดยตรง แต่อาจมีวิธีการอื่นที่เป็นการแบ่งงานซื้องานจ้างกันในระหว่างผู้รับจ้าง (ผู้รับเหมา) ที่มีผลกระทบด้านราคางานซื้อและงานจ้างที่สูงกว่าปกติ ผลประโยชน์ตกไปอยู่ในมือของนายทุนมากกว่าประชาชนชาวบ้านโดยทั่วไป นอกจากนี้มาตรการประหยัดจากการใช้จ่ายโครงการอาจขาดหายไป ด้วยวิสัยของผู้รับจ้างโดยทั่วไปที่มุ่งหวังกำไรมากที่สุด ฉะนั้น การต่อรองราคาที่มากเกินกว่าราคาที่ควรจะเป็นจึงเกิดขึ้นได้ งบประมาณในส่วนที่ขาดหายไปจะไปตกอยู่ในมือของนายทุนโดยปริยาย หากนับยอดสะสมเป็นรายหมู่บ้าน รายตำบล รายอำเภอ และ รายจังหวัดแล้ว จะมียอดจำนวนงบประมาณที่มากพอสมควร

ปัญหาวงเงินจัดสรรที่ไม่เท่ากันในแต่ละหมู่บ้านในตำบลและต่างตำบลกันที่จะได้รับ เพราะตำบลมีทั้งตำบลเล็ก ตำบลใหญ่ กล่าวคือ แต่ละตำบลมีจำนวนหมู่บ้านมากน้อยแตกต่างกัน จุดอ่อนประการหนึ่งในการจัดสรรงบประมาณลงหมู่บ้าน จึงไม่ได้คำนึงถึงปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการเร่งด่วนที่แตกต่าง ๆ กัน แต่กลับได้รับเงินงบประมาณที่เท่า ๆ กัน หรือใกล้เคียงกัน แทนที่หมู่บ้านที่มีปัญหาความเดือดร้อนที่มากกว่าควรจะได้รับการจัดสรรงบประมาณที่มากกว่าเป็นต้น ความเร่งด่วนตามลำดับความสำคัญก่อนหลังจึงอาจไม่ได้พิจารณา เพราะแต่ละหมู่บ้านอาจเกี่ยงไม่ยอมกันและกัน ในตำบลที่ตกลงเม็ดเงินกันไม่ได้ลงตัว ก็อาจเสนอโครงการตามปัญหาความเดือดร้อนที่เป็นจริงของตนไป

การดำเนินโครงการต้องมีการจ้างแรงงานหรือก่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในจังหวัดเป็นสาระสำคัญประการหนึ่ง กล่าวคือ โครงการต้องมีการจ้างแรงงานประชาชนในหมู่บ้านด้วย แต่ตามข้อเท็จจริงนั้น แรงงานประชาชนในแต่ละหมู่บ้านชุมชนอาจแตกต่างกันไป บางหมู่บ้านอาจมีแรงงานมาก แต่ในหมู่บ้านที่มีลักษณะชุมชนเมืองอาจประสบกับปัญหาการหาแรงงานประชาชนได้ยาก นอกจากนี้อาจมีปัญหาด้านอัตราค่าจ้างแรงงานที่แตกต่างกัน เป็นอัตราราคาค่าจ้างที่สูงกว่าความเป็นจริง ไม่เป็นไปตามราคาจ้างควบคุม ซึ่งในหลักเกณฑ์ ไม่ได้กำหนดไว้ตายตัวว่าจะต้องจ้างกี่คน หรือในสัดส่วนของประชาชนในหมู่บ้านร้อยละเท่าใด หมายความว่า จำนวนที่จะจ้างแรงงานนั้นไม่เท่ากัน

สำหรับปัญหาช่องทางในการแสวงประโยชน์หรือ “ช่องทางในการทุจริต” นั้น อธิบดีกรมการปกครอง (ว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย) ได้กำชับและคาดโทษบุคลากรในสังกัดฯไว้แล้ว [6] ในทางปฏิบัติอาจมีปัญหา “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ความมีส่วนได้เสียในโครงการฯ รวมถึงการอำนวยการตามโครงการด้านธุรการต่าง ๆ เช่น การสำรวจข้อมูล การจัดทำโครงการ การจัดเตรียมเอกสาร ค่าถ่ายรูปและถ่ายเอกสาร (ที่มากจำนวนถึงโครงการละ 23 ชุด) รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ถือเป็นความเสียสละ และเป็นต้นทุนในการดำเนินการที่อาจมีผลประโยชน์แอบแฝงได้

สามารถแยกกลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้ดังนี้ (1) ผู้สั่งซื้อสั่งจ้าง และผู้อำนวยการโครงการ (2) เจ้าหน้าที่พัสดุ กรรมการตรวจรับพัสดุ นายช่างควบคุมงาน และกรรมการพัสดุอื่น รวมทั้งผู้บริหารโครงการตามสัญญา (3) ผู้ขายหรือผู้รับจ้าง และ (4) ข้าราชการอำเภอ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน

คำถามสุดท้ายที่สำคัญคือเรื่อง “ส่วนได้เสีย” ว่ามีใครได้ ใครเสียมากกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็น ประชาชนชาวบ้าน ผู้ขายผู้รับจ้าง หรือเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกคน และประเทศชาติในที่สุด

ความวุ่นวายเล็ก ๆ

ปัญหาการเร่งรัดจัดซื้อจัดจ้างกันอุตลุดให้ทันตามระยะเวลาที่จำกัด มีการชี้นำแนะนำโครงการซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของผู้รับจ้างทั่วไปที่ประสงค์รับงานจ้าง โดยเฉพาะ “วิธีการตกลงราคา” การแนะนำว่าหมู่บ้านใดสมควรจะเสนอโครงการประเภทใด จะใช้งบประมาณเท่าใด และอาจเสนอราคาวัสดุเพื่อประกอบการคิดคำนวณราคากลางโครงการของหมู่บ้านที่อาจไม่ถูกต้องตามหลักวิชาช่าง รวมทั้งการเสนอตัวเขียนและจัดทำโครงการให้ การกระทำดังกล่าวจึงมี “เป้าประสงค์ของผู้รับจ้างเป็นตัวตั้ง” ที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ จากการชี้นำดังกล่าวย่อมเป็นเบาะแสที่ชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ทับซ้อนในส่วนต่าง ที่ผู้เกี่ยวข้องเห็นเป็นช่องทางในการแสวงประโยชน์ได้โดยง่าย การเสนอโครงการโดยคำแนะนำของผู้รับจ้าง หรือ ในหมู่บ้านที่ไม่ลงตัวในการจัดสรรเม็ดเงินนั้น อาจมีความเพียรพยายามเพื่อให้โครงการฯผ่านการพิจารณาฯ โดยการเขียนโครงการ และแก้ไขโครงการให้ถูกต้องหลายต่อหลายครั้ง เพื่อความสะดวกและง่ายในการอนุมัติโครงการให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 30 กันยายน 2558 จึงมีความจำเป็นในการเปิดห้อง “วอร์รูม” ในการประชุมกลุ่มลับร่วมกับผู้มีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติเห็นชอบโครงการ

อปท. สนับสนุนนายช่างในการออกแบบและประมาณการราคากลาง [7]

ในมุมมองของนายช่างโยธาเห็นว่า [8] การขาดแคลนอัตรากำลังช่างโยธาและระยะเวลาที่เร่งรัดมาก ถือเป็นอุปสรรคปัญหาที่สำคัญในการปฏิบัติงานของโครงการ ในด้านการออกแบบนั้น มีการสำรวจและออกแบบตามหลักวิชาช่างในช่วงระยะเวลาที่สั้นมากเพียง 1-3 วัน อาจมีความบกพร่องในรายละเอียดของโครงการ นอกจากนั้นอาจมีปัญหาความบกพร่องในการคิดคำนวณราคากลาง อัตราค่าจ้างแรงงานที่คิดคำนวณในแต่ละท้องที่ที่เป็นมาตรฐาน รวมถึงปัญหาการควบคุมงานจ้าง และการตรวจรับงานจ้างที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น ซึ่งหากมองในด้านบวกแล้ว ถือได้ว่าเป็นการท้าทายความสามารถของนายช่างโยธา อปท. ในการใช้หลักวิชาช่างอย่างที่ควรจะเป็น และต้องถือปฏิบัติตรงไปตรงมาตามอำนาจหน้าที่โดยเคร่งครัด

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อสังเกตเล็กๆน้อยๆเหล่านี้จะเป็นประโยชน์บ้างในการกำกับดูแลโครงการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน



[1] สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน 2558 ปีที่ 65 ฉบับที่ 22797 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น & สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 63 ฉบับที่ 2 วันศุกร์ที่ 25 กันยายน - วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม 2558, หน้า 113, ‎เจาะประเด็นร้อน อปท., ‎โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตำบลละ 5 ล้าน

[2] มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท), www.ppb.moi.go.th/midev06/upload/5%20m.doc & หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0211.4/ว 5264 ลงวันที่ 11 กันยายน 2558 เรื่อง การดำเนินมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล, http://www.ppb.moi.go.th/midev01/upload/letter5264.pdf

[3] ดู มติ ครม. เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 เรื่อง มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ

[4] ดู มติ ครม. เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 เรื่อง การเสนอหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และคู่มือการดำเนินงานตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล

[5] ตามหนังสือสั่งการคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ ด่วนที่สุดที่ กค (กวพ) 0421.3/ว 299 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2558 เรื่อง การกำหนดวงเงินวิธีการจัดหาพัสดุโดยยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และยกเว้นการปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Market : e - Market) และด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Bidding : e - bidding) ซึ่งได้กำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ราคา 1-500,000 บาท (จากเดิมไม่เกิน 100,000 บาท) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 7 พ.ศ. 2552

[6] หนังสือกรมการปกครอง ด่วนที่สุด ที่ มท 0310.3/ว 17931 ลงวันที่ 21 กันยายน 2558 เรื่อง การสนับสนุนการดำเนินมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท)

[7] หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0810.3/ว 1402 ลงวันที่ 15 กันยายน 2558 เรื่อง การสนับสนุนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตำบลละ 5 ล้านบาท

[8] ดู ชมรมนายช่างโยธา อปท. ยื่นหนังสือต่อนายอำเภอ “โครงการตำบลละ 5 ล้าน” ช่างถูกบีบให้เขียนแบบภายใน 3 วัน ... เสนอผู้ใหญ่บ้านควรรับผิดชอบดำเนินการเอง ช่างอปท.อาจสุ่มเสี่ยง สตง.ทักท้วง, 23 กันยายน 2558, http://www.thailocalmeet.com/index.php/topic,59836.0.html , ชมรมนายช่างโยธา อปท. (ชมรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอนาน้อย) ทำหนังสือเสนอนายอำเภอพิจารณา “กรณีโครงการตำบลละ 5 ล้าน” อำเภอควรมีช่างผู้ควบคุมงานของอำเภอเอง อาจจ้างเหมาบุคคลภายนอกที่มีคุณวุฒิ พร้อมเสนอใน “แบบแปลน/ประมาณราคา” ควรให้คณะกรรมการหมู่บ้านหรือผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ลงนามเอง

หมายเลขบันทึก: 595248เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2015 00:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2015 21:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท