ต่างชาติทึ่ง เบาหวานไทยก้าวหน้า


รู้สึกภูมิใจว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาด้านเบาหวานที่ "สมาร์ท" แบบของไทยเองจริงๆ

(เรื่องการประชุมนี้ อ.วัลลา เขียนสรุปไปแล้วเมื่อวานนี้ (ลิงค์) แต่อยากเขียนอีกค่ะ ขี้เกียจอ่านก็ผ่านไปก็ได้ค่ะ ขอแค่ได้เขียนก็พอ คันมือค่ะ ".")

อ่านหัวข้อนี้แล้วอย่าเพิ่งแปลความหมายเป็นว่าคนไทยเป็นเบาหวานมากมายจนฝรั่งทึ่งนะคะ จำนวนคนไทยเป็นเบาหวานกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมากน่ะไม่มีใครปฏิเสธค่ะ แต่ที่จะเล่าให้ฟังวันนี้คือต่างชาติเค้าทึ่งที่ประเทศไทยมีการเดินเครื่องการจัดระบบสาธารณสุขเพื่อการดูแลรักษาและการป้องกันโรคเบาหวานมาไกลขนาดที่เราทำกันอยู่ค่ะ

เมื่อประมาณ ๑ เดือนที่แล้ว เทพธารินทร์ได้รับการติดต่อจาก บ.โนโว ว่าต้องการพา Dr.Anil Kapur เข้ามาคุยกับ ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ ผอ.ของเรา Dr.Kapur นี้มีตำแหน่งเป็น Vice Chairman ของ World Diabetes Foundation (WDF) ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ได้รับการสนับสนุนจากโนโว มีเป้าหมายในการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในเรื่องการสร้างบุคลากรและการให้การศึกษาเพื่อป้องกันโรคเบาหวาน ทางโนโวบอกว่า WDF ต้องการพบกับผู้ที่ทำงานด้านนโยบายเรื่องโรคเบาหวานในประเทศไทย เค้าเห็นว่าเทพธารินทร์ทำงานด้านนี้อยู่หลายอย่าง จึงคิดว่าอยากพา Dr.Kapur มาพบ อ.เทพ

ทางเทพธารินทร์เข้าไปศึกษาดูจากเอกสารต่างๆ และ website (www.worlddiabetesfoundation.org) ว่า WDF ทำงานอะไรกันแน่ ปรากฎว่าสิ่งที่เราพยายามทำอยู่นั่นแหละ คือทุกอย่างที่เค้าต้องการสนับสนุน เทพธารินทร์เห็นว่าโอกาสนี้เป็นโอกาสที่จะนำเสนองานด้านเบาหวานของประเทศไทยที่ดีมาก เราทำงานมาทั้งหมด ยังไม่เคยขอเงินใครเลย เราเห็นโอกาสว่าน่าจะสามารถหาทุนมาสนับสนุนการทำงานได้

ในเมื่อเรื่องนี้เป็นเรื่องระดับชาติ เทพธารินทร์จึงได้เรียนเชิญท่านผู้ใหญ่จากหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับระบบการดูแลรักษาและป้องกันเบาหวานเข้าร่วม ท่านที่สามารถเข้าร่วมประชุมในวันเสาร์ที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๘ กับเรานั้น ได้แก่ พญ.อารยา ทองผิว นายกสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน นพ.อนุวัติ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นพ.สุวิทย์ วิบูลย์ผลประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ส่วนทางด้านเทพธารินทร์เองนั้นมีทีมใหญ่เข้าร่วมประชุม แน่นอน นำโดย อ.เทพ ของเรา

บอกตรงๆ ว่าตอนที่เชิญแต่ละท่านมาประชุมนั้น เราก็ไม่ค่อยทราบหรอกค่ะว่าการประชุมจะออกมาเป็นอย่างไรบ้าง เพราะได้ข้อมูลมาเพียงว่า WDF ต้องการเจอกับผู้ทำงานด้านนโยบายเบาหวานของไทย ได้รับการสอบถามจากอาจารย์บางท่านว่าเรื่องเป็นมาอย่างไร ก็ได้แต่อ้อมแอ้มตอบว่าอยากให้มาช่วยกันประชาสัมพันธ์งานที่ไทยทำอยู่เผื่อได้เงินช่วย...

ในวันเสาร์ ๒๒ ต.ค. นั้น การประชุมเริ่มต้นขึ้นด้วยการนำเสนอของ Dr.Anil Kapur เป็นเวลาประมาณ ๔๕ นาที การนำเสนอของ Dr.Kapur เริ่มต้นขึ้นด้วยข้อมูลต่างๆ ที่ทำให้เห็นว่าโรคเบาหวานเป็นโรคที่น่ากลัว (ด้วยความที่ทำงานอยู่ในวงการเบาหวาน ช่วงนี้รู้สึกเบื่อๆ เพราะ same same เห็นบ่อยเชียวแหละค่ะ คือ รู้แล้วว่าเบาหวานสำคัญ) ต่อมา Dr.Kapur นำเสนอว่า WDF ทำอะไรบ้าง สรุปคร่าวๆ คือ WDF ให้เงินสนับสนุนงานด้านการผลิตบุคลากรและโครงการเกี่ยวกับการให้การศึกษา การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นความน่ากลัวของเบาหวานและรู้จักวิธีป้องกัน และการจัดระบบเพื่อการป้องกันเบาหวาน เค้าไม่สนับสนุนด้านการให้การรักษา เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลของประเทศต้องรับผิดชอบ เค้าไม่สนับสนุนสิ่งของวัตถุต่างๆ เช่น การสร้างตึก การซื้อเครื่องมือ จุดน่าสนใจที่ Dr.Kapur หยิบยกขึ้นมา คือเงินสนับสนุนทางด้านสุขภาพต่างๆ ถูกนำไปเทให้โรคอื่นๆ ที่ตามแฟชั่นกว่า เช่น โรคเอดส์ โรคซาร์ โรคไข้หวัดนก ฯลฯ ทั้งๆ ที่จำนวนผู้เป็นเบาหวานในโลกนี้นั้นมากกว่าเป็นไหนๆ

ขณะที่ฟังการนำเสนอของ Dr.Kapur นั้น รู้สึกได้ว่าคุ้นเคยกับทุกสิ่งทุกอย่างในนั้น ยังคิดๆ อยู่เลยว่า โอ้โห! อย่างกับการนำเสนอของ อ.เทพ ที่เตรียมมานั่นแหละ

หลังจาก Dr.Kapur นำเสนอจบ อ.เทพ ไม่รอรีคว้าโอกาสขอเริ่มนำเสนอเรื่องราวของประเทศไทย เริ่มต้นเล่าตั้งแต่การทำงานระดับองค์กรเดี่ยวๆ ของเทพธารินทร์ คือการสร้างทีมเบาหวาน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อกว่า ๒๐ ปีที่แล้ว จนพัฒนาถึงการเป็นแกนทำงานร่วมกับสารพัดองค์กร ทั้งมหาวิทยาลัย สมาคมวิชาชีพ บริษัทเอกชน และที่สำคัญ ภาครัฐ ในการช่วยสร้างทีมเบาหวานให้เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย ผ่านการทำงานเพื่อสร้างความตระหนักเรื่องการป้องกันโรคเบาหวาน การสร้างระบบฝึกฝนบุคลากรทั้งทางด้านการรักษาและการป้องกันโรค การทำงานผ่านเครือข่ายของกระทรวงสาธารณสุขที่แข็งแรงและพร้อมสรรพอยู่แล้ว และแผนการในการสร้างความเข้าใจในเรื่องระบบส่งต่อผู้ป่วยและบทบาทของ PCU ในการป้องกันโรคเบาหวาน (เรื่องราวในการนำเสนอนั้นมีเยอะจริงๆ ค่ะ ไม่สามารถเอามาย่อลงได้อย่างสะใจเลย อยากให้ทุกคนได้มีโอกาสฟังด้วยตนเอง แล้วจะรู้สึกภูมิใจว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาด้านเบาหวานที่ "สมาร์ท" แบบของไทยเองจริงๆ ค่ะ)

ระหว่างการนำเสนอของอ.เทพ ได้แอบซุ่มมองท่าทางของ Dr.Kapur และผู้ติดตาม เค้าอมยิ้มกันใหญ่เลย

Dr.Kapur บอกว่าตอนที่มานั้น เค้าไม่ได้คาดเลยว่าจะได้เห็นอะไรอย่างที่เค้าเพิ่งได้เห็นได้ฟังไป เค้าทึ่งกับความก้าวหน้าของประเทศไทยมากๆ และยังออกปากเชิญอ.เทพ ให้ไปนำเสนอเรื่องราวเบาหวานของประเทศไทยนี้แก่นานาชาติอีกด้วย

อ.อารยา นายกสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน กล่าวย้ำแก่ Dr.Kapur ว่า ทางสมาคมฯ นั้นให้การสนับสนุนงานที่ อ.เทพ นำเสนอไปอย่างเต็มที่แน่นอนอย่างที่เป็นมาตลอด

อ.อนุวัติ  จาก พรพ. ได้เล่าให้ฟังถึงโครงการ Health Promotion Hospital ของไทย และการนำเอาโรคเบาหวานเข้ามาเป็น clinical tracer คือแสดงให้เห็นว่าไทยเรานั้นมีการตื่นตัวเรื่องการป้องกันโรคแล้ว และโรคเบาหวานก็เป็นโรคที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ในขณะนี้

อ.วินัย ได้เล่าให้ Dr.Kapur ฟังถึงการพัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตนักกำหนดอาหารของประเทศไทยอย่างเป็นระบบเพื่อรองรับความต้องการที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความรู้และความตระหนักในเรื่องอาหารนั้นเป็นกุญแจสำคัญที่สุดในการป้องกันโรคเบาหวานระดับชาติ

อ.สุวิทย์ จากกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ดีใจมากที่มาร่วมการประชุมในวันนี้ ตอนมาไม่รู้หรอกว่ามาทำไม รู้แค่ว่าเลขาบอกว่า ๑๑ โมงวันเสาร์ต้องมาที่เทพธารินทร์ อ้าว! มาก็มา อ.สุวิทย์ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ไทยต้องการความช่วยเหลือจาก WDF หรือองค์กรนานาชาติอื่นๆ ไม่ใช่เงิน แต่เป็นการสนับสนุนทำให้กลุ่มผู้ที่ทำงานด้านเบาหวานอยู่แล้วนี้ได้รับการยอมรับจากองค์กรภายในประเทศกันเอง เพื่อจะได้สามารถดึงให้องค์กรที่เกี่ยวข้องเหล่านี้เข้ามาทำงานด้วยเป้าหมายเดียวกันได้

เชื่อหรือไม่ นี่เป็นครั้งแรกที่ อ.สุวิทย์ และ อ.อนุวัติ ได้รับฟังอย่างเต็มที่ว่างานที่เทพธารินทร์ทำอยู่นั้นคืออะไรบ้าง หลายครั้งอยู่กันเองในประเทศไทย แต่มีโอกาสได้รับทราบเรื่องราวต่างๆ ของกันและกันเมื่อมีแขกมาเยี่ยมเยือนเท่านั้น เหมือนกับเพื่อนบ้าน (ในกรุงเทพฯ) ต้องหาโอกาสเจอกันตามงานแต่งงาน งานศพ อย่างนั้นแหละค่ะ การ keep connection หรือ communication อย่างเช่นที่เราทำ weblog อยู่นี่ มองข้ามไม่ได้จริงๆ

การมีผู้รับทราบและเข้าใจเรื่องราวการทำงานมากขึ้น จะทำให้งานขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นทวีคูณ

งานที่ประเทศไทยทำมาทั้งหมดนั้น เป็นไปได้เนื่องจากมีผู้ที่ต้องการให้งานนี้มันเกิดอย่างจริงๆ ฝรั่งใช้คำว่า passionate และประเทศไทยก็โชคดีอีกที่ผู้ที่มี passion นี้ คือ อ.เทพ ซึ่งมีลูกศิษย์แพทย์เต็มไปหมด และลูกศิษย์ของ อ.เทพ ก็ได้เติบโตมาเป็นผู้บริหารองค์กรต่างๆ มากมาย ทั้งอ.สุวิทย์ และอ.อนุวัติ นั้นก็เป็นลูกศิษย์อ.เทพ องค์กรอื่นๆ ที่ อ.สุวิทย์เห็นว่าสามารถดึงเข้ามาร่วมมือในงานนี้เพิ่มขึ้นก็นำทัพโดยลูกศิษย์ของ อ.เทพ ทั้งนั้น ด้วยความเป็นไทย ความสัมพันธ์ของ อาจารย์-ลูกศิษย์ นี้จะช่วยให้เกิดการประสานงานที่ดีได้อย่างมาก

ด้วยความประทับใจที่เกิดขึ้นและการที่จะก้าวขึ้นรับตำแหน่งผู้อำนวยการของ World Diabetes Foundation ในอีกไม่ช้าของ Dr.Kapur นั้น เชื่อว่าการทำงานด้านสาธารณสุขเบาหวานของไทยจะดังในเวทีนานาชาติอย่างแน่นอน และสามารถเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นๆ เรียนรู้และนำประสบการณ์ของเราไปปรับใช้กับสิ่งแวดล้อมของเขาได้ และถ้าจะดังให้นานๆ ดังให้ตลอด เราเองหยุดทำงานไม่ได้ หยุดพักมองดูความสำเร็จสักประเดี๋ยวให้กระชุ่มกระชวย เสร็จแล้วก็ลุยต่อไงค่ะ

 

เล่าเรื่องโดย: คุณธัญญา หิมะทองคำ, โรงพยาบาลเทพธารินทร์

หมายเลขบันทึก: 5934เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2005 07:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 10:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท