หลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๘) _ ๐๓ : ปฏิรูปเพื่อการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานสู่ศตวรรษใหม่


บันทึกที่แล้ว ผมกล่าวถึง กระบวนทัศน์ของการปฏิรูปการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไปใน ๓ ประการ ได้แก่ ๑) การมุ่งเอานิสิตเป็นตัวตั้ง ๒) การสร้างการเรียนรู้อย่างมีพลัง และ ๓) มุ่งปลูกฝังอุดมการณ์เพื่อส่วนรวม โดยดำเนินการผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ทั่วถึง คล้ายคลึง และเสมอภาคกันสำหรับนิสิตทุกคน ด้วยโครงสร้างหลักสูตรใหม่แบบบูรณาการ ซึ่งหัวใจของความสำเร็จน่าจะอยู่ที่ "การบรูรณาคน" ในที่นี้คือความสามัคคีของอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป

๕ รายวิชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

การปรับปรุงหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๘) ครั้งนี้มีก้าวสำคัญคือการสร้าง ๕ รายวิชาใหม่เพื่อมุ่งให้เกิดการเรียนรู้ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานจากภายใน และสอดคล้องกับศตวรรษใหม่ ได้แก่

๑) พัฒนาทักษะพื้นฐานของการดำรงชีวิตอย่างมีประโยชน์สุข ด้วยวิชา "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ที่มุ่งปลูกฝังอุปนิสัย "พอเพียง" ให้นิสิตคิดเป็นและเห็นตามเป็นจริง

๒) มุ่งสอนให้ "รู้จักตนเอง เข้าใจผู้อื่น" ด้วยวิชา "จิตวิทยา" ที่เน้นกระบวนการสอนแบบ "จิตตปัญญา" เพื่อให้มีปัญญาเกี่ยวกับจิตใจ ซึ่งได้รับการยอมรับว่า เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานจากภายใน (ทั้งผู้เรียนและผู้สอน) ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

๓) ฝึกทักษะการทำงานผ่านกระบวนการบริการวิชาการในรายวิชา "หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน" ซึ่งนิสิตทุกคนจะได้ตระหนักถึงความสำคัญและเห็นประโยชน์ขององค์ความรู้จากศาสตร์สาขาวิชาของตน และได้รับการบ่มเพาะให้เป็นคนที่มีจิตอาสา เป็นผู้มีปัญญาเพื่อมหาชน เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชนต่อไป

๔) พัฒนานิสิตแกนนำเพื่อพัฒนาภาวะผู้นำของนิสิต ด้วยวิชา "ภาวะผู้นำ" ซึ่งการจัดการเรียนรู้บนฐานกิจกรรม (Activity-based Learning) ที่จะดำเนินการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งมีอาจารย์ผู้สอน ทำหน้าที่เป็น "กระบวนกร" (Facilitator) อำนวยการเรียนรู้

๕) ปฏิรูปกระบวนทัศน์ใหม่ให้นิสิต จากการเป็น "ผู้เสพ" ไปเป็น "ผู้สร้าง" จากผู้บริโภคไปเป็นผู้ผลิต ด้วยรายวิชา "นวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการใหม่" .... ซึ่งต้องทำให้คณาจารย์ที่มีแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์มาร่วมกันพัฒนาวิชานี้

๕ วิธีการเพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้

นอกจาก ๕ รายวิชาใหม่ ยังมีการวางยุทธศาสตร์และแนวทางในการบริหารจัดการหลักสูตรที่มุ่งผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ (Learning Outcome) ของนิสิตเป็นเป้าหมาย โดยการปรับกลไก ๕ ประการ ได้แก่

๑) ปรับปรุงวิธีสอนภาษาอังกฤษจากที่เน้นแกรมมาร์มาเป็นการฝึกพูดสื่อสารในชีวิต โดยเปลี่ยนจาก ๒(๒-๐-๔) เป็น ๒(๑-๒-๓) คือปรับจากการ "เน้นวิชา" มาเป็น "เน้นทักษะ" และสร้างกลไกให้ได้ฝึกอย่างทั่วถึง เช่น โครงการผู้ช่วยสอน (Teaching Assistance, TA) ลดจำนวนนิสิตต่อชั้นเรียน เพิ่มอาจารย์ชาวต่างชาติ เป็นต้น

๒) ปลูกฝังอุปนิสัย (สอนนิสัย) สร้างวินัย โดยใช้ "คะแนนจิตพิสัย" เช่น โครงการสร้างเครือข่ายศึกษาทั่วไปกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพื่อควบคุมวินัยโดยใช้ "คะแนนจิตสาธารณะ" (อ่านที่นี่) หรือ โครงการนิสิตผู้ช่วยอาจารย์ (Lecturer Assistance, LA) เพื่อส่งเสริมวินัยด้านตรงต่อเวลาและความรับผิดชอบในการเรียน (อ่านที่นี่) เป็นต้น

๓) ค้นหาต้นแบบอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป เช่น เชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายในและภายนอกมาเป็นสอน และเชิญมาเป็นวิทยากรเพื่อพัฒนาอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป

๔) สร้างเครือข่ายอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียน และร่วมกันพัฒนาการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งเอกสารหนังสือตำราในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป อย่างต่อเนื่อง

๕) สร้างระบบประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ หรือกระบวนการทวนสอบผลสัมฤทธิ์ของการเรียน ที่ครอบคลุมครบถ้วนทุกด้านตาม "ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง"


การบริหารหลักสูตร (คัดลอกจากบันทึกนี้)

การบริหารหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (ปรับปรุงใหม่ พ.ศ.๒๕๕๘) ที่เหมาะสมกับนิสิตในศตวรรษใหม่ต้องไม่ใช่ "สอนวิชา" หรือเน้นเพียง "เนื้อหา" แต่ต้องเปลี่ยนมาสร้างค่านิยมร่วมในการ "สอนคน" "สอนชีวิต" และกำหนดเป้าหมายที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (Learning Outcome) ด้านทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากภายในอย่างแท้จริง (transformation) การจัดการเรียนรู้ควรจะประกอบด้วยองค์ประกอบ ๓ ประการดังรูป (ปรับจากกรอบผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังและระบบสนับสนุนที่นี่)


องค์ประกอบ ๓ ประการได้แก่ ๑) การพัฒนาอาจารย์และกระบวนการเรียนรู้ ๒)การสร้างสื่อ สิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ทันสมัย สอดคล้องเหมาะสมกับบริบท และ ๓) มีการวิจัยและมีมาตรฐานการประเมินผล โดยมีระบบและกลไกสนับสนุนและการบริหารจัดการที่ดี และมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อบ่มเพาะ ปลูกฝังและฝึกฝนให้นิสิตเป็นผู้มีอุปนิสัย "พอเพียง" ที่มีองค์ความรู้ในตนที่จำเป็น มีสมรรถนะสำหรับศตวรรษใหม่ทั้ง ๓ ด้าน ได้แก่ ด้านการเรียนรู้ ทักษะชีวิตและการทำงาน และทักษะด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร

๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘

ขอบจบแบบฮ้วนๆ อีกทีครับ บันทึกต่อไป มาว่ากันที่ละกลุ่มรายวิชาว่าเราปรารถนาอะไรบ้างครับ...

หมายเลขบันทึก: 591520เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2015 23:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2015 23:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท