ลำเจียก
อาจารย์ ลำเจียก กำธร (อ.น้อง)

การจัดการเรียนการสอนโดยวิธีการสะท้อนคิด (Reflective thinking) โดย...กลุ่มวิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช


การเขียนสะท้อนคิด เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการคิดจากความพยายามที่จะอธิบายและสื่อสารให้บุคคลอื่นทราบเกี่ยวกับความรู้ และความรู้สึกของตนเองที่มีอยู่ในแต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้นการเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ในรูปแบบของการบันทึกสิ่งที่เป็นประโยชน์ จะทำให้ผู้เรียนเกิดความชัดเจนในความรู้

การจัดการเรียนการสอนโดยวิธีการสะท้อนคิด (Reflective thinking)

***โดย...อาจารย์ลำเจียก กำธร

กลุ่มวิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช วพบ.ตรัง

1. ความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนแบบการสะท้อนคิดในการพยาบาล

วิชาชีพการพยาบาลเป็นวิชาชีพที่ต้องปฏิบัติงานในสถานการณ์ที่หลากหลาย และเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ ซึ่งต้องปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การเรียนรู้จากประสบการณ์หรือการสะท้อนคิดจากการปฏิบัติ (Reflective practice or reflection onpractice) จึงมีความสำคัญต่อการคิด ตัดสินใจ แก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆซึ่งจะช่วยให้เกิดทักษะในการแก้ปัญหาที่ยึดผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งช่วยให้เข้าใจเหตุผลของการปฏิบัติได้ดีขึ้น (Davies, 1995) การฝึกสะท้อนคิดเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และเป็นการพัฒนาศักยภาพทางปัญญาที่ส่งผลให้มีการปฏิบัติและการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของพุทธศาสนาที่กล่าวถึงการคิดไตร่ตรองหรือการคิดทบทวนอย่างมีเหตุผล สามารถนำมาใช้เป็นวิธีการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี โดยนักปรัชญาเรียกว่า วิธีแห่งปัญญา การสะท้อนคิดเป็นรูปแบบการคิดที่ช่วยให้บุคคลเกิดการเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจะเกิดจากการรับรู้ ความคาดหวัง ความรู้สึกตนเองเกี่ยวกับประสบการณ์ แล้วมีการวางแผนหาแนวทางแก้ไขในอนาคต โดยผ่านกระบวนการพูดหรือเขียน การสะท้อนคิดจึงเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับวิชาชีพพยาบาล เป็นวิธีที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีการเชื่อมโยงความรู้ทางทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติได้ รวมทั้งมีการตัดสินใจเชิงจริยธรรมที่เหมาะสมในการปฏิบัติงานในสถานการณ์ต่างๆได้ (อรพรรณ, 2553) นอกจากนี้ ยังมีผลทำให้พยาบาลได้เรียนรู้และเข้าใจตนเองมากขึ้น ส่งผลต่อการดูแลผู้รับบริการอย่างเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์และมีความเอื้ออาทรเกิดขึ้น (Lauterbach & Becker, 1998) การนำวิธีการสะท้อนคิดมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน จึงเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ในการเตรียมบุคลากรทางการพยาบาลเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนที่มีการปฏิบัติเป็นฐาน (Practice - based Instruction) ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงการบริการกับการเรียนรู้ได้ (Service learning) เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงและเปิดโอกาสให้วิเคราะห์วิพากษ์ และประเมินสิ่งที่ปฏิบัติ รวมทั้งได้รับข้อเสนอแนะในการปฏิบัติครั้งต่อไป (Eyler, 2002)

ดังนั้นการสะท้อนคิดจึงเป็นทักษะทางปัญญาที่มีความจำเป็นสำหรับบัณฑิตพยาบาลทุกคนเพราะเป็นทักษะที่ช่วยให้พยาบาลรู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณรู้จักแก้ปัญหาและพัฒนางานด้วยกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบบนพื้นฐานหลักฐานเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือทั้งนี้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ ได้มีการกำหนดให้สถาบันการศึกษาพยาบาลจัดการเรียนการสอนที่พัฒนาให้เกิดผลการเรียนรู้ด้านต่างๆ รวมถึงทักษะทางปัญญาด้วยเช่นกัน

2. แนวคิดของการสะท้อนคิด(Reflection) การสะท้อน (Reflection) เป็นการคิดเกี่ยวกับการคิดของตนเอง การสะท้อนคิดแสดงออกถึงความคาดหวัง ความรู้สึก การสื่อสารโดยผ่านกระบวนการพูด หรือ เขียน โดยมีจุดประสงค์เพื่อวิเคราะห์ เปรียบเทียบ วางแผนแก้ไขปัญหา โดยมีผู้ให้ความหมายการสะท้อนคิดดังนี้

2.1 ความหมาย

ดิวอี้ (Dewey, 1933:12) ในงานเขียนเรื่อง "How we Think" ให้ความหมายของการสะท้อนคิดว่า เป็นรูปแบบหนึ่งของการคิดพินิจ พิเคราะห์ ตรึกตรองใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง โดยเริ่มจากความสงสัยใคร่รู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับความคิดความเชื่อหรือองค์ความรู้ที่ยึดถือกันอยู่ และใช้ความพยายามในการค้นหาคาตอบ โดยอาศัยเหตุผลและข้อมูลอ้างอิง

โนเวลส์, โคล และ เพรสวูด (Knowles; Cole and Presswood.1994 : 8-10) กล่าวว่าการสะท้อนคิดเป็นการใช้กระบวนการพินิจพิเคราะห์ ตั้งคำถามย้อนหลังกลับมายังสถานที่เป็นอยู่อย่างครอบคลุมทุกด้าน 6 แยกให้เห็นปัญหาที่เป็นเหตุผลในการปฏิบัติขณะนั้น ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้และส่งผลต่อการแก้ปัญหาที่เหมาะสม

แยซี (Yancey. 1998) กล่าวว่าการสะท้อนคิดอาจหมายถึงการทบทวนในงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งหรือการประเมินตนเอง หรือ เป็นการวิเคราะห์ การเรียนรู้ ที่เกิดขึ้น

โคลเลน (Colloen. 1996:54) ได้เสนอความคิดเห็นว่า การสะท้อนคิดเป็นปฏิกิริยาของสมองที่สะท้อนสิ่งที่บุคคลนั้นคำนึงถึงอย่างใคร่ครวญ ละเอียดถี่ถ้วน เพื่อถ่ายโอนความรู้สึกต่างๆ ของตนเองก่อนที่จะสื่อสารกับผู้อื่นด้วยการพูดหรือการเขียน

จอห์น (Johns. 2000: 34) กล่าวว่าการสะท้อนคิดเป็นกระบวนการคิดไตร่ตรองทบทวน (Reflective Thinking) พินิจพิเคราะห์และพิจารณาสิ่งต่างๆอย่างรอบคอบโดยใช้สติและมีสมาธิ ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้บุคคลได้ทบทวนและสะท้อนการกระทำของตน (Reflective Practice) ช่วยให้เกิดความเข้าใจและเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ นำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงตนเอง ปรับปรุงงาน และการแก้ปัญหาต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

จากความหมายดังกล่าว สรุปได้ว่า การสะท้อนคิดเป็นกระบวนการภายในตัวบุคคลที่มีความซับซ้อน ถือ เป็นการคิดระดับสูง ที่เรียกว่า อภิปรัชญา ซึ่งเป็นการคิดเกี่ยวกับการคิดของตนเอง รวมทั้งสิ่งสำคัญที่มีผลต่อความคิดนั้น

ดังนั้นการสะท้อนคิดจึงขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 3 ประการ คือ ตัวผู้เรียน ความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ และวิธีการในการเรียนรู้

2.2 ขั้นตอนของการสะท้อนคิด

กระบวนการเรียนรู้โดยการสะท้อนคิด ของ กิบส์ (Gibbs, 2000) ประกอบด้วย 6 ขั้นตอนดังนี้

1. การบรรยาย (Description) เป็นการบรรยายว่า อะไรเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการสะท้อนคิด เป็นการบรรยายที่เกิดจากความรู้สึกที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์นั้น ๆ

2. ความรู้สึก (feelings) เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันโดยการสะท้อนการคิดจากการสังเกตความรู้สึก และการรับรู้ เรามีปฏิกิริยาอย่างไร หรือรู้สึกอย่างไรกับอุบัติการณ์ สถานการณ์หรือประเด็นแนวคิดนั้น เช่น การขาดความมั่นใจ ความกลัว ความสับสนในการปฏิบัติงาน เป็นต้น

3. การประเมิน (Evaluation) เป็นการประเมินวิเคราะห์ประสบการณ์ร่วมกันว่าเป็นไปในทางดีหรือไม่ดีเกี่ยวกับอุบัติการณ์ สถานการณ์ หรือประเด็นแนวคิดนั้น แล้วนำสิ่งที่คุณให้คุณค่ามาใช้ในการตัดสินใจ

4. การวิเคราะห์ (Analysis) เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์โดยภาพรวม โดยใช้ประสบการณ์เดิมมาช่วยในการมองว่า สถานการณ์นี้เป็นอย่างไร

5. การสรุป (General conclusions) เป็นการสรุปความคิดรวบยอดจากการวิเคราะห์โดยใช้เหตุและผล หรือสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน รวมถึงการสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยใช้ประสบการณ์เดิมมาช่วยในการสรุป

6. การวางแผนปฏิบัติในอนาคต (Personal action plans) การวางแผนนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปฏิบัติในสถานการณ์ใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาตนเอง ถ้าหากสถานการณ์นี้เกิดขึ้นอีก เราจะทำอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมบ้าง มีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร

2.3 รูปแบบการเรียนการสอนที่การส่งเสริมการสะท้อนคิด
รูปแบบการจัดการเรียนการสอนทางการพยาบาล ได้มีการพัฒนาเพื่อให้มีความเหมาะสมทันสมัย จากการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมที่เน้นการถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เรียนโดยตรงมาเป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การสอนแบบเน้นปัญหา การสอนเพื่อพัฒนาการคิด รวมทั้งการใช้สื่อต่างๆ ในการเรียนรู้ ศึกษาวิจัยการจัดการเรียนการสอนทางการพยาบาลในประเทศไทยที่ผ่านมานั้น ได้มีการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีการคิดวิเคราะห์ การสะท้อนคิด เป็นวิธีการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการพัฒนา และปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนโดยใช้ผู้เรียนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอน เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นแนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับแนวทางการจัดการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาและสอดคล้องกับหลักสูตรที่กำหนด

การเรียนการสอนที่จะส่งเสริมให้มีการสะท้อนคิดสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเขียนบันทึก (Journal Writing) การสนทนา (Dialogue) การวิเคราะห์อุบัติการณ์ (Incident Analysis) การอ่านงานเขียนอย่างพินิจพิเคราะห์ (Reading With Reflection) การเขียนบัตรคำ (Talking Cards/ Index Cards) การเขียนแผนผังความคิด (Reflection Mapping) การวิเคราะห์กระบวนการตัดสินใจ (Decision-Making Analysis) การสนทนาโต๊ะกลม (Reflection Roundtables) กระบวนการกลุ่มแบบหมวกหกใบ (Six Hats) นอกจากนี้ยังมีอีกหลากหลายวิธี ซึ่งบางวิธีใช้สำหรับการสะท้อนคิดในตัวบุคคล หรือการส่องสะท้อนตนเอง (Self Reflection/ Individual Reflection) บางวิธีใช้สำหรับทำเป็นคู่ (Reflection with Partners) หรือทำเป็นกลุ่มเล็ก (Reflection in Small Groups and Teams)

คุณลักษณะของการสะท้อนคิด

1. เป็นวิธีการอย่างเป็นระบบของการคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เราจะพัฒนาให้ดีขึ้นในอนาคต

2. ทำให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ โดยพิจารณาสิ่งที่เรารู้ เชื่อ และให้คุณค่า อย่างเป็นระบบเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

3. ช่วยทำให้ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของบุคคลมีความหมาย ทำให้ตระหนักถึงความสำเร็จและเกิดความพึงพอใจ

4. เกิดการเรียนรู้ประสบการณ์ที่ได้รับอย่างมีความหมาย

การสะท้อนคิดเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามและหาคำตอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับความรู้ (Knowledge worker) ซึ่งต้องตั้งคำถามที่กระตุ้นการคิดและพัฒนาผลลัพธ์ของงานให้ดีขึ้น

การสะท้อนคิดเกี่ยวกับการปฏิบัติ/ทำงาน นาไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อพัฒนาการปฏิบัติให้ดีขึ้น ช่วยส่งเสริมความรับผิดชอบส่วนบุคคล (individual accountability) เพิ่มความตระหนักรู้ในตนในสิ่งที่กระทำ และเปลี่ยนจากผู้ปฏิบัติที่มีประสบการณ์น้อยไปเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ (from novice to expert) นอกจากนี้ กระบวนการของการสะท้อนคิดช่วยทำให้เราสามารถเข้าถึงความรู้ที่มีอยู่ในตัวคน (tacit knowledge) ซึ่งบุคคลได้สั่งสมมาจากการปฏิบัติงาน

2.4 ประโยชน์ของการสะท้อนคิด

ประโยชน์ที่ได้จากการนำการสะท้อนคิดมาใช้ในการเรียนการสอน

1. เกิดทางเลือกแนวใหม่ในทางปฏิบัติ มีความชัดเจนในประเด็นปัญหาต่างๆ และสามารถพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาได้

2. มีการปฏิบัติงานอย่างรอบคอบโดยใช้ประสบการณ์มาปรับปรุงตนเอง ได้ เรียนรู้ข้อบกพร่องของตนเองเพื่อนำมาปรับปรุงการปฏิบัติของตนเองให้ดีขึ้น

3. ผู้เรียนสามารถระบุปัญหา และอธิบายการแก้ปัญหาในการปฏิบัติ และให้เหตุผลในการกระทำได้

4. ผู้เรียนมีโอกาสแสดงความรู้สึก และได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ ในกลุ่ม ทำให้ลดความวิตกกังวลในการปฏิบัติการพยาบาลลง

5. ผู้เรียนมีความมั่นใจในตนเองและเกิดความภาคภูมิใจที่เกิดจากการเรียนรู้ของตนเอง

6. สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้สอน มีความเข้าใจกันมากขึ้น

7. ช่วยเพิ่มความตระหนักรู้

8. ส่งเสริมให้เกิดการคิดอย่ามีวิจารณญาณ

9. ทำให้ผู้ปฏิบัติในคลินิกสามารถปฏิบัติได้ใกล้เคียงกับการปฏิบัติในอุดมคติ

10. ช่วยพัฒนาทักษะปฏิบัติของนักศึกษา

11. สอนให้ผู้ปฏิบัติรู้จักรับฟังเสียงสะท้อนภายในตนเอง

2.5 การพัฒนาทักษะการสะท้อนคิด

การสะท้อนคิดเป็นทักษะทางปัญญาที่อาศัยกระบวนการคิดขั้นสูงที่สามารถพัฒนาได้การพัฒนาทักษะดังกล่าวทำได้โดยการกระตุ้นผู้เรียนในการนำประสบการณ์มาคิดวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ ตามลำดับตามขั้นตอนของการสะท้อนคิด และตามวัตถุประสงค์ของการสะท้อนคิดดังนั้นการกำหนดประเด็นหรือการตั้งคำถามที่ช่วยกระตุ้นการคิดถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาทักษะการสะท้อนคิด เพราะการกำหนดประเด็นคำถามที่ชัดเจนและเรียงลำดับไปตามขั้นตอนของการสะท้อนคิดจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์ได้อย่างชัดเจนและส่งเสริมกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ

2.6 การเขียนบันทึกสะท้อนคิด

กระบวนการฝึกฝนการสะท้อนคิด ทำให้นักศึกษาคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) ซึ่งเป็นผลลัพธ์โดยตรงของกระบวนการสะท้อนคิด จะดึงประสบการณ์ในเชิงลึก นักศึกษาจะใช้เวลาในการคิดพิจารณา ไตร่ตรอง อย่างรอบคอบในสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ต้องเผชิญ การฝึกสะท้อนคิดสามารถฝึกได้โดยวิธีการเขียน (writing) และใช้วิธีการพูด (verbally) และทำเป็นรายบุคคลหรือทำเป็นรายกลุ่ม

การเขียนบันทึกสะท้อนคิด (Reflective Journal) เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ผู้สอนใช้ในการกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้เรียนรวมถึงกระตุ้นทักษะการสะท้อนคิด บันทึกสะท้อนคิดเป็นเอกสารที่ผู้เรียนเขียนขึ้น เพื่อบรรยายประสบการณ์การเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในระหว่างการเรียนทฤษฏีฝึกปฏิบัติหรือแม้แต่เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันบันทึกการสะท้อนคิดถือเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความสามารถของกระบวนการคิดและกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ

การสะท้อนคิดด้วยการเขียน ช่วยให้นักศึกษาพัฒนาการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การเข้าใจตนเอง และการสะท้อนคิด กล่าวว่าการเขียนเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับการเรียนการสะท้อนคิดที่ช่วยให้นักศึกษาแก้ปัญหาและเรียนรู้เกี่ยวกับว่าเขาจะทำอะไร การเขียนหมายรวมถึงการเขียนสิ่งที่เรียนรู้ เป็นการบันทึกเกี่ยวกับความคิดของเขา เมื่อทำบ่อยๆ จะกลายเป็นสิ่งที่เรียนรู้อย่างถาวร เมื่อผู้เรียนเขียนความคิดลงไป ความคิดเหล่านั้นจะถูกจัดรูปแบบ ให้เป็นระบบดีขึ้น การเขียนช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจและวิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างลึกซึ้ง

การเขียนสะท้อนคิด เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการคิดจากความพยายามที่จะอธิบายและสื่อสารให้บุคคลอื่นทราบเกี่ยวกับความรู้ และความรู้สึกของตนเองที่มีอยู่ในแต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้นการเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ในรูปแบบของการบันทึกสิ่งที่เป็นประโยชน์ จะทำให้ผู้เรียนเกิดความชัดเจนในความรู้

และการกระทำของตนเอง นอกจากนี้ยังทำให้ผู้เรียนสามารถที่จะเปิดใจในการประเมินตนเอง ส่งเสริมทักษะการรู้จักตนเองมากขึ้น การเขียนอาจทำโดยใช้ Portfolio ในการบันทึกสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแนวความคิดของผู้เรียนในการมองย้อนถึงการกระทำของตนเองในแต่ละครั้งได้การกำหนดให้ผู้เรียนเขียนสะท้อนคิดในหัวข้อและในระยะเวลาที่กำหนดจะช่วยให้เกิดความคิดที่ต่อเนื่องและคงทน เนื่องจากการการเขียนจะช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นภาพของประสบการณ์ที่ผ่านมาของตนเองได้ชัดเจน มีการผสมผสานความคิดและสะท้อนความคิดของตนเอง สิ่งสำคัญที่พบอีกอย่างหนึ่งคือ การเขียนสะท้อนคิดทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้จากการคิดถึงสิ่งที่ผ่านมามาอย่างรอบคอบ การสะท้อนความคิดโดยการเขียนเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการอธิบายแนวความคิดและความเข้าใจในสถานการณ์ มีการแลก

เปลี่ยนความคิด ความรู้สึก ความเชื่อ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการรู้จักตนเองมากขึ้น การเขียนสะท้อนคิดนี้ยังเหมาะกับผู้เรียนที่ไม่ค่อยชอบพูดทำให้นักศึกษาสามารถมีโอกาสได้แสดงความรู้สึกความคับข้องใจต่างๆที่ได้จากการฝึกปฏิบัติและนำไปสู่การพัฒนาทักษะในการค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหาได้

2.7 การวัดและประเมินผล

  1. ควรใช้ Authentic assessment ในการประเมิน แต่ควรมีการทำข้อตกลงระหว่างครูและนักศึกษาซึ่งจะต้องมีการกำหนดสิ่งที่ต้องการวัดให้ชัดเจน

2. ประเมินจากการเขียนสะท้อนผลการเรียนรู้ โดยให้เขียนภายหลังการเรียนรู้ในแต่ละวัน หรือ สัปดาห์ ว่าต้องการเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม มีปัญหาด้านใดบ้าง ต้องการอะไร เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอนต่อไป

3. บทสรุป

การนำแนวทางการสะท้อนคิดมาใช้ในการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ เป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพการสอนทางการพยาบาลที่ต้องการเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ของนักศึกษา ในการเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเองและของเพื่อนในกลุ่ม เพื่อก่อ่ให้เกิดความสามารถในการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาและสามารถประยุกต์ทฤษฎีที่ได้เรียนมาสู่การปฏิบัติการพยาบาลได้ การสะท้อนคิดเกิดจากตัวผู้เรียนเองที่รับรู้ข้อมูล ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ แล้วจึงนำสถานการณ์นั้นมาคิด วิเคราะห์ใคร่ครวญตามความคิดความเข้าใจของตนเอง ก่อนที่จะบอกต่อผู้อื่นโดยผ่านทั้งทางการพูดและการเขียนวิธีการสะท้อนคิดนี้ จึงเป็นการพัฒนาผู้เรียนทั้งวิธีการคิด และทักษะทางปัญญา เป็นการพัฒนาการเรียนรู้ ที่จะสามารถเชื่อมโยงเนื้อหาสาระเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง นอกจากนี้วิธีการสะท้อนคิดจะได้ผลดีต้องเกิดจากการรับรู้ ความเข้าใจตนเองเป็นสำคัญ มีการสะท้อนที่เป็นเหตุเป็นผล เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม ในการใช้วิธีการสอนโดยกระตุ้นให้เกิดการสะท้อนคิดในผู้เรียนนั้น ผู้สอนบนคลินิกมีความสำคัญในการช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าและความสำเร็จของผู้เรียน ด้วยการเป็นแรงเสริม ช่วยเหลือ ประสานงานด้านต่างๆ ให้คำปรึกษาแนะนำโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง กระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการคิด ใช้ปัญญาเพื่อการเรียนรู้ที่ยั่งยืนและมีความสุขในการเรียน นำไปสู่การเป็นพยาบาลวิชาชีพที่มีความรู้ความสามารถต่อไปในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

กนกนุช ชื่นเลิศสกุล (2544).การเรียนรู้โดยผ่านการสะท้อนคิด:การศึกษาและการปฏิบัติการพยาบาลในคลินิก.วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, 9(2), 35-48.

เชษฐา แก้วพรหม (2556). การพัฒนาทักษะสะท้อนคิดของนักศึกษาพยาบาลด้วยการเขียนบันทึกการเรียนรู้ในรายวิชาการสอนและการให้คำปรึกษาทางสุขภาพ. วารสารวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี, 24(2), 12-20.

อรพรรณ ลือบุญธวัชชัย (2553). การให้คำปรึกษาทางสุขภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Freshwater, D, Taylor, B, & Sherwood, G. (Eds) (2008). International Textbook of reflective

Practice in Nursing. Oxford: Blackwell Publishing & Sigma Theta Tau Press.

Johns, Christopher (2000). Becoming a Reflective Practitioner. London:

Blackwell Science.

Sherwood, G. & Horton-Deutsch, S.(Eds.) (2012). Reflective Practice: Transformimg Eduation

and Improving Outcomes. Indianapolis: Sigma Theta Tau Press.


หมายเลขบันทึก: 590695เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2015 04:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2015 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

การจัดการเรียนการสอน reflective thinking .มีหลายรูปแบบได้แก่...การสนทนา (Dialogue) ซึ่งเป็นการพูดคุยเพื่อแสดงความคิดเห็น ความรู้สึกและแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างมีโครงสร้าง (Structured Dialogue) โดยมีการเตรียมประเด็นหรือคำถามสำหรับกระตุ้นให้เกิดการคิดอย่างมีเหตุผลและเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อประเด็นนั้นๆ (Wong. et.al.1997: 477-478) การสนทนาอาจทำเป็นคู่หรือเป็นกลุ่มเล็กๆ โดยให้สมาชิกในกลุ่มระบุเหตุการณ์ความคิด และความรู้สึกเพื่อเป็นสื่อเพื่อค้นหากรอบแนวคิดของเรื่อง วิเคราะห์ปัจจัยต่างของการกระทำที่สะท้อน ความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ และค่านิยมของแต่ละบุคคล รวมทั้งอาจระดมสมองเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ผลของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ก่อให้เกิดกำลังใจ มีการสนับสนุนซึ่งกันและกัน และเกิดการเรียนรู้ที่กว้างขวางขึ้น (อภิภา ปรัชญพฤทธ์. 2547: 64; Davies. 1995: 171-172) การสนทนาในการเรียนการสอนทางการพยาบาล สามารถกระทำได้ตลอดเวลาที่มีการเรียนการสอนในคลินิก เช่น สนทนาระหว่างครูกับนักศึกษาระหว่างให้การพยาบาลผู้ป่วย หรือสนทนาเป็นกลุ่มในการประชุมก่อนและหลังการฝึกปฏิบัติงาน ประเด็นในการสนทนาเกี่ยวข้องกับการสะท้อนการปฏิบัติการพยาบาลที่นักศึกษาได้ให้กับผู้ป่วย เน้นการวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและอธิบายเหตุผลของการกระทำ ซึ่งผลพบว่า นักศึกษาสามารถเข้าใจปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น สามารถใช้เหตุผลในการดูแลผู้ป่วยทางจิตเวชได้อย่างลึกซึ้งและสามารถพัฒนามุมมองในการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมได้ดีขึ้น

บทบาทของครูในยุคใหม่ที่สำคัญประการหนึ่งคือ การสอนให้นักเรียนมีความเก่ง เก่งคิด เก่งเรียน

เก่งทำงานเป็นทีม เก่งคนโดยสอนให้ผู้เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง (learn how to learn) ให้ผู้เรียน

เรียนรู้วิธีคิด (learn how to think) ด้วย เนื่องขากระบบการจัดกระบวนการเรียนรู้เปลี่ยนไปเป็นรูปแบบ

การเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติ

การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 22 แนวการจัดการศึกษา

ที่กำหนดว่า "การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และ

ถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด" และในมาตรา 24 ในข้อที่ 2 ที่กำหนดว่า "ฝึกทักษะกระบวนการคิด

การจัดการเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา" บทบาทการสอน

ของผู้สอนจึงต้องเน้นการกระตุ้น การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนคิดและจัดการ ดังนั้นการจัดการเรียนการสอน reflective thinking จึงน่าจะเป็นวิธีการสอนอีกหนึ่งร)แบบที่จะส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักศึกษาได้..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/590695

"reflective thinking" กับ บทบาทผู้สอนและผู้เรียนและทักษะที่จำเป็น

บทบาทผู้สอน

  1. ครูต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนแบบสะท้อนคิด
  2. ครูควรสร้างแรงจูงใจหรือกระตุ้นให้นักศึกษาสนใจการเรียน โดยการใช้คำถามกระตุ้นการคิดเพื่อให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็น
  3. ครูมีการสะท้อนการคิดนักศึกษาได้ทั้งแบบบุคคลหรือแบบกลุ่มขึ้นอยู่กับหัวข้อหรือสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม
  4. ครูต้องเป็นผู้ฟังที่ดี เปิดใจ มีความเข้าใจและเป็นกันเองกับนักศึกษา
  5. ครูต้องมีความอดทน ควบคุมอารมณ์ได้ดี
  6. ครูต้องเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ลดความขัดแย้ง และเสริมสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ร่วมกัน
  7. ครูควรมีการเสริมแรงโดยการชมเชยเมื่อนักศึกษาทำได้
  8. ครูควรเป็นกัลยาณมิตร เข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล
  9. ครูต้องสามารถเชื่อมโยงความรู้และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับนักศึกษาได้อย่างเหมาะสม
  10. ครูต้องระบุเป้าหมาย หัวข้อการสอน และวัตถุประสงค์ ครูต้องมีการมอบหมายงานล่วงหน้า เพื่อให้นักศึกษามีเวลาเตรียมตัวและคิดวิเคราะห์ และติดตามการสะท้อนคิดอย่างสม่ำเสมอ
  11. ครูควรเป็นคนช่างสังเกต ไวต่อความรู้สึก

บทบาทผู้เรียน

  1. ต้องมีการเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้ ต้องเข้าใจลักษณะ วิธีการเรียนการสอนโดยการสะท้อนคิด และมีส่วนร่วมในการวางแผนการเรียนรู้
  2. ฝึกการคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงการเรียนรู้ สรุปประเด็น และเขียนสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้
  3. ต้องกระตือรือร้น และฝึกฝนในการตั้งคำถามที่ดี
  4. มีการสังเกตที่ดี กล้าแสดงความคิดเห็น มีความรับผิดชอบ มีวินัย และตรงต่อเวลา
  5. มีการเรียนรู้จากสภาพการณ์จริง เรียนเรียนรู้ตรงกับความต้องการ ความสนใจและความถนัดของตนเอง
  6. มีการศึกษาค้นความ และการนำสื่อต่างๆมาใช้ในการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม
  7. มีการปรับปรุงพัฒนาวิธีการเรียนรู้และผลงานอย่างต่อเนื่อง

ทักษะที่จำเป็น

  1. การตั้งคำถามด้วยเทคนิค RCA1.1 คำถามเพื่อผลการสะท้อน (R : Reflect)
    ● ถามถึงสิ่งที่สังเกตเห็น มองเห็น หรือถามความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการร่วมกิจกรรม - นักศึกษามีความรู้สึกอย่างไร ? - มองเห็นอะไรในพฤติกรรมของบุคคลหรือในการทำกิจกรรมร่วมกัน- นักศึกษามีความรู้สึกอย่างไร กับการขัดแย้งหรือการมีความเห็นไม่ตรงกันของเพื่อนในกลุ่ม- หลังจากเกิดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างการทำกิจกรรมครั้งนี้ นักศึกษาคิดว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องมีความรู้สึกอย่างไร- นักศึกษาเคยสังเกตตนเองหรือไม่ว่า ใช้วิธีการใดจัดการกับความขัดแย้งในระหว่างการทำกิจกรรมร่วมกัน หรือในกลุ่มทำอย่างไรความขัดแย้งในกลุ่มเพื่อนจึงยุติลง

1.2 คำถามเพื่อการเชื่อมโยง (C : Connect)
● ถามเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างประสบการณ์หรือความรู้ที่เคยมีมาก่อน

กับประสบการณ์หรือความคิดที่ได้จากการเรียนรู้ใหม่

- ในช่วงที่ผ่านมา นักศึกษาเคยเห็น เคยมีความรู้สึก หรือเคยปฏิบัติมาอย่างไรบ้าง ?

- สิ่งที่สังเกตหรือพบเห็นมีความสอดคล้อง เหมือน หรือคล้ายคลึงกับสิ่งที่นักศึกษา

เคยปฏิบัติมาอย่างไรบ้าง?
- นักศึกษาเคยมีความขัดแย้งกับเพื่อนระหว่างทำกิจกรรมที่ผ่านมาหรือไม่ เกิดจาก

สาเหตุใด

- นักศึกษาเคยจัดการหรือสยบความขัดแย้งไม่ให้ลุกลามบานปลายได้อย่างไรบ้าง ?

1.3 คำถามเพื่อการปรับใช้ (A : Apply)

● ถามถึงปัจจุบันและการเผชิญเหตุการณ์ในอนาคต

- ในอนาคต ถ้านักศึกษาพบเห็นหรือเจอเหตุการณ์ หรือมีความรู้สึกอย่างนี้

นักศึกษาจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร

- ในการทำงานกลุ่มครั้งต่อไป หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างนี้อีกนักศึกษาจะทำ
อย่างไรหรือคลี่คลายสถานการณ์อย่างไร?
- นักศึกษาตั้งใจจะทำอะไร ปฏิบัติอย่างไร หรือเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง เพื่อการมีชีวิต

ที่ดีในอนาคต หรือเพื่อการเรียนที่ดีขึ้น หรือเพื่อการทำงานให้สำเร็จ

- นักศึกษามีความรู้สึกอย่างไร กับความขัดแย้งหรือการมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน

  1. การสะท้อนคิดโดยการให้ Positive Feedback
    1. การชื่นชมผู้เรียน ให้มองหาสิ่งที่เป็นด้านบวก ด้านดี และกล่าวชมเชย ควรเป็นการชื่นชมด้านดีของผู้เรียนจริงๆ ที่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกดี รู้ว่าผู้สอนมองเห็นในด้านดีของตน แม้ว่าด้านนี้จะผ่านมาหลายวัน หลายสัปดาห์ หลายเดือน แต่สิ่งเหล่านี้ ก็จะช่วยสร้างความรู้สึกดีๆให้กับกลุ่มผู้เรียนได้

ได้แก่ นักศึกษาเป็นคนช่างสังเกตสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้ค่อนข้างมาก, นักศึกษาสืบค้นข้อมูลจากหลายช่องทางแสดงถึงความพยายามในการเรียนรู้

    1. การเชิญชวนให้มีการแก้ไข เมื่อผู้สอนได้ชื่นชมผู้เรียนในด้านบวกไปแล้ว ผู้สอนควรสังเกตว่าผู้เรียนมีเรื่องใดบ้าง ที่ควรปรับปรุงแก้ไข พัฒนาให้ดีขึ้น โดยเลือกใช้คำพูดด้านบวก หลีกเลี่ยง การพูดตำหนิ ทำให้เสียกำลังใจ วิธีการพูดมุ่งประโยชน์ที่ตัวผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ดีขึ้น ได้แก่ นักศึกษาเป็นคนช่างสังเกตสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้ค่อนข้างมาก หากมีการจัดเรียงหมวดหมู่ข้อมูลก็จะดียิ่งขึ้น, นักศึกษาสืบค้นข้อมูลจากหลายช่องทางแสดงถึงความพยายามในการเรียนรู้ โดยเฉพาะข้อมูลที่มาจากแหล่งสืบค้นที่เชื่อถือได้
    2. การให้ความเชื่อมั่น หมายถึง เมื่อผู้สอนได้เชิญชวนให้ผู้เรียนมีการแก้ไข และพัฒนาปรับปรุงพฤติกรรมการเรียนรู้แล้ว ผู้สอนควรให้ความเชื่อมั่นโดยการกล่าวให้กำลังใจ ได้แก่ ครูเชื่อมั่นว่านักศึกษาสามารถจัดเรียงข้อมูลได้, นักศึกษาทำได้ดีมาโดยตลอดและครั้งนี้ครูแน่ใจว่านักศึกษาจะสืบค้นข้อมูลได้ดีขึ้นอีก
  1. การเขียนบันทึกสะท้อนคิด (Dialogue) (นันทกา พหลยุทธ)การเขียนบันทึกสะท้อนคิด ควรเขียนเป็นลักษณะของความเรียง ซึ่งความเรียงที่ดีต้องประกอบด้วยลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ
    1. เอกภาพ หมายถึง บันทึกสะท้อนคิดหรือความเรียงนั้นต้องมีใจความเป็นอันหนึ่งอันเดียว ระบุความมุ่งหมายสำคัญเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เรื่องที่เขียนจะต้องเกี่ยวข้องเป็นเรื่องเดียวกัน หรือช่วยเสริมให้เรื่องเด่นชัดขึ้น ความเรียงที่ขาดเอกภาพ คือ มีเรื่องต่างๆปนกัน บางเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเดิม
    2. สัมพันธภาพ หมายถึง บันทึกสะท้อนคิดหรือความเรียงนั้นต้องมีการเชื่อมโยงข้อความต่างๆให้เป็นไปตามลำดับ มีเหตุผลสอดรับกัน มีเนื้อความเกี่ยวเนื่องกันไปเหมือนลูกโซ่ เนื้อความชัดเจน และไม่คลุมเครือ
    3. สารัตถภาพ หมายถึง บันทึกสะท้อนคิดหรือความเรียงนั้นต้องมีการเน้นใจความสำคัญให้เด่นชัดขึ้นมา ส่วนที่เป็นพลความหรือใจความรองจะต้องเป็นพลความที่ช่วยสนับสนุนใจความสำคัญนั้น ถ้ามีพลความมากเกินไปก็จะทำให้บันทึกสะท้อนคิดนั้นขาดสารัตถภาพ อ้างอิง

นันทกา พหลยุทธ. เอกสารประกอบการเรียนรู้ การเขียนความเรียงขั้นสูง (Extended Essay: EE)

สืบค้นจาก http://www.pccl.ac.th/files/101017099455573_110601...

  1. การเขียนบันทึกสะท้อนคิดReflective journal

เป็นการให้ผู้เรียนสะท้อนคิดด้วยการเขียนความเรียงเพื่อบอกเล่าประสบการณ์ที่พบในชีวิตประจำวัน หรือในระหว่างการเรียนการฝึกงาน จากนั้นบรรยายความคิด ความรู้สึกของผู้เรียนที่มีต่อเหตุการณ์ดังกล่าวตลอดจนการวิเคราะห์เหตุการณ์โดยอาศัยความรู้ในห้องเรียนหรือความรู้จากการอ่านเอกสารวิชาการที่เกี่ยวข้อง เช่น หนังสือ ตำรา บทความวิชาการ เป็นต้นนอกจากนั้นยังให้ ผู้เขียนสรุปการเรียนรู้ที่ได้จากการไปเรียนรู้เพิ่มเติม เป็นกระบวนการสรุปแนวคิดรวบยอด (conceptualization) และวางแผนการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในอนาคต ซึ่งถือเป็นกระบวนการคิดขั้นสูง (ขั้นสังเคราะห์)

การจัดการเรียนการสอนโดยวิธีการสะท้อนคิด (Reflective thinking)ของกลุ่มวิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช ได้นำมาใช้ในรายวิชา ปฏิบัติการพยาบาลบุคคลทีมีปัญหาทางจิต ซึ่งดิฉันได้นำรูปแบบวิธีการนี้ไปใช้กับนักศึกษาที่ได้นิเทศในรายวิชาดังกล่าว โดยนักศึกษาทั้งหมดที่ร่วมใช้การเรียนการสอนวิธีการสะท้อนคิด จำนวน 3 กลุ่ม รวมจำนวน 25 คนพบว่า การที่นักศึกษามีประสบการจากการอ่านหรือการเขียนมาก่อน ทำให้มีการสะท้อนคิดที่ดี สื่อความหมายและสะท้อนความรู้สึกได้ดี ซึ่ง การสะท้อนครั้งที่ ให้นักศึกษา ทำการสะท้อนคิด 3 ครั้ง ครั้งละ 1 สัปดาห์ พบว่าการสะท้อนคิดในครั้งที่ 2,3 มีการเขียนได้ดีกว่าครั้งที่ 1 เหตุผลอันเนื่องมาจากการมีประสบการณ์จากการเขียนและการอ่านที่เพิ่มขึ้น

ยกตัวอย่างการเขียนสะท้อนคิดของนักศึกษาบ้างคน บ้างประโยคสามารถสะท้อนได้ดี ดังนี้ค่ะ

"ผู้ป่วยคือครูชั้นดีที่สามารถทำให้ฉันเรียนรู้ว่า การจะทำอะไรก็ตามต้องใช้หัวใจ ใช้ความรู้สึก ความตั้งใจ เป็นคุณสมบัติพื้นฐานเพียงแค่นี้ ก็สามารถทำให้เราได้รับอะไรที่ยิ่งใหญ่มากกว่าที่เราคิดได้ และอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ฉันเข้าใจมากขึ้น คือ เป้าหมายสำคัญของการให้การดูแลผู้ป่วยที่เกิดสาเหตุมาจากครอบครัวที่หย่าร้างคือ การให้แต่ละคนจัดการกับความรู้สึกเจ็บปวดและความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างไรให้เขาก้าวเดินต่อไปในชีวิตได้อย่างปกติสุขไม่เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา นี้คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ที่เตือนใจในการใช้ชีวิตจากการได้เรียนรู้ ประสบการณ์จริงของผู้ป่วยที่ไม่สามารถหาอ่านได้ตามตำราทั่วไป "

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท