เมื่อลูกเกเร..พ่อแม่จะมีความผิดหรือไม่ ?


การนำเด็กหรือผู้ปกครองไปลงโทษ..ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการแก้ปัญหา

           มีการพูดถึงการลงโทษพ่อแม่ผู้ปกครอง  ที่ปล่อยให้ลูกไปสร้างความเดือดร้อน หรือก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่น เช่น  กรณีที่เด็กนักเรียนยกพวกชกต่อยทะเลาะวิวาทกัน   แข่งรถซิ่งในท้องถนน  เป็นต้น    จะเห็นได้ว่าในขณะนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กใช้อยู่  นั่นคือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546  ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2547  กฎหมายฉบับนี้มุ่งให้ความคุ้มครองเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส   โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญและไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อเด็ก   เมื่อพิจารณาตามมาตรา 26(3) ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการบังคับ    ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด   ดังนั้นจึงต้องดูที่เจตนาของพ่อแม่ด้วยว่ามีเจตนาให้ลูกไปซื้อรถมาขับแข่งบนท้องถนน หรือเกิดจากความประมาทของพ่อแม่หรือไม่ ถ้าพ่อแม่ไม่มีเจตนาให้ลูกไปก่อเหตุร้าย สมควรจับพ่อแม่ด้วยหรือไม่ หากมีคดีเช่นนี้มาที่ศาล ศาลก็จะดูที่เจตนาของพ่อแม่เป็นหลัก

     สำหรับมาตรา 25 กรณีผู้ปกครองละทิ้งเด็ก แม้ว่ามาตรานี้จะไม่ได้กำหนดบทลงโทษเอาไว้ในกฎหมายฉบับนี้  แต่อาจต้องรับโทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาในความผิดฐานอื่นได้ ทั้งนี้ต้องพิจารณาว่าในแต่ละการกระทำนั้นครบองค์ประกอบความผิด   เช่น  การทอดทิ้งผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้เพราะอายุ ความป่วยเจ็บ กายพิการ หรือจิตพิการ    นั้นเสียโดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต เป็นความผิดทางอาญา ซึ่งต้องระวางโทษทั้งโทษจำคุกหรือปรับ   หรือทั้งจำคุกทั้งปรับ ตามมาตรา 306 มาตรา 307 หรือมาตรา 308 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี

       ส่วนมาตรา 26(10) ที่ห้ามผู้ใดจัดจำหน่ายแลกเปลี่ยนสุราให้แก่เด็กนั้น ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้มีการป้องปรามผู้ขาย   แต่ไม่ใช่ที่ตัวพ่อแม่   กรณีที่พ่อแม่เปิดร้านขายสุราแล้วลูกช่วยขายไม่ถือว่าเข้าข่ายความผิด เพราะถือว่าเด็กช่วยกิจการในครอบครัว    ส่วนปัญหาเรื่องพ่อแม่ผิดหรือไม่ถ้าลูกเสพสิ่งมึนเมา ตรงนี้กฎหมายไม่ต้องการลงโทษพ่อแม่และไม่ต้องการให้จำคุกเด็กเพราะเกรงจะเป็นปัญหาครอบครัวตามมา  

         การนำตัวเด็กหรือผู้ปกครองไปลงโทษด้วยเหตุที่เด็กมีพฤติกรรมเกเรหรือก้าวร้าวอันมิใช่ความผิดร้ายแรง  จึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการแก้ปัญหาดังกล่าว 

                         .........  ....................................................................

   http://www.judiciary.go.th/ctbjc/webpage/chan9.htm

หมายเลขบันทึก: 58929เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2006 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 10:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท