ข้อสังเกตการพิทักษ์ระบบคุณธรรมท้องถิ่น (ก.พ.ถ.)


ข้อสังเกตการพิทักษ์ระบบคุณธรรมท้องถิ่น (กพถ.)

17 เมษายน 2558

สรณะเทพเนาว์สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ [1]

ผู้เขียนเคยนำเสนอบทความเรื่อง "ความสำคัญของการพิทักษ์ระบบคุณธรรมท้องถิ่น" (ก.พ.ถ.) มาแล้วเมื่อกว่า 3 เดือนก่อน แม้ว่า คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม หรือ "ก.พ.ค." กับ "ก.พ.ถ." จะเป็นองค์กรเหมือนกัน ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่พิทักษ์ระบบคุณธรรมในระบบบริหารงานบุคคล (Merit System) 4 หลักได้แก่ หลักความสามารถ (Competence) หลักความเสมอภาค (Equality) หลักความมั่นคงในการดำรงสถานภาพ (Security) และ หลักความเป็นกลางทางการเมือง (Political neutrality)

ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า องค์กร ก.พ.ค. และ ก.พ.ถ. ในรายละเอียดมีความแตกต่างกันบางประการ โดยเฉพาะในหลัก "หลักความเป็นกลางและความเป็นอิสระในการใช้ดุลพินิจ" หรือผู้เขียนขอใช้คำว่าต้องไม่เป็น "ผู้มีส่วนได้เสีย" แม้ว่าคำนี้ในความหมายนั้น มีความหมายในสองแนวทาง [2] คือ (1) เป็นผู้มีประโยชน์ได้เสียในสัญญา และ (2) เป็นผู้มีประโยชน์ได้เสียในลักษณะของคุณสมบัติในตัวบุคคลนั้น ๆ หรือที่เรียกว่า "คุณสมบัติต้องห้าม" เพราะ องค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรมเสมือน "หมาเฝ้าบ้านคุณธรรม" (Watch Dog of Merit System) ซึ่งมีลักกษณะเป็นองค์กรกึ่งตุลาการ ทำหน้าที่คล้ายศาลปกครอง ที่ต้องมีความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง หรือปลอดจาก "อคติหรือความลำเอียง" ใด ๆ

ในกรณีของ ก.พ.ค. และ ก.พ.ถ. ผู้เขียนมีข้อสังเกต ดังนี้

(1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือ องค์กรบริหารท้องถิ่น (อบท.) มีลักษณะเป็น "องค์กรทางการเมือง" (Political Organization) จึงมีสภาพที่แตกต่างจากราชการบริหารส่วนกลาง และราชการบริหารส่วนภูมิภาค ที่ปลอดการเมืองการ

(2) ในการบรรจุ แต่งตั้ง โอนย้ายมากกว่าราชการบริหารส่วนท้องถิ่น กล่าวคือ ฝ่ายการเมืองจะเข้ามาให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งข้าราชการในระดับบริหารระดับสูง ตั้งแต่ระดับ 9 ขึ้นไปเท่านั้น สำหรับข้าราชการระดับต่ำกว่าระดับ 9 อยู่ในอำนาจของปลัดกระทรวงและอธิบดี ซึ่งเป็นฝ่ายประจำ มิใช่ฝ่ายการเมือง [3]

แต่ในการบริหารงานบุคคลของท้องถิ่น นายก อปท. มีอำนาจบริหารงานบุคคลแก่ข้าราชการท้องถิ่นทั้งหมดในทุกระดับ ตามมาตรา 15 [4] แห่งพระราชบัญญัติบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งบัญญัติให้นายก อปท. มีอำนาจ โดยความเห็นชอบของ คณะกรรมการกลางข้าราชการส่วนท้องถิ่นจังหวัด

(3) หน้าที่หลักที่สำคัญของ ก.พ.ค. และ ก.พ.ถ. ก็คือ (1) การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของข้าราชการที่ถูกลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ [5] และ (2) การพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ของข้าราชการอันเกิดจากผู้บังคับบัญชา [6] ได้แก่ (2.1) ความไม่ชอบด้วยกฎหมาย (2.2) เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดขึ้นเกินสมควร (2.3) เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ (2.4) ประวิงเวลา หรือหน่วงเหนี่ยวการดำเนินการบางอย่างอันเป็นเหตุให้เสียสิทธิหรือ ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ในเวลาอันสมควร (2.5) ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอื่นใด

ดร.สุรพงษ์ มาลี (2554) [7] ผู้ศึกษาปัญหาการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ให้เหตุผลสำคัญที่ต้องมี ก.พ.ถ. เห็นว่าเนื่องจาก อปท. มีเรื่องอุทธรณ์และร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้อำนาจการบริหารทรัพยากรบุคคลโดยมิชอบและมีการกลั่นแกล้งกันมาก และที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ถ. ได้ทำหน้าที่พิทักษ์ระบบคุณธรรมอาจทำให้เกิดความขัดแย้งในบทบาทและขัดกับหลักการตรวจสอบ สอบทานและถ่วงดุลการใช้อำนาจการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น

เนื่องจากปัจจุบัน อปท. ยังมิได้มีการแก้ไขกฎหมายการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นเพื่อปริวรรตให้เหมือนกันตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 จึงทำให้ อปท.มีบทบัญญัติเรื่องการ "ร้องทุกข์" ที่แตกต่างจาก ก.พ.ค. ได้ กล่าวคือ อปท. ใช้คำรวมเหตุแห่งการร้องทุกข์ที่ไม่ชัดเจนว่า [8] "ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ทำให้เกิดความคับข้องใจต่อตน" โดยยังมิได้มีการบัญญัติถึงเหตุแห่งการร้องทุกข์อันเนื่องมาจากเหตุอื่นที่ชัดเจนอันได้แก่ "(1) ความไม่ชอบด้วยกฎหมาย (2) การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดขึ้นเกินสมควร (3) การใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ (4) ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอื่นใดที่ไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรม" แต่อย่างใด

(4) หลักการใหม่ที่จะได้รับการบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ มีการจัดตั้งองค์กรภาคีพลเมืองที่เข้มแข็ง (สมัชชาคุณธรรม จริยธรรม) คือ (1) สมัชชาพลเมือง (2) สมัชชาคุณธรรม และ (3) สภาตรวจสอบภาคประชาชน [9] จะมีบทบาทช่วยเหลือในเรื่องการพิทักษ์ระบบคุณธรรมได้เพียงใด เพราะหน้าที่สำคัญขององค์กรทั้งสาม ก็คือ การตรวจสอบเรื่องการทุจริต คุณธรรมจริยธรรม และความถูกต้องอื่น ๆ

(5) นอกจากนี้ยังมีหลักการใหม่ที่จะได้รับการบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีก ก็คือ มีการจัดตั้งองค์กรแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง คือ "คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรมในตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า" [10] ในความหมายครอบคลุมตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น จะบัญญัติให้หมายรวมถึงท้องถิ่นด้วยหรือไม่ เพียงใด เพราะหากเปรียบเทียบบทบาทของปลัดเทศบาล หรือปลัด อบท. แล้วก็เปรียบเสมือน "ปลัดกระทรวง" ในระบบบริหารราชการส่วนกลางและราชการบริหารส่วนท้องถิ่นนั่นเอง

(6) หลักการ ก.พ.ค. ต้องไม่มีส่วนได้เสีย มีหลักการห้ามไว้ใน พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 27 [11] ซึ่งมีผลทำให้คณะกรรมการ ก.พ.ค. ที่มีส่วนได้เสียที่เคยดำรงตำแหน่ง อาทิในตำแหน่ง ข้าราชการ มีลักษณะต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่ง ก.พ.ค. ได้ แต่ ก.พ.ถ. (ท้องถิ่น) อาจมีปัญหาว่า ผู้เคยดำรงตำแหน่ง นายอำเภอ หรือ ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ที่เคยกำกับดูแล อปท. โดยตรงจะมีคุณสมบัติต้องห้ามนี้หรือไม่ เพียงใด

(7) โครงสร้างของ ก.พ.ถ. ซึ่งน่าจะมีโครงสร้างที่แตกต่างจาก ก.พ.ค. ของข้าราชการพลเรือน จำนวน 7 คน ตาม พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 25 (3) มีคุณสมบัติอื่นอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (ก) เป็นหรือเคยเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน คณะกรรมการข้าราชการครู คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา หรือคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ข) เป็นหรือเคยเป็นกรรมการกฤษฎีกา (ค) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์หรือ เทียบเท่า หรือตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้น (ง) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอัยการพิเศษประจำเขตหรือเทียบเท่า (จ) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงหรือเทียบเท่า ตามที่ ก.พ. กำหนด (ฉ) เป็นหรือเคยเป็นผู้สอนวิชาในสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือวิชาที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินในสถาบันอุดมศึกษา และดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ แต่ในกรณีที่ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ต้องดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งมา แล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

แต่ ก.พ.ถ. ที่ผู้เขียนเคยได้นำเสนอไว้ว่า "มีคณะกรรมการร่วม 5 ฝ่าย รวม 7 คน ได้แก่ ผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผู้แทนจากส่วนราชการ ผู้แทนผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัย หน่วยละ 1 คน และ ผู้แทนองค์กรพนักงานส่วนท้องถิ่นที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ผู้ทรงคุณวุฒิจากการคัดเลือกจากปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ผู้เกษียณอายุ) หน่วยละ 2 คน"

จากข้อสังเกตเล็ก ๆ น้อย ๆ ในความแตกต่างที่เล็กน้อย อาจก่อให้เกิดผลที่ยิ่งใหญ่ได้ หากองค์กรที่ต้องมาทำหน้าที่พิทักษ์ระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคล ขาดความเป็นกลาง ด้วยเหตุความมีส่วนได้เสีย ข้อเสนอบางประการอาจเป็นเพียง แง่คิดหนึ่งเพื่อให้เกิดการต่อยอด ติชม การวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อให้เกิดความเป็นกลางในองค์กรนี้ให้มากที่สุดเท่านั้น

ดูเพิ่มเติมใน พิรุฬ เพียรล้ำเลิศ, "หน่วยที่ 9 จริยธรรม จรรยา วินัย และการพิทักษ์ระบบคุณธรรม", มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, http://www.stou.ac.th/website/subbj/fileUpload/32304-9-1.pdf
& "รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่องธรรมาภิบาลในการแต่งตั้งโยกย้าย : ศึกษากรณีกระทรวงมหาดไทย", โดยคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา, สำนักกรรมาธิการ 2 สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2555, http://library2.parliament.go.th/giventake/content_sn/2555/d112355-08.pdf

& บุญยิ่ง ประทุม, คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม : กับการบริหารบุคคลส่วนท้องถิ่น, 29 ธันวาคม 2551, https://www.gotoknow.org/posts/232449

[1] ดู สรณะ เทพเนาว์, ความสำคัญของการพิทักษ์ระบบคุณธรรมท้องถิ่น, 30 ธันวาคม 2557, https://www.gotoknow.org/posts/583236 & สยามรัฐรายวัน ปีที่ 65 ฉบับที่ 22634 หน้า 10 < การเมืองท้องถิ่น> ‪#‎บทความพิเศษ‬ วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน 2558, คอลัมน์ การเมืองท้องถิ่น

[2] ณรงค์ฤทธิ์ เพชรฤทธิ์ สรุปว่า หลักเกณฑ์ตีความคำว่า "ส่วนได้เสีย" (ของผู้บริหารหรือสมาชิกสภาฯ) มีการวินิจฉัยตีความสองแนวทางคือ (1) หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาใช้ตีความ เป็นการตีความโดยใช้หลักส่วนได้เสีย ซึ่งมีรากฐานจากหลักความเป็นกลาง (Impartiality) ซึ่งมีความมุ่งหมายเพื่อให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจวินิจฉัยในเรื่องที่ตนมีส่วนเสีย อันจะทำให้มีเหตุจูงใจที่จะทำให้การวินิจฉัยมีความไม่เป็นกลาง หรือมีอคติ หรือขาดความเที่ยงธรรมในเรื่องที่ตนเองตัดสินใจ อันเป็นการตีความตามตัวอักษรของคำว่า "ส่วนได้เสีย" (2) หลักเกณฑ์ที่ศาลปกครองสูงสุดใช้ในการตีความคือ "หลักขัดกันของผลประโยชน์" (Conflict of Interest - COI) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะของรัฐเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม และประชาชนได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะอย่างเสมอภาค และป้องกันผลเสียหายที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวม รวมทั้งลดแรงจูงใจที่ก่อให้เกิดการแสวงหาประโยชน์อันไม่ถูกต้อง

ดู ธรรมนิตย์ สุมันตกุล, "ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการเป็นผู้มีส่วนได้เสีย",กรรมการร่างกฎหมายประจำ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (กันยายน 2548), http://e-workflow.mot.go.th/law/Uploads/2.2.doc

& ณรงค์ฤทธิ์ เพชรฤทธิ์, ปัญหาส่วนได้เสียของผู้บริหารหรือสมาชิกสภาในสัญญาหรือกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แก้ไขเพิ่มเติม), ในหลักกฎหมายปกครองวันละเรื่อง, 15 พฤศจิกายน 2557, https://www.facebook.com/DroitAdministrative/posts/981507698531807 & ปัญหาส่วนได้เสียของผู้บริหารหรือสมาชิกสภากับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, 15 เมษายน 2557, https://www.facebook.com/DroitAdministrative?hc_location=timeline & "ส่วนได้เสียของผู้บริหารหรือสมาชิกสภาองค์กรปกครองท้องถิ่น", 20 ธันวาคม 2555,http://www.facebook.com/DroitAdministrative/posts/572295609453020 & "ความมีส่วนได้เสียของนายก อปท. กรณีญาตินายกฯ สอบบรรจุได้ที่ 1", 27 เมษายน 2557,

https://www.facebook.com/groups/dinkorat/permalink/627100167383115/

[3] มาตรา 57 การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ และการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 53 มาตรา 55 มาตรา 56 มาตรา 63 มาตรา 64 มาตรา 65 และมาตรา 66 ให้ผู้มีอำนาจดังต่อไปนี้ เป็นผู้สั่งบรรจุและแต่งตั้ง

(1) การบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือต่อรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี ให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดเป็นผู้สั่งบรรจุ และให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

(2) การบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงตำแหน่งรองหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการระดับกรม รองหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือต่อรัฐมนตรีแล้วแต่กรณี หรือตำแหน่งอื่นที่ ก.พ.กำหนดเป็นตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ให้ปลัดกระทรวงผู้บังคับบัญชา หรือหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือต่อรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี เสนอรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้ปลัดกระทรวงผู้บังคับบัญชา หรือหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมดังกล่าวเป็นผู้สั่งบรรจุ และให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

... (พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551)

[4] มาตรา 15 การออกคำสั่งเกี่ยวกับการบรรจุและแต่งตั้ง การย้าย การโอนการรับโอน การเลื่อนระดับ การเลื่อนขั้น เงินเดือน การสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์หรือ การอื่นใดที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ให้เป็น อำนาจของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการข้าราชการองค์การ บริหารส่วนจังหวัดกำหนด แต่สำหรับการออกคำสั่งแต่งตั้ง และการให้ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดพ้นจากตำแหน่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดก่อน

อำนาจในการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลตามวรรคหนึ่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจมอบหมายให้ผู้บังคับบัญชาข้าราชการในตำแหน่งใดขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งนั้นเป็นผู้ใช้อำนาจแทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได ้ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำหนด

[5] มาตรา 31 ก.พ.ค. มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้… (2) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 114 …

มาตรา 114 ผู้ใดถูกสั่งลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการตาม มาตรา 110 (1) (3) (5) (6) (7) และ (8) ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่ง

การอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดใน กฎ ก.พ.ค.

... (พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551)

[6] มาตรา 31 ก.พ.ค. มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้... (3) พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามมาตรา 123 …

มาตรา 123 การร้องทุกข์ที่เหตุเกิดจากผู้บังคับบัญชา ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปตามลำดับ

(วรรคท้าย) การร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.ค.

ดู กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 3 พ.ศ. 2556 ข้อ 7

[7] ดร.สุรพงษ์ มาลี, "บทวิเคราะห์ประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ....", สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนสถาบันพระปกเกล้า, 2554, http://thailawwatch.org/wp-content/uploads/2013/06/Localorder.pdf&http://www.kpi.ac.th/kpith/downloads/55-09-11/4%20ร่างประมวลฯ%20(1).pdf และดู "รายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ เรื่องแนวทางการปฏิรูปการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น", ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น สำนักกรรมาธิการ 2, สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ, เสนอ สปช. วันที่ 8 เมษายน 2558, http://www.thailocalgov2013.com/upload/3_2%20%20ปกครองท้องถิ่น.pdf & https://www.polarisoffice.com/fileview/MTAxMDAyNTIxMjQzNzU=

[8] ประกาศ ก.ท. เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับสิทธิการอุทธรณ์การพิจารณาอุทธรณ์และการร้องทุกข์ ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2544, http://local.moi.go.th/mout_08.htm ดู ข้อ 22 วรรคแรก "ภายใต้บังคับข้อ 21 พนักงานเทศบาลผู้ใดเห็นว่าผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติต่อตนโดยไม่ถูกต้อง หรือไม่ปฏิบัติต่อตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย หรือปฏิบัติให้เกิดความคับข้องใจต่อตน ผู้นั้นอาจร้องทุกข์เพื่อขอให้แก้ไขหรือแก้ความคับข้องใจได้ ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีที่มีสิทธิอุทธรณ์ตามหมวด 1 ซึ่งต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ตามที่กำหนดในหมวดนั้น"

[9] "ผุด 11 องค์กรใน รธน.ใหม่ เพิ่มอำนาจ ปชช.ร่วมบริหารประเทศ", ASTVผู้จัดการออนไลน์, 28 มีนาคม 2558, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9580000036109

[10] วิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญ, โดย ซี.12, 6 เมษายน 2558, http://www.thairath.co.th/content/491277 คือ "การมีคณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรมในตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า"

[11] มาตรา 27 กรรมการ ก.พ.ค. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) เป็นข้าราชการ

(2) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใด

(3) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง

(4) เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ

(5) เป็นกรรมการในองค์กรกลางบริหารงานบุคคลในหน่วยงานของรัฐ

(6) ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอย่างอื่นหรือดำรงตำแหน่งหรือประกอบการใด ๆ หรือเป็นกรรมการในหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน อันขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

หมายเลขบันทึก: 589013เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2015 12:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2016 21:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท