มัทนา
มัทนา (พฤกษาพงษ์) เกษตระทัต

Zazen: ใช้'หมองนั่ง'มาธิ


Zazen (坐禅) แปลตรงตัวว่า การฝึกสมาธิแบบนั่ง

วันนี้ครู Eve นัดนั่งสมาธิ 45 นาทีก่อนฝึกคิวโดะ (อ่านบันทึกเกี่ยวกับคิวโดะได้ที่นี่ ค่ะ)

นั่งสมาธิแบบเถรวาทมาตั้งแต่ เด็กค่ะ แต่ไม่เคยได้เรียนรู้การนั่งสมาธิแบบเซ็นเลย จนกระทั่งวันนี้ อยากรู้มานานแล้วว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

แต่การนั่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกอีฟบอกว่าให้นั่งเพื่อความสงบและผ่อนคลายก่อน ยังไม่ต้องคิดอะไร อีกอย่างคื็อจริงๆแล้วนั่งแบบ Zazen จะนั่งแบบเงียบๆ ไม่มีคนพูดนำ (ไม่ใช่ guided meditation) แต่วันนี้จะพูดให้ทำตามก่อน วันหลังจะปล่อยให้นั่งเอง

-------------------------------------------------------------

ท่านั่ง: อีฟสอนว่าให้เอาอะไรมารองครึ่งก้น ไม่ใช่เพราะพื้นมันแข็งแต่มันทำให้กระดูกไขสันหลังตั้งตรง

คางต้องขนานกับพื้น ไม่ก้มหน้า  ตรงหัวให้สมมุติว่าเหมือนมีจุกอยู่บนกลางหัว แล้วมีคนดึงขึ้นข้างบนตรงๆไม้ให้หัวเอียง

มือจะไว้บนเข่าสองข้าง หรือ จะวางมือทับกันไว้บนตักก็ได้

การหายใจ: ท่าพร้อมแล้วก็กำหนดลมหายใจเข้าออกโดยใช้กระบังลม

หายใจเข้า พุงออก หายใจออก พุงแฟบ

เวลาหายใจเข้าให้นึกว่าลมหายใจลงไปถึงจุดตันเถียนซึ่งเป็นจุด รวมพลังลมปราณ (Chi หรือ Qi ในภาษาจีน, Ki ในภาษาญี่ปุ่น, หรือ prana ในภาษาีอินเดีย) จุดนี้ี่อยู่ใต้สะดือเราลงไปประมาณ 3 นิ้วมือ (จุดนี้ชื่อ Tan Den ในภาษาญี่ปุ่น, Dan Tian ในภาษาจีน, หรือจุดจักราที่ 3 ในศาสตร์โยคะ)

ในขณะที่หายใจเข้าก็ให้นึกเป็นภาพ (visualise) ว่ามีแสงสะอาดบริสุทธิ์เข้ามาพร้อมกับลมหายใจด้วย เข้ามาทำให้เราสะอาด

เวลาหายใจออกให้ค่อยๆหายใจออกช้าๆยาวๆ เอาความเครียดในกล้ามเนื้อ ความสกปรกในร่างกายและในใจออกไปด้วย

จิต: ทำใจให้นิ่ง อยู่กับปัจจุบัน ถ้าใจแวบคิดอะไรก็บอกว่า "not now" หรือ "อย่าเพิ่ง" แล้วก็เชิญเอาความคิดนั้นออกไป  กลับมาตั้งใจจับที่ลมหายใจเข้าออก

อีฟบอกว่าบางครูสอนว่าให้เอาจิตจับไว้กับอะไรก็ได้ที่มัน constant เช่น อีฟเคยไป retreat ที่นึง นั่งสมาธินอกตึกนอกบ้าน เค้าให้ตั้งจิตที่เสียงแม่น้ำที่ไหลผ่านแถวนั้น

------------------------------------------------------------- 

         - อีฟปล่อยให้นั่งเงียบๆ 20 นาที -

-------------------------------------------------------------

การหายใจ (ก่อนจบ):  อีฟพูดนำอีกครั้งว่าให้ลองหายใจพร้อมๆกัน อีฟนำให้หายใจเข้าให้สุดแล้วก็ฝืนหายใจเข้าต่ออีกนิด แล้วค่อยหายใจออก พอสุดลมหายใจออก ก็ให้ฝืนปล่อยลมหายใจออกอีกนิดแล้วก็เริ่มหายใจเข้าใหม่

ทำอยู่แบบนี้ 3 ลมหายใจเข้าออก แล้วก็กลับไปหายใจแบบปกติ

ที่นี้ให้ลองสังเกตดูว่า พอกลับมาหายใจแบบปกติแล้ว เราหายใจได้ง่ายขึ้น ปอดได้รับการ "clear"

ที่สำคัญเราจะสามารถ"จับ" คือ "รู้เห็นทัน" ว่า มันมีช่่วงว่างประมาณ 2 วินาที ท้ายลมหายใจเข้าและออก ที่เราหยุดไม่ได้หายใจ

[ตอนนี้รู้สึกดีมากเพราะมันเตือนใจว่า เวลาเราทำกิจวัตรแต่ละวันนั้น เรามักจะไม่มีสติพอที่จะรู้ตัวว่าเราหายใจอยู่ แต่ถ้าเราหยุด เรามีสติ เราก็สามารถรู้และจับช่วง 2 วินาทีที่เราไม่หายใจนี้ได้]

------------------------------------------------------------- 

นั่งต่อประมาณ 5 นาที อีฟก็บอกให้ลืมตา แล้วก็คุยกันต่ออีกซักพักก่อนเริ่มจัดห้องเพื่อซ้อมยิงธนู 

ปล. ตั้งชื่อบันทึกนี้ว่า "ใช้'หมองนั่ง'มาธิ" เพราะมีคุณลุงน่ารัก สมาชิกร่วมฝึกคิวโดะคนนึง เหมือน อิคคิวซังมากค่ะ! : )

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 58857เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2006 12:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 18:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
ชอบมากค่ะ แอบเป็นแฟน คอยติดตาม เขียนอย่างนี้ช่วยให้ปฏิบัติตามได้ง่าย ขอนำไปใช้บ้างนะคะ ขอบคุณมากค่ะ
น่าสนใจมากครับ อ่านแล้วช่วยให้ปฎิบัติตามได้ง่ายอย่างที่ อ.มาลินีว่าจริงๆ ครับ
ยินดีค่ะ ขอบคุณมากนะคะที่แวะมาทักทาย

ขอขอบคุณอาจารย์มัทนา...

  • เรื่องอย่างนี้ถ้ามีภาพประกอบละก็... ยอดไปเลย (ตอนนี้ก็เยี่ยมอยู่แล้ว)
นึกว่ามีอิ๊กคิวซังครับ แบบที่คุณหมอวัลลภบอกดีแน่นอนนะครับ จะได้ทำตามภาพเลย หายไปนานคิดถึงครับผม
ท่านั่งอย่างที่พี่ใหญ่ว่า ตอนสมัยที่เคยลองนั่งแบบวิปัสนาก็นั่งท่าเดียวกันเลย ให้เอาอะไรมารองก้นจะได้นั่งตัวตรง แต่ความต่างกับ Zazen น่าจะอยู่ที่วิธีการกำหนดจิตกะลมหายใจละเน๊อะ วันก่อนผ่านไปแถวบ้านมีบ้านหลังนึกเปิดสอนนั่ง Zazen เหมือนกัน ว่าจะไปลองดูซักนิด ถ้าเหมือนหรือต่างยังไงจะมาบอกนะ

สวัสดีค่ะ น้องใหญ่,

แวะกลับมาทักทายแล้ว ดีใจที่ได้เจอในนี้ด้วย

ในฐานะที่เดินสายนั่งมาหลายอย่างมากแล้ว  อยากจะแนะนำการเข้าคอร์สแบบครบถ้วนทั้งเดินจงกรมนั่งสมาธิและเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบเถรวาทเรานี่แหละค่ะ  แล้วพอทำเป็นก็สามารถเอาไปใช้ยิงธนูหรือทำอะไรต่าง ๆ ในชีวิตได้ตลอดเวลาที่มีลมหายใจและตื่นอยู่เลยน่ะจะว่าไปแล้ว

 

ที่ที่แนะนำก็คือที่เดียวกับที่เคยเล่าให้ฟังน่ะนะคะ คือ ที่มูลนิธิศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่  เพราะเขามีเบาะให้จัดนั่งได้ตัวตรงเหมือนเซนนี่แหละ แต่การสอนชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอนไปในแต่ละวัน   มีการบรรยายเช้าเย็นเป็นภาคทฤษฏีแล้วการปฏิบัติในแต่ละคาบเราสามารถเห็นได้ด้วยตัวเองเลยว่าโจทย์แต่ละขั้นเราได้เรียนรู้อะไรของเราไปได้เองบ้าง   มันไม่มีเคว้งเลยค่ะ  จิตมีอะไรให้ไปจับและเรียนรู้และพัฒนาได้ละเอียดยิ่ง ๆ ขึ้นไปเสมอ   ตามกำลังและความสนใจใฝ่รู้ของแต่ละคน 

 

ที่สำคัญคือ ฟรี หมด ด้วยล่ะค่ะ   เรียนสนุกลุกนั่งสบาย   ที่อยู่ที่พักก็เหมือนรีสอร์ท  อากาศดี  อาหารก็ดี   เมืองไทยเรามีดีจริงๆ ค่ะ  ที่ญี่ปุ่นนั้นนั่งจะออกเป็นสมถะเสียมาก คือได้ความสงบเป็นหลัก บางครั้งเราจะอยากได้คำตอบที่เป็นเหตุเป็นผล   แล้วเราจะใจร้อน  อยากรู้นู่นนี่ ว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ 

 

ในคอร์สวิปัสสนาจะมีเสน่ห์ตรงนี้แหละ คือ มีคำตอบสำหรับทุกคน  ในทุก ๆเรื่อง  ไม่ว่าใครจะไปด้วยโจทย์ไหน  

 

อยากสงบหรือ?  ก็จะได้ความสงบที่มากกว่าความสงบอื่น ๆ

 

อยากได้อะไรที่ตอบข้อสงสัย    ก็จะได้

 

อยากท้าพิสูจน์เพราะไม่เชื่อว่าดี   ก็จะได้คำตอบ

 

อยากพ้นทุกข์  บรรเทาเบาบางจากทุกข์ทางกาย และทางใจ   ก็จะได้

 

จริง ๆ แล้วมีอีกเยอะ   แต่นึกไม่ออก แหะ ๆ  แต่ที่เห็นมาสามสิบกว่า retreats ในช่วงเวลาสามสี่ปีนี้   หนละอย่างน้อยอาทิตย์นึงนี่น่ะนะ   สามารถยืนยันได้เลยว่าที่เชียงใหม่เจ๋งสุดจ้า  สำหรับฆราวาสที่อยู่ในวิสัยผู้มีปัญญา  ชอบอะไรที่เป็นเหตุเป็นผล  เป็นวิทยาศาสตร์มีเวลาน้อยและอยากได้อะไรที่คุ้มค่านำไปใช้ได้ตลอดชีวิตน่ะนะ

 

อาจารย์ที่นั่นท่านก็บล๊อกอยู่ในนี้ด้วยนะ ท่านไม่เชยเลยล่ะ  ทั้งๆ ที่ทางธรรมก็เก่งมาก ไม่ธรรมดาเลยน่ะ  ชื่อ อ.พิชัย กรรณกุลสุนทร

 

ถ้ามีโอกาส เชิญนะจ๊ะ   นี่ก็ว่าจะชวนเซนเซดาบที่ญี่ปุ่นให้มาลองที่เชียงใหม่เหมือนกัน   ต้องลองเขียนสคริปต์เป็นภาษาญี่ปุ่นก่อน แหะๆ  (อันนี้สงสัยจะใช้เวลาอีกแป๊บนึง)

 

สวัสดีจ้า,

 

พี่ณัชร

ชอบมากเลยค่ะ จะพยามยามทำ แต่กลัวจะนั่งไปนึกภาพอิคคิวซังไปด้วยนะเนี่ย ^____^
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท