สีและอุปกรณ์ในการทำภาพเขียนสี


ภาพเขียนสี ภูมิปัญญา ความคิด ความเชื่อ และสุนทรียศาสตร์ของมนุษย์

คราวที่แล้วเราได้เสนอเรื่องราวของศิลปะถ้ำในประเทศไทยให้เพื่อนๆ ได้อ่านไปพอสังเขปแล้วนะคะ  และก่อนที่เราจะไปดูศิลปะถ้ำหรือภาพเขียนสีในจังหวัดชุมพร  พิพิธภัณฑ์ขอตอบข้อซักถามของเพื่อนๆ ในเรื่องสี อุปกรณ์ และการกำหนดอายุสมัยของภาพเขียนสีที่เพื่อนๆ ถามเข้ามาก่อนค่ะ

วัตถุที่ใช้ในการเขียนภาพ

          คนในสมัยโบราณสามารถวาดภาพ  เขียนสี  ได้โดยการนำวัตถุดิบจากธรรมชาติมาใช้ในการเขียนภาพบนผนังหิน  สีที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นสีแดง  นอกจากนั้นยังมีสีส้ม  สีเลือดหมู  สีเหลือง  สีน้ำตาล  สีดำ  สีขาว และสีเทา  สีเหล่านี้มักหาได้ตามธรรมชาติในรูปของอนินทรีย์วัตถุ  มีลักษณะคล้ายดินสอสี  สีแดงได้จากดินแดงหรือดินเทศ  และยังมีสารอีกหลายชนิดที่สามารถนำมาใช้เป็นสีเขียนภาพได้  แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะเป็นสารชนิดเดียวกับที่ปรากฏบนผนังหินหรือไม่
สารต่างๆ ที่ใช้ในการเขียนภาพสามารถจำแนกได้ดังนี้
 - แร่เฮมาไทต์ (Heamatite) สันนิษฐานว่าเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการเขียนภาพบนผนังหินมากที่สุด  และยังใช้เขียนลวดลายบนผิวภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมบ้านเชียงอีกด้วย  ก่อนจะนำแร่เฮมาไทต์ (Heamatite) มาใช้ต้องนำมาบดให้ละเอียด  ผสมกับน้ำหรือกาวพอให้ติดกัน  จากนั้นนำผงแร่ที่ผสมแล้วไปเขียนภาพ  หรือใช้ทาลงบนฝ่ามือแล้วทาบลงบนผิวหินที่ต้องการให้เกิดภาพ
 - ดินเทศหรือดินแดง  มีลักษณะเป็นก้อนสีแดงเข้ม  ก้อนใหญ่บ้างเล็กบ้าง นำมาใช้โดยการบดให้ละเอียดแล้วผสมกาวหรือยางไม้และไขสัตว์
          สำหรับการใช้สีแดงนั้น  มีผู้สันนิษฐานว่าเป็นสีแห่งความแข็งแกร่ง  นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องในแง่ของความเชื่อ  โชคลาง  ความอุดมสมบูรณ์  หรืออาจใช้แทนเลือด  แทนชีวิต  และถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

อุปกรณ์ที่ใช้เขียนภาพ

          อาจสันนิฐานได้ว่าเริ่มแรกคงใช้นิ้วมือจุ่มสีแล้ววาด  หรือใช้พู่กันที่ทำจากเปลือกไม้ทุบให้เป็นเส้น หรืออาจทำจากขนสัตว์บางชนิด  เช่น  ขนกระต่าย  ขนนก  เป็นต้น  นอกจากนี้ยังมีตัวประสานที่ทำสีที่ใช้เขียนติดกับผนังได้นานโดยไม่ลบเลือน  สีที่นำมาใช้เขียนภาพส่วนใหญ่อยู่ในรูปของแข็ง  จำเป็นต้องผสมสารบางชนิดให้อยู่ในรูปของเหลวก่อน  วีธีการจะบดสีให้เป็นผงแล้วนำไปผสมกับยางไม้  ไขสัตว์  น้ำ  หรือวัตถุดิบอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติคล้ายกาว แต่ในปัจจุบันยังไม่ทราบว่าเป็นสารตัวไหน

อายุสมัย

         อายุสมัยของศิลปะถ้ำหรือภาพเขียนสีส่วนใหญ่จะอยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยการกำหนดอายุจะต้องประกอบด้วยหลายส่วน  ทั้งในเรื่องของความคงทนของสี  หลักฐานทางโบราณคดีในบริเวณใกล้เคียง  อุปกรณ์ที่ใช้ทำให้เกิดภาพ  และเรื่องราวที่ปรากฏในภาพ  ยกตัวอย่างเช่น  ศิลปะถ้ำบางแห่งมีการทำรูปรอยลงในหิน  ซึ่งต้องใช้โลหะทำให้เกิดรอยดังกล่าว โลหะนี้อาจจะเป็นสำริดหรือเหล็กก็ได้  ซึ่งหลักฐานการใช้เครื่องมือเหล็กจะอยู่ประมาณ  5,000 ปี  หรือไม่เกิน  3,000  ปี  อายุของภาพเขียนสีที่พบก็น่าจะอยู่ในช่วงนี้  เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

-ศิลปากร,กรม. ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2540.

หมายเลขบันทึก: 5884เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2005 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

พูดถึงเรื่องสีและการเขียนภาพแล้ว ทำให้นึกถึงเด็กๆ  หาก พช.ชพ.จัดกิจกรรมการเรียนรู้ศิลปะถ้ำ/ภาพเขียนสี ให้เด็กๆ แล้วจะดียิ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท