ตีโจทย์ให้แตก (วิเคราะห์สถานการณ์)


ลักษณะของบทความในแต่ละคอลัมน์ ของแต่ละหนังสือพิมพ์ก็จะมีความแตกต่างกัน เราต้องศึกษารูปแบบว่าหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับ

ตอน  ตีโจทย์ให้แตก  (วิเคราะห์สถานการณ์)  

                 มีหนังสือพิมพ์บางฉบับ  หรือบางคอลัมน์ที่มีพื้นที่ไว้สำหรับการลงงานเขียนประเภทบทความซึ่งแน่นอนที่สุดในการเขียนข่าวเพื่อเผยแพร่กิจกรรมของหน่วยงานนั้น  นักประชาสัมพันธ์คงจะไม่ได้เขียนแต่เพียงข่าวแจกหรือภาพข่าวเท่านั้น  เราคงต้องมีการเขียนประเภทบทความด้วย  และลักษณะของบทความในแต่ละคอลัมน์  ของแต่ละหนังสือพิมพ์ก็จะมีความแตกต่างกัน  เราต้องศึกษารูปแบบว่าหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะลงบทความประเภทไหน  แนวใด  และทำอย่างไรจึงจะได้รับความสนใจจากบรรณาธิการ   

                 หน่วยงานของป้าเม้านั้นได้รับความอนุเคราะห์ด้วยดีจากสื่อมวลชนหลายแขนงในการนำเสนอข่าวสาร  แต่ที่ป้าจะเล่าให้ฟังนี้เป็นหนังสือพิมพ์ซึ่งมีคอลัมน์ประเภทบทความลงเป็นประจำฉบับหนึ่ง  บทความที่ลงพิมพ์เผยแพร่จะเป็นบทความประเภททั่วไปตามแต่ความคิดและทัศนคติของผู้เขียนในอันที่จะนำเสนอในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม  และได้มีนักเขียนทั้งมืออาชีพตั้งแต่ผู้บริหารและมือสมัครเล่นเขียนส่งกันเป็นจำนวนมาก  ตั้งแต่ครั้งแรกที่ป้าได้เห็นและติดตามอ่านบทความที่ลงนำเสนอในแต่ละฉบับป้าเม้ารู้สึกให้ความสนใจคอลัมน์นี้เป็นพิเศษ     

                 ป้าเม้าเริ่มชักชวนบุคลากรและนักศึกษาในหน่วยงานให้เขียนบทความส่งให้กับหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว (บางท่านอาจคิดว่า  ทำไมป้าเม้าช่างเป็นประชาสัมพันธ์ที่เกียจคร้าน           เสียเหลือเกิน  ทั้งที่หน้าที่ในการเขียนข่าว  เขียนบทความนั้น  เป็นหน้าที่ของประชาสัมพันธ์โดยตรง    แต่กลับไปเที่ยวชักชวนให้ผู้อื่นเขียน  เหตุที่ทำเช่นนี้ก็เพราะป้าเห็นว่าบรรณาธิการท่านให้เกียรติผู้เขียนมากโดยจะระบุชื่อ  นามสกุล  และหน่วยงานปรากฏอย่างชัดเจนด้านล่างของบทความ  หากบุคลากรหรือนักศึกษาของหน่วยงานเราเขียนบทความแล้วเกิดได้รับการลงพิมพ์  ก็เท่ากับเป็นการประกาศศักยภาพ รวมถึงหน่วยงานก็ได้ชื่อเสียง  นี่คือสิ่งที่ป้าคิด)

                 แล้วป้าเม้าก็ได้นักศึกษามาท่านหนึ่ง  หลังจากที่มึนงงกับการกล่อมของป้าเม้าอยู่พักใหญ่เลยหลวมตัวตกปากรับคำ  เสร็จแล้วป้าเม้าก็กลับมานั่งคิดว่า  ทำอย่างไรบรรณาธิการจึงจะให้ความสนใจ   กับบทความที่ส่ง  แล้วก็เห็นว่าในขณะนั้นสังคมกำลังจับจ้องให้ความสนใจเรื่องสถานการณ์ภาคใต้ของไทย  ฉะนั้น  เราควรให้นักศึกษาเขียนเรื่องราวภาคใต้จะดีที่สุด  แต่เขียนในทางสร้างสรรค์  เขียนให้เห็นถึงความสำคัญ      ของความเป็นพี่น้อง  เขียนให้เห็นถึงความสามัคคีของคนในชาติ  เขียนให้เห็นถึงความรักที่คนไทยมีต่อกัน  ว่าแล้วก็บอกให้นักศึกษาท่านนั้นหาข้อมูล  แล้วก็เขียนมาให้ดูก่อนที่จะส่งเสนอบรรณาธิการ  แล้วสวรรค์ก็เป็นใจบทความเรื่องนั้นก็ได้รับการลงพิมพ์เผยแพร่หลังจากที่ส่งเสนอให้บรรณาธิการเพียงไม่กี่วัน  (นับเป็นความอนุเคราะห์อย่างที่สุดที่บรรณาธิการให้ความกรุณากับคนไกลปืนเที่ยงอย่างป้าเม้า)    

                 หลังจากบทความได้ลงเผยแพร่ก็ได้รับโทรศัพท์จากญาติสนิทมิตรสหาย  บ้านใกล้เรือนเคียงสอบถามทำอย่างไรจึงได้ลงพิมพ์  ส่งบทความเข้าไปเสนอเยอะไหม  บทความเรื่องนี้ส่งมานานเท่าใดจึงได้รับการลงพิมพ์เพราะของเขาส่งไปหลายเรื่องมากแต่ยังไม่ได้ลงพิมพ์เลย เป็นต้น  

                 แต่สิ่งที่น่ายินดีกว่านั้นก็คือ  มีผู้โทรศัพท์เข้ามาแสดงความยินดีและชื่นชมในความสามารถ ของนักศึกษาผู้นี้อย่างมากมาย  (ป้าเม้าขอเอาเกียรติเป็นประกันได้ว่าเรื่องที่เล่าเป็นความจริงไม่ได้โอ้อวด  และไม่กล้าโอ้อวด  เพราะทราบดีว่าการพูดในสิ่งที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงนั้นเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่งยวด) 

...เป็นที่น่าเสียดายที่ภายหลังต่อมาคอลัมน์นี้ได้หายไปจากหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นเสียแล้ว... 

ป้าเม้า



ความเห็น (2)
คงจะได้อ่านบันทึกและบทความเจ๋งๆของป้าเม้าไปเรื่อยๆนะครับ ถึงคอลัมภ์จะหายไป แต่ที่นี่ gotoknow ก็เป็นที่ให้ป้าเม้าได้นำบทความดีๆให้คนอื่นได้อ่านด้วยนะครับ

ขอบคุณ มากค่ะ  คุณบอน  กาฬสินธุ์

มีพลังในการเขียนขึ้นมาเยอะเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท