หลักปฏิบัติในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา


ปี ๒๕๕๘ นี้ CADL เรามุ่งขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ปศพพ.) ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย โดยใช้องค์ความรู้ที่ตกผลึกมาจากประสบการณ์ทำงานกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ทั้งที่ปฏิบัติกับตน และที่ได้เรียนรู้จากคน "พอเพียง" ทั่วประเทศ แนวทางดำเนินการในแต่ละด้าน จะเขียนไว้ในบันทึกถัดๆ ไปครับ บันทึกนี้จะขอสรุป "หลักปฏิบัติ" ที่จะนำไปใช้ให้ชัดๆ ดังนี้

๑) ต้องเริ่มที่ความสำเร็จเล็กๆ ก่อน จะขยายให้กว้างขึ้นตามศักยภาพ

ผลลัพธ์ของการขับเคลื่อนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ในการขับเคลื่อน ปศพพ. โดยใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาทักษะการคิดและการเรียนรู้ของนักเรียน ประสบผลสำเร็จดียิ่งในโรงเรียนกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จในโรงเรียนบางกลุ่ม ดังนำเสนอในแผนผังดังนี้


พิจารณาจากภาพ หากเปรียบความสำเร็จ ในที่นี้คืออุปนิสัย "พอเพียง" เป็นสีม่วง ที่ทางมูลนิธิฯ อยากจะให้เกิดขึ้นกับโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมดของโรงเรียนในประเทศ จากประสบการณ์ประเมินแบบตื่นตัว (Active Assessment) ในพื้นที่ พบว่า ความสำเร็จของแต่ละโรงเรียนแตกต่างกัน บางโรงเรียนขยายใหญ่ เข้าถึงใจ และระเบิดจากภายในของคนส่วนใหญ่ เปรียบเหมือนวงกลมที่ระบายสีม่วง บางโรงเรียนมีเพียงครูและนักเรียนจำนวนหนึ่งที่เข้าถึงและนำไปใช้ได้อย่างเห็นผล แต่ไม่สามารถขยายไปสู่คนอื่นๆ ได้ เปรียบเหมือนวงกลมที่มีจุดสีม่วงไม่เต็มวง เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ต่างไปตามระดับความสำเร็จของโรงเรียน

ปัจจัยที่พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับระดับความสำเร็จมากที่สุดคือ "บุคคล" หากโรงเรียนใด คนที่ระเบิดจากภายในคือผู้บริหาร โดยเฉพาะผู้อำนวยการโรงเรียน (ผอ.) หากประกอบมี "ความเพียร" ที่ "ต่อเนื่อง" จะได้รับศรัทธาและความร่วมมือจากครูในโรงเรียนเกือบทั้งหมด โดยกระบวนการบริหารจัดการตามระบบราชการอย่างเคร่งครัด ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนฯ

บางโรงเรียนบริหารจัดการแบบ "กำกับ ติดตาม และควบคุม" ใช้วิธีการประชุมมอบหมายงาน โดยตั้งผู้ประสานเป็นหัวหน้าฝ่าย แล้วใช้ระบบและกลไกเชิงอำนาจของระบบราชการเป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน พบว่าแม้จะประสบความสำเร็จในช่วงต้น แต่ผลลัพธ์จะอยู่เพียงระดับต้น โดยครูและคนที่ทำก็ไม่ได้น้อมนำใส่ใจอย่างแท้จริง ผลก็คือ "การปล่อยทิ้งไป" ไม่ยั่งยืน

บางโรงเรียนแม้ว่า คนที่เป็นแกนนำเป็นเพียงครูเล็กๆ ไม่มีอำนาจอะไรในโรงเรียน แต่ความมุ่งมั่นและความเข้าใจสามารถนำให้อุปนิสัย "พอเพียง" เกิดขึ้นได้และค่อยๆ ขยายไปสู่เพื่อนครูและนักเรียน แม้จะไม่ครอบคลุมทั้งโรงเรียน แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงขึ้นในตัวนักเรียน อย่างน้อยคือนักเรียนแกนนนำที่ประจำชั้นเดียวกับครูแกนนำ

โดยสรุปคือ ยืนยันว่า ต้องสร้าง "บุคคลแกนนำ" ให้ได้ในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ที่ต้องการจะพัฒนา ค้นหาและสร้างความสำเร็จเล็กๆ จากคนกลุ่มนี้ แล้วนำแนวปฏิบัติที่ดีค่อยๆ ขยายไปอย่างมีส่วนร่วม

๒) การขับเคลื่อน ปศพพ. ต้องเป็นการ "ปลูกฝัง" ไม่ใช่ "การถ่ายทอด"

การ "ปลูกฝัง" ต้องใช้ระยะเวลายาวนาน มุ่งเป้าให้เกิดทั้ง "ศรัทธา" "ปัญญา" และ "ความรู้" แต่การ "ถ่ายทอด" สัมฤทธิ์ผลเพียงด้าน "ความรู้" โดยเฉพาะถ้าเป็นนักเรียนระดับประถมศึกษาที่ยังไม่มีทักษะทางปัญญา ยังไม่สามารถคิดพิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผลด้วยตนเอง จะไม่สามารถสำเร็จบรรลุสู่อุปนิสัย "พอเพียง" ได้หากใช้เพียง "การถ่ายทอด" เท่านั้น

งานวิจัยด้านการศึกษาในปัจจุบันย้ำตลอดว่า ความสำเร็จของการเรียนรู้นั้นขึ้นอยู่กับ "ปฎิสัมพันธ์" ระหว่างครูกับนักเรียน จากประสบการณ์ภาคสนามตามโรงเรียนต่างๆ พบผลเชิงประจักษ์ที่สอดคล้องกันดังภาพ

  • ถ้าครูเน้นการ "ถ่ายทอด" เช่น การบรรยาย บอก ป้อน สอน สั่ง เน้นให้นักเรียนฟังอย่างเดียว นักเรียนก็จะจดจำและนำไปใช้ตามที่ได้รับรู้ ซึ่งโดยมากพบว่า พัฒนาการของนักเเรียนจะอยู่ใน "ระดับมูลค่า" คืออยู่ในมิติทางวัตถุและเศรษฐกิจเท่านั้น เช่น ประหยัด อดออม ใช้ของที่ไม่ต้องซื้อหรือของในพื้นถิ่น ฯลฯ
  • ถ้าครูเปลี่ยนบทบาทมาเป็น "ผู้อำนวยการเรียนรู้" พานักเรียน "ถอดบทเรียน" เน้นการตั้งคำถาม และกระตุ้นแรงบันดาลใจให้นักเรียนได้ "ฝึกคิด" บนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะส่งผลลัพธ์โดยตรงให้นักเรียน "เก่งคิด" มีทักษะการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล (คิดอย่างมีวิจารณญาณ) มีความมั่นใจ ไม่เก้อเขิน รู้จริงในเรื่องที่ทำ สามารถ "ตีความ" สิ่งต่างๆ ว่า "คุ้มค่า" อย่างไร อะไรคือคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม
  • ถ้าครูใช้ทั้งการ "ถ่ายทอด" การ "ถอดบทเรียน" อย่างบูรณาการทั้งในชั้นเรียน กิจกรรมเสริมการเรียนรู้ในโรงเรียน และปลูกฝังผ่านกิจวัตรประจำวันการดำเนินชีวิตจริง หากทำกระบวนการเหล่านี้อย่างพอประมาณ ต่อเนื่อง ยาวนาน ผลจะส่งให้นักเรียนไปถึง "ระดับคุณค่า" สามารถนำหลักปรัชญามาใช้กับตนจนเกิดผลลัพธ์กับตนเอง ทำให้เกิดความภูมิใจ ระเบิดจากภายใน มีความสุข และอยากบอกต่อ แบ่งปันกับผู้อื่นต่อไป

๓) ผู้ขับเคลื่อนต้องน้อมนำ ปศพพ. ไปเป็น "หลักคิด" เพื่อหา "แนวปฏิบัติ" ของตนเอง

หากใครไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหน ต่อไปนี้คือ คำแนะนำที่ผมว่าดีที่สุด จากประสบการณ์ของตนเองนะครับ

จุดเริ่มต้นคือ ให้เข้าใจว่าหลัก ปศพพ. เป็นหลักคิด อาจเรียกว่า "หลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง" ดังภาพ


แล้วน้อมนำ "หลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง" นี้ไปใช้กับการทำงานและการดำเนินชีวิตของตนเอง จนได้แนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) คือแนวปฏิบัติที่ได้ผล ได้หลักปฏิบัติของตน เกิดผลลัพธ์กับตน หรือเรียกว่า "แนวปฏิบัติที่พอเพียง" นั่นเอง ดังภาพ

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ในหลวงใช้ "หลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง" กับการเกษตร ได้ "แนวปฏิบัติ" และ "หลักปฏิบัติ" สำหรับการทำการเกษตรคือ "เกษตรทฤษฎีใหม่" ที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจว่านี่คือเศรษฐกิจพอเพียง

สรุปแล้ว หากท่านเข้าใจและทำถูก

  • หากท่านเป็นผู้บริหาร ท่านจะตอบได้ว่า "หลักปฏิบัติ" และ "แนวปฏิบัติ" ในการบริหารจัดการสถานศึกษาของท่าน สามารถบอกแนวปฏิบัติได้ชัดเจน ๑ ๒ ๓ ...
  • หากท่านเป็นครู ท่านจะรู้และเข้าใจ และอธิบายได้ว่า "หลักปฏิบัติ" และ "แนวปฏิบัติ" ในการจัดการเรียนการสอน และจัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ สู่การปลูกฝังอุปนิสัย"พอเพียง" ในชีวิตประจำวัน
  • หากเป็นนักเรียนนักศึกษา จะตอบได้ทันทีว่า "หลักปฎิบัติ" และ "แนวปฏิบัติ" ในการเรียนหรือกิจวัตรประจำวันในการดำเนินชีวิตของตนเองนั้นพอประมาณอย่างไร

หากเราทำอะไรสำเร็จและสุขใจภูมิใจ โดยคนอื่นไม่เดือนร้อน แสดงว่า "แนวปฏิบัติ" หรือ "หลักปฏิบัติ" ที่ท่านใช้นั้น "พอเพียง"

สำคัญที่สุด คือ ให้สังเกตจาก "ความสุขใจ" การระเบิดจากภายในทำให้รู้สึกได้ชัดว่า ยิ่งได้ทำเพื่อคนอื่น ยิ่งมีความสุข ยิ่งได้ทำงานหนักเพื่อส่วนรวม จะมีความสุขท่วมเปี่ยมใจ แม้จะไม่หรูหรา มีหน้ามีตาอะไรในสังคมก็ตาม

๔) ตัวอย่างหลักปฏิบัติในการขับเคลื่อน ปศพพ. ด้านการศึกษา

อ่านบันทึกนี้ครับ วิธีขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา

สรุปวิธีการคือก่อนจะนำไปประยุกต์ใช้ทำอะไรให้ใช้ ๗ คำถามของ รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี ระหว่างทำและหลังทำ ก็ให้นักเรียนถอดบทเรียนโดยใช้ ๗ คำถามของ รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี วนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ..

๕) ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ถือได้ว่าเป็นเงื่อนไขของความสำเร็จของการขับเคลื่อน ปศพพ.

ปัจจัยที่จำเป็นต้องมี เพื่อให้การ "ปลูกฝัง" สำเร็จถึงความ "พอดี" มี ๓ ประการ ได้แก่ การทำตนเป็นแบบอย่าง การทำอย่างต่อเนื่องในการบ่อยซ้ำย้ำทวน และการจัดการสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้และนำหลัก ปศพพ. ไปใช้ตลอดเวลา ( อ่านรายละเอียดที่บันทึกนี้ครับ)

๖) ตั้งเป้าหมายที่ตัวคน ให้ "คิดเป็นเห็นองค์รวม" ไม่ใช่ "ชิ้นงาน" หรือ "ฐานการเรียนรู้"

เนื่องจากปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการปลูกฝังอุปนิสัย "พอเพียง" นั้นมีผลงานวิจัยยืนยันว่า เพียงภายในโรงเรียนนั้นไม่สำเร็จอย่างยั่งยืน ต้องรวมชุมชนและทุกคนต้องสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการปลูกฝัง

ดังนั้นผู้บริหารและคณะครูผู้ขับเคลื่อนฯ ต้องมองเห็นองค์รวม ออกแบบและดำเนินการอย่างเชื่อมโยงรอบคอบ ครอบคลุมทั้งภายในและภายนอก

หลักทั้ง ๖ ประการนี้สำคัญและเป็นประโยชน์สำหรับท่านผู้อ่านที่นำไปทำแน่นอนครับ

หมายเลขบันทึก: 586877เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2015 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2017 00:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท