ครูเพ็ญศรี กานุมาร : การพัฒนาทักษะการเรียนรู้โดยใช้โครงงานบนฐานบริบทโรงเรียน (๓)


บันทึกที่ (๑)

บันทึกที่ (๒)

มีผู้ใหญ่และผลงานวิจัยฟันธงตรงๆ เลยว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อได้สะท้อนบทเรียน สะท้อนความคิด (อ่านที่นี่) และนักประสาทวิทยาก็ยืนยันว่า การจัดการเรียนรู้ที่ดี ต้องจัดให้ครบกระบวนวิธี Input-Ouput (อ่านบันทึกนี้ครับ) นั่นหมายถึง การจัดการเรียนรู้ที่ดี ต้องจัดให้มีเวทีนำเสนอของนักเรียน ทุกคนได้แลกเปลี่ยน ถอดบทเรียน (After Action Review: AAR) สะท้อนความคิดและความเห็น ดังเช่นที่ครูเพ็ญศรีและทีมครู ทำอยู่ขณะนี้ ในขั้นตอนที่ (๔) และ (๕) ตามแผนผังด้านล่าง


ดังนั้น การหนุนเสริมการพัฒนาการเรียนรู้ที่ควรทำคือ การสร้างเวทีเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้นำเสนอผลงาน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของตนกับเพื่อนๆ ให้หลากหลายระดับ ครอบคลุม และซ้ำ บ่อยเพียงพอ เหมือนกับระบบพัฒนาวิชาการผ่านการประชุมวิชาการ (conference) ที่เราเห็นในปัจจุบัน

ปัจจุบันเวทีนำเสนอผลงานของนักเรียนเริ่มมากขึ้น แต่ผมคิดว่ายังคงน้อยอยู่ และทำไปทำมา กลายมาเป็นเวทีครู "ครูปั้นเด็กมาแข่งกัน" ซึ่ง "ก็รู้ๆ อยู่" เพราะเอาผลงานครูไปผูกอยู่กับผลการแข่งขัน ทำให้มีนักเรียนส่วนหนึ่ง (ไม่ซิบางที่เป็นส่วนใหญ่ในห้อง) ถูกทิ้งไว้ ไม่ได้พัฒนาศักยภาพเท่าที่ควร ระบบการ "แข่ง คัด ตัด เตรียม" แบบนี้ ครูจะให้ความสำคัญกับชื่อเสียง เกียรติยศ บางโรงเรียนปั้นนักเรียนหนึ่งกลุ่มแบบทุ่มงบประมาณมหาศาล เพื่อให้ชนะเลิศได้รางวัลระดับประเทศ ระดับโลก เหมือนแผนภาพ (ก)

สิ่งที่ควรทำ คือ ให้ความสำคัญกับเวทีระดับโรงเรียนที่สุด (แผนภาพ (ข)) นักเรียนทุกคนต้องได้คิด ทำ นำเสนอผลงานของตน หากมีผลงานหรือพัฒนาการของนักเรียนกลุ่มใดโดดเด่นเห็นชัด ซึ่งต้องใช้กระบวนการคัดเลือกแบบพัฒนา จึงนำมาส่งเสริมสนับสนุน เป็นทุนการศึกษาให้มีโอกาสได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับระหว่างโรงเรียน เช่น ระดับจังหวัดหรือระดับเขตการศึกษา ฯลฯ และเวทีระดับสูงขึ้น ดังแผนภาพ (ค)

ครูเพ็ญศรี กานุมาร และทีมเพื่อนครูในโรงเรียนนาสีนวนพิทยาสรรค์ ให้ความสำคัญกับนักเรียนทุกคน จัดเวทีระดับโรงเรียนโดยเชิญผู้ปกครอง ปราชญ์หมอยา เพื่อนนักเรียนแกนนำจากโรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม และเชิญผมในฐานะนักวิชาการในพื้นที่ ไปร่วมสะท้อน ให้ความเห็น ต่อผลงานเด็กๆ ทุกคนเน้นย้ำตรงกันว่า ต้องเป็น "โครงงานเพื่อพัฒนาการเรียนรู้"

สำนักศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พยายามที่จะสร้าง LLEN มหาสารคาม โดยการจัดเวทีให้เด็กที่มีผลงานดีเด่นของแต่ละโรงเรียน เข้ามาร่วมแสดงผลงาน เสียดายที่ถึงตอนนี้ เราก็ยังคงไม่สามารถจัดให้มีได้อย่างต่อเนื่อง...

เวทีระดับประเทศที่ครูทุกคนรู้จักดีคือ งานศิลปะหัตถกรรมประจำปี ของ สพฐ. ถือเป็นมหกรรมการแข่งขันและนำเสนอผลงานของเด็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ ... ผมคิดว่าควรจะมีต่อไป แต่ต้องเปลี่ยนมุมมองของครูใหม่ให้ได้ ต้องไม่ใช่ "แข่ง คัด ตัด เตรียม" แบบเดิม

สำหรับเวทีระดับโลกหรือระดับอาเซียน ครูเพ็ญบอกว่า ต้องใฝ่รู้ เรียนรู้ และเขียนภาษาอังกฤษให้ได้ดี และคอยสืบค้นว่า ที่ไหนมีการจัดเวทีเปิดโอกาส เพื่อเขียนเรื่องเล่าหรือประสบการณ์ ผลงาน ตามแบบฟอร์มที่เขาประกาศ ซึ่งแน่นอนว่า ต้องเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น .... รายละเอียดคงต้องไปคุยกับครูเพ็ญศรี กานุมาร ที่เฟสบุ๊คนี้ครับ Koko.Loso

  • งานเปิดโลกกิจกรรม เวทีที่นักเรียนทุกคนได้นำเสนอผลงานของตนเอง



  • เวทีระหว่างโรงเรียน ที่จัดโดยเครือข่าย LLEN มหาสารคาม นักเรียนแกนนำที่มีผลงานเด่น จากแต่ละโรงเรียนได้มาแลกเปลียนเรียนรู้กัน



  • ครูเพื่อศิษย์ในพื้นที่ นำประสบการณ์ดีๆ มาแลกเปลี่ยนกันประจำปี เรียกว่า "PLC มหาสารคาม"


  • ความภาคภูมิใจของโรงเรียนนาสีนวนพิทยาสรรค์ (อ่านรายละเอียดในเรื่องเล่าของครูเพ็ญศรี กานุมาร ได้ที่นี่ครับ)




หมายเลขบันทึก: 586017เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2015 02:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2015 02:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท