ที่มาของ “ยุทธศาสตร์ด้านวิจัย มน.”


         ผมเคยเล่าเรื่องเกี่ยวกับวาระแจ้งเพื่อทราบ และเอกสารหน้าเดียว ของท่านอดีตนายกสภามหาวิทยาลัยนเรศวร (ฯพณฯ องคมนตรี ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย) มาครั้งหนึ่งแล้ว <Link>

         เมื่อวันเสาร์ที่ 27 กันยายน 2546 มีการประชุมสภามหาวิทยาลัยนเรศวร ครั้งที่ 109 (5/2546) ในครั้งนั้นตัวผมเองไม่ได้เข้าร่วมประชุม ผม (ขณะนั้นยังเป็นผู้ช่วยอธิการบดีด้าน QA) มาทราบภายหลังจากหนังสือเวียนแจ้งมติคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 24/2546 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2546 ที่ มีมติ รับทราบ และขอให้ทุกหน่วยงานนำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

         เนื้อหาที่ผมรับทราบครั้งนั้น เป็นเอกสารหน้าเดียว เป็นเรื่อง “ยุทธศาสตร์ด้านวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร” ที่ท่านอดีตนายกสภามหาวิทยาลัยได้มอบให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัย นำไปดำเนินการเมื่อมีการประชุมสภามหาวิทยาลัยในวันที่ 27 กันยายน 2546

         ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2547 ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองอธิการบดี (วิจัย + QA) ผมก็ได้นำเอาเอกสารหน้าเดียวนี้ มาประชุมระดมความคิดเห็น เพื่อช่วยกันหาแนวทางนำไปสู่การปฏิบัติ ได้ออกมาเป็นเอกสารปกแดง (ร่าง) นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร (2547 – 2550) ซึ่งผมได้นำกลับไปขอความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยในคราวที่ประชุมครั้งที่ 112 (2/2547) เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2547 ก่อนที่จะนำมาใช้เป็นแนวทางในการบริหารงานวิจัยวิจัยจนถึงปัจจุบัน

         เนื้อหาของเอกสารหน้าเดียวที่ผมเล่าถึงเป็นดังนี้ครับ

         "ยุทธศาสตร์ด้านวิจัยของมหาวิทยาลัย

         เป้าหมายหลัก เพื่อพัฒนาให้เป็น “มหาวิทยาลัยวิจัย” ภายในปี พ.ศ. 2549

         ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยกระดับและปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการบริหารจัดการงานวิจัย
                  แผนปฏิบัติ 1.1 โครงสร้างพื้นฐานระดับมหาวิทยาลัย
                  แผนปฏิบัติ 1.2 โครงสร้างพื้นฐานระดับคณะและหน่วยงานเทียบเท่าคณะ

         ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาความพร้อมของปัจจัยด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนงานวิจัย

                  แผนปฏิบัติ 2.1 ระบบงบประมาณเพื่อการบริหารจัดการงานวิจัยและเพื่อทำวิจัย
                  แผนปฏิบัติ 2.2 พัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานนอกมหาวิทยาลัย ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

         ยุทธศาสตร์ที่ 3 สนับสนุนให้อาจารย์ทุกคนทำวิจัย

                  แผนปฏิบัติ 3.1 พัฒนาทักษะวิจัยสำหรับอาจารย์ที่ยังไม่เคยทำวิจัย
                  
แผนปฏิบัติ 3.2 สนับสนุนอาจารย์ที่เคยทำวิจัยแล้ว เพื่อหาแหล่งทุนวิจัยโดยเฉพาะแหล่งทุนภายในประเทศ
                  แผนปฏิบัติ 3.3 สนับสนุนอาจารย์ที่พร้อมจะขอแหล่งทุนวิจัยจากต่างประเทศ

         ยุทธศาสตร์ที่ 4 กำหนดให้นักศึกษาทุกหลักสูตรทำการศึกษา/วิจัย โดยให้เป็นเงื่อนไขสำหรับการสำเร็จ การศึกษา

                  แผนปฏิบัติ 4.1 พัฒนาทักษะเพื่อการศึกษา/วิจัย สำหรับนักศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี
                  แผนปฏิบัติ 4.2 พัฒนาทักษะเพื่อการศึกษา/วิจัย สำหรับนักศึกษาหลักสูตรบัณฑิตศึกษา

         ยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมให้ข้าราชการ/พนักงาน (ที่มิใช่อาจารย์) ทำการศึกษา/วิจัย เพื่อพัฒนางาน

                  แผนปฏิบัติ 5.1 กำหนดให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานระดับคณะหรือเทียบเท่ามีการวิจัยสถาบันเพื่อพัฒนาระบบงาน โครงสร้าง และนโยบาย อย่างต่อเนื่อง
                  แผนปฏิบัติ 5.2 พัฒนาทักษะเพื่อการศึกษา/วิจัยสำหรับข้าราชการ/พนักงานเพื่อพัฒนาคุณภาพงานหรือเพื่อแก้ไขปัญหางาน

         ยุทธศาสตร์ที่ 6 กลไกความรับผิดชอบ (responsibility) และรับผิดรับชอบ (accountability)

                  แผนปฏิบัติ 6.1 ให้อธิการบดีรับผิดชอบให้มีระบบบริหารงานวิจัยระดับมหาวิทยาลัยเพื่อสั่งการ กำกับติดตาม ประสานงานและรายงานผลต่อสภามหาวิทยาลัยทุก 6 เดือน
                  แผนปฏิบัติ 6.2 ให้คณบดีหรือผู้อำนวยการรับผิดชอบให้มีการปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ด้านวิจัยของคณะ/หน่วยงาน และรับผิดรับชอบต่ออธิการบดี"

         วิบูลย์  วัฒนาธร


 

หมายเลขบันทึก: 5857เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2005 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 15:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท