ในความแตกต่างมีความเหมือน : UKM-๘ vs กาดนัดของดี..คนลุ่มน้ำกวง.


อ.มาลินี ก็ได้บอกกับทีมว่า “ไม่เคยอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน..แต่ก็ไม่ทราบว่าตัวเองพูดได้อย่างไร”

              การประชุม UKM ครั้งที่ ๘ ที่จัดขึ้นในวันที่ ๓-๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ณ โรงแรมไพลิน จังหวัดสุโขทัย   ซึ่งจัดโดย ทีมงานจากมหาวิทยาลัยนเรศวร.......มีหลายท่านได้เล่าบรรยากาศและความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมการประชุมนี้ด้วยมุมมองต่างๆ กันแล้ว.......เนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วก่อนที่ดิฉันจะเข้าร่วมงาน UKM–๘ นี้..วันที่ ๓๐-๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ ดิฉันได้เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ใช้กระบวนการ KM   “กาดนัดของดี..คนลุ่มน้ำกวง” ที่จัดโดย สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) จัดขึ้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ (ดิฉันได้เล่าไว้ใน http://gotoknow.org/blog/uraiman/57062)

            ทั้ง ๒ เวที ดิฉันได้เข้าร่วมเรียนรู้กระบวนการโดยพยายามทำตัวแทรกซึมให้เหมือนเป็นหนึ่งในทีมงาน....ทำให้ดิฉันได้เห็น ได้เรียนรู้กระบวนการดำเนินงานตั้งแต่ เหตุผลและวิธีคิด ในการตั้งเป้าหมาย  การลำดับกระบวนการก่อน-หลัง รวมถึงการแก้สถานการณ์เฉพาะหน้า .......ประกอบกับการได้ฟัง อ.วิจารณ์ บรรยายเรื่อง องค์กร Chaordic ในการประชุม UKM-๘ ........จึงอยากสะท้อนความคิดและความรู้สึกในมุมมองของดิฉันเองที่เกี่ยวกับการทำงานแบบ Chaordic ของทั้ง ๒ เวที ดังกล่าวนี้

               การประชุม UKM-๘ และ เวที “กาดนัดของดี..คนลุ่มน้ำกวง”  ในสิ่งที่ดิฉันสัมผัส..ดิฉันเห็นว่าทั้ง ๒ เวที มีความแตกต่างกันอาจกล่าวได้ว่า “แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง” แต่กลับมีบางอย่างที่ “เหมือนกันอย่างน่าประหลาด” ....
 

              แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง


           เวที “กาดนัดของดี..คนลุ่มน้ำกวง” ผู้เข้าร่วมเป็นชาวบ้าน  สถานที่จัดคือโรงแรม สวนบัว รีสอร์ท แอนด์ สปา....แต่การประชุมนี้ให้ผู้เข้าร่วม นั่งพื้น ทั้งหมด  การร่วมระดมความคิด ลปรร. สามารถนั่งหรือนอนคิดได้  ผู้เข้าร่วมพูดภาษาเหนือกันทุกคน...ทั้งวิทยากรยกเว้นวิทยากรบางท่านที่พูดเหนือไม่ได้   ไม่มีกำหนดการตายตัว......เป็นงานระดับชาวบ้าน  ผู้เข้าร่วมประมาณ ๓๐ คน


             การประชุม UKM-๘ ผู้เข้าร่วมมีทั้ง ผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากร ในมหาวิทยาลัย....การประชุมมีโต๊ะ มีเก้าอี้ มีคอมพิวเตอร์ มีอุปกรณ์ ทุกอย่างเพียบพร้อม  มีการจัดเตรียมกำหนดการและลำดับวิทยากรไว้เป็นอย่างดี.........เป็นงานใหญ่ระหว่างมหาวิทยาลัย มีผู้เข้าร่วมประมาณ ๑๐๐ คน

 

 

    

              ความแตกต่างที่เขียนมานี้ คือ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายหรือผู้เข้าร่วมแตกต่างกัน...มีบริบทและความคุ้นชินที่ต่างกัน..รูปแบบการจัดงานจึงแตกต่างกัน

            

              เหมือนกันอย่างน่าประหลาด


             ทั้ง ๒ เวที มีหัวเรือใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางของทีมงานที่สร้างความกระจ่างให้ทีมงานทุกคนทราบวัตถุประสงค์ เหตุผล ของกระบวนการทุกอย่างของการจัดงาน......เน้นหน้าที่หลักของ ทีมงาน ว่าเป็นการเรียนรู้ เป็นประโยชน์ในการฝึกและพัฒนาตัวเอง..ฝึกมองเชื่อมโยงให้รอบด้าน...ไม่ใช่เป็นการทำงานเพียงแค่เสร็จแล้ว


              จากที่เขียนไว้   เวที  กาดนัดของดีฯ ไม่มีกำหนดการตายตัวนั้น..ใช่ว่าไม่มีกำหนดการเลย..แต่เป็นการวางลำดับขั้นตอนการจัดเวทีคร่าวๆ  ซึ่งทีมงานรู้กระบวนการเหล่านั้น แต่เพื่อความยืดหยุ่นตามสถานการณ์จริงไม่อยากระบุจนชัดเจนเพราะชาวบ้านจะยึดติดกับเวลาที่ต้องตรงตามที่เขียนไว้ในกำหนดการ  แต่เบื้องหลังคือทีมงานทุกคนมีการเตรียมพร้อมเป็นอย่างดี.........ในขณะที่การประชุม UKM มีกำหนดการและวางตัววิทยากรไว้ชัดเจนเพราะเป็นงานใหญ่ทุกอย่างต้องพร้อมที่สุดทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง   เพราะเมื่อสถานการณ์จริงมีการเปลี่ยนแปลง ทีมงานจะทราบว่าอะไรที่เปลี่ยนแปลงและสามารถปรับแก้อย่างไรโดยนำสิ่งที่เตรียมพร้อมไว้นั้นมาแก้ไข


            การเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์จริง...กำหนดการที่เปลี่ยนไป....ทีมงานที่ผ่านประสบการณ์ผ่านการฝึกฝน..จะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ทั้ง ๒ เวที ทีมงานสามารถ “ด้นสด” ได้  คือ เมื่อถูกกำหนดให้พูด ณ ขณะนั้น  ซึ่งเกินคาดหมายว่าต้องพูด  ทีมงานก็สามารถพูดได้ดี...ขอยกตัวอย่างจาก งาน UKM-๘   อ.มาลินี ธนารูณ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการหลัก (ได้เขียนเล่าไว้ใน http://gotoknow.org/blog/9nuqa/57820)  จากการพูดคุยกับ อ.มาลินี  อาจารย์เป็นคนที่ทุกอย่างต้องพร้อม หากมีการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เตรียมมาแล้วจะรู้สึกไม่ดี เพราะเกรงว่าจะไม่ได้ตามเป้าที่เตรียมไว้  และการประชุม UKM ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่กำหนดการเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามกำหนดการ เนื่องด้วยเหตุสุดวิสัย ตั้งแต่ผู้เปิดงานมาไม่ได้  วิทยากรมาไม่ทัน วิทยากรไม่พูดตามกำหนดการ เหล่านี้เป็นต้น ....ในทีมเบื้องหลังมีการแก้ไขปัญหาร่วมกันแต่ผู้ที่ต้องเผชิญอยู่หน้าเวทีใหญ่คือ อ.มาลินี ซึ่งอาจารย์ก็สามารถพูดและดำเนินรายการแบบ “ด้นสด” ได้เป็นอย่างดี......ดิฉันทราบภายหลังจากการ AAR ทีมงาน ซึ่ง อ.มาลินี ก็ได้บอกกับทีมว่า “ไม่เคยอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน..แต่ก็ไม่ทราบว่าตัวเองพูดได้อย่างไร”  ดิฉันก็ได้ ลปรร. ว่า อ.วิจารณ์ เคยบอกไว้ว่านี้เป็นการ “ด้นสด” คนที่ทำได้ต้องมีประสบการณ์มาเยอะ..ไม่ใช่ใครๆ ก็ทำได้   ….ซึ่ง อ.วิบูลย์ ก็ได้กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นและสิ่งที่เราทำระหว่างการจัดงาน UKM นี้  คือ การทำงานแบบ Chaordic อย่างที่ อ.วิจารณ์ ได้บรรยายไว้

              ความเหมือนอย่างประหลาด ในมุมมองของดิฉันก็คือ การมีหัวเรือใหญ่ซึ่งเป็นศูนย์กลางของทีมงานที่มีมุมมองกว้าง  มีทีมงานที่มีใจมาเป็นอันดับหนึ่ง  และความสามารถในเป็นการปรับเปลี่ยน ยืดหยุ่น แก้ไข แก้ปัญหา ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงได้เป็นอย่างดีซึ่งมาจากการเตรียมพร้อมและทุนเดิมคือประสบการณ์ของทีมงาน

 

 

หมายเลขบันทึก: 58563เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2006 23:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • อุสามารถถ่ายทอดสิ่งที่คนอ่านไม่ได้เจ้าร่วม  พร้อมเปรียบเทียบอย่างได้อารมณ์  และเห็นภาพชัดเจน
  • ในช่วง AAR ของทีมที่มีอุร่วมอยู่ในทีมเราด้วยอุได้นำคำกล่าวของท่านอาจารย์หมอวิจารณ์เกี่ยวกับการ "ด้นสด" ... มาถ่ายทอดให้กับอาจารย์มาลินีพร้อมๆ กับเราฟังในสถานการณ์จริงทำให้รู้สึกคล้ายๆ กับว่าทีม NUKM ได้เรียนรู้การทำงานโดยมีท่านอาจารย์หมอวิจารณ์และอาจารย์วิบูลย์เป็นครูค่ะ
  • ขอบคุณอุมากนะคะ ... ดีใจที่ได้เจอ ได้รู้จักกับอุที่ UKM 8 เพราะมิตรภาพจะไม่มีวันเสื่อมคลายค่ะ ...

เห็นดีเห็นงามตามน้องตูน จึงขอตอกย้ำด้วยคนนะคะว่า 

น้องอุ เป็นนักเล่าแบบเขียน โดยถ่ายทอด ตีความ เปรียบเทียบ วิเคราะห์ วิจารณ์ ได้สุดยอดจริงๆค่ะ

อีกทั้งน่ารัก กลมกลืนกับชาว มน.ผู้จัด ขยันดูดซับเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

ท่านอาจารย์วิจารณ์ช่างคัดสรรบุคลากร สคส. ได้ดี  มีคุณภาพทุกท่านทีเดียวเจียว 

 

 

 

เห็นข้อความของ ตูน และ อ.มาลินี แล้ว....ทำให้แอบปลื้มใจเล็กๆ....เพราะอุเป็นเด็กวิทย์ (หลายคนจะบอกว่าเด็กวิทย์เขียนหนังสือไม่ค่อยรู้เรื่อง) และก่อนที่จะทำงานที่ สคส. ก็ไม่ค่อยได้เขียนบรรยายหรือเล่าเรื่องราวโดยการเขียนมากเท่าไร.......ตัวเองจึงคิดอยู่เสมอว่าเป็นคนที่มีทักษะการเขียนไม่ดีเหมือนคนอื่นๆ.........แต่หลังจากทำงานที่ สคส. อ.วิจารณ์ ฝึกให้ทุกคนเขียน..บันทึก..บ่อยๆ......พอเขียนมากเข้าก็เริ่มมีคนบอกว่าเขียนสนุกดี.....แรกๆ ก็แปลกๆ พอหลายคนเข้า...ก็เริ่มให้กำลังใจตัวเองว่า...เอ..เราก็เขียนรู้เรื่องกับเค้าเหมือนกันนะเนี้ย............

ขอบคุณ อ.มาลินี และตูนมากนะคะ..สำหรับกำลังใจและมิตรภาพ....

ติดตามอ่านทีเดียวรวด ตั้งแต่บันทึกแรกของเดือนกรกฎาคม จนถึงบันทึกนี้ ขอยืนยันว่าคุณอุ เขียนได้ดีมาตั้งแต่แรกแล้วค่ะ แต่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามเวลา คือการวิเคราะห์สิ่งที่คิดออกมาเป็นตัวอักษรด้วย จากที่เคยเขียนเฉพาะสิ่งที่คิด เป็นพัฒนาการทางการเขียนที่พี่เองก็ได้เรียนรู้ว่า มันมากับการเขียนไปเรื่อยๆไม่หยุดค่ะ ขอบคุณสำหรับความคิดดีๆในหลายๆบันทึกที่ผ่านมา (ไม่ได้เขียนความเห็นไว้ แต่ชอบทุกความคิดและรายงานเลยค่ะ)

หวังว่าจะได้เจอตัวจริงที่ งานมหกรรมฯนะคะ

ขอบคุณคะ....แล้วพบกันวันงานมหกรรมฯ นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท