Mobile Unit ครั้งหน้า...ที่อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย


ทีมผู้ประสานงานได้เก็บข้อมูลเบื้องต้นของการเตรียมตัวออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ฯ ครั้งที่ 11/2549 มาฝากกันค่ะ

         และแล้ว...การออกให้บริการเคลื่อนที่ของหน่วยบริการเคลื่อนที่ฯ ในปี 2549  ณ จังหวัดสุโขทัยและจังหวัดตาก ใกล้จะสิ้นสุดลงทุกขณะ  หลังจากรอนแรมร่วมกันออกหน่วยฯ มาเกือบปี (เหลืออีก 2 เดือน)  แต่คงจะสิ้นสุดเพียงแค่ปีพุทธศักราชเท่านั้นเองค่ะ  เพราะการดำเนินกิจกรรมยังคงต่อเนื่องปีต่อปีเช่นเดิม 

         ในการออกให้บริการเคลื่อนที่ฯ ในปี 2550 นั้น  มหาวิทยาลัยพิจารณาแล้วเห็นควรเป็นมติเดียวกันว่าจะออกให้บริการ ณ จังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัดเพชรบูรณ์  เนื่องจากเป็นสองจังหวัดที่เราเคยออกให้บริการนานมาแล้วประจวบกับเป็นสองจังหวัดที่เพิ่งประสบอุทกภัยและโคลนถล่มมาหมาด ๆ น่าจะต้องการความช่วยเหลือในหลาย ๆ ด้านจากหลาย ๆ หน่วยงาน

         ทีมงานได้เล่าเรื่องราวของการออกหน่วยฯ ไปหลายต่อหลายครั้งแล้ว  แต่ยังไม่เคยกล่าวถึงเรื่องราวของการเตรียมการออกหน่วยฯ สักที  ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับคณาจารย์และเจ้าหน้าที่กว่า 70 ชีวิตที่กำลังจะเดินทางไปออกให้บริการในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2549 ณ โรงเรียนชัยมงคลพิทยา  ตำบลเขาแก้วศรีสมบูรณ์  อำเภอทุ่งเสลี่ยม  จังหวัดสุโขทัย

         ดิฉันได้รับทราบปัญหาและความต้องการหลักๆ ของพื้นที่จากการไปสำรวจและประชุมร่วมกับพื้นที่ในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา  เมื่อได้ความต้องการหลักของพื้นที่มาแล้ว  ทีมงานก็พยายามติดต่อไปยังคณะต่างๆ รวมไปถึงหน่วยงานอื่นๆ ภายในมหาวิทยาลัยว่าสามารถทำตามความต้องการของพื้นที่ได้หรือไม่  ทั้งนี้และทั้งนั้นดิฉันเห็นมาตลอดว่า  ไม่ว่าทางคณะจะติดงานหรือติดการสอนอย่างไร  ก็จะพยายามตอบสนองความต้องการของพื้นที่ให้ได้  ทำให้เป็นอีกหนึ่งกำลังใจที่ทางทีมงานรู้สึกเหมือนมีแรงผลักดันให้ทำงานกันต่อไปอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเช่นเดียวกับอาจารย์และเจ้าหน้าที่หลายๆ ท่านที่ได้ร่วมออกให้บริการกับหน่วยบริการเคลื่อนที่ฯ อย่างชนิดที่ต้องเรียกว่า "แฟนพันธุ์แท้"

         ตายจริง  นี่ดิฉันกล่าวนอกเรื่องออกไปไกลเลยนะคะ  คงต้องรีบชักใบกลับเข้าทางซะที  ว่าด้วยเรื่องของการเตรียมตัวออกหน่วยฯ ในครั้งนี้  หากท่านใดเตรียมสะพายกระเป๋าและอุปกรณ์จะเดินทางร่วมไปกับเรา  กรุณารับทราบข้อมูลเบื้องต้นไว้ดังนี้ค่ะ

         ความต้องการหลักของพื้นที่

  1. ต้องการเรียนรู้และดูสาธิตการใช้ลูกประคบสมุนไพรและศึกษาประโยชน์ของลูกประคบ ------> ได้รับความอนุเคราะห์จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ โดยท่านอาจารย์วัชรี  ศรีทอง รับปากที่จะไปเป็นวิทยากรสอนให้ครบกระบวนการของลูกประคบ
  2. ต้องการเรียนรู้กฎหมายอย่างง่ายที่สามารถนำเอามาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้  ซึ่งทางพื้นที่แจ้งว่าจะขนผู้ใหญ่บ้านทั้ง 11 หมู่บ้านมาทำการเรียนรู้ ในยามเกิดคดีความของลูกบ้านขึ้นมาจริงๆ ก็สามารถที่จะหยิบยกเอาข้อกฎหมายง่ายๆ เหล่านี้มาแนะนำลูกบ้านต่อได้เลย -------> ได้รับการตอบรับช่วยเหลือจากคณะนิติศาสตร์เป็นที่เรียบร้อยแล้วค่ะ
  3. ต้องการเรียนรู้การทำบัญชีอย่างง่าย  เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น -------> คณะวิทยาการจัดการจัดให้ค่ะ
  4. การค้นหาปัญหาที่แท้จริงของชุมชน -------> นำทีมโดยคณะพยาบาลศาสตร์ และคณะต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย
  5. การแก้ไขปัญหาเยาวชนประพฤติไม่ถูกไม่ควร และทางพื้นที่เสนอให้อยากจะมีการจัดอบรมเยาวชนของทั้งอำเภอ------->  กองกิจการนิสิตรับไปพิจารณาแต่ยังไม่ได้ให้คำตอบค่ะ
  6. และความต้องการด้านอื่นๆ ซึ่งทางทีมงานไม่สามารถนำมาลงได้หมด  เพราะเยอะจริงๆ ค่ะ  แต่ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังแต่ละคณะหลังวันสำรวจแล้ว

          โบนัสแถมจากมหาวิทยาลัย (นอกเหนือจากการให้บริการประจำ)

  1. คณะวิทยาศาสตร์นำทีมโดยท่านอาจารย์วิจิตร อุดอ้าย นำชุดการสาธิตการผลิตไบโอดีเซล มาสาธิตให้กับประชาชนที่สนใจได้เรียนรู้กัน  เนื่องจากพื้นที่จังหวัดสุโขทัยเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชพลังงาน  และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง

          ที่ดิฉันกล่าวมาข้างต้น  เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมการให้บริการเท่านั้น  แต่ยังมีกิจกรรมอีกมากมายจากทุกคณะภายในมหาวิทยาลัยที่จะนำไปให้บริการในวันที่ออกให้บริการจริง  เรียกได้ว่าครบทุกคณะค่ะ

          สุดท้ายคงต้องขอบคุณความร่วมแรงร่วมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของแต่ละคณะภายในมหาวิทยาลัยนเรศวรของเรา  ดิฉันก็ได้แต่หวังว่ากิจกรรมดีๆ แบบนี้จะยังคงสภาพความเหนียวแน่นไว้ตราบนานเท่านาน

         สุดท้ายของสุดท้าย  ดิฉันลืมบอกไปว่าในครั้งนี้ท่านอธิการบดีให้เกียติไปร่วมงานกับเราชาวโมบายด้วยนะคะ

บรรยากาศอบอุ่นระหว่างการประชุมร่วมกับผู้นำชุมชนเขาแก้วศรีสมบูรณ์

           นั่นแน่....โฉมหน้าทีมงานจากทางมหาวิทยาลัย ขอเอ่ยนามนิดนึงนะคะ  เรียงจาก คุณบุญเลิศ  จันทร์เพชร (คณะศึกษาศาสตร์), คุณจันดี  ปัญญา (กองกิจการนิสิต), คุณชาญวิทย์  ยาสมุทร (กองกิจการนิสิต), อาจารย์อนุชิต  สุริยงค์ (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์), คุณเอมอร สารเถื่อนแก้ว (สถาบันคลินิคเทคโนโลยี), คุณรวงรัตน์  สิงห์โต (โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร), คุณอัจฉรียา นวลกลาง (สถาบันบริหารการวิจัยและพัฒนา) และดิฉัน (ซึ่งไม่มีอยู่ในรูป)

ท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาแก้วศรีสมบูรณ์กำลังอธิบายข้อมูลเบื้องต้นของตำบล

สามสตรีผู้นำหลักของชุมชน

 ตัวแทนจากกลุ่มแม่บ้านและ อสม. ทุกๆ หมู่บ้านก็มากันพร้อมหน้า

 ตัวแทนจากผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเขต 2 ของจังหวัดสุโขทัย กำลังบอกถึงปัญหาทางด้านการเรียนการสอนของพื้นที่

อาหารกลางวันแสนเอร็ดอร่อย ซึ่งทางพื้นที่กรุณาจัดเตรียมไว้ให้

อาคารกิจกรรม ซึ่งจะเป็นที่ตั้งหลักของคณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะเกษตรศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์ และคลินิคเทคโนโลยี

อาคารโรงอาหารสถานที่รับประทานอาหารในวันออกให้บริการจริง

ร่องรอยน้ำท่วมซึ่งเพิ่งจะผ่านพ้นไปหมาดๆ

สามสาวทีมงานผู้สำรวจพื้นที่กำลังจดบันทึกรายละเอียดต่างๆ ของพื้นที่อย่างเพริดเพลิน

 

เบื้องหลังอาคารก่อนแปลงโฉมเป็นที่ตั้งของคณะสหเวชศาสตร์ในวันออกให้บริการจริง

พื้นที่โล่งๆ แบบนี้ คณะเภสัชศาสตร์ขอจอง

ในวันนี้อาจจะมองดูรกๆ แต่ในวันที่ออกให้บริการห้องนี้จะคราคร่ำไปด้วยทันตแพทย์ 7 ท่านและเจ้าหน้าที่อีก 5 ท่านด้วยกัน

ห้องนี้สำหรับคณะแพทยศาสตร์ใช้สำหรับตรวจวัดผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานขึ้นตา

อาจารย์ประจำโรงเรียนชัยมงคลพิทยา  สองท่านนี้ให้ความอนุเคราะห์กับทางทีมงานเป็นอย่างสูงในการนำพาทีมงานไปดูสถานที่ในฐานะเจ้าบ้านที่น่ารัก

หมายเหตุ : สาเหตุที่มองดูแล้วเหมือนห้องรกๆ ไปหน่อยไม่ใช่เพราะอะไรอื่นนะคะ  แต่เป็นเพราะอยู่ในช่วงที่เด็กปิดเทอมนั่นเองค่ะ และสถานที่ที่นำมาแสดงให้เห็นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น  สำหรับสถานที่ทั้งหมดจะนำเสนอในที่ประชุมประจำเดือนในวันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน 2549 นี้ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 58518เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2006 20:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
Mobile unit เราดูมีชีวิตชีวา ดูมีคุณค่ามีความสำคัญมากขึ้นมากก็ด้วยการทำงานแบบใช้ใจทำแบบที่วิภาและทีมงาน (ตราสามแม่ครัว-ผมเห็นรูป 3 สาวนี้เป็นประจำ) กำลังทำอยู่นี่แหละ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกใช่ไหมที่นำเอาเรื่องผลการสำรวจพื้นที่มาลง blog ปกติจะมีแต่ตอนกลับมาแล้วมารายงาน นับเป็นเรื่องที่ดีมากเลยครับ อยากให้มีเป็นประจำ อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะขอให้ช่วยสนใจเป็นพิเศษหน่อยก็ตรง AAR ที่เกี่ยวกับผลสืบเนื่องที่มีมาถึงเรื่องการวิจัย การเรียนการสอน และการบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยที่ควรจะปรับปรุงหรือให้ความสนใจในอนาคต ขอขอบคุณทีมงานทุกคนอีกครั้งครับ
  • ขอบคุณแอ๋วในการถ่ายทอดสิ่งดีดีให้เราที่ไม่ได้ไปได้ทราบไปด้วยค่ะ 
  • ทุกบันทึกเกี่ยวกับ Mobile unit ของแอ๊วน่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นความอยากไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมดีดีแบบนี้ของคน มน. นะคะ (อย่างน้อยก็คนใน QAU ค่ะ)
วิภา เพิ่มผลนิรันดร์
  • ขอบพระคุณอาจารย์วิบูลย์สำหรับคำแนะนำดีๆ ค่ะ  ทางทีมงานทุกคนรับทราบและจะปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างสุดความสามารถค่ะ
  • ขอบพระคุณพี่ตูนด้วยเช่นกัน เอ๋...อย่างงี้เห็นทีคงต้องชวนพี่ๆ จากหน่วยประกันไปออกหน่วยฯ ด้วยกันซะแล้ว อิอิ ทริปหน้าเลยดีมั๊ยคะ ^^
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท