3 ยุทธศาสตร์ - 4 นโยาย "พม." ฝันถึง "สังคมไทยไม่ทอดทิ้งกัน"


            (ข่าวการประกาศยุทธศาสตร์สังคมแห่งชาติ ในเวทีเสวนายุทธศาสตร์สังคมแห่งชาติ ณ สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ลงใน นสพ. มติชน ฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 หน้า 2)

                รัฐบาลมีเจตจำนงและนโยบายในการบริหารประเทศที่ชัดเจน ภายใต้ระยะเวลาอันจำกัด ในอันที่จะนำพาประเทศไปสู่สังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน เป็นสังคมที่เข้มแข็ง คนในชาติมีความสมานฉันท์อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันบนพื้นฐานคุณธรรม ซึ่งสังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันนั้นประกอบด้วยหลัก 8 ประการ คือ

                1.เป็นสังคมที่มีน้ำใจไม่ทอดทิ้งกัน

                2.มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง พออยู่พอกิน พึ่งตนเองได้ เติบโตบนฐานที่แข็งแรงมีดุลยภาพและยั่งยืน

                3.มีการกระจายและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม และยั่งยืน

               4.มีการเคารพศักดิ์ศรี และคุณค่าความเป็นคนของทุกคนอย่างเท่าเทียม อันเป็นรากฐานสิทธิมนุษยชน และรากฐานประชาธิปไตยที่จะนำไปสู่ความชื่นชมยินดี ร่วมมือกันสร้างสรรค์ทำความดีอย่างมีพลังและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

                5.มีความเป็นธรรมทางสังคมภายใต้การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคน รวมถึงความเป็นธรรมทางกฎหมายและเศรษฐกิจ

                6.เป็นสังคมที่มีสันติภาพ โดยสนับสนุนให้คนมีสมรรถนะในการแก้ไขความขัดแย้งในทุกระดับด้วยแนวทางสันติวิธี

               7.เป็นสังคมที่ผู้คนมีการพัฒนาจิตใจสูงขึ้น เห็นแก่ความสุขและประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

               8.เป็นสังคมที่ชุมชนท้องถิ่นและประชาสัมคมมีความเข้มแข็ง อันจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาทั้ง 7 ประการ ข้างต้นเกิดขึ้นอย่างบูรณาการ

                จากเจตจำนงเพื่อสังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ดังกล่าว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านสังคม 3 ประการ ด้วยกันคือ

                1.ยุทธศาสตร์สังคมไทยไม่ทอดทิ้งกัน โดยสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างประชาชนและองค์กรต่างๆ ในทุกตำบล ในการดูแลผู้ด้อยโอกาส ผู้ถูกทอดทิ้ง ในตำบลของตนเอง โดยในระยะสั้นเพื่อถวายความดีเป็นปฏิบัติบูชาต่อพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสครองราชย์ครบ 60 ปี และเป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีต่อการร่วมกันสร้างสังคมเอื้ออาทร คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน ในระยะยาว ทั้งยามปกติและเกิดภัยพิบัติ โดยรัฐสนับสนุนให้เกิดระบบสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง และการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาสังคมที่เข้มแข็ง เป็นต้น

                2.ยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็ง โดยส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวขององค์กรชุมชนประชาสังคมและองค์กรท้องถิ่น เพื่อร่วมคิดร่วมทำ จัดทำแผนเพื่อพัฒนาไปสู่ความเข้มแข็ง พึ่งตนเองและจัดการกับปัญหาของตนเองได้ในทุกเรื่อง ทุกระดับ เช่น การช่วยเหลือผู้ถูกทอดทิ้ง การสร้างระบบเศรษฐกิจชุมชนแบบพอเพียง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม สุขภาพชุมชน เป็นต้น

                ยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็งจะบรรลุผลได้ นอกจากภาครัฐจะสนับสนุนให้ภาคชุมชน ประชาสังคมและองค์กรท้องถิ่นได้ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาของตนเองแล้ว ยังจะต้องสนับสนุนให้เกิดพระราชบัญญัติที่จำเป็นต่อการพัฒนาของภาคประชาชน เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น

                3.ยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม โดยทำให้คุณธรรมเป็นพื้นฐานของผู้คนในสังคม ทำให้ความดีความงามอยู่ทั้งในความรู้สึกนึกคิด และการปฏิบัติเป็นปกติของคนในสังคม ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วทั้ง 2 ยุทธศาสตร์ข้างต้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมคุณธรรมนั่นเอง

                จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 ประการดังกล่าว เป็นยุทธศาสตร์ร่วมด้านสังคมปกติ ที่เป็นหน้าที่ของทุกองค์กรในประเทศจะต้องร่วมกัน โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงให้ทุกองค์กรมาทำงานร่วมกัน

                นอกจากยุทธศาสตร์หลัก 3 ประการแล้ว ในภาวะที่ประเทศกำลังประสบปัญหาอย่างรอบด้านทั้งภัยธรรมชาติ ปัญหาสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ จึงมีนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงอีก 4 ประการ ที่จะต้องเร่งดำเนินการควบคู่กันไป คือ

                1.การสร้างสังคมสมานฉันท์ โดยรณรงค์สังคมไทยไม่ทอดทิ้งให้ อบต.(องค์การบริหารส่วนตำบล) และชุมชนทั้งประเทศมาร่วมกันดูแลผู้ด้อยโอกาสในแต่ละตำบล เพื่อเป็นความดีถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามที่ได้กล่าวแล้วในนโยบายหลักข้างต้น ตลอดจนการมีคลีนิคยุติธรรมจังหวัด การร่วมสร้างกระบวนการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี เป็นต้น

                2.การร่วมกันฟื้นฟูและพัฒนา 3 จังหวัดภาคใต้ โดยร่วมกับ ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) และหน่วยงานในกระทรวงเพื่อสนับสนุนให้เกิดการจัดทำแผนแม่บทชุมชนขึ้นในแต่ละท้องถิ่น และสนับสนุนให้เกิดการแก้ปัญหาโดยชุมชนเอง โดยรัฐสนับสนุนโครงการที่ประชาชนเป็นเจ้าของและเป็นที่ยอมรับแล้ว เช่น โครงการบ้านมั่นคง เป็นต้น

                3.การร่วมฟื้นฟูพัฒนาชุมชนที่ได้รับภัยพิบัติน้ำท่วม ทั้ง 46 จังหวัด เป็นการสนับสนุนให้ชุมชนและท้องถิ่นได้ร่วมกันจัดทำแผนฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยกระทรวงและหน่วยงานในสังกัดเป็นผู้สนับสนุนรวมทั้งจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาสาสมัครเพื่อสังคมทั้ง 46 จังหวัดขึ้น

                4.การสร้างสังคมคุณธรรม เริ่มจากกระทรวงและหน่วยงานในสังกัด โดยรณรงค์ให้เป็นหน่วยงานที่ซื่อสัตย์ ใสสะอาด มีจิตอาสาทำความดี ขยายไปสู่การสร้างเครือข่ายอาสาสมัครที่จะทำงานร่วมกับกระทรวงต่อไป

                จะเห็นได้ว่าทั้งยุทธศาสตร์หลัก 3 ประการ และนโยบายเร่งด่วน 4 ประการ มีความสอดคล้องและหนุนเสริมซึ่งกันและกัน เพียงแต่นโยบายเร่งด่วนจะยกเอาบางเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนขึ้นมาทำก่อน เพื่อบรรเทาและแก้ปัญหาสำคัญที่มีอยู่

                ทั้ง 3 ยุทธศาสตร์หลัก และ 4 นโยบายเร่งด่วน ในแต่ละยุทธศาสตร์ได้กำหนดระยะเวลาดำเนินงานให้เกิดผลภายใน 1 ปี รวมทั้งได้กำหนดจังหวะก้าวการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมร่วมกันดังนี้

                1.ในวันนี้จะเป็นการทำความเข้าใจนโยบายทางสังคมต่อสื่อมวลชน เพื่อรณรงค์วาระแห่งชาติสังคมไทยไม่ทอดทิ้งกัน และเปิดใจขอให้ประชาชนทั้งประเทศร่วมถวายความดีต่อพระองค์ท่านเข้าร่วมอาสาค้นหาและดูแล ผู้ถูกทอดทิ้ง ทุกตำบลพร้อมกันทั้งประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และขอความร่วมมือ อบต. เทศบาล ทุกตำบลส่งผลงาน และจัดทำแผนดูแลผู้ถูกทอดทิ้งต่อกระทรวง เพื่อสนับสนุนให้ทำความดีอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง

                2.ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2549 จะเชิญผู้นำสังคมไทยทุกภาคส่วนประมาณ 60 คนมาร่วมจุดประกาย ทิศทางปฏิบัติและพัฒนาสังคมไทย 

                3.ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549 จะจัดให้มีการประชุมสมัชชาประชาชนปฏิรูปและพัฒนาสังคมไทยจำนวน 999 คน จาก 76 จังหวัด เพื่อระดมความเห็นในสาระสำคัญของ "แผนแม่บทพัฒนาสังคมแห่งชาติ" ที่จะนำไปเผยแพร่และรับฟังความเห็นเพิ่มเติมจากประชาชนใน 76 จังหวัด

                การจัดทำแผนและยุทธศาสตร์ด้านสังคมดังกล่าว แม้ว่าจะตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อจำกัดด้านเวลาของการปฏิบัติ แต่เชื่อมั่นว่าหากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือจากสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นพลังอย่างสำคัญที่จะทำให้การปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ลุล่วงไปได้ อย่างน้อยๆ การพัฒนาสังคมก็จะมีทิศทางที่ชัดเจน ให้ผู้ที่จะมารับผิดชอบต่อไปได้นำไปสานต่อให้เกิดความต่อเนื่องและเห็นผลมากยิ่งขึ้นต่อไป

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

10 พ.ย. 49
คำสำคัญ (Tags): #รัฐมนตรี
หมายเลขบันทึก: 58511เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2006 19:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 11:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กราบเรียน  ท่านรัฐมนตรี

ยุทธศาสตร์ใดจะสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือที่มาจากใจที่อยากกระทำอย่างแท้จริง แต่หากว่าความร่วมมือนั้นเป็นแค่การตกลงเพียงแต่วาจาหรือลงนาม แต่ไม่สนับสนุนให้หน่วยงานย่อยทำงานแล้ว ก็ย่อมไม่ประสบความสำเร็จ  เพราะผู้ร่วมโครงการยุทธศาสตร์นั้นมีความเข้าใจว่า มิใช่งานของตน  มิใช่แม่งาน จึงทำให้โครงการยุทธศาสตร์ที่คิดไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ อีกทั้งหน่วยงานที่ร่วมยุทธศาสตร์กลับเป็นปัญหาเสียเองก็ทำให้ผู้ปฏิบัติงานยากลำบาก  และทำอะไรได้ยาก เพราะตนไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท