อ.แอม + อ.หนึ่ง กับการขยายเครือข่ายการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุเพื่อการดูแลระยะยาว


ประกายที่เกิดจากการเพิ่มพลังการทำงาน ใน การประชุมเชิงปฏิบัติการขยายเครือข่ายฟันเทียมพระราชทาน และการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ นำโดย อ.แอม (นิธิ อินทรธนู) และ อ.หนึ่ง (บุญสืบ พันธ์ประเสริฐ) ที่มาร่วมสร้างปฏิบัติการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุเพื่อการดูแลระยะยาว ให้กับกรมอนามัย

มีสาระที่อาจารย์ได้มอบให้กับที่ประชุม นำมาเล่าสู่กันฟังนะคะ

การทำงาน บางทีอาจคดเคี้ยว ลำบาก เพราะมีหลายคน แต่ยังเห็นกัน ดูปลายทางแล้วเห็นเครือข่ายที่เกิดขึ้น มาจูนทัศนคติกันในเบื้องต้นว่า เราไม่ได้ทำงานคนเดียว การสู้กัน ไม่ได้เรียกว่า มีใครแพ้ใครชนะ เรียกว่ามาเจอกัน แล้วดูว่ามีอะไรที่แลกเปลี่ยนกันได้ อาจจะต้องมีอีกฝ่ายหนึ่งยอมให้อีกฝ่ายหนึ่ง ต้องหาผู้นำ ผู้ตาม และผู้ที่ยอมตาม

กิจกรรมแบ่งปันความสุข

  • เล่าเรื่องที่ทําให้เราความสุขในชีวิต
  • เล่าเรื่องความสําเร็จ และภาคภาคภูมิใจ
  • เขียนเล่าเรื่องความสุขและความสําเร็จในงาน
  • สรุปความสุขรวมของกลุ่ม + ปัจจัยแห่งความสุข / ความสําเร็จ

มนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้ มี generation โดย generation หนึ่ง จะมีความต้องการ หรือเป้าหมายในชีวิตยุคหนึ่ง gen ปัจจุบัน คือ gen Y มักจะไม่ทำงานที่เป็นอาชีพประจำ เป้าหมายในชีวิตการ คือ การท้าทาย ต้องการเจออะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา ยุค gen Y เกิดตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๕, ๒๕๒๖ เป็นต้นไป ก่อนหน้านั้นคือ gen X เป็นความมั่นคงในชีวิต ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๕ ลงไป คือ งาน พิสูจน์ชีวิตตัวเองด้วยงานเท่านั้น ก่อน gen X เป็นยุค Baby Boomer ยุคพ่อแม่ของเรา

เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ใหม่ๆ ที่ได้รับการบรรจุ อายุ ๒๕, ๒๖ คือ gen Y เขามีเป้าหมาย และความต้องการในชีวิตที่แตกต่างโดยสิ้นเชิง พี่ที่ทำงานในระดับหนึ่งแล้ว คือ gen x หรือ gen ยุค Baby Boomer ที่พ่อแม่มีลูกที ๑๐ คน เพราะสมัยก่อนการเกษตรสำคัญ ต้องการคนช่วยทำสวน ยุคนั้นจะเป็นยุคที่มีเป้าหมาย คือ ต้องขยันเท่านั้น ความขยันเป็นบ่อเกิดแห่งความสำเร็จ แต่ยุค gen Y ความขยันอาจจะไม่ใช่บ่อเกิดแห่งความสำเร็จ ทำงานน้อยแต่ได้ประสิทธิภาพมาก เป็นสิ่งที่ดี งานที่หนักเป็นงานที่ไม่อยากทำ เขาพยายามหาวิธีที่ฉลาด ทำงานน้อยแต่ได้ประสิทธิภาพ เป็นวิธีคิดที่แตกต่างกันในวัยที่แตกต่างกัน ฉะนั้น งานที่แตกต่างกัน เวลามาเจอกันระหว่างคนที่มีพื้นฐานของความเป็นมาของวัยที่แตกต่างกันจึงเกิดความไม่เข้าใจกันบางประการ

พูดถึงเรื่องปัญหา คิดว่าจะพูดได้มากมาย เราจะพูดเรื่องความสุข ความสุขของผู้สูงอายุโดยภาพรวมที่ประมวลได้ คือ การได้อยู่พร้อมหน้าเป็นครอบครัว มีลูกหลาน ได้ทำงาน แบ่งปันความสุขของตัวเองให้เพื่อนรุ่นเดียวกัน บางท่านรู้สึกว่าเป็นผู้สูงวัยแล้ว จะมีความมั่นคงทางจิตในบางอย่าง ดีมาก ถ้าเอาเรื่องศาสนา หรือสิ่งที่นับถือเชื่อถือมาปลอบประโลมใจทำตามความเชื่อนั้น ไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนา หรือต่างศาสนา อันนี้คือความสุข

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ ผู้สูงอายุสนุก การมีเพื่อนร่วมงานที่ดี เวลาทำอะไรด้วยกัน เวลาอยู่ด้วยกัน ดูสนุกดี การมีอุดมการณ์ในการทำงาน ให้เราดูแลชุมชน หลายท่านที่เป็นประธานผู้สูงอายุเคยเป็นข้าราชการมาก่อน หลายท่านเป็นคุณครูมีศักยภาพมีเครือข่ายในชุมชนที่จะขับเคลื่อน หลายท่านไม่ได้เป็นอะไรมาก่อนแต่สนใจงานชุมชนแบบนี้ แล้วลุกขึ้นมาทำเป็นอาสาสมัคร ปัจจัยแห่งความสำเร็จอีกสิ่งหนึ่ง คือ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องกินข้าว เราสามารถทำงานงานหนึ่งได้ฟรี เพียงเราไปขออันนั้นอันนี้ แต่มันมีบางอันที่รู้สึกว่า เงิน สักนิด จะทำให้งานนั้นราบรื่น เป็นตัวหล่อลื่น และเรื่องการได้รับความสนับสนุนก็ดี ทั้งจากเจ้าหน้าที่ รพ.สต. สสจ. โรงพยาบาล หรือหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ในชุมชน

โมเดลที่น่าสนใจมาก คือ โมเดลสร้าง active citizen คือ การสร้างพลเมือง ทุกคนมีสิทธิเท่ากันที่จะลุกขึ้นมาดูแลกันเองในชุมชนเล็กๆ ก่อนส่งต่อในระดับจังหวัด ระดับภาค หรือในระดับประเทศ ต่อไปประเทศไทย อาจจะต้องพูดเรื่อง active citizen อย่ารอเป็นผู้รับอย่างเดียว เรามีมือมีเท้า ให้กันได้

ผู้สูงอายุสะท้อนปัจจัยที่ทำให้สำเร็จ คือ การได้รับความช่วยเหลือ จาก รพ.สต. จะเห็นว่าอายุต่าง โดยงานที่เราทำเป็นงานผู้สูงอายุ คนที่ทำงานในหน่วยที่ย่อยอย่าง รพ.สต. เป็นเด็ก เขายังต้อง set ชีวิต สิ่งที่สะท้อนในความสุขของผู้สูงอายุเป็นความสุขที่ได้เห็นลูกเห็นหลาน พี่บางท่านทำงานหลายปี บางท่านเพิ่งเริ่มทำงาน ความสุขก็จะอยู่ที่เรื่องครอบครัว การได้งานทำ ความก้าวหน้า ผู้สูงอายุก็อาจเป็นความก้าวหน้าชุมชน รพ.สต. งานที่เขาทำก็เผชิญกับหลายปัญหา บางอันไม่ใช่งานในภาระรับผิดชอบแต่งานมันงอกขึ้นมา เราจะจัดการอย่างไร ปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ การมีทีมที่ดี การยอมรับจากพ่อแม่พี่น้องในชุมชน มีเพื่อนร่วมงานที่ดี มีความต่อเนื่อง บางท่านทำงานในชุมชนแล้วทำอย่างต่อเนื่อง มีเรื่องของตัวเองที่ได้รู้สึกว่า มีแรงจูงใจในผลสัมฤทธิ์ของตนเองว่า เราอยากทำงานนี้ และมีความสุขกับการได้ทำงานผู้สูงอายุ

หน่วยพยาบาล โรงพยาบาล ก็อาจคล้ายกัน แต่มันมีบางอย่าง อย่างโรงพยาบาลชุมชนทำงานหนัก คือ เป็นหน่วยตั้งรับ และหลายๆ ท่านก็ทำงานเชิงรุก

ปัจจัยแห่งความสุขที่สะท้อนมา ที่บอกว่า บริการด้วยหัวใจเข้าใจในหัวใจของความเป็นมนุษย์ เข้าใจในหัวใจความเป็นมนุษย์ คือ เข้าใจเห็นอกเห็นใจเขา นี้คือปัจจัยความสุข สะท้อนได้เลยว่า มีความสุขกับงานที่ทำ สำหรับโรงพยาบาลก็เป็นความสุขที่ได้การยอมรับจากชุมชน รู้สึกยินดีเมื่อบริการทางทันตกรรมได้รับความพึงพอใจ งานบรรลุเป้าหมาย ในระดับจังหวัดมักจะอยู่กับนโยบายเพราะฉะนั้นสิ่งที่ออกมาเขาจะเสนออกมาแบบสั้น กระชับ ได้ใจความ ตรงประเด็น หมายถึงว่ามันสะท้อนผ่านงานว่างานในระดับนโยบายมันจะต้องพูดภาพใหญ่ของทั้งจังหวัดมันสะท้อนผ่านงานจริงๆ บางคนสะท้อนผ่านภาพ สัญลักษณ์ เช่น สสจ. ความสุขก็คือ สุขที่ได้เป็นผู้ให้ ปัจจัยแห่งความสำเร็จคือ ร่วมมือร่วมใจจากภาคีเครือข่าย เป็นต้น แน่นอนว่าพอพูดเรื่องความสุข ข้างหลังของความสุข คือ ความไม่สุขเป็นปัญหาในงานที่ต้องแก้ ที่เหลือไปดูว่ามุมมองจะเป็นอย่างไร

โมเดลการสร้างเครือข่ายในจังหวัด

การวิเคราะห์คนที่อยู่ใกล้ชิดเราในแต่ละระดับของการดำเนินงานผู้สูงอายุ จนถึงระดับไกลๆ ส่วนที่น่าสนใจ คือ บางท่านส่วนไกลๆ คือ ชมรมผู้สูงอายุที่อยู่จังหวัดอื่น แต่บางท่านก็บอกว่าชมรมผู้สูงอายุที่อยู่ต่างจังหวัด อาจเป็นส่วนที่อยู่ใกล้ๆ ก็ได้ เพราะตอนนี้เราเป็นเพื่อนกันแล้ว จะเห็นว่าเป็นการมอง ให้เราหันกลับไปมองดูเครือข่ายในจังหวัดของเรามีอะไรที่จะสนับสนุนเราบ้าง เราจะไม่บอกให้ทำอะไรเพราะทุกท่านได้ทำอยู่แล้วแต่ทำอะไรก็ตามแล้วให้บวกเรื่องการส่งเสริมสุขภาพช่องปากเข้าไปด้วย หากไม่มี idea ในการทำ เรามีเครือข่ายเกิดขึ้น เครือข่ายของเราจากการที่เราวิเคราะห์

ภาพการทำงานระดับพื้นที่เห็นความน่าสนใจในภาคเหนือ เห็นพลังภาคอีสาน เห็นความสร้างสรรค์ภาคกลาง เห็นการค่อยๆ คิดร่วมกัน มั่นคงในภาคใต้ เราได้รวมคิดร่วมกัน ได้ลองทำงานเป็นเครือข่าย อาจมีปัญหารายละเอียดในการทำงาน เช่น เรื่องข้อมูล บันทึก มากมายในทุกที่ย่อมมีปัญหา แต่หากมองว่า มันเป็นความสุขในการทำงาน ที่ทำเรื่องเครือข่าย เพราะสิ่งที่พาความรู้ต่างๆ ประสบการณ์ต่างๆ มาถึงจุดนี้ อาจไม่สามารถพาเราเดินไปข้างหน้าได้ หมายถึง ตรงนี้ไม่พอแล้ว ต้องหาอะไรมาเติมให้เต็ม เช่น เครือข่ายต่างๆ งานต่างๆ ที่จะพูดถึงสุขภาพช่องปาก แล้วจะบูรณาการอย่างไร … อันนี้เป็นโจทย์ อย่าไปสร้างงานใหม่ แค่กลับไปดูงานที่มีอยู่ สำรวจต้นทุน เครือข่ายที่มี เราอาจมีเครือข่ายกันแล้วหลวมๆ ในภาคจังหวัดดูว่า เราจะเติมให้เต็มอย่างไร เพราะว่าสิ่งที่เรามีที่ผ่านมา สิ่งที่เรามีอยู่มันดีมากแล้ว แต่มันอาจพาเราไปข้างหน้าไม่ได้ ต้องเพิ่มเติม เรารอให้พร้อม ๑๐๐% ไม่ได้

ยกตัวอย่าง มีน้องคนหนึ่งเรียนไม่จบ ตอนนี้เขาประสบความสำเร็จมากในชีวิต เขารับหน้าที่เป็นนักออกแบบทุกอย่าง และก็ได้รายได้จากอันนี้ ดีด้วย เขาไม่มีใบปริญญา แต่ไม่ได้หมายความว่าการมีใบปริญญา คือ ชีวิตพร้อม แต่สิ่งที่พร้อม คือ สิ่งที่เขาสนใจ เข้าใจความเป็นมนุษย์ และพร้อมที่จะทำ เขาเลือกงานออกแบบงานศิลปะ สุดท้ายแล้ว เขาก็มีอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เหมือนกันงานที่เรารู้สึกว่า เราไม่พร้อมทำได้ยังไง

ให้กลับไปดูที่เราได้ทำโมเดลไว้ โมเดลเป็นตัวที่เราทำเครือข่ายเราได้สร้างเครือข่าย เราสร้างพื้นฐานอยู่ในชุมชนของเรา ดูความเป็นไปได้ อันไหนเป็นไปได้ ทำทั้งๆ ที่มันยังไม่พร้อมเลย แน่นอนงบประมาณสำคัญ ถามดูว่า ลองทำด้วยงบที่มีอยู่เท่านี้จะทำได้ไหม ท้าทายตัวเองดู เช่น ลำปาง เขาเข้มแข็งทำเรื่องการส่งเสริมการอ่านในชุมชน มีหญิงคนหนึ่ง ขอหนังสือมาจากคนรู้จักรวมถึงของตนเองมาไว้ที่บ้าน แล้วทำบ้านตัวเองเป็นห้องสมุดเด็กๆ ที่อยู่ในชุมชน และน่าดีใจที่เด็กเล็กอ่านหนังสือไม่ออกกลับอ่านหนังสือออก เพราะมีผู้หญิงที่ลำปางในอำเภอหนึ่งเปิดบ้านตัวเองเป็นห้องสมุดแล้วสอนให้เด็กอ่านหนังสือ และที่เชียงใหม่ กลุ่มละครมะขามป้อม ทำงานชุมชนเรื่องรักการอ่านแต่ไม่มีงบประมาณ ขอ สสส. ได้ไม่กี่หมื่น แต่ทำงานเทศกาลรักการอ่านโดย ที่ให้นักเรียนสร้างกิจกรรมด้วยตนเอง กิจกรรมก็สำเร็จได้ ไม่อยากให้มองเงินเป็นตัวตั้ง ถามว่าสำคัญไหมสำคัญมาก แต่ถ้าเราเอาเงินเป็นตัวตั้งเราจะทำอะไรไม่ได้เลย เพราะไม่พร้อม ๑๐๐ %

ถามว่า งาน NGO ภาคเหนือทำไมถึงแรง เพราะงานเขาเร็วมาก ความแตกต่างความเฉพาะของแต่ละพื้นที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ภาคเหนืองาน NGO งานอะไรก็ตามที่เป็นภาคสังคม ลงไปเกิดและเกิดได้เร็วด้วยโดยที่ไม่ care ด้วยว่าได้เงินเท่าไหร่ ทางภาคอีสานอาจจะค่อยๆ เกิด เกิดช้า แต่เกิดแน่มีความสุขอยู่ในงาน มีปัญหาอยู่ในงาน เอาเรื่องจริงมาคุยกัน ภาคใต้อาจมีท่าทีในการจะกระโจนลงไปเพื่อคิดร่วมกันแต่เมื่อเขาคิดแล้วก็คิดได้น่าสนใจ แต่ก็ต้องดูความเป็นไปได้ ภาคกลางการจะเป็นการแชร์ความคิดกัน จะเห็นว่าแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน แต่ข้อดีคือวันนี้เราไม่รอให้ ๑๐๐% เราต้องเริ่ม สร้างความเป็นเครือข่ายแล้ว หากย้อนไปดูเรื่องความสุขเราก็จะมีความสุข เพราะจริงๆ แล้วเกียรติยศของเรา หรือความสุขของเรา คือ การพยายามให้ไปถึงเป้าหมาย ถ้าเป้าหมายที่ตั้งไว้คืองานส่งเสริมสุขภาพช่องปากแล้ว เราต้องทำให้อย่างมีความสุข แม้สุดท้ายปลายทางมันจะไม่สำเร็จมันจะไขว่คว้าไม่ได้ หมายถึงว่า แค่ให้ลองคิด และลองทำ อะไรร่วมกันสุดท้ายเดินไปไม่ถึงก็ไม่เป็นไร เหมือนเราคิดว่าจะเดินทางไปดวงจันทร์ เราจะไปดวงจันทร์ ออกเครื่องแล้ว แต่เราไม่ถึงดวงจันทร์ น้ำมันหมดระหว่างทาง อย่างน้อยเราอยู่ท่ามกลางดวงดาว ไม่ได้อยู่บนพื้นดิน เพื่อให้กำลังใจเรื่องการดำเนินชีวิต เรื่องตัวเอง ครอบครัว เรื่องงานที่มันเกินภาระ แต่ถ้าเราลองถอยมาแล้วค่อยๆ แก้ปัญหา มองว่า ถ้าเราเลือกว่าเราทำงานนี้ และเงื่อนไขของสิ่งที่เราเลือก สิ่งที่เหลือเราเผชิญได้หมด ลองดูแล้วไปด้วยกัน

งานทั้งหมดอย่ามองว่าเป็นภาระ มองให้เป็นความสุข ความสุขแรกเลยอันแรกเลย คือ ต้องสร้างทีม ทีมต้องมีทำงานคนเดียว เหนื่อย ถึงต้องสำรวจเครือข่ายว่ามีอะไรบ้าง ดูเพื่อนในภาคเดียวกันทำอะไรบ้าง ในระดับประเทศ ก็จะได้มีอะไรมาแลกเปลี่ยน กิจกรรมกลับไปดูว่า เราทำอะไรแล้วบวกกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพช่องปากเข้าไป เงินหรืองบประมาณสำคัญแต่ไม่อยากให้มองเงินสำคัญที่สุด สถานที่ที่ไหน ทัศนคติสำคัญมาก ทัศนคติต่อการทำงาน ให้มองว่างานของเราเป็นงานที่มีความสุข ภูมิปัญญาท้องถิ่นปรับประยุกต์เอามาใช้ เครือข่ายที่เกิดขึ้นแล้วอย่างหลวมๆ ต้องว่าจะไปต่ออย่างไร เราสร้างเรือเรามีไม้พายมีคนพาย แต่ดูว่าระหว่างที่พายไปเรือจะล้มไหมเรือรั่วไหม เรือไม่ได้ออกจากฝั่ง ไม่ใช่ว่าเป็นเรือเล็กงดออกจากฝั่งไม่ได้ เรือเล็กควรออกจากฝั่ง เราจะได้เจออะไรที่น่าสนใจ แล้วก็มีความรู้ที่จะต้องแลกเปลี่ยน สุดท้ายการทำงานใดๆ ก็แล้วแต่ การใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ การมีชีวิตหนึ่งลมหายใจ หรือหนึ่งชีวิต คือ การใช้ชีวิตให้มีความสุข ที่จริงแล้วงานที่เราทำเรื่องการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก งานทันตกรรม งานทางชุมชนจริงๆ คือ งานที่ส่งต่อความสุข ความสุขที่เราส่งต่อกันได้ ว่าจริงๆ แล้วถ้าเราเป็นผู้เริ่ม เริ่มที่จะส่งความรักและความปรารถนาดีให้ใครซักคนหนึ่ง เชื่อว่าแค่เราเริ่มเพียงหนึ่งสิ่งดีดีจะเกิดขึ้น

อย่ามองว่างานที่เราต้องกลับไปทำเป็นภาระ หลายคนพูดถึงเรื่องความสุขแล้ว มันมีความสุขเกิดขึ้นในงานที่เราทำ อยากให้มองงานที่เราทำเป็นการส่งต่อความรัก ความปรารถนาดี และความห่วงใย สุดท้าย แม้จะไม่ได้กลับมาที่ตัวเรา แต่การช่วยเหลือ การสนับสนุน จนที่สุด ถ้าเราเชื่อว่าทำดีได้ดี นี่คือ ของจริงที่พิสูจน์ได้ สิ่งนั้นจะกลับมามากว่าจะได้สิ่งตอบแทนเป็นเรื่องเล็กๆ มันต้องอาศัยระยะเวลาเดินทาง งานในชุมชนเราไปบอกให้เกิดอันนั้นอันนี้ไม่ได้ ต้องอาศัยการเติบโตใครที่เริ่มแล้ว เป็นกำลังใจกันให้เดินต่อ ใครที่ยังไม่ได้เริ่ม ลองดูลองสนุกดู เพราะถ้าเราเลือกว่าเราจะทำอันนี้แล้ว เช่น ถ้าเราเลือกว่า จะทำงานผู้สูงอายุ เราเลือกว่า จะเป็นเจ้าหน้าที่ รพ.สต. แล้ว อะไรแล้ว เราเลือกที่จะอยู่ในส่วนของจังหวัด หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแล้ว ก็คิดว่า นี่คือเงือนไขของงานที่เราเลือก มันจะทำให้เรามีความสุขได้ ก็ต่อเมื่อเรายอมรับในสิ่งที่เราเลือกแล้วมีพลังกับมัน แล้วเราขับเคลื่อนภารกิจของเราไปด้วยเครือข่ายที่เรามีด้วยเพื่อนที่รู้จัก สุดท้ายแล้ว จะนำไปสู่ความสุข

เครือข่ายการทำงาน การสร้างเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ปัจจุบันจะมีทั้ง ทันตบุคลากร บุคลากรสาธารณสุข ตั้งแต่ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข องค์กรท้องถิ่น และผู้สูงอายุเอง ที่เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันสร้างสุขภาพให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลสุขภาพ และสุขภาพช่องปากของตนเอง เพื่อนๆ ผู้สูงอายุ รวมทั้งชุมชนได้

หมายเลขบันทึก: 584997เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2015 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2015 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แมาหมอดูสนุกสนานมาก


มีเครือข่ายผู้สูงอายุชวนบ้างนะครับ


ขอบคุณมากๆครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท