ประสบการณ์การเป็นศึกษานิเทศก์ของผม (ตอนสุดท้าย)


มีเวลาได้คิดค้นทำงานทางวิชาการเต็มที่ เช่นเรื่อง KM เรื่องสมรรถนะการปฏิบัติงาน การพัฒนาคุณธรรมนำความรู้ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ ฯลฯ

            เผลอไม่ทันไร  ผมเป็นศึกษานิเทศก์มา 25 ปีแล้วหรือนี่  ก่อนที่จะมาอยู่ที่เขตพื้นที่การศึกษาในปัจจุบัน  ผมเป็น  หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา (คนสุดท้าย)  ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการทั้งในอดีตและปัจจุบัน เมื่อเขาดำรงตำแหน่งนี้เขาจะก้าวไปสู่ผู้บริหารระดับสูงทั้งนั้น  แต่ผมต้องทำให้ชาวศึกษานิเทศก์รู้สึกว่าเสียเกียรติประวัติที่มีสืบทอดมายาวนาน  ทำตัวตกต่ำลง  แต่ก็ไม่เป็นไร  เราควรยอมรับในกติกาการปรับเปลี่ยนโครงสร้างตามกฏหมาย และตอนนี้กระทรวงต้องแก้ปัญหาเรื่องการบริหารงานบุคคลเหมือนลิงแก้แหอยู่  เราก็ไม่ควรไปสร้างภาระให้ท่านลำบากใจเพิ่มขึ้นอีก…จริงไหม? (แต่คิดอีกที การเปลี่ยนแปลงใดใดก็น่าจะทำให้คนดีขึ้น ก้าวหน้าขึ้นไม่ใช่ตกต่ำลงนะ ซึ่งผู้ใหญ่ก็คงต้องตระหนักเอง)
         
       ก่อนที่จะปรับโครงสร้างใหม่ผมได้เขียนจดหมายให้กำลังใจและให้แนวคิดแก่พี่น้องศึกษานิเทศก์ทั่วประเทศ 3 ฉบับ  โดยฉบับสุดท้ายผมเขียนเมื่อวันที่  30  มิถุนายน  2546  มีใจความว่า

         “ในที่สุดวันสุดท้ายของหน่วยศึกษานิเทศก์ก็มาถึง  แม้จะรู้สถานการณ์ดี  และเตรียมใจไว้แล้ว  แต่เมื่อถึงเวลาก็รู้สึกใจหาย  และทำใจได้ลำบาก  เหมือนเคยจากบ้านที่เคยอยู่มานาน  ซึ่งออกจะกว้างขวางและเป็นสัดส่วน  ต้องไปอาศัยอยู่บ้านหลังใหม่ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของบ้าน  และต้องอยู่กันหลายครอบครัว  โดยไร้พ่อบ้านที่จะประสานสัมพันธ์กันทั้งประเทศ
          สรรพสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลง…อย่าได้ติดยึด  เราเคยผ่านร้อนผ่านหนาว  มีความช่ำชองในการพัฒนาคุณภาพการศึกษามาหลายฤดูกาล  จะเกรงกลัวไปใย  นี่คือการปลอบใจเพื่อให้คลายกังวล  และขอให้พวกเราจงยิ้มรับในบทบาทใหม่ที่เขตพื้นที่การศึกษา  อย่างน้อยเราก็ยังมีตำแหน่งและวิทยฐานะที่มีโอกาสก้าวหน้ามากกว่าเดิมที่ข้าราชการหลายกลุ่มเขาอิจฉา  จริงอยู่เราอาจจะดูไม่มีบารมีเชิงบริหาร  แต่ถ้าเราสามารถสร้างตนให้มีบารมีทางวิชาการ  น่าจะเป็นบารมีที่ยั่งยืนกว่ามิใช่หรือ
         ในช่วงเวลานี้อยากจะฝากข้อคิด(มิใช่การสอน)สำหรับพวกเราเมื่อเข้าสู่เขตพื้นที่การศึกษา  เพื่อสั่งสมบารมีทางวิชาการให้แก่ตนเอง  และแก่วงวิชาชีพศึกษานิเทศก์  6 ประการ คือ
         1.ขอให้รักและศรัทธาในวิชาชีพศึกษานิเทศก์   จงภูมิใจว่า  เราเป็นผู้ที่มีวิชาชีพเช่นเดียวกับครู แพทย์  วิศวกร ฯลฯ (ต่างกันตรงที่เขามีองค์กรดูแลวิชาชีพเขาเฉพาะ  แต่เราถูกกระจายไปหมด) ถ้าเรามีความรักและศรัทธาในวิชาชีพของเราเป็นเบื้องต้น  ก็จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องและพัฒนาวิชาชีพของเราให้ก้าวหน้า โดยไม่ให้เสื่อมเสีย
          2.ทำงานให้เป็นระบบและปรับปรุงพัฒนาการทำงานอย่างต่อเนื่อง  ในลักษณะของการวิจัยปฏิบัติการ  วิจัยและพัฒนา  ค้นพบตนเองให้ได้ว่ามีความสามารถ  มีความถนัดอะไร  แล้วสร้างสรรค์การทำงานให้เหมาะกับจริตและบริบทนั้นๆ  ช่วยกันรักษาคุณธรรมและวัฒนธรรมคุณภาพ  คือ “เขียนในสิ่งที่ทำ  ทำในสิ่งที่เขียน  และปรับปรุงพัฒนาต่อเนื่อง”  อย่าทำอะไรแบบไฟไหม้ฟางและสร้างภาพให้ใครเขาดูถูก  เพราะนั่นคือการสร้างบาปให้แก่วงการศึกษา
           3.หมั่นศึกษาค้นคว้าหาความรู้ตลอดเวลา  โดยต้องปฏิบัติให้เป็นนิสัย  ถ้าศึกษานิเทศก์ขาดศีลข้อนี้ก็ยากแก่การธำรงรักษาวิชาชีพไว้ได้
           4.ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดี  มีทักษะเชิงมนุษย์  มีวุฒิภาวะทางอารมณ์สูง  ข้อนี้ถือว่าสำคัญเป็นพิเศษในการทำงานของ ศน.ในเขตพื้นที่การศึกษา นั่นคือต้องมี อีคิว(EQ)  อยู่กับใครใครก็รัก  ทำงานกับใครใครก็ชอบ  ต้องไม่ “I,m OK. You  aren,t OK.”  ถ้าตัวสูงก็โน้มตัวให้ต่ำลงบ้าง  ถ้าตัวต่ำก็พยายามพัฒนาตามครรลองที่ควรจะเป็นให้สูงขึ้น
           5.ปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย  โดยรักษาจรรยาบรรณวิชาชีพ  บางอย่างถูกแต่ไม่ควรก็อย่าทำ  มีความเสียสละ  จริงใจกับทุกคน  ปฏิบัติตนเป็นผู้ให้  ไม่คิดเล็กคิดน้อยหรือเห็นแก่ได้
          6.มีแรงบันดาลใจในการทำงานและเป็นสุขกับผลสำเร็จของงาน  มีอารมณ์ขัน  หมั่นดูแลสุขภาพ  หาอุบายที่ทำให้ใจเป็นสุข  เมื่อเจอปัญหาอุปสรรคก็ไม่ท้อแท้  อาจใช้กลอนของหลวงวิจิตรวาทการ เพื่อเพิ่มพลังใจแก่ตนเองคือ
           
           ***สุขของฉันอยู่ที่งานหล่อเลี้ยงจิต 
                 สุขของฉันอยู่ที่คิดสมบัติบ้า (งาน)
                 คิดทำโน่นทำนี่ทุกเวลา                        
                 เมื่อเห็นงานก้าวหน้าก็สุขใจ
                 งานยิ่งมีมากจริงยิ่งเป็นสุข                   
                 งานยิ่งชุกมันสมองยิ่งผ่องใส
                 เมื่องานทำได้เสร็จสำเร็จไป                 
                 ก็สุขใจปลาบปลื้มลืมทุกข์ร้อน***
          …ท้ายสุดนี้  ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย  และอำนาจคุณความดีที่พวกเราได้สร้างสมไว้  จงส่งผลให้พวกเรามีความสุข  ความสมหวัง มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติงาน ณ ที่ใหม่ถ้วนทั่วทุกคน
                    …รักผูกพันห่วงหาและอาลัย     อยู่ที่ใดก็ไม่ลืมชาว ศน.”
        
         …ตอนนี้ผมมีความสุขในการทำงานที่เขตพื้นที่การศึกษาพอสมควร  โดยพยายามทำตามข้อเตือนใจทั้ง 6 ข้อ ก็สามารถทำใจได้ ปล่อยวางได้พอสมควร  ผู้บังคับบัญชา  ชาวโรงเรียน และผู้ร่วมงานต่างให้เกียรติ ให้ความนับถือ  มาขอคำปรึกษาแนะนำขอแนวคิดแนวปฏิบัติงานมิได้ขาด  มีเวลาได้คิดค้นทำงานทางวิชาการเต็มที่ เช่นเรื่อง  KM  เรื่องสมรรถนะการปฏิบัติงาน  การพัฒนาคุณธรรมนำความรู้  การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ ฯลฯ 
            ได้เขียนบล็อกเกือบทุกวัน   ได้เขียนบทความทางวิชาการลงตีพิมพ์ต่อเนื่อง  ได้เขียนหนังสือเป็นเล่มบ้าง  ได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายเป็นประจำ  ได้รับเชิญเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกรรมการและทีปรึกษาในเรื่องต่างๆจาก ก.ค.ศ. ,สมศ.,สกศ.,สพฐ.  เป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ/วิจัยแก่ผู้บริหาร  ครู  ศน. นักศึกษาปริญญาโท-เอก เป็นกรรมการเขียนหนังสือประวัติครูของคุรุสภาต่อเนื่องมา 10ปี  เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชานิเทศการศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏ 2 แห่ง  ได้เป็นคณะทำงานเรื่องสหวิทยาการของราชบัณฑิตยสถาน  เป็นต้น
           พอไม่ได้ทำงานด้านบริหารทำให้มีความเข้าใจและเกิดความเห็นใจผู้บริหารในยุคนี้อย่างมาก  เพราะท่านผู้บริหารแต่ละคนต้องรับผิดชอบ  ตัดสินใจ  แก้ปัญหาเรื่องต่างๆที่ซับซ้อนในแต่ละวันมากมายเหลือเกิน  บางท่านก็อาจพลั้งเผลอหรือถูกฟ้องร้อง และเกิดความเครียดตามมา  น่าเห็นใจท่านจริงๆ
            …เป็นนักวิชาการอย่างเราสบายใจกว่ากันเยอะเลย…

หมายเลขบันทึก: 58406เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2006 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หนูเป็นนักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชที่ต้องเข้าสังเกตการสอนและการฝึกสอนเช่นกันค่ะ  ตอนนี้หนูเรียนอยู่ปี 3 หลักสูตร 5 ปี ค่ะ  เทอมนี้ก็ต้องสังเกตการสอน และต้องฝึกสอนในปีหน้า  หนูอยากทราบเทคเทคในการนิเทศน์นักศึกษาฝึกสอนอย่างง่ายๆ และเทคนิคการวางตัวของนักศึกษาฝึกสอนเพื่อให้การฝึกออกมาดี  และเด็กยอมรับ  รวมทั้งคุณสมบัติของความเป็นครูที่อาจารย์นิเทศน์ทุกคนต้องการค่ะ  ช่วยตอบด้วยนะค่ะ  ขอบคุณมากค่ะ

 

 

 

 

     ผมคิดว่าเทคนิคกลางๆก็น่าจะเป็นการนิเทศแบบคลีนิค  ดูแนวของ Hey และ Fersyth หรือคนอื่นๆอีกก็ได้  หลักใหญ่คือต้องมีการสังเกตการสอน  ที่มีการเตรียมการ  วางแผนร่วมกัน  มีประเด็นการสังเกต แล้วมาวิเคราะห์ร่วมกันหลังสังเกตเพื่อปรับปรุงพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้ดีขึ้น หรือถ้าเป็นการนิเทศก์รายบุคคลก็อาจจะเป็นการศึกษาเป็นรายกรณี  การให้คำปรึกษาหารือ ก็ได้  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายและบริบทการนิเทศเป็นสำคัญ 
     ส่วนนักศึกษาฝึกสอนที่ต้องออกมาเป็นครูชั้นยอด ผมก็อยากให้ดูมาตรฐานการปฏิบัติตนหรือจรรยาวิชาชีพของคุรุสภา และปฏิบัติให้เป็นนิสัย  โดยเฉพาะเรื่องจิตใจของตนเองต้องรักและเมตตาต่อเด็กอย่างจริงจัง  ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างแก่เด็กและคนอื่นๆได้  ที่สำคัญต้องสู้งาน มีความอดทน อดกลั้น  มีความสุขจากผลสำเร็จของงานมากกว่าสิ่งตอบแทนทางวัตถุ ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท