ปัญหาการศึกษา( 3 ) กพฐ.-สทศ.เสนอให้เด็กสอบทุกคนแต่ละช่วงชั้นก่อนจบการศึกษา - ทินกร กระมล


เลขาธิการ กพฐ.หารือ ผอ.สทศ.เห็นตรงกันพร้อมเสนอขอเป็นนโยบายจาก “ศ.ดร.วิจิตร” จัดสอบนักเรียนทุกคนที่จะจบการศึกษาในแต่ละช่วงชั้น ก่อนจะให้จบการศึกษา โดยจะทำได้เพียง ม.3 หรือ ม.6 เพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจริงไปปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน แต่ยังหวั่นผิดกฎหมายหาทางออกกรณีทำไม่ได้ต้องหาแรงจูงใจให้นักเรียนและโรงเรียน

ที่มา:

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9490000137149

เนื้อหา:

                                                              เลขาธิการ   กพฐ.หารือ ผอ.สทศ.เห็นตรงกันพร้อมเสนอขอเป็นนโยบายจาก ศ.ดร.วิจิตรจัดสอบนักเรียนทุกคนที่จะจบการศึกษาในแต่ละช่วงชั้น ก่อนจะให้จบการศึกษา โดยจะทำได้เพียง ม.3 หรือ ม.6 เพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจริงไปปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน แต่ยังหวั่นผิดกฎหมายหาทางออกกรณีทำไม่ได้ต้องหาแรงจูงใจให้นักเรียนและโรงเรียน

        เช้าวันนี้ (6 พ.ย.) ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ร่วมหารือกับคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ซึ่งหลังจากใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง ศ.ดร.อุทุมพร ร่วมกับ คุณหญิงกษมา แถลงข่าวโดย คุณหญิงกษมา กล่าวว่า หารือกันถึงการจัดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ สทศ.จะต้องสอบให้กับนักเรียนทุกปลายช่วงชั้น คือ ป.3 ป.6 ม.3 และ ม.6 แต่ขณะนี้ สทศ.จัดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนนักเรียนทุกคนได้แค่ช่วงชั้นที่ 4 หรือ ม.6 เท่านั้น ซึ่งก็คือ การสอบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ทั้งนี้ 2 หน่วยงานมีแนวคิดและตกลง ว่า ปีการศึกษา 2550 จะขยายการจัดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้กับนักเรียน ม.3 ทุกคนด้วย โดยจะไปจัดสอบช่วงต้นปี 2551 หลังจบภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550              คุณหญิง กษมา กล่าวด้วยว่า ส่วนระดับ ป.3 และ ป.6 ยังไม่สามารถจัดสอบได้ทันในปี 2551 เพราะเสนอของบประมาณปี 2550 ไม่ทัน ต้องรอของบประมาณ 2551 แล้วไปจัดสอบปี 2552 ทั้งนี้ การจัดสอบระดับ ป.3 และ ป.6 ต้องใช้งบประมาณ 140 ล้านบาท โดยคร่าวๆ ค่าใช้จ่ายในการจัดสอบหัวละ 27 บาท แล้วนักเรียนทั้งหมดมีจำนวนเป็นล้านคน แต่การจัดสอบเพื่อสุ่มดูผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนทุกช่วงชั้นนั้น สทศ.ยังดำเนินการอยู่ ซึ่งตนได้ขอให้สุ่มทุกโรงเรียน แต่ไม่ใช่เด็กทุกคนต้องสอบ              ด้าน ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีนักเรียนบางส่วนไม่ตั้งใจทำข้อสอบโอเน็ต เพราะมีบางคนไม่ได้นำผลไปเข้ามหาวิทยาลัย ผลสอบที่ออกมาจึงเชื่อถือไม่ได้ และไม่สะท้อนการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนที่แท้จริง ดังนั้น เพื่อให้นักเรียนเกิดแรงจูงใจในการทำข้อสอบ สทศ.จึงเสนอขอให้ สพฐ.กำหนดให้การสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็น Exit Exam คือ นักเรียนทุกคนต้องผ่านการสอบดังกล่าว และได้คะแนนตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ จึงถือว่าจบการศึกษา ซึ่ง สทศ.จะไปศึกษาว่าในแต่ระดับชั้นนั้น คะแนน Performance Standard หรือคะแนนขั้นต่ำที่นักเรียนต้องทำได้ถึงจะถือว่าจบการศึกษาควรเป็นเท่าใด โดยเฉพาะในระดับ ม.6 นั้น คะแนนขั้นต่ำจะทำออกมาเป็น 2 ค่า คือ คะแนนขั้นต่ำสำหรับจบการศึกษา และคะแนนขั้นต่ำสำหรับนำไปสมัครเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา              ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวด้วยว่า ไม่แน่ใจว่า การจะให้นักเรียนทุกคนต้องสอบก่อนถึงจะจบการศึกษาจะขัดกับกฎหมาย หรือระเบียบอื่นหรือไม่ ซึ่งหากทำไม่ได้ สทศ.จะไปศึกษาหาแรงจูงใจในรูปแบบอื่นๆ แทน เช่น แต่ย้ำว่า สทศ.ต้องการให้นักเรียนทุกคนตั้งใจทำข้อสอบ เพื่อได้ข้อมูลที่ตรงความจริงใช้ในการปรับปรุงคุณภาพโรงเรียน              คุณหญิงกษมา กล่าวอีกว่า ข้อเสนอของ สทศ.ให้ สพฐ.กำหนดให้การทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็น Exit Exam ยังไม่ถือว่าเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพราะต้องนำไปหารือกับ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แต่แนวคิดดังกล่าวดี และต้องพิจารณาให้รอบคอบคำนึงถึงเด็กที่ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ ไม่ได้เสียเปรียบ หรือเดือดร้อนจากการมี Exit Exam และควรจัด Exit Exam เฉพาะ ม.3 และ ม.6 เท่านั้น เพราะถือว่าพ้นจากการศึกษาภาคบังคับแล้ว ทั้งนี้ หากทุกฝ่ายเห็นด้วยกับ Exit Exam น่าจะเริ่มได้เร็วสุดปีการศึกษา 2550               ส่วนการทดสอบนักเรียน ป.2 ป.5 ม.2 และ ม.5 โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)ร่วมกับสถานศึกษานั้นจะทำแน่นอน เพื่อนำผลมาประเมินปรับปรุงเด็ก เพราะจะเน้นการคิดวิเคราะห์และส่งเสริมให้ครูมีความรู้ความสามารถการวัดผลประเมินผล              ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวด้วยว่า อยากให้ สพฐ.ไปสำรวจว่า มีโรงเรียนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จนส่งผลต่อการเข้าสอบโอเน็ตของนักเรียนหรือไม่ ซึ่ง สทศ.สามารถเลื่อนสอบโอเน็ตให้นักเรียนกลุ่มนี้ได้ด้วยข้อสอบคู่ขนานแต่จะเป็นผลเสียต่อเด็กเอง เพราะจะต้องเลื่อนกำหนดอื่นๆ รวมทั้งเข้ามหาวิทยาลัยช้ากว่านักเรียนที่สอบปกติทั่วไป  
คำสำคัญ (Tags): #ทินกร
หมายเลขบันทึก: 58286เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2006 22:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท