มาถึงยุค bioethic แล้วใช่ไหม?


เราจะปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Shift Paradigm) กันอย่างไรดี ถึงจะได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง อย่างรู้เท่าทัน

     เป็นเวลาเกือบ 7 ปีแล้วที่ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ เมื่อครั้งเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่าอีก 20-30 ปีข้างหน้า (นับจากปี 2543) น่าจะเป็นยุค bioethic หากเป็นต่างประเทศบางประเทศน่าจะประมาณอีกไม่เกิน 10 ปี ท่านว่าไว้อย่างนั้นครับ

     ท่านกล่าวถึงยุคเกษตรกรรม เป็นยุคที่ใช้อาวุธ หรือกำลังเพื่อครอบครอง คนที่ถูกครอบครองก็เป็นผู้ถูกกำหนด ผมคิดเห็นว่า... ซึ่งแน่นอนย่อมกำหนดโดยผู้ที่แข็งแรงกว่า ซึ่งก็คือผู้ที่มีอาวุธที่ทรงพลัง หรือที่ทำลายล้างได้มากกว่า เป็นยุคหนึ่งที่มีการเข่นฆ่า ทำลายล้างกันสูง

     ต่อมาก็เป็นยุคอุตสาหกรรม ซึ่งใช้เงินแทนอาวุธ ใครมีเงิน หรือเป็นนายทุน คนนั้นก็ครอบครอง ผมมองว่าเป็นยุคของการแสวงหาเพื่อเพิ่มอำนาจการครอบครอง เอารัดเอาเปรียบ ฉกฉวยโอกาส เพื่อเพิ่มขนาดทุน ซึ่งจะหมายถึงการเพิ่มอำนาจการครอบครอง การทำลายล้างมุ่งไปที่การปรนเปรอจนเกินความพอดี เห็นวัตถุนิยมมีคุณค่ากว่าความเป็นคน ยุคนี้คนจะอ่อนเปรี้ยเพลียแรง คุณค่าความเป็นคนจะลดน้อยถอยลงไป

     ในยุคที่สาม คือยุคสารสนเทศ ใครมีความรู้ก็จะเป็นผู้นำเพราะรู้ที่จะปรับตัวเองได้เร็ว ทายอนาคตได้แม่นยำกว่า ผมมองที่สำคัญหากเขาได้ใช้ความรู้เพื่อสร้างโอกาสแก่ตนจนขึ้นเป็นผู้นำที่ว่าอย่างไรใคร ๆ ก็เห็นตามด้วยแล้ว ยิ่งสามารถอ้างเอาความรู้นี่แหละไป Dominate ใคร ๆ เขาได้ หากจะดีก็ดีไป หากผิดพลาดหรือเลวร้าย ก็จะสุด ๆ เช่นกัน ยุคนี้เป็นยุคที่เน้นการตรวจสอบจากทุกภาคส่วน เพื่อยืนยันความแม่นยำของความรู้ในแต่ละเรื่องไม่ให้ถูกใช้อ้างอิงเพื่อสร้างความเชื่อถือ จากคนหรือกลุ่มคนที่มีเครดิตด้านความรู้มากเกินไป ประมาณว่าไม่ใช่ถูกและใม่ใช่มีใครยอมรับสักเท่าไหร่ แต่เพราะมีเครดิตทางสังคม (ยอมรับกันเพียงเพราะมีคุณวุฒิ) สังคมจึงคล้อยตามไปทางนั้น อย่างนี้ต้องตรวจสอบด้วนความรู้จึงจะแก้ไขและป้องกันได้

     มาถึงยุคที่สี่เป็นยุค เป็นยุคเทคโนโลยีชีวภาพที่ต้องบอกคุณธรรมและจริยธรรมด้วยเสมอ เพราะธรรมชาติของมนุษย์อยากมีชีวิตที่ยืนยาว จึงเที่ยวแสวงหาวิธีการต่าง ๆ นานา เพื่อความอยู่รอดมีชีวิตที่ยืนยาว โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ เช่นการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ การปลูกถ่ายอวัยวะ การ Clone หรือแม้แต่การตกแต่งยีนส์ พืช GMOs เป็นต้น มาถึงยุคนี้ต้องอาศัยคุณธรรมและศีลธรรมประกอบกัน ควบคู่กันไปเป็นอย่างมาก ไม่งั้นเราจะทำร้ายทำลายตัวเราเองโดยไม่คาดคิด

     หากพิจารณาแล้ว ณ ปัจจุบันสำหรับมุมมองของผมเอง เรายังไม่ผ่านไปเลยอย่างเบ็ดเสร็จในแต่ละยุค แต่เราได้เดินทางมาถึงยุคที่สี่แล้วเร็วกว่าที่ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ทำนายไว้ด้วยซ้ำไป หากถามว่าแล้วปัญหาของสังคมที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ เรากำลังเผชิญกับปัญหาของยุคใด จะพบว่ามีสภาพของทุกยุคปนกันอยู่ แต่กลับมองว่าปัญหาทั้งหมดจะเบาบางลงไปได้ก็ด้วยคุณธรรมจริยธรรมแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าปัญหานั้นจะเป็นปัญหาในลักษณะของยุคใด

     หนทางที่จะแก้ไขได้น่าจะอยู่ที่การจัดการเพื่อการเรียนรู้เสียใหม่ให้คนเราพร้อมรับกับสภาพอย่างรู้เท่าทันมากกว่าการเรียนรู้ย่างเช่นในปัจจุบัน เพราะเน้นที่เรียนให้เชื่อตาม ๆ กันไป โดยการท่องจำและนำมาใช้เพียงการพูดหรือเขียนให้ถูกตามที่เขาว่า ส่วนการเรียนรู้ที่ได้จากการปฏบัติการลองผิดลองถูก ภูมิปัญญาท้องถิ่นกลับถูกละเลยและเหยียดหยามว่าไม่ตรงตามหลักวิชาการ ตรงนี้แหละเราจะปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Shift Paradigm) กันอย่างไรดี ถึงจะได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคที่ท่าน ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ได้ตั้งข้อสังเกตไว้นานแล้ว

 



ความเห็น (5)

ความเห็นนี้อาจจะยาวไปหน่อย....

อ่านจบชวนให้เกิดข้อสงสัยหลายประการขึ้นในใจ...ในฐานะที่เคยสอนเด็กเทคนิค มองว่าการเรียนการสอนเด็กนักเรียนสายอาชีพ ส่วนใหญ่เราสอนเขาให้เกิดภูมิรู้ด้านทฤษฎีก่อน เพราะมองว่าหากเด็กไม่รู้ทฤษฎีแล้วเด็กจะปฏิบัติหรือมองภาพรายละเอียดต่าง ๆ ไม่ออก เมื่อเขามองไม่ออกเขาจะปฏิบัติหรือไม่เกิดความลึกซึ้งพอ ดังนั้นจึงมองว่าทฤษฎีจากผู้รู้ที่เขียนไว้ในตำราย่อมต้องใช้ควบคู่กับการปฏิบัติเสมอใช่ว่าจะแยกส่วนกันได้ อีกทั้งตัวแบบที่ปฏิบัติให้ดูก็มีส่วนสำคัญยิ่ง

จุดมุ่งหมายของเด็กสายอาชีพ มุ่งเน้นประกอบอาชีพ เด็กต้องออกไปฝึกงานในสถานประกอบการด้วย บางครั้งเจ้าของสถานประกอบการต่าง ๆ ใช่ว่าจะจบปริญญาโทร หรือ ดร.เฉพาะด้านนั้น ๆ มา บางคนเรียนจบแค่ ป.6 หรือบางคนไม่เคยได้เรียนหนังสือมาเลยด้วยซ้ำไป แต่ความรู้เทียบเท่าปราชญ์ เพราะเขาเกิดการเรียนรู้ที่เราเรียกว่า "ภูมิปัญญาชาวบ้าน" จากการสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ และการที่เด็กนักเรียนได้ลงสนามไปฝึกปฏิบัติจริงเด็กย่อมองเห็นภาพจริง ได้ทดลองจริงปฏิบัติจริงในสนามชีวิตจริง และตัวเด็กเองจะได้คำตอบด้วยบทสรุปของเขาเองว่าที่แท้ตำรา กับการปฏิบัติจริงแย้งกันตรงไหน อะไรที่ควรเชื่อ อะไรที่ไม่ควรเชื่อ และอะไรที่ควรปรับปรุงแก้ไข นี่ไม่ใช่เหรอที่เรียกว่า "ระบบการจัดการเรียนการสอน" ที่สมบูรณ์แบบ

มองไปอีกมุมหนึ่งของเด็กนักเรียนมัธยมฯ เขาก็จะมีลักษณะการจัดการเรียนการสอนอีกแบบหนึ่ง มุ่งหวังสอบเอ็นฯ เพื่อไปต่อยอดทางการศึกษา เด็กเหล่านี้จะไม่ค่อยได้ลงสนามเพื่อทดลองหรือปฏิบัติจริงมากนัก ความรู้ส่วนใหญ่จะเน้นเฉพาะในตำรา เน้นเรื่องทฤษฎีและหลักการต่าง ๆ จึงมองว่าจุดมุ่งหมายของการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน ย่อมทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่แตกต่างกันด้วยเช่นกัน เกิดทักษะชีวิตที่ไม่เหมือนกัน

การจัดระบบการเรียนการควรยึดหลัก "กาลามสูตร" ควบคู่ไปด้วย และมองว่าการลองถูกลองผิดบางครั้งก็เกิดความเสียหายและเสียเวลามากกับบางเหตุการณ์บางพฤติกรรม ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุด คือ ไม่น่าจะแยกส่วนกันระหว่างความรู้จากตำราที่แต่จากผู้รู้และความรู้จากการปฏิบัติจริง เพราะสองอย่างหากผนวกเข้าด้วยกันย่อมเกิดความรู้ที่เป็นแก่นอย่างแท้จริง

 อ่านแล้วก็ชวนให้คิด ได้หลายทาง สำหรับตัวเองแล้วเดิมมองยกย่องคนที่เรียนเก่ง   แต่ปัจจุบันชื่นชมคนที่เก่งเรียน เก่งที่จะเรียนรู้นำมาใช้ในชีวิต 
ทุกยุคทุกสมัยล้วนแล้วมีจุดให้เรียนรู้   แต่ทุกยุคสมัยคนที่จะไปถึงจุดนั้นได้ต้องเก่งที่จะเรียนรู้แล้วนำตนไปสู่จุดนั้นให้ได้  ส่วนวิธีการที่เราจะนำตนเองไปสู่จุดนั้นด้วยวิธีการไหนนั้นขึ้นอยู่กระบวนทัศน์ (ไม่รู้จะสื่อถูกหรือเปล่า แต่อยากบอกว่าแนวคิดที่อยู่ข้างใน)  ไม่ใช่วิธีการที่ได้จากการเรียน  ส่วนวิธีการที่ได้จากการเรียนนั้นจะเป็นเครื่องมือให้แนวคิดนั้นสำเร็จได้เร็วขึ้น   หากเรามีวิธีการให้แนวคิดด้านในดีมีกระบวนการที่ดี  ผลลัพธ์คงออกมาดี 
          เรามาช่วยกันหาวิธีการที่จะทำให้แนวคิดด้านในออกมาดีดีไหม

อาจารย์น้อง Vij

     ผมก็เรียนมาทางสายสามัญ ก่อนจะมาเป็นสายอาชีวะ (หมออนามัย) ตอนเรียนสายสามัญ เราก็ฝึกตอบโจทย์ที่เป็นตัวอย่างในการคิด ผมมีเพื่อนเรียนช่างที่เทคนิคพัทลุง โจทย์ปัญหาคล้าย ๆ กัน ไม่ยากนัก เขาคิดนิดเดียว ผมกว่าจะอ่อว่าคิดยังไงตั้งนาน ผมเลยมองว่าเพื่อนผมน่าจะนึกย้อนจากที่ปฏิบัติ ส่วนผมนึกย้อนไปว่ามีกฎอะไรบ้างที่จะนำมาตีโจทย์ สุดท้ายก็ได้คำตอบเหมือนกัน แต่ผมเชื่อมโยงไม่เป็น ส่วนเพื่อนเชื่อมโยงเพื่อแก้ปัญหาได้เร็วและถูกกว่า ไมทราบว่าเข้าประเด็นไหมเพื่อต่อยอดความรู้ที่ให้ คห.มานะครับ

คุณ ก้ามปู นักพัฒนาสุขภาพชุมชนคนรุ่นใหม่

     เรื่องแนวคิดที่อยู่ข้างในนี่แหละยาก ถึงยากที่สุดที่จะปรับเปลี่ยนได้ ตอนเปลี่ยนได้นี่สำหรับผมมีจุดเปลี่ยนครับ เคยเล่าไว้นานแล้ว "เงิน 50 บาท ของโต๊ะแก กับที่อยู่ในกระเป๋าผม มันไม่เท่ากัน หากนับเลยไปถึงว่าหากจ่ายแล้ว ที่เหลือจะพอเพื่อซื้อกับข้าวเย็นนี้ด้วยไหม"

ดิฉันเป็นคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่คนหนึ่ง ผู้หลงใหลและชื่นชมในภูมิปัญญาชาวบ้าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท