บันทึกดูงานประเทศอังกฤษ ดร.สุชิน ลิขิต ดิศกุล อยู่ในทีม


วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๙ Open Age Center และ NIACE
วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๙            คณะเดินทางไปที่ Open Age Center ได้พบกับ Helen Milner ซึ่งเป็น Chief Executive UK Online/Learndirect             Helen ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันมีศูนย์ UK Online อยู่ทั่วประเทศอังกฤษถึง ๖,๐๐๐ แห่ง เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๐๐๐ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้าน digital ของประเทศ ในจำนวนศูนย์ทั้งหมดนี้มี ๔๗% ตั้งอยู่ในห้องสมุดชุมชน ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในศูนย์บริการของชุมชนและองค์กรอาสาสมัครต่าง ๆ ในวิทยาลัยชุมชน หรือในภาคเอกชนก็มี ในแต่ละปีมีผู้ใช้บริการประมาณ ๓ ล้านคน และมากกว่า ๒ ใน ๓ นับเป็นผู้ที่ขาดโอกาสในสังคม ร้อยละ ๙๙ ของครัวเรือนผู้ใช้บริการอยู่ในพื้นที่ไม่ไกลกว่า ๙ กิโลเมตรจากศูนย์บริการ            งบประมาณได้ราว ๔๐๐ ล้านปอนด์ ได้มาจากกระทรวงศึกษาธิการ จากหน่วยงานการศึกษา ห้องสมุดชุมชน และจากกองทุนลอตเตอรี่ เป็นเครือข่ายที่ถือได้ว่าเป็นแหล่งการเรียนรู้สำหรับชุมชนต่าง ๆ กลยุทธ์ในการดำเนินงานมีขั้นตอนคือเริ่มด้วยการสร้างความตระหนัก ต่อด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการ ให้การฝึกอบรมทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ ทักษะการใช้อินเตอร์เน็ต ให้คำแนะนำในการค้นหาข้อมูลจาก web sites และสุดท้ายคือให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้จากการใช้อินเตอร์เน็ต ผลที่เกิดขึ้นคือการมีทักษะเพิ่มขึ้น สามารถศึกษาต่อได้ มีช่องทางการหางานทำได้กว้างขึ้นโดยเฉพาะสำหรบกลุ่มผู้ที่ขาดโอกาสทางสังคม นอกจากนั้นยังเป็นหน่วยส่งเสริมการใช้บริการต่าง ๆ ของรัฐที่เสนอผ่านอินเตอร์เน็ต (e-government/accessibility) และในขณะเดียวกันก็เป็นกลไกที่จะช่วยให้ประเทศอังกฤษและสหภาพยุโรปบรรลุผลในการนำประชาชนเข้าสู่ความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคม (e-inclusion/accessibility)             ในการแนะนำการใช้อินเตอร์เน็ตนั้นได้มีการพัฒนาโปรแกรมชื่อ My Guide สำหรับผู้เริ่มเรียน ทำให้สามารถเข้าใจได้ง่าย สะดวก ฟังเสียงคำอธิบายได้ ปรับเปลี่ยนขนาดของตัวอักษรได้ เปลี่ยนแปลงสีได้ จึงเหมาะสำหรับใช้ในการสอนในศูนย์ UK Online เป็น open source ซึ่งสามารถจะนำไปใช้ได้ทั่วไป การดำเนินงานมุ่งตอบสนองนโยบายของรัฐโดยผ่านความร่วมมือกับหลายองค์กร ทั้งทางด้านการศึกษา ภาษีอากร การส่งเสริมการหางานทำ การบริหารนักโทษ การบริการสาธารณสุข กองทุนผู้เกษียณอายุ และการเผยแพร่ข่าวสารของรัฐบาล ช่วยให้การบริการทางด้านต่าง ๆ ของรัฐมีค่าใช้จ่ายถูกลง             ส่วนที่น่าประทับคือศูนย์การเทคโนโลยีสารสนเทศเช่นนี้ได้กลายเป็นแหล่งรวมคน เพื่อสร้างความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ด้วย จนกลายเป็นแหล่งที่คนในชุมชนเข้ามาพบกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ช่วยขจัดความเงียบเหงาในชีวิตเนื่องจากการอยู่ตามลำพังเป็นเวลายาวนาน ทำให้เกิความกลมเกลียวกันในชุมชนได้มากขึ้น             ปัญหาสำคัญคือการหาอาสาสมัครที่เหมาะสมเข้ามาช่วยงาน บุคคลเหล่านี้จะไม่ได้ค่าตอบแทนเป็นเงิน แต่ได้รับบริการพิเศษ เช่น เข้ารับการอบรมหรือเข้าร่วมกิจกรรมบางอย่างโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนั้นยังมีปัญหาในการประสานงานข้ามหน่วยงาน ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้สำเร็จ เนื่องจากแต่ละหน่วยงานต่างมีเป้าหมายและวิธีการเฉพาะของตนเอง             สำหรับ Open Age Center ซึ่งเป็นที่ตั้งของ UK Online แห่งนี้นับเป็นเองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร รับผิดชอบดูแลผู้สูงอายุที่อยู่โดดเดี่ยว โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ ๕๐ ปีขึ้นไป ศูนย์แห่งนี้รับจัดตั้ง UK Online มาตั้งแต่ปี ๒๐๐๐ กิจกรรมเริ่มด้วยการฝึกใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ติดตามด้วยการใช้งานด้านต่าง ๆ เท่าที่ผ่านมาพบว่าผู้ใช้สนใจการใช้ e-mail การตรวจสอบสภาพภูมิอากาศ และการสั่งซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ตเป็นพิเศษ เจ้าหน้าที่ศูนย์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเธอพยายามเชื่อมโยงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับกิจกรรมอื่น ๆ เช่น เมื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนในกลุ่มการเขียนสร้างสรรค์ใช้คอมพิวเตอร์ในการเตรียมต้นฉบับ ส่งเสริมให้ใช้ภาพถ่ายหรือภาพวาดในการทำปฏิทิน บางคนต้องการเขียนเล่าเรื่องของตนเองให้ลูกหลานอ่านก็ส่งเสริมให้ใช้คอมพิวเตอร์จัดทำต้นฉบับ หรือถ่ายภาพการออกกำลังกายแบบโยคะหรือไทชิแล้วนำมาทำหนังสือ เป็นต้น ส่วนผู้ที่ไม่ค่อยชอบคอมพิวเตอร์แต่อยากเข้าไปแข่งขันชิงรางวัลจากการเล่นเกมในรายการโทรทัศน์ ก็ให้ลองเล่นเกมแบบเดียวกันที่บันทึกไว้ในแผ่น CD ก่อน เป็นต้น การฝึกถ่ายภาพโดยใช้กล้องดิจิตอลก็นับเป็นกิจกรรมที่มีผู้สนใจมาก สนุก            สำหรับกิจกรรมของ Leardirect นั้นเจ้าหน้าที่บอกว่ามีลักษณะเป็นทางการมากกว่า UK Online และกิจกรรมของ Open Age Center ซึ่งผู้รับบริการไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกก็ได้ มุ่งสร้างความสุขให้กับจากการเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน หากต้องการเรียนต่อให้เป็นเรื่องราวก็สามารถไปเรียนที่วิทยาลัยชุมชนได้ ผู้เรียนนำเอาขนมหรืออาหารจากบ้านมาแบ่งกัน บางคนเอาลูกมาด้วย เพื่อน ๆ ก็ช่วยกันเลี้ยง เวลาเครื่องมืออุปกรณ์เสียก็ช่วยกันซ่อม นอกเหนือจากที่มีอาสาสมัครช่วยเหลือ นอกจากนั้นยังมีบริการนำไปเที่ยวนอกศูนย์ ให้บริการขนส่งผู้ที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาใช้บริการไม่สะดวกด้วย เพื่อช่วยให้พ้นจากภาวะโดดเดี่ยว มีโอกาสสังสรรค์กับเพื่อนผู้สูงอายุด้วยกัน            ศูนย์แห่งนี้มีเจ้าหน้าที่ประจำ ๑๐ คน ครูประมาณ ๔๐ คน อาสาสมัครราว ๑๐๐ คนทั้งที่เข้ามาช่วยสอนและนำออกไปศึกษาดูงานข้างนอกศูนย์ ผู้บริการมีราว ๘๐๐ คน อาสาสมัครส่วนใหญ่เป็นหญิง ผู้ใช้บริการส่วนมากก็เป็นผู้หญิง เหตุผลที่อาสาสมัครเข้ามาช่วยทำงานก็เนื่องจากต้องการให้ความช่วยเหลือ ใช้เวลาว่างในการทำงานเพื่อสังคม             ต่อจากนั้นคณะเดินทางโดยรถไฟขึ้นทางเหนือไปมือง Leichester ใช้เวลาราว ๑ ชั่วโมง รถไฟวิ่งตรงเวลา นิ่มนวล สะอาดดีมาก ระหว่างทางได้เห็นชุมชนเกษตรกรรมซึ่งมีพื้นที่เป็นเนินสูงต่ำทั่วไป ตรงไหนที่เป็นโรงเรียนก็จะมองเห็นสนามฟุตบอลและสนามรักบี้อันเขียวขจีอยู่ด้วย จึงเข้าใจได้ว่าเพราะเหตุใดกีฬาทั้งสองประเภทนี้จึงเป็นที่นิยมของคนอังกฤษ             ที่ Leichester ลมแรงและอากาศหนาวเย็นกว่าในลอนดอน คณะได้มีโอกาสขึ้นแทกซีของอังกฤษเป็นครั้งแรก คันหนึ่งนั่งได้เต็มที่ถึง ๕ คนทีเดียว โดยนั่งหันหน้าเข้าหากัน กระเป๋ารวมเอาไว้ท้ายรถ ค่าโดยสารคิดตามระยะทางและจำนวนคนที่นั่ง พร้อมพิมพ์ใบเสร็จให้ด้วยเสร็จสรรพ จึงนับว่าสะดวกดี             ในที่สุดคณะก็เดินทางไปถึง National Institute for Adult and Continuing Education (NIACE) สำนักงานตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัย Leichester นั่นเอง ที่จริงก็ไม่ได้มีรั้วกั้นบอกอาณาเขตของมหาวิทยาลัยกับส่วนอื่น ๆ ของเมือง            คณะได้พบกับ Dr. Alan Clarke รองผู้อำนวยการทางด้าน ICT และ Learning เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการจัด e-learning มาเป็นระยะเวลายาวนานและมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติทีเดียว            Alan ให้ข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาผู้ใหญ่มีเพียง ๒๐ คน งานที่รับผิดชอบครอบคลุมทั้งเรื่องการวิจัยและปฏิบัติการ กลุ่มเป้าหมายถึงประชากรที่มีอายุ ๑๖ ปีขึ้นไป เนื้อหาที่เสนอมีความหลากหลาย มิใช่จำกัดอยู่เพียงเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเท่านั้น            NIACE รับฟังเสียงกลุ่มเป้าหมายผู้เรียนซึ่งมีอยู่ราว ๖๐ ล้านคน มากกว่าผู้สอน พยายามใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการศึกษา แต่ที่สำคัญคือหากการใช้เทคโนโลยีด้านนี้กลายเป็นอุปสรรคก็จะไม่ใช้ ในบางพื้นที่การเข้าถึงก็มีปัญหาเนื่องจากคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงมีราคาแพง รัฐบาลเคยจัดเงินราว ๔๐ ล้านปอนด์เพื่อจัดซื้อคอมพิวเตอร์มือถือให้กับเด็กนักเรียนจากครอบครัวยากจน เพื่อให้ใช้ทั้งในโรงเรียนและนำกลับไปใช้ที่บ้านได้ด้วย จัดบริการอินเตอร์เน็ตให้ถึงบ้านด้วย พ่อแม่ก็ได้เรียนไปพร้อมกับลูก ๆ ด้วย นอกจากนั้นยังมีโครงการทดลองจัดบริการอินเตอร์เน็ตร่วมกับชุมชนต่าง ๆ ปัญหาสำคัญมากคือขาดแคลนเงินทุนสำหรับใช้จัดอบรมให้ชาวบ้าน ปีหนึ่ง ๆ จึงสามารถให้การอบรมได้จำนวนจำกัดมาก กว่าจะจะขยายผลได้ครบถ้วนก็คงจะใช้เวลาอีกนานมาก             NIACE ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภาคเอกชนไม่น้อยทีเดียว เนื่องจากองค์กรเหล่านี้ใส่ใจในความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชุมชนแวดล้อม นอกจากนั้นแล้วยังมีรายได้จากการให้คำปรึกษา จัดการอบรม และทำวิจัย สมาชิกในเครือข่ายขององค์กรมีทั้งที่เป็นสถาบันการศึกษา กลุ่มอาสาสมัคร และอื่น ๆ ที่ทำงานส่งเสริมการศึกษาผู้ใหญ่            ในระยะ ๖-๗ ปีที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ใหญ่ได้เรียนการใช้คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ลักษณะการให้บริการมีความหลากหลายในแต่ละพื้นที่  NIACE รับผิดชอบจัดทำแผนงานระดับประเทศเสนอต่อรัฐบาล และดำเนินการมาแล้วเป็นเวลา ๓ ปีครึ่ง การเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ใช้บริการของ Joint Academic Network (JANET) ของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศอังกฤษ เนื่องจากมีความรวดเร็ว ราคาไม่แพง แต่ก็มีสมาชิกราวครึ่งหนึ่งที่มิได้เข้าเครือข่ายนี้ด้วย เนื่องจากมีเครือข่ายของตนเอง ในบางพื้นที่โดยเฉพาะในบริเวณภูเขาไม่มีโทรศัพท์ จึงต้องหันไปใช้ระบบไร้สาย ซึ่งก็มีราคาแพงเกินไป            NIACE มีบริการจัดอบรมให้กับผู้ที่จะกลับไปอบรมคนอื่น ๆ ต่อ เช่น อบรมให้กับกลุ่มบรรณารักษ์ซึ่งมีความสนใจและกระตือรือร้นอย่างมากในการให้บริการ e-learning แก่สมาชิกห้องสมุดที่ตนรับผิดชอบ เนื่องจากมีแรงจูงใจในการช่วยให้ผู้ใช้บริการค้นหาความรู้ได้ด้วยตนเอง ในลักษณะที่เป็นไปตามอัธยาศัยอยู่แล้ว e-learning จึงนับว่าเหมาะสมกับการคิดเชิงบวกเช่นนี้ นอกจากนั้นยังจัดอบรมให้กับผู้คุมนักโทษเพื่อให้บริการกับนักโทษ ผู้เข้ารับการอบรมส่วนใหญ่เป็นครูประจำการ การอบรมเป็นระบบผสม (blended learning approach) คือใช้ทั้งการสอนในห้องเรียนตามปกติและ e-learning ประกอบกัน ซึ่งนับว่าได้ผลดีกว่าที่จะใช้ e-learning แต่เพียงอย่างเดียว เพื่อผ่านการฝึกอบรมไปแล้วก็ทำงานสนับสนุนผู้ที่ประสงค์จะเรียนต่อในท้องถิ่นของตนเอง นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้บุคลากรระดับบริหารได้รับคำปรึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการ e-learning เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนอีกด้านหนึ่งด้วย เช่น ให้โอกาสพบกับผู้เชี่ยวชาญในลักษณะที่เป็นการพูดคุยกันตามอัธยาศัย ได้ผลดีกว่าการจัดอบรมอย่างเป็นทางการ สำหรับการจัดการกับผู้บริหารระดับอาวุโสนั้นยังเป็นเรื่องท้าทาย ทำให้สำเร็จผลได้ค่อนข้างยาก             NIACE กำลังสร้าง virtual learning environment สำหรับผู้ที่จะทำหน้าที่ฝึกอบราคนอื่นต่อ พัฒนาบทเรียนเกี่ยวกับ online learning และการพัฒนาเนื้อหาวิชาที่นำไปใช้สอนในระบบ online จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าเทคโนโลยีที่นิยมกันมากที่สุดคือกล้องดิจิตอล เพื่อแสดงกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีการเคลื่อนไหว นำเสนอเรื่องจากประสบการณ์ ซึ่งช่วยให้สามารถเรียนรู้ได้ง่ายและเร็วกว่าเดิม            ทฤษฎีการเรียนรู้ซึ่งใช้เป็นพื้นฐานของ e-learning มี ๓ เรื่องด้วยกันคือ active learning คือสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติการ collaborative learning ส่งเสริมให้ผู้เรียนทำงานร่วมกัน และ constructionism คือส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ทำในสิ่งที่มีความหมายสำหรับตนเอง ในระบบ online นั้นทั้งสามเรื่องนี้ทำได้ยากกว่าในห้องเรียนปกติ ต้องคอยย้ำและส่งเสริมบ่อย ๆ ผู้เรียนต่างวัฒนธรรมก็มีแบบแผนการเรียนต่างกัน ต้องคอยส่งสัญญาณให้เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนอย่างแข็งขัน การใช้ e-mail เป็นช่องทางในการตอบคำถามของผู้เรียนอย่างรวดเร็วนับว่าได้ผลดีมาก            ความเชื่อมั่นในตนเองนับว่าเป็นพื้นฐานสำคัญในความสำเร็จในการเรียนระบบ online การออกกลางคันนับว่ามีสูงมากในการเรียนในระบบนี้ (ประมาณถึงร้อยละ ๙๐ ทีเดียว) ควรให้ความสำคัญในการช่วยพัฒนาทักษะในการเรียนรู้ด้วย นั่นคือแทนที่จะเน้นการฟังและพูดอย่างที่คุ้นเคยในระบบชั้นเรียนปกติ ก็จะเน้นเรื่องการอ่านและเขียนเป็นสำคัญ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมการเรียนอย่างมาก จึงควรสร้างระบบช่วยเหลือให้สามารถเขียนได้อย่างกระชับ ได้ใจความ แต่ไม่จำเป็นต้องถูกไวยากรณ์มากนักก็ได้ รู้จักอ่านสรุปความได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น จึงจะเป็นหลักประกันให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้อย่างมั่นคง            รัฐบาลให้การสนับสนุนการลงทุนผลิตเนื้อหา e-learning ที่มีคุณภาพสูง เป็นเนื้อหาหลักที่กำหนดไว้ในหลักสูตร หรือเป็นเนื้อหาที่มีผู้ต้องการเรียนกันอย่างกว้างขวาง เช่น ภาษาเยอรมัน ฝรั่งเศส และสเปน เพื่อประโยชน์ในการเดินทางท่องเที่ยว หรือภาษาอังกฤษสำหรับประชากรของอังกฤษเองที่ยังไม่สันทัดในภาษาประจำชาติ การดำเนินการเรื่องนี้ต้องใช้เวลา ความชำนาญการของผู้รับงาน และค่าใช้จ่ายมาก แต่ถ้าหากให้ทุนก้อนไม่ใหญ่นักกับครูไปทำกลับพบว่าได้ผลดีมาก สื่อมีคุณภาพดี ใช้เวลาน้อย และมีหลักประกันว่าจะมีการนำไปใช้ประโยชน์ด้วย ผลงานบางชิ้นมีคุณภาพเทียบระดับมืออาชีพเลยทีเดียว            Alan ได้มอบเอกสารให้คณะหลายรายการ เพื่อนำไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ข้อแนะนำเกี่ยวกับเรื่องการเชื่อมโยงและส่งเสริมให้ครูช่วยกันพัฒนาเนื้อหาสำหรับ e-learning และการให้ความช่วยเหลือผู้เรียนในระบบ online เพื่อมิให้หยุดเรียนกลางคันนับว่าเป็นประโยชน์ยิ่ง 
หมายเลขบันทึก: 58205เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2006 16:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 18:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

เขียนได้ละเอียดดี  ทำให้ได้รู้เรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษาของประเทศอังกฤษมากขึ้น

เป็นบทความที่ดีมากเลยค่ะ  ทำให้ได้รับความรู้เพิ่มมากยิ่งขึ้น และยังได้ทราบถึงนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการ  สนับสนุนการลงทุนผลิตเนื้อหา e-learning  ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก ทำให้เราสามารถพัฒนาบทเรียนออนไลน์ไปเรื่อยๆ  ซึ่งเป็นการขยายโอกาสในการศึกษาอีกด้วย

ใครที่ได้อ่านบทความนี้  คงต้องเกิดความกระตือรือร้น  อยากพัฒนาตนเองด้านเทคโนโลยีให้ทันโลกแล้วล่ะค่ะ  และที่สำคัญได้รู้เส้นทางไปสถานที่ที่น่าสนใจอีกด้วย  รวมถึง  e-learning  ซึ่งเป็นเรื่องที่มีมานานแล้วก็จริงแต่ก็ยังมีผู้ให้ความสนใจอย่างมาก  ฉะนั้นน่าจะนำมาพัฒนาในระบบการเรียนการสอนในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณค่ะสำหรับบทความที่ช่วยทำให้เห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้ด้วยตนเอง   หากใครสนใจระบบ e-learning ที่เป็นโอเพ่นซอส (ใช้ได้ฟรี)  คิดว่า Moodle เป็นซอฟต์แวร์ที่น่าสนใจค่ะ มีการนำไปใช้มากกว่า 100 ประเทศ  ตัวอย่างของการใช้เช่นที่ http://e-learning.en.kku.ac.th

  • ยินดีตรับที่คุณammy คุณชณาภา และคุณทัศนีย์ได้ประโยชน์จากการเรียนรู้
  • ขอบคุณ ดร.กานดาครับที่ช่วยขยายแหล่งเรียนรู้ระบบ e-learning ที่เป็นโอเพ่นซอส
ผมได้ข้อมูลจากที่ อ.ดิศกุล ได้มาเพยแพร่มากเลยครับ
ข้อมูลน่าสนใจเป็นความรู้ดีครับ
เป็นความรู้ดีครับ ขอให้ อ.ดิศกุล มีผลงานดีๆแบบนี้มาให้ความรู้เรื่อยๆนะครับผมจะแวะมาอ่านบ่อยๆ

ในโลกแห่งการสื่อสาร  เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า  การสร้างกระบวนการเรียนรู้และการแสวงหาความรู้จึงเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินเอื้อม  แนวคิดและแรงกระตุ้นอยู่ตรงหน้าผู้รักการศึกษาแล้ว 

Mr.ดิศกุลท่านเยี่ยมยอดมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท