AAR เปิดงานโครงการ จัดการความรู้ระดับชุมชน


นำโดยครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์

AAR เปิดงานโครงการ จัดการความรู้ระดับชุมชน

เมื่อวันที่ ๘ – ๙ ตค. ๔๘    ผมได้มอบหมายให้คุณอ้อกับคุณเพชรไปร่วมการสัมมนาเปิดโครงการ KM ระดับชุมชนของครูบาสุทธินันท์ ที่บุรีรัมย์    ทีมงานกลับมา AAR สู่กันใน สคส. ดังได้บันทึกไว้ในบันทึกกิจกรรมดังต่อไปนี้

สุภาภรณ์ ธาตรีโรจน์ และวรรณา เลิศวิจิตรจรัส ได้ AAR ว่า เมื่อวันที่ 8-9 ตุลาคม 2548 ได้เดินทางไปร่วมงานเปิดโครงการ จัดการความรู้ระดับชุมชน ณ สวนป่าครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 128 คน แบ่งเป็น กรรมการอำนวยการและเจ้าหน้าที่โครงการ 11, หัวหน้าฐานและสมาชิกฐาน 65 คน, คณะพันธมิตรทางวิชาการ 6 คน, คณาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 4 คน, คณะวิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ 5 คน, คณะการศึกษานอกโรงเรียน 2 คน, คณะวิทยาลัยชุมชน 2 คน, กลุ่มเกษตรอินทรีย์จังหวัดอุบลราชธานี (เครือข่าย ดร. แสวง รวยสูงเนิน) 10 คน, นิสิตฝึกงาน จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 12 คน, ตัวแทนคณะครูโรงเรียนมัธยมสตึก/กนกศิลป์พิทยาคม/จุฬาภรณ์ฯ 4 คน และคณะอื่นๆ อีก 7 คน

กิจกรรมวันแรก (8 ต.ค. 2548) ครูบาสุทธินันท์ ได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน และข้อตกลงของสัญญาในโครงการให้ทุกฝ่ายรับทราบ  และ สคส. ได้นำเสนอสิ่งที่ สคส. มุ่งหวังอยากจะเห็นและเกิดขึ้นในโครงการนี้ โดยใช้ชื่อหัวข้อว่า โครงการ จัดการความรู้ระดับชุมชน” เพื่อทดลองนำความรู้มาใช้งานและสร้างใหม่  รวมทั้งเปิดโอกาสให้คณะกรรมการอำนวยการ คณะพันธมิตรทางวิชาการ และหัวหน้าฐานและสมาชิกฐานการเรียนรู้ 10 ฐาน ได้มาชี้แจงถึงบทบาท หน้าที่ และจุดมุ่งหมายที่เข้าร่วมในโครงการนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและชัดเจนต่อการดำเนินงาน ให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้  สำหรับกิจกรรมในวันที่สอง (9 ต.ค. 2548) เปิดเวทีให้คณะหัวหน้าฐานการเรียนรู้ 10 ฐาน ถามข้อสงสัยและสิ่งที่จะได้รับจากโครงการ  โดยมีหัวหน้าโครงการและคณะกรรมการอำนวยการ, คณะพันธมิตรทางวิชาการ และ สคส. เป็นผู้ตอบข้อสงสัย และให้ความกระจ่างแก่หัวหน้าฐาน  ซึ่งจากการสังเกตเห็นว่า หัวหน้าฐานยังไม่ชัดเจนในบทบาทและหน้าที่ของตนเอง และต่อสมาชิกลูกฐาน และส่วนใหญ่มีการทำงานแบบปัจเจกบุคคลมากกว่าทำงานเป็นทีม รวมทั้งกังวลในเรื่องของการจดบันทึก การใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อเขียนบล็อก   และสิ่งที่คณะกรรมการอำนวยการ และคณะพันธมิตรทางวิชาการจะลงมาช่วยเหลือสนับสนุนจะเป็นอย่างไร  สำหรับทางฝ่ายคณะกรรมการอำนวยการ และคณะพันธมิตรทางวิชาการ ก็พยายามจะนำเสนอ ชี้แจง สิ่งที่ดีและมีประโยชน์ให้แก่หัวหน้าฐาน จนลืมว่าบทบาทและหน้าที่ของตนเอง และเป้าหมาย/วัตถุประสงค์หลักที่มุ่งหวังให้เกิดขึ้นในโครงการนี้ที่มีต่อสมาชิกฐานคืออะไร        

 ดังนั้น อ. ประพนธ์ ผาสุขยืด จึงเสนอว่า น่าจะให้มีการฝึกอบรมในเรื่องการจัดการความรู้ ให้แก่ คณะหัวหน้าฐานการเรียนรู้ 10 ฐาน, คณะกรรมการอำนวยการ และคณะพันธมิตรทางวิชาการ ก่อน เพื่อให้เกิดผลต่อการทำงาน, การสื่อสาร และความเข้าใจให้มีประสิทธิผลสูงสุด และหลังจากนั้นค่อยฝึกอบรมทักษะการเป็นคุณอำนวยและบล็อกในขั้นต่อไป 

ขอสื่อสารมายังครูบาสุทธินันท์และทีมงานเรื่องข้อเสนอแนะตามข้อความในย่อหน้าสุดท้ายด้วยนะครับ
วิจารณ์ พานิช
๒๔ ตค. ๔๘
หมายเลขบันทึก: 5817เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2005 20:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท