เป้าแผนฯ 10 ลดคนจน-สังคมเป็นสุข ภายในปี 2554 บนฐานเศรษฐกิจพอเพียง


เป้าแผนฯ 10 ลดคนจน-สังคมเป็นสุข

เป้าแผนฯ 10 ลดคนจน-สังคมเป็นสุข
ภายในปี 2554 บนฐานเศรษฐกิจพอเพียง

 สศช. ชูแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ใช้แนว สังคมอยู่เย็นเป็นสุขภายใต้เศรษฐกิจพอเพียง ตั้งเป้าช่องว่างคนรวย-จนไม่เกิน10เท่า มีคนอยู่ใต้เส้นความยากจนลงเหลือร้อยละ 4 ภายในปี 2554 รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ระหว่างปีงบประมาณ 2550-2554 ที่ได้เสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบเมื่อวันที่ 7 พ.ย.  ได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยให้มุ่งพัฒนาสู่ สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน คนไทยมีคุณธรรมนำความรอบรู้ รู้เท่าทันโลก ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติสุข เศรษฐกิจมีคุณภาพ เสถียรภาพ และเป็นธรรม สิ่งแวดล้อมมีคุณภาพและทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน อยู่ภายใต้ระบบบริหารจัดการประเทศที่มีธรรมาภิบาล ดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอยู่ในประชาคมโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี ขณะที่พันธกิจ จะให้การพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 มุ่งสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันภายใต้แนวปฏิบัติของ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง   ทั้งนี้ เป้าหมายด้านเศรษฐกิจของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ในส่วนโครงสร้างเศรษฐกิจ สัดส่วนภาคเศรษฐกิจในประเทศต่อภาคการค้าระหว่างประเทศ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 75 ภายในปี 2554 และสัดส่วนภาคการผลิตเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15 ภายในปี 2554 เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ 3.0-3.5 ต่อปี สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม   ในประเทศ (จีดีพี) ไม่เกินร้อยละ 50 และความยืดหยุ่นการใช้พลังงานเฉลี่ยไม่เกิน 1:1 ในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10   ขณะที่ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สัดส่วนรายได้ของกลุ่มที่มีรายได้สูงสุดร้อยละ 20 แรกต่อรายได้ของกลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 ไม่เกิน 10 เท่าภายในปี 2554 และสัดส่วนผลผลิตของเอสเอ็มอีต่อจีดีพี   ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 สำหรับเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพคนและความเข้มแข็งของชุมชน กำหนดให้คนไทยทุกคนได้รับการพัฒนาให้มีความพร้อมทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา คุณธรรม จริยธรรม อารมณ์ มีความสามารถในการแก้ปัญหา มีทักษะในการประกอบอาชีพ มีความมั่นคงในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี และอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เพิ่มจำนวน          ปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยเป็น 10 ปี พัฒนากำลังแรงงานระดับกลางที่มีคุณภาพเพิ่มเป็นร้อยละ 60 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และเพิ่มสัดส่วนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาเป็น 10 คนต่อประชากร 10,000 คน อายุคาดหมายเฉลี่ยของคนไทยสูงขึ้นเป็น 80 ปี ควบคู่กับการลดอัตราเพิ่มของการเจ็บป่วยด้วยโรคป้องกันได้ใน 5 อันดับแรก คือ หัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หลอดเลือดสมอง และมะเร็ง นำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และลดรายจ่ายด้านสุขภาพของบุคคลลงในระยะยาว การพัฒนาชุมชนและแก้ปัญหาความยากจนทุกชุมชนมีแผนชุมชนแบบมีส่วนร่วม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำแผนชุมชนไปใช้ประกอบการจัดสรรงบประมาณเพิ่มกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมและบรรเทาปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด และขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุน การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และลดสัดส่วนผู้อยู่ใต้เส้นความยากจนลงเหลือร้อยละ 4 ภายในปี 2554 สำหรับเป้าหมายด้านธรรมาภิบาล มุ่งให้ธรรมาภิบาลของประเทศดีขึ้น มีคะแนนภาพลักษณ์ของ  ความโปร่งใสอยู่ที่ 5.0 ภายในปี 2554 ระบบราชการมีขนาดที่เหมาะสม และมีการดำเนินงานที่คุ้มค่าเพิ่มขึ้น ลดกำลังคนภาคราชการให้ได้ร้อยละ 10 ภายในปี 2554 ธรรมาภิบาลในภาคธุรกิจเอกชนเพิ่มขึ้น ท้องถิ่น        มีขีดความสามารถในการจัดเก็บรายได้และมีอิสระ ในการพึ่งตนเองมากขึ้น ภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง       รู้สิทธิ หน้าที่ และมีส่วนร่วมมากขึ้นในการตัดสินใจและรับผิดชอบในการบริหารจัดการประเทศ

สยามรัฐ  9 พ.ย.  2549 

หมายเลขบันทึก: 58130เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2006 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท