ดัชนีวัดความสุข ไม่ได้อยู่ที่รัฐ


                (บทความจาก เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549)

                แรงขับเคลื่อนเพื่อให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข ชุมชนย่อมมีส่วนอย่างมากในการสร้างดัชนีวัดความสุข และดัชนีชี้วัดความสุขที่ดีต้องมาจากประชาชน ไม่ใช่รัฐบาลเลือกให้ ลองมาฟังความเห็นจากเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2549 คราวนี้ว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียง

                กล่าวหลังจากเข้าร่วมเป็นประธานการประชุมเรื่อง การจัดทำดัชนีชี้วัดความอยู่เย็นเป็นสุข ว่า แนวทางการจัดทำดัชนีชี้วัดความสุขรัฐบาลต้องสนับสนุนการสร้างดัชนีชี้วัดความสุขของประชาชนในแต่ละชุมชนท้องถิ่น โดยรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนทางด้านเงินทุนและวิชาการ

               รวมทั้งต้องกลับมาให้ความสำคัญกับความอยู่เย็นเป็นสุขมากกว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมา ที่มุ่งเน้นการเจริญเติบโตของจีดีพี ซึ่งไม่ได้เป็นดัชนีที่สะท้อนถึงระดับการพัฒนาสังคมได้อย่างแท้จริง เพราะตัวเลขจีดีพี สามารถเพิ่มได้ด้วยการลงทุนในโครงการต่างๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ แต่ไม่ได้สะท้อนผลที่เกิดขึ้นจากการลงทุนดังกล่าวว่าทำให้สังคมพัฒนาจริงหรือไม่

                "การสร้างดัชนีชี้วัดความสุขไม่ได้หมายความว่าจะไปเลิกดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ เพราะสิ่งนั้นก็สำคัญในการบริหารเศรษฐกิจที่เราจำเป็นต้องรู้ว่าภาคการผลิต บริการ และการเงินเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์กัน หากบริหารจัดการไม่ดีจะกระทบถึงการจ้างงานหรือภาวะเงินเฟ้อ สุดท้ายจะกระเทือนต่อความเป็นสุขของประชาชนได้เพราะฉะนั้นต้องสร้างความพอดีระหว่างสองสิ่งนี้ให้ได้"

                ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า แม้การวัดดัชนีชี้วัดความสุขจะมีอยู่หลากหลายวิธี แต่ประเด็นสำคัญคือวิธีการในการใช้ดัชนีชี้วัดความสุขให้เป็นประโยชน์ เพราะจะมีคุณค่ากว่าการมุ่งพิจารณาว่าถูกต้องหรือไม่ ดีหรือไม่ดี ซึ่งจะได้ประโยชน์น้อยกว่ามาก ดังนั้นหากจะนำดัชนีชี้วัดความสุขไปใช้ประโยชน์ได้จริงต้องพัฒนาเป็นเครื่องมือสร้างความสุขและความคิดที่นำไปสู่การกระทำให้ได้

                "ดัชนีความสุขจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อประชาชนเองสนใจชีวิตที่เป็นสุขหรืออยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขอยากรู้ว่าตอนนี้ความสุขเราอยู่ในระดับไหน ความมั่นคงในชีวิตเป็นอย่างไร การศึกษาเรียนรู้ การทำมาหากิน สภาพแวดล้อมของเราเป็นอย่างไร การเมืองการปกครองให้สิทธิเราในการมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน เรารู้สึกว่าตัวเองมีคุณธรรมที่นำไปสู่ความสุขมากน้อยแค่ไหนในจิตใจ ถ้าเราอยากรู้อย่างนี้ พอวัดแล้วจะทำให้รู้ว่าอะไรที่ขาดหายไปและต้องเสริมเพิ่มเติมเข้ามา"

                รมว.พม.กล่าวต่อว่าไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐเป็นผู้สร้างดัชนีขึ้นมาเองเพราะดัชนีชี้วัดความสุขที่ดีต้องให้ประชาชนเป็นผู้เลือก ไม่ใช่รัฐบาลเลือกหรือยัดเยียดให้ ประชาชนแต่ละท้องถิ่นควรเป็นผู้คิดและเลือกเอง เพื่อจะได้ดัชนีที่ "เป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน" อันจะนำไปสู่การปฏิบัติในภาคประชาชนแต่ละกลุ่มอย่างแท้จริง โดยรัฐอาจเป็นผู้สนับสนุนด้านวิชาการและเงินทุน และนำดัชนีเหล่านั้นมาประมวลเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างภาพรวมและนำมาใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้ทั้งแบบคนต่อคนชุมชนต่อชุมชน หรือกระทั่งจังหวัดต่อจังหวัด อย่างไรก็ตาม ต้องเปิดช่องให้แต่ละชุมชนสามารถยืดหยุ่นตามสภาพสังคมที่แตกต่างกัน

                "ปัจจุบันสังคมไทยเริ่มให้ความสำคัญกับดัชนีชี้วัดความสุขมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 หรือเครือข่ายต่างๆ ที่มุ่งสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนมากขึ้น หลายหน่วยงานออกมาขับเคลื่อนแนวคิดเรื่องความ พอดี พอประมาณ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อจะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่แม้จะไม่ได้โตมากเหมือนสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ก็มั่นคง ไม่โตแบบลูกโป่งที่แม้จะรวดเร็วแต่ไร้ความมั่นคง"

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

9 พ.ย. 49
คำสำคัญ (Tags): #รัฐมนตรี
หมายเลขบันทึก: 58087เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2006 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 20:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท