โครงการพัฒนาหมอนวดแผนไทยตามหลักเวชศาสตร์ฟื้นฟูฯ ที่ชุมชนเกาะเรียน


โครงการนี้มีลักษณะของไตรภาคีหลายอย่างมาก อาทิ ภาคส่วนท้องถิ่นคือ เทศบาลตะโหมด ภาครัฐ คือหน่วยงานด้านสาธารณสุข และภาคองค์กรประชาชน คือชุมชนและเครือข่ายหมอนวดฯ อีกลักษณะคือ หมู่บ้านตำบล อำเภอ และจังหวัด หรือลักษณะของผู้ปฏิบัติการอย่างหมอนวด หมออนามัย ผู้อำนวยการอย่างสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาล และผู้สนับสนุนอย่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ฯลฯ คงต้องหาลักษณะไตรภาคีอีกให้ได้

      ผลพวงจากการเดินเรื่องแบบไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน ซึ่งมีสมาชิกในทีมงานฯ และเป็นสมาชิกของเครือข่ายหมอนวดแผนไทยอำเภอตะโหมด ด้วยได้นำหลักการไปใช้ ไปพัฒนาภายในเครือข่าย เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยนกัน จนได้พัฒนาเป็นโครงการพัฒนาหมอนวดแผนไทยตามหลักเวชศาสตร์ฟื้นฟู เครือข่ายหน่วยบริการ (CUP) ตะโหมด โดยสถานีอนามัยบ้านเกาะเรียน ปี 2549 ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการจากกองทุนการจัดบริการเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการจังหวัดพัทลุง วงเงินรวม 59,040 บาท ซึ่งโครงการนี้มีลักษณะของไตรภาคีหลายอย่างมาก อาทิ ภาคส่วนท้องถิ่นคือ เทศบาลตะโหมด ภาครัฐ คือหน่วยงานด้านสาธารณสุข และภาคองค์กรประชาชน คือชุมชนและเครือข่ายหมอนวดฯ อีกลักษณะคือ หมู่บ้านตำบล อำเภอ และจังหวัด หรือลักษณะของผู้ปฏิบัติการอย่างหมอนวด หมออนามัย ผู้อำนวยการอย่างสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาล และผู้สนับสนุนอย่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ฯลฯ คงต้องหาลักษณะไตรภาคีอีกให้ได้ ในโอกาสต่อไป

     โครงการนี้จะเริ่มขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม 2548 นี้ ไปจนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 1548 โดยทางเทศบาลตะโหมดได้ให้ใช้ห้องประชุมยาวติดต่อกันถึง 10 วัน เพื่อให้เครือข่ายหมอนวดฯ ได้ฝึกปฏิบัติกัน และสิ่งอำนายความสะดวกทั้งหมด งานนี้นายกเทศมนตรีฯ คุณพี่ชนะ เขียวจีน สนับสนุนอย่างเต็มที่ ก็ได้ทีมวิทยากรผู้ฝึกสอนจากงานแพทย์แผนไทยฯ สสจ.พัทลุง (หมอผาด) และรพ.ตะโหมด (หมอสุรินทร์) ส่วนผมจะรับเป็นคนถอดบทเรียนในแต่ละวัน และการประเมินผลโครงการในภาพรวมทั้งหมด สำหรับวันแรก นพ.ยอร์น จิระนคร (นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพัทลุง) จะไปเป็นประธานเปิดการอบรมฯ ให้ โดยได้ถือโอกาสนี้เพื่อพบกับทีมงานเครือข่ายไตรภาคีฯ พื้นที่นี้ด้วยเลย

     สำหรับกลุ่มเป้าหมายในโครงการนี้ คือ เครือข่ายหมอนวดแผนไทยอำเภอตะโหมดจำนวน 10 คน, เครือข่ายหมอนวดแผนไทยอำเภอเขาชัยสน 2 คน และผู้พิการที่เข้าร่วมโครงการฯ ด้วยความสมัครใจ จำนวน 12 คน ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์ และเป้าหมายในการดำเนินงานที่ตั้งไว้ คือเพื่อเป็นการส่งเสริมพัฒนาองค์ความรู้ และทักษะของหมอนวดพื้นบ้านแผนไทยตามหลักเวชศาสตร์ฟื้นฟู และเพื่อพัฒนาแนวทางการจัดการองค์ความรู้ใหม่ที่ผสมผสานภูมิปัญญาความรู้เดิมเพื่อสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในชุมชน

     สำหรับเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยเน้นที่การกำหนดแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ มีดังนี้
              1. ประชุมเครือข่ายหมอนวดแผนไทยที่เข้าร่วมโครงการ ฯ และผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 15 คน จำนวน 1 ครั้ง
              2. ประชุมแกนนำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องคนพิการที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย   ญาติหรือผู้ดูแล จำนวน 30 คน จำนวน 1 ครั้ง 
              3. ดำเนินการขอความเห็นชอบหลักสูตรการอบรมเวชศาสตร์ฟื้นฟูสำหรับหมอนวดแผนไทยจากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 1 ครั้ง หรือพัฒนาจนเห็นชอบร่วมกัน
              4. อบรมเชิงปฏิบัติการตามหลักสูตรเวชศาสตร์ฟื้นฟูสำหรับหมอนวดแผนไทยที่เข้าร่วมโครงการ ฯ จำนวน1 ครั้ง จำนวน 10 วัน จำนวน 12 คน
              5.  ติดตามและประเมินผลการดำเนินการ ฯ และผลลัพธ์การให้บริการแก่คนพิการของหมอนวดแผนไทย จำนวน 10 คน คนละ 4 ครั้ง
              6.  ประเมินผลโครงการ ฯ และเขียนรายงานสรุปผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตรฯ และโครงการฯ  จำนวน 1 ครั้ง

     สำหรับความคาดหวังลึก ๆ ที่จะควรจะต้องได้ คือเพื่อเพิ่มเติมเต็มให้กับคนพิการที่มักจะขาดโอกาส โดยเฉพาะเมื่อกลับมาอยู่บ้าน และจะไม่ได้รับการฟื้นฟูฯ อย่างเป็นระบบ ผลก็คือความพิการที่เพิ่มมากขึ้น และคาดหวังตามโครงการฯ ดังนี้ครับ
              1.  เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานที่ดีจากเครือข่ายแพทย์แผนไทย และขยายวงกว้างออกไป
              2.  กลุ่มคนพิการเข้าร่วมโครงการจนสิ้นสุดโครงการอย่างต่อเนื่อง และสามารถขยายผลหลังสิ้นสุดโครงการฯ แล้วด้วย
              3.  คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิ ฯ ด้วยการได้รับการบริการเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์โดยการนวดตามหลักสูตรเวชศาสตร์ฟื้นฟู ฯ
              4.  หลักสูตร ฯ ได้รับการประเมินประสิทธิผลต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์แก่คนพิการ
              5.  สามารถนำหลักสูตร ฯ ที่ได้จากการอบรม ฯไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิผล ในพื้นที่อื่น ๆ อีก
              6.  มีการนำหลักสูตร ฯ  และรูปแบบโครงการ ฯ ไปขยายการดำเนินงานในพื้นที่อื่นเพื่อให้คนพิการได้เข้าถึงสิทธิ ฯ ได้อย่างถ้วนหน้า

     ได้ประเด็นอะไรมาในแต่ละวัน ก็ได้บันทึกถ่ายทอดลงไปไว้ใน Blog ไตรภาคีฯ ในแต่ละวันเลยครับ เพราะเป็นผลพวงจากการเดินเรื่องไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน และจะพยายามให้หมอนวดฯ ที่เข้าอบรมแต่ละคน ได้ทำการบ้านโดยการเล่าเรื่อง "วันนี้ได้อะไรบ้าง" แล้วจะนำมาบันทึกไว้ครับ

หมายเลขบันทึก: 5808เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2005 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท