ครม. เห็นชอบวาระปราบคอรัปชัน


ครม. ปราบคอรัปชัน
ครม. เห็นชอบวาระปราบคอรัปชัน

บ่ายวันที่ 7 พ.ย.  ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมครม. ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่ คมช. เสนอเรื่องวาระแห่งชาติ โดยมีมติในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ  ซึ่งในส่วนของภาครัฐจะดูแลการตรวจสอบภายในของแต่ละกระทรวงก่อนว่าได้มีการตรวจสอบภายในอย่างไร จากนั้นจึงเป็นเรื่องของหน่วยงานภายนอกเข้ามาดูแลตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบ  นอกจากนี้ ยังมีมติเห็นชอบตามเรื่องการเฉลิมฉลอง เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา โดยจะเริ่มการเฉลิมฉลองตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 49 - 5 ธ.ค. 50 โดยจะเชิญชวน พี่น้องประชาชนร่วมในปีแห่งการเฉลิมฉลองนี้ ด้วยการสร้างความปรองดองสร้างความสามัคคีขึ้นในชาติ 

คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับหลักการตามข้อเสนอของ คมช. เกี่ยวกับนโยบายด้านจริยธรรม ธรรมาภิบาลและการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบซึ่งจัดทำโดยคณะที่ปรึกษาด้านการเสริมสร้างจริยธรรม ธรรมาภิบาลและการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ
โดยมอบให้กระทรวงการต่างประเทศรับผิดชอบการลงสัตยาบันตามอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติว่าด้วย
การต่อต้านคอรัปชัน และปรับปรุงแก้ไขกฎหมายตามอนุสัญญา    ส่วนภาคการเมือง จะจัดทำประมวลจริยธรรมหรือจรรยาบรรณในการปฏิบัติงานของ ครม. เพื่อเป็นตัวอย่าง  โดยมอบหมายให้นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์    รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบ   ส่วนตนได้รับมอบหมายให้เป็นแม่งานในการเสริมสร้างระบบคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในภาคราชการ ให้นำมาปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งได้เสนอให้เพิ่มดัชนีชี้วัดในการประเมินคุณธรรมและจริยธรรมควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องไปพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและศีลธรรมในทุกระดับการศึกษา ตลอดจนปรับเนื้อหาการเรียนการสอนให้ทันสมัย
  คุณหญิงทิพาวดีกล่าวด้วยว่า ที่ประชุม ครม. ยังให้ความเห็นชอบในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา      เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานสภาและรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ รวมทั้ง  ร่างระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทน ค่าป่วยการ และประโยชน์ตอบแทนอื่นของคณะกรรมการตรวจสอบ และสมัชชาแห่งชาติ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ   อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุม       ตั้งข้อสังเกตว่า ในส่วนของตำแหน่งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายวันเฉพาะวันที่มาประชุมในอัตราวันละ 2,000 บาท ดูแล้วถือว่าได้รับน้อยเกินไป ไม่สอดคล้องกับตำแหน่งอื่น เพราะได้รับเป็นเพียงเบี้ยเลี้ยง จึงมอบหมายให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ และ รมว.คลัง นำกลับนำไป พิจารณาทบทวนให้สอดคล้องกับภาระงานและค่าตอบแทน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอัตราเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มที่ผ่านความเห็นชอบของ ครม. ประกอบด้วย 1. ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้รับเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 65,920 บาท เงินเพิ่ม 50,000 บาท เทียบเท่ากับประธานรัฐสภา   2. รองประธาน สนช. ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 64,890 บาท เงินเพิ่ม 45,500 บาท เทียบเท่ากับรองประธานรัฐสภา   3. สมาชิก สนช. ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 62,000 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท เทียบเท่า ส.ส.  ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง   4. ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 64,890 บาท เงินเพิ่ม 45,550 บาท เทียบเท่ารองประธานรัฐสภา    5. รองประธาน   สภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 63,890 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท    6. สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 62,000 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท   ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง    7. ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 69,220 บาท เงินเพิ่ม 50,000 บาท เทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรี    8. รองประธาน คมช. ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 68,140 บาท เงินเพิ่ม 45,500 บาท เทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรี   9. สมาชิก คมช.ได้ รับเงินประจำตำแหน่ง 67,060 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท เทียบเท่ารัฐมนตรี ทั้งนี้ ให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ดำรงตำแหน่ง   10. ประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 64,000 บาท เงินเพิ่ม 50,000 บาท เทียบเท่าประธานศาลฎีกา           
11. รองประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 64,000 บาท เงินเพิ่ม 45,000 บาท         12. ตุลาการรัฐธรรมนูญ ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 62,000 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท เทียบเท่าตุลาการ      ศาล
รัฐธรรมนูญ   13. ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ ได้รับเงินค่าตอบแทนเดือนละ 108,500 บาท เทียบเท่ากับประธาน ป.ป.ช.    14. รองประธานและกรรมการตรวจสอบ ได้รับเงินค่าตอบแทน 104,500 บาท เทียบเท่ากับกรรมการ ป.ป.ช. ส่วนตำแหน่งประธานสมัชชาแห่งชาติ รองประธานสมัชชาแห่งชาติ และสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าป่วยการในการมาปฏิบัติงานจนเสร็จสิ้นภารกิจในลักษณะเหมาจ่ายคนละ 3,000 บาท และค่าที่พัก (เฉพาะการเดินทางข้ามจังหวัดและจำเป็นต้องพักแรม) เหมาจ่ายวันละ 1,000 บาท และค่าพาหนะ  จะได้รับเท่าที่จ่ายจริง เว้นแต่การเดินทางโดยเครื่องบิน ให้เบิกค่าโดยสารเครื่องบินในอัตราชั้นประหยัด 
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวถึงเสียงวิจารณ์ว่า การกำหนดเงินเดือนของ คมช. อาจจะไม่เหมาะสม เพราะ คมช. มาจากการทำรัฐประหารว่า บุคคลเหล่านี้ทำหน้าที่รักษาความมั่นคง   หากเราไปจ่ายคณะปฏิวัติก็ถือเป็นเรื่องผิด แต่นี่เป็นการจ่ายเงินเดือนให้กับ   คมช. เฉพาะคนที่ทำหน้าที่อยู่ ส่วนคนอื่นที่เกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจในตอนแรกก็ไม่ได้เงินอะไรอยู่แล้ว อย่าไปหาเรื่องเขาเลย   ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการมองว่า คมช. มีที่มาจากการรัฐประหารจึงไม่สมควรได้รับเงินเดือน     ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า ถ้ามองกันอย่างนี้ก็ทำงานไม่ได้ ทุกตำแหน่งก็มาจากการทำรัฐประหารทั้งนั้น รวมทั้งตนด้วย จะให้ทำงานกันหรือเปล่า เหตุผลที่ให้เงินเดือน คมช. เพราะมีหน้าที่ในการดูแลความมั่นคง เมื่อทำงานก็ต้องให้เงินเดือน ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มากกว่ากัน 4,000 บาท ดูแล้วเหมาะสม ไม่ได้ เกินกว่าเหตุ และถ้าเทียบกับเงินเดือนของภาคเอกชน ถือว่าค่าตอบแทนของประธาน คมช.ยังน้อยกว่าเยอะ  ด้าน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.และประธาน คมช. กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการคลังเสนอให้เงินเดือนกับ คมช. ว่า เรื่องนี้ไม่ทราบ เพราะ คมช. ไม่ได้เป็นผู้เสนอเรื่องขึ้นไป และพวกเรามีเงินประจำอยู่แล้ว คงไม่กินเงินเดือน 2 ทาง เพราะข้าราชการจะรับ 2 ทางไม่ได้ เงินเดือนรับซ้อนไม่ได้ จะผิดกฎหมาย  พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม และเลขาธิการ คมช. กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นหลักการกว้าง ๆ     ที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาสถานะของ คมช. ว่าอยู่สถานะใด ควรต้องมีอะไรที่ประกอบขึ้นมา พวกเราไม่ได้สนใจค่าตอบแทน เพราะมีเงินเดือนของข้าราชการประจำอยู่แล้ว เป็นเงินเดือนของข้าราชการระดับ 11 หรือระดับจอมพล ซึ่งคงไม่ต่างกันมากนัก ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าไม่ให้มีปัญหาก็ไม่ควรรับใช่หรือไม่ พล.อ.วินัยตอบว่า     ต้องดูก่อนว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร เมื่อถามว่าขึ้นอยู่กับจำนวนเงินใช่หรือไม่ ปรากฏว่า พล.อ.วินัยไม่ตอบคำถาม ขณะที่ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.ทหารสูงสุด และสมาชิก คมช. กล่าวว่า คมช. ไม่เคยเรียกร้องเงินเดือน เพราะไม่คิดว่าจะได้ แต่มันเป็นระเบียบที่ถูกกำหนดไว้ คมช. ทราบเพียงเท่านั้น  ทั้งนี้ ไม่เป็นห่วงภาพลักษณ์ในสายตาสาธารณชน เพราะ คมช. ไม่เคยเรียกร้อง และความเป็นจริงมีบางส่วนที่ไม่อยากจะรับเงิน อยากจะเอาไปทำบุญ เอาไปทำประโยชน์อย่างอื่นต่อไป ไทยรัฐ (บางส่วน)  8  พ.ย.  2549  
คำสำคัญ (Tags): #คอรัปชัน
หมายเลขบันทึก: 58073เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2006 08:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
น่าจะมีใครสนใจเรื่อง คอรัปชั่นเวลา บ้างนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท