​วิกฤติ คือ โอกาส...เรื่องเล่าจากคนริมเขื่อน เทศบาลตำบลท่าปลา


วิกฤติ คือ โอกาส...เรื่องเล่าจากคนริมเขื่อน เทศบาลตำบลท่าปลา

วัฒนธรรมที่แตกสลายจากการอพยพของชุมชนครั้งที่สร้างเขื่อนในอดีต ญาติพี่น้องถูกจัดแบ่งพื้นที่อาศัยและพื้นที่ทำกินกระจายกันออกไป ชุมชนที่เคยรุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่นถูกลดทอนพลังผ่านการอพยพในครั้งนั้นเป็นอย่างมาก จากอดีตถึงปัจจุบันกระแสโลกาภิวัฒน์ยิ่งกระหน่ำซ้ำเติมชุมชนมากขึ้น ความระส่ำระสายจากความมั่นคงของพื้นที่อาศัยและทำกิน ทำให้คนวัยทำงานส่วนหนึ่งตัดสินใจเดินทางละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดเข้าสู่เมืองหลวง ปล่อยผู้สูงอายุกับเด็กไว้ที่ภูมิลำเนาถิ่นเกิด

ปรากฏการณ์ของปัญหาในพื้นที่ที่มีบริบทเฉพาะและเสมือนปัญหาถูกทำให้ซับซ้อน เป็นเงื่อนปมการเกิดขึ้นของปัญหาต่างๆตามมาอีกมากมาย ชุมชนจะปรับตัว พลิกฟื้นอย่างไร? ในสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นเรื่องราวที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

เรื่องราวของท่าปลาที่ดูเหมือนวิกฤติแต่กลับเป็นโอกาสในการพัฒนา ...ไม่น่าเชื่อว่าพื้นที่ที่ดูเหมือนว่า วัฒนธรรมถูกลดทอนจนเจือจาง การพัฒนาชุมชนโดยเฉพาะการขับเคลื่อนประเด็นเด็กและเยาวชนที่ กลับใช้ "วัฒนธรรม" เป็นเครื่องมือในการสร้างพลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่

กระบวนการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ท่าปลาเริ่มต้นมานานตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๗ ผ่านโครงการ Child Watch โดยการนำเข้ามาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง แต่ก็มุ่งเน้นประเด็นยาเสพติดเป็นประเด็นหลัก ในกระบวนการพัฒนาในครั้งนั้นมีการเก็บข้อมูล สร้างเครือข่ายเด็ก มีกิจกรรมต่างๆ ที่เน้นให้เด็กมีส่วนร่วม จากต้นทุนเชิงวิธีคิดและกระบวนการดังกล่าว ก็ยังคงมีกิจกรรมการพัฒนาที่ใช้รูปแบบเดิมเรื่อยมาแม้ว่าโครงการ Child Watch จะสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการในพื้นที่ไป เทศบาลท่าปลาก็ได้สร้างกระบวนการการทำงานกับกลุ่มเยาวชนเรื่อยมาตั้งแต่ต้น แต่ก็ดูเหมือนว่ากิจกรรมส่วนใหญ่เด็กยังเข้ามามีส่วนร่วมในระดับการคิดร่วมตั้งแต่ต้นไม่มากนัก

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ นายกเทศบาลเปรยว่า "อยากให้เด็กคิดเอง" จากคำเปรยของนายกเทศบาล เป็นเสมือนจุดประกายวิธีคิดที่ยกระดับการมีส่วนร่วมครั้งสำคัญ มีการเปิดพื้นที่ให้เด็กเข้ามาในระดับเวทีชุมชนของผู้ใหญ่มากขึ้น และมีการสร้างกิจกรรมช่วงปิดเทอมให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ มีการสรุปกิจกรรมด้วยตัวเอง การสรุปกิจกรรมในแต่ละครั้งนี่เองเป็นการออกแบบกิจกรรมที่เด็กๆสนใจที่จะทำต่อเนื่องไป และผู้ใหญ่ใจดีหลากหลายภาคีร่วมสนับสนุน

ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๔ มีกลุ่มอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์เข้ามาหนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้เชิงประเด็น การป้องและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น โดยให้วิธีคิดว่ากระบวนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต้องผ่านการวิเคราะห์สถานการณ์ในพื้นที่อย่างจริงจังก่อน รวมไปถึงการร่วมทำงานของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในรูปแบบของการบูรณาการความร่วมมือ

กระบวนการเริ่มต้นด้วยการเปิดเวทีวิเคราะห์สถานการณ์พื้นที่แบบมีส่วนร่วม โดยผ่านเครื่องมือ ๕ ชิ้น เป็นเครื่องมือที่ช่วยดึงปัญหาที่แท้จริงของพื้นที่ออกมาอย่างเป็นระบบ กระบวนการถอดบทเรียนการทำงานกับเด็กและเยาวชนที่ผ่านมาของ อ.ท่าปลา เป็นอย่างไร ...ข้อมูลในส่วนนี้จะเป็น ข้อมูลตั้งต้นที่ดี ว่าจะสามารถเชื่อมต่อกระบวนการได้อย่างไร? นำสถิติการตั้งครรภ์ไม่พร้อม จากหน่วยงานที่ทำงานในประเด็นดังกล่าว คือ โรงพยาบาล,กองสาธารณสุขของเทศบาล ตำรวจและโรงเรียนพื้นที่มาร่วมวิเคราะห์ เเละเมื่อข้อมูลเชิงปริมาณ กับข้อมูลเชิงคุณภาพถูกวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ข้อมูลทั้งหมดถูกโยนมาที่เวทีการออกแบบการทำงานร่วมกัน เกิดกิจกรรมที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของพื้นที่ ส่วนเด็เเละเยาวชนเองก็สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆได้จากข้อมูลที่มีอยู่ โดยผู้ใหญ่พร้อมให้การสนับสนุน ภายใต้แนวความคิดที่ว่า "เด็กสร้าง ผู้ใหญ่เสริม เด็กคิด ผู้ใหญ่หนุน"

สำหรับทีมงานพี่เลี้ยงที่เป็นผู้ใหญ่ใจดี มีกระบวนการทำงานไปด้วย พัฒนาทีมงานไปด้วย เพื่อสร้างความพร้อมในการสร้างกระบวนการใหม่ๆในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ กับทีมวิชาการในระดับพื้นที่ประกอบด้วย นักวิชาการสาธารณสุขของเทศบาล,นักพัฒนาชุมชน,นักวิชาการการศึกษา,ครู,ตำรวจ ทั้งหมดถือว่าเป็นทีมวิชาการที่จะต้องทำหน้าที่หนุนเสริมเชิงกระบวนการในพื้นที่ มีการเปิดเวทีพัฒนาศักยภาพด้านองค์ความรู้ และทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล การนำข้อมูลไปใช้ การนำเสนอข้อมูล และการติดตามประเมินผล ทักษะเหล่านี้ถือว่าเป็นทักษะที่ต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้ร่วมกันให้เข้าใจ เน้น การจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ

การขับเคลื่อนองคาพยพของเหล่านักพัฒนาที่ท่าปลา แบ่งออกเป็น๓ ทีม ตามบทบาทและภารกิจ ได้แก่ ทีมผู้บริหาร ทำหน้าที่เอื้อกระบวนการในส่วนของการให้นโยบายที่สอดคล้อง การสนับสนุนงบประมาณ และทรัพยากรอื่นๆที่จำเป็น ส่วนผู้นำในพื้นที่ก็ได้รับการเสริมความรู้ที่ทำให้เข้าใจปัญหาร่วมกัน สร้างเป็นเครือข่ายผู้นำ มีทักษะที่จำเป็นตามบทบาท ทีมวิชาการพื้นที่ เป็นทีมที่ทำหน้าที่หนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้ เป็นผู้ประสานงานในพื้นที่ ส่วนทีมสภาเด็กก็จะเป็นทั้งเป้าหมายและกลุ่มสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการคิดร่วมกันว่าจะทำอะไร เพื่อวัตถุประสงค์อะไร มีแนวทางที่ชัดเจน มีเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างสอดคล้อง

สิ่งที่น่าสนใจและเป็นจุดแข็งของการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ท่าปลา เห็นจะเป็น การที่พื้นที่ได้บูรณาการเอาวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องมือ สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สนุกสนาน ได้ผลลัพธ์หลายทางไม่ว่าจะเป็นประเด็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่ชุมชนหวงแหน เช่น ประเพณีผีตลก (เดิมเรียกว่า ผีถลก เพราะลักษณะหุ่นจำลองของผี ในอดีตจะมีตาถลนออกมา ทำให้น่ากลัว น่าเกรงขาม ต่อมาเรียกชื่อเปลี่ยนไปว่าเป็น ผีตลก) ในประเพณีนี้เปิดโอกาสให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วม ในการออกแบบผีตลก ตกแต่งหน้ากาก และร่วมประเพณีแห่ผีตลกที่สนุกสนานครึกครื้น แม้ว่าจะไม่เหมือนกับในอดีตเสียทีเดียวแต่ก็เป็นกระบวนการที่ร่วมสมัย ถือว่าได้ว่าเป็นการสืบสานประเพณีผ่านคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นใหม่เองก็ได้มีพื้นที่ในการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ โดยประเพณีแห่ผีตลกจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี นอกจากประเพณีดังกล่าวแล้วยังมี กิจกรรมวันผู้สูงอายุที่ทางเทศบาลท่าปลาได้จัดกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุขึ้นทุกปี เด็กและเยาวชนก็มีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมเพื่อสานสัมพันธ์คนสามวัยทุกครั้ง ซึ่งสายสัมพันธ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเด็กๆและเยาวชน ได้รับรู้ต้นแบบที่ดีจากผู้ใหญ่ที่เป็นที่นับถือ เป็นคุ้มภูมิกันเชิงสังคมที่มีพลังอย่างยิ่ง ส่วนกิจกรรมอื่นๆ เช่น โครงการเอื้อยอ้ายสอนน้อง ก็เป็นกิจกรรมที่สร้างพื้นที่คุณภาพให้กับผู้คน ผ่านการสอนและเรียนรู้อยู่ร่วมกัน กิจกรรมค่ายเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่มีกิจกรรมหลากหลายให้เด็กได้แสดงพลังได้อย่างเต็มที่ โดยมีเวลา ๕ วันต่อการจัดค่ายหนึ่งครั้ง เป็นพื้นที่ทำงานอย่างบูรณาการอย่างเต็มรูปแบบของทีมคนทำงาน และ เด็กเยาวชนท่าปลา

กระบวนการบูรณาการความร่วมมือที่สานต่ออย่างเข้มแข็งมาต่อเนื่อง ยาวนานจนเกิดเป็นรูปแบบเฉพาะ อาจเรียกรูปแบบนี้ว่าเป็น "ท่าปลาโมเดล" มีการทำงานที่ประสานสอดคล้องกันอย่างมีพลัง

สามเหลี่ยมบูรณาการท่าปลาโมเดล เกิดจากการมีส่วนร่วมของสามหน่วยงาน ได้แก่ โรงพยาบาล เป็นหน่วยงานด้านสาธารณสุข ให้บริการงานด้านสุขภาพมีคลินิกเฉพาะที่เข้าถึงได้ง่าย มีศูนย์เรียนรู้ด้านเพศเพื่อการเรียนรู้ โรงเรียน เป็นหน่วยงานที่สร้างความรู้ผ่านหลักสูตรการเรียนรู้ มีหลักสูตรเพศวิถีศึกษาที่ออกแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ส่วนเทศบาล เป็นหน่วยงานที่ดูแลคุณภาพชีวิตของชุมชน เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนในแง่ของการออกนโยบาย การสนับสนุนงบประมาณ และหนุนเสริมการขับเคลื่อนกิจกรรมของสภาเด็กในพื้นที่ ในภาพรวมของกระบวนการทำงานทั้งสามหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยเอาจุดแข็งและภารกิจของแต่ละหน่วยงานมาร่วมด้วยช่วยกัน ทำงานไปเรียนรู้ร่วมกันไป ผ่านการจัดการความรู้ (Knowledge management) ที่ทรงพลัง

เมื่อกระบวนการการเชิงบูรณาการชัดเจน การขับเคลื่อนก็เดินไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ผลลัพธ์ที่ต้องการตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในแง่มุมบวกต่อภาพรวมของพื้นที่ กระบวนการทำงานที่มีพลังจากท่าปลาโมเดลส่วนหนึ่งที่สำคัญมาจากการหนุนเสริมจากนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้เอื้อกระบวนการเรียนรู้ (Facilitator) เพิ่มเติมในสิ่งที่พื้นที่ขาด หนุนเสริมในต้นทุนที่ดีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ชี้ให้เห็นและให้พื้นที่ตัดสินใจ และนำประสบการณ์ที่อื่นมาเล่าสู่กันฟังเพื่อที่ทางพื้นที่จะได้เกิดความคิดใหม่ๆ เชื่อมต่อกับต้นทุนของพื้นที่ ออกแบบกิจกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของตนเอง ในด้านการพัฒนาศักยภาพด้านอื่นๆ ถูกกำหนดผ่านภารกิจและความต้องการพัฒนาของทีมงานในพื้นที่

เปลี่ยนแปลง และเติบโต...ผลลัพธ์ของการพัฒนา

เบื้องหลังความสำเร็จของทีมวิชาการในพื้นที่ ต่างก็ให้ความสำคัญกับคำว่า "บูรณาการ" ที่เป็นการร่วมมือกันอย่างแท้จริง เข้มแข็ง และยั่งยืนเกิดขึ้นจริงในพื้นที่

"ประหยัด – สร้างสรรค์นวัตกรรม – มีกำลังใจ"

ประหยัด เพราะเรามีเครือข่ายที่ร่วมด้วยช่วยกันทั้งงบประมาณ และคนทำงาน สร้างสรรค์นวัตกรรม จากการระดมความคิดที่หลากหลาย การมองเห็นช่องทางแห่งโอกาสจากมุมมองของภาคีร่วม เกิดทางเลือกที่เหมาะสม เกิดองค์ความรู้และวิถีปฏิบัติที่มีพลังต่อการแก้ไขปัญหา มีกำลังใจเพราะ เรามีเครือข่ายที่มีใจเดียวกันร่วมกันทำงาน เมื่อท้อแท้เครือข่ายก็ทำหน้าที่เป็นกำลังใจให้กันและกัน



ถอดบทเรียน....โครงการพัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนวิชาการเพื่อพัฒนาจังหวัดต้นแบบเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จังหวัดอุตรดิตถ์

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

๑๒/๑๑/๕๗

หมายเลขบันทึก: 580288เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2014 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2014 22:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรื่องเพศศึกษาน่าสนใจมากค่ะ นานมาแล้วพี่เคยทำเรื่องนี้พบว่า เป็นการสอนที่ยากกว่าทุกเรื่อง

- โดยเนื้อหาที่มีหลากหลายมิติโดยเฉพาะเรื่องการสอนเพื่อปรับ เปลี่ยน สร้าง เจตคติในเรื่องเพศ กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ต้องเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียนมากกว่าการสอนความรู้

- ผู้สอนที่ต้องระมัดระวังมิให้เจตคติทั้งที่เป็นลบหรือเป็นบวก ไปแทรกแซงกระบวนการเรียนรู้ เพราะจะได้ผลในทางตรงข้าม

- สื่อรอบตัวที่มีอิทธิพลมากต่อเยาวชน ต้องมีหลักสูตรที่ช่วยให้เยาวชนตามทัน รู้เท่าทัน

ทีมท่าปลาโมเดลน่าจะมีความเข้มแข็งมากอยู่นะคะ รออ่านบันทึกบอกเล่าผลของการทำงานนะคะน้องเอก

พอดีผมพยายามบันทึกเร็วๆเก็บไว้เพื่อเกลาก่อนครับ หนังสือเล่มนี้น่าจะเสร็จเร็วๆนี้ ผมเขียนได้ราว 140 หน้า (เอสาม) ซึ่งต้องการการเกลา ปรู้ฟพอสมควร


หลักสูตรเพศศึกษาในพื้นที่ทั้งหมด ใช้ของ PATH ครับ นำมาประยุกต์กับบริบทจริงกันอีกทีครับ

มีภาพนี้มาฝาก..เจ้าค่ะ เรื่องเพศศึกษา..มีอยู่ในชีวิตประจำวันที่ในสถานีรถใต้ดิน..(เยอรมัน เมืองเบอร์ลิน)อยากจะแปลเป็นไทยสวยๆว่า..."ฉันรักเดียวใจเดียว.".อ้ะะ....

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท