​เรียนรู้ต้นทุน...ออกแบบอนาคตของชุมชน เรื่องเล่าความสำเร็จที่เทศบาลชัยจุมพล


เรียนรู้ต้นทุน...ออกแบบอนาคตของชุมชน

เรื่องเล่าความสำเร็จที่เทศบาลชัยจุมพล


เสียงสะท้อนจากคนทำงานพัฒนาบอกว่า "จริงๆ อบต.รู้ทุกเรื่อง แต่ไม่มีคนจัดการ บางทีการทำงานก็ไม่ได้เน้นงานวิชาการ เรายังทำงานพัฒนากันแบบเดิมๆ" เปิดวงสนทนาด้วยการมองย้อนกลับไปดูลักษณะการทำงานของตนเองก่อนหน้านั้น

ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น เป็นปัญหาที่ท้าทาย ที่จะใช้วิธีคิดและการพัฒนาแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไปในยุคที่โลกเปิดประตูรออยู่ที่ปลายนิ้วเหมือนทุกวันนี้ ข้อมูลที่รับเข้าในชุมชนกลายเป็นการเปิดโลกการเรียนรู้ที่กว้างขวาง ในขณะเดียวการเปิดโลกหากเด็กๆไม่มีความพร้อมในการเสพข้อมูล การหลงเข้าไปเป็นเหยื่อของข้อมูล เผชิญกับเหตุการณ์ที่หนังสือไม่มีสอน ปรากฏการณ์แบบนี้กำลังจะบอกให้กับคนทำงานว่า การทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คน นอกจากจะเข้าใจวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วแล้วยังต้องคิดรวดเร็วให้ทันการณ์ด้วย

จากภาพของการทำงานของหน่วยงานพัฒนาในพื้นที่ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาตามลักษณะปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ แต่ไม่ได้วิเคราะห์ให้ลึกซึ้งไปมากกว่านั้นว่า เบื้องหลังปัญหานั้นมีเงื่อนไขอะไรบ้าง ผลลัพธ์ของการแก้ไขปัญหาจึงได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง

การดำเนินงานแก้ไขและป้องกันปัญหาวัยรุ่นท้องไม่พร้อมของ เทศบาลตำบลชัยจุมพลก็ไม่ได้แตกต่างจากสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นเท่าไหร่นัก แต่ก็ยังมีกิจกรรมที่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมกับเด็กและเยาวชนยังสานต่อเนื่องมายังจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2554 มีทีมอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงการทำงานในพื้นที่ โดยให้แนวคิดการใช้ข้อมูลเป็นตัวตั้งในการตัดสินใจดำเนินการ ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ชุมชนแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลจริงๆในพื้นที่ จากหลากหลายผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ใช้ข้อมูลเชิงสถิติมาเสริมการตัดสินใจและวิเคราะห์แนวโน้น ออกแบบกิจกรรมที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงๆ

กระบวนการทำงานที่ถูกวางไว้อย่างเป็นระบบตั้งแต่ทีมวิชาการจากมหาวิทยาลัยที่รับผิดชอบพื้นที่ สร้างทีมวิชาการระดับพื้นที่อีกทีม แล้วเปิดเวทีพัฒนาศักยภาพผ่านการให้ความรู้ที่จำเป็นเพิ่มเติม การพัฒนาทักษะบางอย่างที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานร่วมกับชุมชน การบริหารจัดการข้อมูล ตลอดจนการสร้างสรรค์ทีมงานแนว Team Building และในการลงในพื้นที่เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์พื้นที่ก็ใช้ "เครื่องมือ 5 ชิ้น" และศิลปะการสร้างการมีส่วนร่วม นักวิชาการทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและทีมนักวิชาการในพื้นที่ทำหน้าที่ผู้เอื้อกระบวนการเรียนรู้ หรือที่เรียกผู้ที่ทำบทบาทหน้าที่นี้ว่า Facilitator

ในพื้นที่ตำบลชัยจุมพล พบว่า ชุมชนมีปัญหาหลายๆปัญหาที่ส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิต และ ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ก็เป็นหนึ่งในปัญหาที่ผุดขึ้นจากเวทีวิเคราะห์สถานการณ์แบบมีส่วนร่วมในเวทีแรก แม้ว่าปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมจะไม่ใช่ปัญหาที่ถูกยกมาเป็นปัญหาในลำดับต้นๆ แต่มีความสำคัญสำคัญอย่างยิ่ง และต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยทันที

ในส่วนกระบวนการในพื้นที่ในช่วงเริ่มต้นไม่ต่างจากการเปิดเวทีชุมชน ที่ต้องเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการระดมความคิด ระดมทางออกของปัญหาด้วยกัน "การมีส่วนร่วม" จึงเป็นเสมือนหัวใจสำคัญที่มองไปถึงผลลัพธ์ของความสำเร็จในเบื้องปลายที่ยั่งยืน ผลของการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ถูกหยิบยกขึ้นมาเทียบเคียงกับสถิติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แล้วตัดสินใจร่วมกันว่า จะมีกิจกรรมอะไรที่จะรองรับกับสถานการณ์เหล่านี้ และกิจกรรมที่เกิดขึ้นต้องเกิดขึ้นบนศักยภาพหรือต้นทุนของพื้นที่ที่มีอยู่ เกิดแผนชุมชน เลือกพื้นที่ต้นแบบ เลือกกลุ่มเป้าหมาย ที่ชัดเจน

กิจกรรมที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับเทศบาลตำบลชัยจุมพล คือ สภาเด็กที่เข้มแข็งมีกิจกรรมที่สร้างสรรค์มาโดยตลอด สภาเด็กที่นี่เกิดขึ้นผ่านการเข้ามาร่วมกันคิดขอเด็กๆอย่างแท้จริง โดยมีผู้ใหญ่ใจดีเป็นพี่เลี้ยงให้โอกาส ให้พื้นที่ หลังจากเปิดเวทีวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่เสร็จแล้ว บทบาทการขับเคลื่อนสภาเด็กยิ่งชัดเจนในเป้าหมายมากยิ่งขึ้น เด็กคิดกิจกรรมสร้างสรรค์ได้เอง ผ่านการเขียนโครงการเพื่อดำเนินการได้อย่างเป็นระบบและถูกต้อง ศักยภาพที่เติบโตของสภาเด็กที่นี่ได้เชื่อมต่อโดยตรงกับสภาเด็กระดับจังหวัด เด็กในพื้นที่มีบทบาทในสภาเด็กระดับจังหวัด ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาตนเองให้เครือข่ายในพื้นที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

ในมุมของผู้บริหาร มีความสนใจในกิจกรรมที่เกิดขึ้นเพราะเกิดผลงานอย่างเป็นรูปธรรม แต่การที่ผู้บริหารให้ความสนใจอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ผู้บริหารที่นี่มีความเข้าใจด้วย การสนับสนุนที่ตรงกับความต้องการของคนทำงาน จึงเป็นเงื่อนไขของความสำเร็จของการทำงานในพื้นที่แห่งนี้ ทางเทศบาลให้การสนับสนุนงบประมาณ กำลังคน หนุนเสริมกระบวนการพัฒนาให้ขับเคลื่อนต่อไปอย่างมีพลัง

ทีมงาน กับความสำเร็จที่เป็นระบบ

นอกจากทีมงานที่เป็นนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ที่ลงมาเป็นพี่เลี้ยงในพื้นที่แล้ว ทีมงานวิชาการในระดับพื้นที่ที่ทำงานสอดคล้องกันก็มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทีมงานวิชาการในพื้นที่ประกอบไปด้วย นักพัฒนาชุมชน,นักวิชาการศึกษา,ฝ่ายงานสาธารณสุขของเทศบาล และ ฝ่ายงานสาธารณสุขในพื้นที่ ได้แก่โรงพยาบาลลับแล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชัยจุมพล โรงเรียนในพื้นที่ ทั้งหมดเป็นทีมวิชาการที่เป็นทีมเบื้องหลังกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ นอกจากเวทีพัฒนาศักยภาพที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การทำงานไปเรียนรู้ไป เปิดเวทีเรียนรู้จากการทำงาน ถอดบทเรียนสม่ำเสมอ เป็นวิธีวิทยาการจัดการความรู้ที่สำคัญอย่างยิ่งในการเดินไปข้างหน้า ในมุมของงานพัฒนาก็มีทีมคลินิกจากโรงพยาบาลลับแล ที่รองรับในส่วนของการให้บริการ และสภาเด็กทีมแกร่งของที่นี่เป็นทีมงานสร้างและทำกิจกรรมสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่

ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลง นอกจากผลลัพธ์ในการทำให้ปัญหาคลี่คลายและเห็นแนวทางการทำงานต่อเนื่องแล้ว การเติบโตของทีมงานก็เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่จะบอกว่างานที่เราทำนั้นสำเร็จจริงหรือไม่ สถิติวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมอาจจะไม่ลดลง แต่สถานการณ์บางอย่างถูกยกระดับไปในทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้น

……………หัวหน้าฝ่ายสาธารณสุขของเทศบาลชัยจุมพล สะท้อนมุมมองการเปลี่ยนแปลงในมุของตนเองว่า "ในอดีตเราก็ทำงานตามคำสั่งข้างบนทำงานเป็นงานประจำไปเลย มาตอนนี้บทบาทก็เปลี่ยนไป นอกจากจะมีแนวนโยบายจากทางผู้บริหารแล้ว เรายังส่งข้อมูลสำคัญในพื้นที่กลับไปยังผู้บริหารได้ตัดสินใจด้วย ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการประสานงานพัฒนา เนื้อหาการทำงานแก้ไขปัญหาช่วงหลังจึงถูกที่ ถูกคนมากขึ้น เราแสวงหาเครือข่ายเพื่อมาร่วมกันแก้ไขปัญหา เน้นการมีส่วนร่วมแนวราบ" หัวหน้าฝ่ายเล่าถึงสถานการณ์การทำงานให้ฟัง ก่อนที่จะเล่าต่อถึงความรู้สึกในฐานะคนทำงานว่า " การทำงานของผมก็มีเครียดบ้าง กับปัญหาที่เราคาดหวังความร่วมมือที่อาจจะไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่เราคิด การจัดการเวลากับภาระงาน ซึ่งก็ถือว่าเป็นธรรมชาติของการทำงาน แต่ในทุกวันนี้ก็มีความสุขครับ แค่เริ่มทำงานก็มีความสุขแล้ว โดยที่เราไม่ต้องไปคาดหวังกับผลลัพธ์ปลายทางมากนัก ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด"

ในการเปลี่ยนแปลงระดับพื้นที่ แกนนำในระดับต่างๆในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม กลุ่ม ชมรม องค์กรต่างๆ มีบทบาทที่ชัดเจนมากขึ้นในการร่วมด้วยช่วยกันทำงานเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหา มีการให้ความสำคัญกับปัญหามากขึ้น ทำงานเชื่อมกันอย่างเป็นระบบมากขึ้น เพราะส่วนหนึ่งเกิดจากการเปิดเวทีวิเคราะห์สถานการณ์พื้นที่ด้วยกัน เห็นภาพเดียวกัน และออกแบบการทำงานด้วยกัน ทุกอย่างจึงสอดคล้องกันผ่านเวทีเหล่านี้ ช่วงหลังมีโครงการ DHS เกิดขึ้นในพื้นที่ก็ดำเนินได้ไม่ยาก เพียงแต่เชื่อมต่อกลุ่มเครือข่ายเดิม และกิจกรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว ก็ขับเคลื่อนพัฒนาต่อในประเด็นอื่นๆได้ จากโมเดลการมีส่วนร่วมที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว

ในมุมของผู้บริหารทำหน้าที่เป็นผู้เอื้อในระดับนโยบาย แนะนำ เสริมต่อ และให้แนวทางสำหรับคนทำงาน ที่ผ่านมาก็ถือได้ว่าการทำงานพัฒนาในพื้นที่ไม่เฉพาะงานวัยรุ่นตั้งครรภ์ไม่พร้อม มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะให้ความสำคัญกับข้อมูล องค์ความรู้ และการมีส่วนร่วม มองชัดมากขึ้น

รองนายกเทศบาล........ได้สะท้อนข้อมูลอย่างน่าสนใจว่า "จากบทเรียนการทำงานในประเด็นการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมที่ผ่านมา ทำให้มองว่า 'การมีส่วนร่วม' มีความสำคัญมาก การใช้ข้อมูลจริงๆมาเป็นต้นทุนการทำงานก็ทำให้มองสถานการณ์พื้นที่ได้ลึก รู้สึก ถึงความต้อง กลุ่มผู้บริหารเองก็สนับสนุนได้ตรงจุด"

บทสรุปของการพูดคุยที่ถูกร้อยเรียงผ่านวงพูดคุยที่เทศบาลชัยจุมพล มองเห็นถึงอนาคตของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นผ่านการทำงานที่เป็นระบบ และให้ความสำคัญต่อ การใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ การมุ่งเน้นการมีส่วนร่วม ว่ามีความสำคัญเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทุกคนมีส่วนในการเป็นเจ้าของทุกคน การที่จะคิดและทำอะไรทุกคนก็ต้องช่วยกัน เพื่อคุณภาพชีวิตของคนในสังคมที่บ้านของเรา ความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากองค์ประกอบใด องค์ประกอบหนึ่งของโครงสร้างการทำงานที่นี่ขาดหายไป...




ถอดบทเรียน....โครงการพัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนวิชาการเพื่อพัฒนาจังหวัดต้นแบบเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จังหวัดอุตรดิตถ์

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

๑๒/๑๑/๕๗


หมายเลขบันทึก: 580281เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2014 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2014 14:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท