นักศึกษาสังคมสงเคราะห์ฯกับการศึกษาปัญหาสังคม


ทำให้นักศึกษามีทัศนะต่อชีวิตในสังคมที่แตกต่างไปจากเดิม ......

                 สังคมสงเคราะห์เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการ เพื่อช่วยส่งเสริมความสามารถของบุคคลให้สามารถดำรงหน้าที่ของตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นปกติสุข   แนวคิดเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของนักสังคมสงเคราะห์ มีวิวัฒนาการมาพร้อมกับความรู้ทางด้านพฤติกรรมศาสตร์ ที่มีความเชื่อว่ามนุษย์มีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลหรือมีความเป็นปัจเจกบุคคล (individual) ปัญหาและความแตกต่างของมนุษย์เกิดจากธรรมชาติของมนุษย์แต่ละบุคคลรวมทั้งสาเหตุอันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมของตัวบุคคล  ผู้รับบริการในงานสังคมสงเคราะห์ (client) ไม่ใช่มีแต่เฉพาะผู้ที่มีความเดือดร้อนหรือผู้ที่กำลังประสบปัญหาเท่านั้น   แต่อาจจะเป็นบุคคลปกติที่ต้องการพัฒนาความเป็นอยู่และความสามารถของตัวบุคคล   หรือเป็นผู้ที่อยู่ในสภาวะปกติแต่จำเป็นต้องป้องกันปัญหาและความเดือดร้อนไว้ล่วงหน้า               

        จะเห็นได้ว่าสังคมสงเคราะห์ศาสตร์เน้นการประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิชาการในศาสตร์หลายสาขามาสู่การปฏิบัติการทางสังคม  โดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น  นำความรู้หรือข้อมูลที่ได้จากจิตวิทยา  สังคมวิทยา  พฤติกรรมศาสตร์ ฯลฯ มาวิเคราะห์และดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้รับบริการที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ   ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น   เช่น  ปัญหาผู้พิการ   ปัญหาผู้สูงอายุ    ปัญหาเด็กกำพร้า    ปัญหาเด็กกระทำผิด    ปัญหาอาชญากรรม  เป็นต้น                 

        ดังนั้นการศึกษาปัญหาสังคม จึงเป็นความรู้พื้นฐานที่สำคัญของการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์  นักศึกษาที่ต้องการประสบความสำเร็จทางการเรียนในสาขาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์  ควรหมั่นศึกษาเรื่องราวหรือปรากฏการณ์ต่างๆทางสังคมที่อาจคุ้นเคยอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน และจากแหล่งข้อมูลต่างๆ  แล้วจะต้องเรียนรู้แนวความคิด  ทฤษฎีเพื่อให้สามารถนำมาวิเคราะห์และอธิบายถึงปัญหาหรือปรากฏการณ์นั้นได้อย่างมีหลักเกณฑ์ที่เป็นวิทยาศาสตร์  นอกจากนี้ยังทำให้นักศึกษามีทัศนะต่อชีวิตในสังคมที่แตกต่างไปจากเดิม นั่นคือสามารถอธิบายสาเหตุและปรากฏการณ์ทางสังคมได้ด้วยหลักเหตุและผลมิใช่การใช้สามัญสำนึก   สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้ประสบความสำเร็จในอาชีพของการเป็นนักสังคมสงเคราะห์

หมายเลขบันทึก: 57966เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2006 15:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 18:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท