ชีวิตที่พอเพียง : 151. การเมืองในสถาบัน


        บันทึกนี้เขียนขึ้นตามคำขอดังต่อไปนี้     (ได้รับวันที่ ๑๘ ตค. ๔๙)

           (๑)  เรียน อาจารย์วิจารณ์ที่เคารพ
                  ผมไม่แน่ใจว่าอาจารย์ได้เขียน blog เรื่องการเมืองในสถาบันหรือไม่
                 ผมเชื่อว่าประสบการณ์ของอาจารย์ในเรื่องนี้หาไม่ได้จากที่อื่น
                 ถ้าอาจารย์เขียนจะมีประโยชน์กับคนรุ่นหลังมากครับ
                 ศ. นพ. วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์

           (๒) เรียน อาจารย์ วิจารณ์ ที่เคารพ
                 อ. วีรศักดิ์ได้กล่าวถึงความสามารถและประสบการณ์ของอาจารย์และ
                 แนะนำหนูให้ปรึกษาเรื่องแนวทางการเลือกตั้งหัวหน้าภาคอย่างที่ให้เกิดความสามัคคี
                ในสถานการณ์ที่มีความแตกร้าวและมีหลายกลุ่ม
                เนื่องจากหนูถูกเสนอชื่อให้เป็นกรรมการสรรหาหัวหน้าภาคและอาวุโสน้อยแต่เข้าได้กับทุกคน
               ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้
               (ผมเอาชื่อออก เพื่อไม่ให้เสียหายต่อสถาบัน)

        ผมจะไม่วิเคราะห์การเมืองในสถาบันอุดมศึกษา แบบวิเคราะห์ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค     แต่จะเล่าว่าผมอยู่ในมหาวิทยาลัยอย่างมีความสุขโดยไม่ถูกการเมืองสร้างความบอบช้ำ     หรือไม่เกิดความทุกข์จากการเมืองภายในสถาบัน ได้อย่างไร 

        ขั้นแรกผมบอกตัวเองว่า ผมไม่มีปัญญาไปเปลี่ยนจิตใจคนได้     แต่ละคนต่างก็มีวิธีคิด  มีอคติ  หรือมีวาระซ่อนเร้นของตัว      ในขณะเดียวกัน แต่ละคนก็มีดี มีความสามารถให้ผมได้ดูดซับเรียนรู้จากเขา     หรือแม้แต่ส่วนไม่ดี หรือพฤติกรรมไม่เหมาะสมของเขา ผมก็เอามาเป็นบทเรียนได้     คือเอามาสอนตนเอง ว่าอย่าเผลอไปทำอย่างนั้นเข้า

        ผมอาจเป็นคนเห็นแก่ตัว ที่ไม่ยอมไปแบกโลก หรือแบกปัญหาของสถาบัน     แต่ผมบอกตัวเองว่า เรามีสติปัญญาความสามารถจำกัด     ไม่สามารถเข้าไปแก้ปมที่ยุ่งเหยิงซับซ้อนได้     พูดง่ายๆ ว่าผมไม่มุ่งแก้ปัญหา     ผมมุ่งทำงานสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสถาบัน  และเป็นผลงานของตัวเอง     รวมทั้งได้ฝึกฝนตนเองไปด้วย

        เมื่อหน่วยงานมีเรื่องขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์,  อำนาจ,  หรืออีโก้ ของคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่าผม หรือเท่าๆ กับผม  ผมไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว     ผมจะถอยออกมาตั้งหน้าตั้งตาทำงานวิชาการ      ผมโชคดีที่ทำงานในมหาวิทยาลัย มีช่องทางหรือโอกาสให้สร้าง micro world ของตัวเอง     ทำงานวิจัยหรืองานสร้างสรรค์หน่วยงาน ในกลุ่มเล็กๆ ได้เสมอ     ผมบอกตัวเองว่า เมื่อเราปีกกล้าขาแข็งอีกหน่อยค่อยเข้าไปแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนอย่างนั้น     แต่ตอนนี้เรายังไม่แข็งแกร่งพอ เข้าไปก็ทำอะไรไม่ได้     คือผมรอจังหวะนั่นเอง

        แต่ตอนที่ผมเป็นผู้ใหญ่แล้ว     เป็นที่นับถือในฝีมือการบริหารแล้ว ผมจัดการการเมืองในสถาบันอีกแนวหนึ่ง     ที่ผมเรียกว่า แนวสร้างวิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision)      โดยจัดประชุมปฏิบัติการ    เชิญ Keynote Speaker มาเขย่าความรู้สึก    ให้เห็นทั้งปัญหาและโอกาส     เชิญคนนอกมาบอกความต้องการ     และเชิญสมาชิกภายในองค์กรมามีส่วนช่วยกันคิด     ในที่แจ้งเช่นนี้คนเราจะคิดถึงส่วนรวมมากกว่าเห็นแก่ตัวเอง     ก็ต้องจดบันทึกข้อสรุป และความเห็นของบุคคลไว้ใช้ประโยชน์

        ตอนนี้ผมคิดว่ามีวิธีจัดการอีกแนวหนึ่ง คือแนวชื่นชมความสำเร็จ หรือ AI - Appreciative Inquiry    ซึ่งต้องใช้ต่อเนื่องกับแนวสร้างวิสัยทัศน์ร่วม     โดยเมื่อได้วิสัยทัศน์ร่วมแล้ว     ก็หันมาหาเรื่องราวของความสำเร็จเล็กๆ ที่จะเป็นลู่ทางสู่วิสัยทัศน์นั้น     นำมาเล่าเรื่องชื่นชม    และร่วมกันทำความเข้าใจว่าจะสร้างความสำเร็จเล็กๆ เช่นนั้น ในหน่วยงานอื่นๆ หรือในเรื่องอื่นๆ ได้อย่างไร     จะขยายผลความสำเร็จเล็กๆ นั้นออกไปให้เป็นความสำเร็จขนาดใหญ่ หรือลึกซึ้งยิ่งขึ้นได้อย่างไร     มีการจดบันทึกเรื่องเล่า สำหรับเอาไปเล่าต่อ    บันทึกความรู้ปฏิบัติ (Knowledge Assets) เอาไว้ให้คนเข้ามาค้นหาได้      มีการส่งเสริมการเอาความรู้ปฏิบัติจากความสำเร็จ ไปปรับใช้ในงานประจำชิ้นอื่นๆ แล้วเอาประสบการมา ลปรร. กัน

        ทั้งหมดนี้ก็คือ แนว KM นั่นเอง

        ผมเป็นคนเล่นการเมืองเชิงอำนาจ  เชิงเล่นพวก ไม่เป็น จึงไม่เคยมีตำแหน่งสูงๆ ไงครับ     แต่ผมถนัดในการทำงาน     ถนัดในการเรียนรู้     ใช้สถานการณ์ทุกรูปแบบในการเรียนรู้     เอามาสร้างผลงานของตนเอง และของหน่วยงานเล็กๆ ของตน    มีโอกาสเมื่อไรก็เข้าไปทำงานให้หน่วยงานที่ใหญ่ขึ้น     มองงานทุกรูปแบบเป็นวิชาการหรือการเรียนรู้   

       สรุปว่า ผมจัดการการเมืองในสถาบันไม่เป็นครับ

วิจารณ์ พานิช
๒๓ ตค. ๔๙
วันปิยมหาราช

หมายเลขบันทึก: 57946เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2006 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท