Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

สาระสำคัญของการศึกษาวิชากฎหมายและนโยบายโทรคมนาคม


ที่จะตลกมาก ก็คือ เคยมีนักศึกษาที่กลัวว่า ถ้ายกเรื่องยากๆ ขึ้นมา ก็จะต้องเรียนยากๆ ก็เลยยกเรื่องง่ายๆ ขึ้นมา ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้นี้ ก็จะตระหนักในท้ายที่สุดว่า การเรียนเรื่องง่ายๆ ก็จะไม่อุดมปัญหา ชีวิตที่มีปัญญาเพียงแก้ไขเรื่องง่ายๆ ก็จะเป็นชีวิตที่ต้องเผชิญกับเรื่องยากๆ และพ่ายแพ้ต่อการจัดการปัญหาเหล่านั้น เพราะเรื่องทุกเรื่องยาก หากเราคิดไม่เป็น จึงไม่มีเรื่องง่ายในชีวิตเลย หากเราไร้ปัญญา

                บันทึกนี้เขียนเพื่อเปิดห้องเรียนกฎหมายและนโยบายโทรคมนาคมสำหรับวิทยาลัยนวตกรรม ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  อ.แหววเห็นความสำคัญอย่างมากที่จะจัดการเรียนการสอนในลักษณะที่เอานักศึกษาเป็นตัวตั้ง แต่ในส่วนที่เป็น "สาระสำคัญของวิชาหรือศาสตร์" อ.แหววไม่อาจจะยอมที่จะให้นักศึกษาต่อรองที่จะขอเรียนเรื่องที่ไม่ใช่สาระสำคัญ เมื่อนักศึกษามาลงทะเบียนเรียนกฎหมาย นักศึกษาก็จะต้องเรียนกฎหมาย เมื่อวิชานี้กำหนดให้เรียนนโยบาย นักศึกษาก็จะต้องศึกษานโยบาย และเมื่อวิชานี้ว่าด้วย "โทรคมนาคม" นักศึกษาก็จะต้องศึกษาสาระสำคัญของสถานการณ์ด้านโทรคมนาคมที่มีผลกระทบต่อมนุษย์ ต่อสังคมไทย และต่อสังคมโลก

                 อ.แหววตระหนักว่า การสอนนักศึกษาที่ไม่มีทักษะของนักวิชาชีพทางกฎหมายให้เรียนกฎหมายในลักษณะที่ "รู้ได้ทั้งระบบ" และ "ใช้ได้" นั้น เป็นสิ่งที่ยากมาก

                    อุปสรรคประการแรกที่ อ.แหวว พบตั้งแต่เริ่มต้นสอนวิชานี้ในวิทยาลัยนวตกรรมมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๒ ก็คือ นักศึกษาส่วนใหญ่ ซึ่งแทบจะทั้งห้องเรียน จบปริญญาตรีในสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งมักจะเป็นวิศวกรรมศาสตร์ จัดเป็นมนุษย์ที่ไม่เห็นความสำคัญของกฎหมาย จึงมักจะไม่มีทักษะที่จะใช้กฎหมายและนโยบายในการจัดการตนเองและสังคมเลย เพื่อแก้ไขความอ่อนด้อยในประเด็นนี้ จึงต้องเริ่มต้นสอนเรื่องที่จะปรับทัศนคติของนักศึกษา ให้หันมองถึงความสำคัญของกฎหมาย ดูเป็นสิ่งที่ตลกที่นักศึกษาไม่น้อยที่มาลงเรียนวิชานี้ ทั้งที่โดยตัวของเขา ไม่เห็นความสำคัญของการใช้กฎหมายและนโยบายแต่อย่างใด เป็นความขัดแย้งในตัวของนักศึกษา ซึ่งก็เป็นกรณีเดียวกับคนส่วยมากในสังคมไทย โดยจิตสำนึก ตระหนักว่า เรื่องนี้สำคัญ แต่ในชีวิตประจำวัน ก็ไม่สังเกตเห็นและรับรู้ในความสำคัญของกฎหมาย

                       อุปสรรคในประการที่สอง ก็คือ นักศึกษามักไม่มีภาพรวมของกฎหมายในสมอง เมื่อเราให้นักศึกษาสะท้อนภาพของกฎหมายที่นักศึกษาเห็น ภาพนั้นก็มักเป็นเศษเสี้ยว ไม่ต่อเนื่อง และไม่มีความเป็นพลวัตร ดังนั้น ภารกิจของผู้สอน ก็คือ สร้างภาพของระบบกฎหมายและนโยบายที่ครอบงำตัวมนุษย์หนึ่งคน สังคมมนุษย์ และประชาคมโลกมนุษย์ทั้งมวล วันนี้ของประเทศไทยนั้นมิใช่สังคมปิด การเรียนรู้เพียงแต่กฎหมายเอกชนซึ่งมีผลระหว่างเอกชนเท่านั้น จึงเป็นการเรียนรู้เพียงส่วนหนึ่งของเรื่องทั้งหมด เราจึงไม่อาจปล่อยปละละเลยให้นักศึกษาในสายเทคโนโลยีไร้ปัญญาเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนและกฎหมายระหว่างประเทศ

                     ในประการสุดท้ายที่ผู้สอนจะต้องฝ่าฟัน ก็คือ การเชื่อมทักษะและศักยภาพในการใช้กฎหมายและนโยบายในการจัดการเทคโนโลยี ซึ่งในวิชานี้ ก็คือ กิจการโทรคมนาคม ซึ่งในยุคนี้ มีความหมายมากกว่าเรื่องของโทรศัพท์ ในยุคนี้ โทรศัพท์เป็นเหมือนศูนย์การค้า หรือโรงภาพยนตร์ ฯลฯ เทคโนโลยีสารสนเทศเป็น "เครื่องมือ" ที่มนุษย์จะสร้าง "ตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Man)" ซึ่งมีลักษณะเป็นมนุษย์เสมือนจริง  Virtual Man) และเทคโนโลยีสื่อสารย่อมมนุษย์ที่ไร้ตัวตนนี้เดินทางสู่ "สังคมมนุษย์ (E-Society) ความเป็นจริงของสังคมในวันนี้ จึงปรากฏทั้งในโลกแห่งความเป็นจริง (Real Society) และในโลกเสมือน (Virtual Society)

                     กฎหมายเทคโนโลยี ซึ่งก็หมายถึงกฎหมายโทรคมนาคมด้วย จึงต้องทำหน้าที่ ๒ ประการ กล่าวคือ (๑) "จัดการสิ่งเลวร้าย (Bad thing Management)" ในสังคมมนุษย์บนเทคโนโลยี และ (๒)  "จัดการสิ่งดีงาม (Goog thing Management)" ในสังคมดังกล่าว ซึ่งวิธีการจัดการนั้น ก็มิใช่สิ่งที่ยากจะเข้าใจสำหรับวิญญูชน เรื่องของกฎหมาย เป็นเรื่องของเหตุผล ถ้าเราพบสิ่งที่ดี เราก็จะต้องยอมรับและส่งเสริม แต่ถ้าเราพบสิ่งไม่ดี  เราก็จะต้องปฏิเสธ ปราบปราม และขจัดทิ้งไป

                     เมื่อจะต้องสอนการจัดการสังคมโดยกฎหมายและนโยบาย อ.แหววจึงมักจะเริ่มต้นถามนักศึกษาด้วยคำถามที่ว่า "กฎหมายคืออะไร ?" และในคำถามต่อไป อ.แหววก็จะให้การบ้านแก่นักศึกษาที่จะไปคิดและเขียนถึงประเด็นเกี่ยวกับโทรคมนาคมที่นักศึกษาเห็นว่า สำคัญและสนใจมา ซึ่งหลังจากนั้น เรา อ.แหวว และนักศึกษา ก็จะกระโดดลงไปดูว่า กฎหมายและนโยบายมีบทบาทอย่างไรในเรื่องที่นักศึกษาเห็นว่า สำคัญ

                       ที่จะตลกมาก ก็คือ เคยมีนักศึกษาที่กลัวว่า ถ้ายกเรื่องยากๆ ขึ้นมา ก็จะต้องเรียนยากๆ ก็เลยยกเรื่องง่ายๆ ขึ้นมา ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้นี้ ก็จะตระหนักในท้ายที่สุดว่า การเรียนเรื่องง่ายๆ ก็จะไม่อุดมปัญหา ชีวิตที่มีปัญญาเพียงแก้ไขเรื่องง่ายๆ ก็จะเป็นชีวิตที่ต้องเผชิญกับเรื่องยากๆ และพ่ายแพ้ต่อการจัดการปัญหาเหล่านั้น เพราะเรื่องทุกเรื่องยาก หากเราคิดไม่เป็น จึงไม่มีเรื่องง่ายในชีวิตเลย หากเราไร้ปัญญา

หมายเลขบันทึก: 57938เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2006 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท