ประสบการณ์การเป็นศึกษานิเทศก์ของผม (ตอนที่6)


ความคิดเชิงระบบ”นี้สอดคล้องกับ หลักอริยสัจของพระพุทธเจ้า สอดคล้องกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ กระบวนการวิจัย วงจร PDCA ฯลฯ ไม่ว่าจะเอาทฤษฎีใดมาจับเข้าได้ทั้งนั้น

            ถ้าจะถามว่า ณ วันนี้ผมยึดทฤษฎีใดในการนิเทศการศึกษา  ผมก็อยากจะบอกว่า “ถ้าผมเป็นจอมยุทธ์ก็คงจะเป็นจอมยุทธ์ไร้กระบวนท่ามากกว่า”  เพราะผมจะไม่พยายามติดยึดกับทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งโดยเฉพาะ  แต่ก็ไม่ใช่ปฎิเสธทฤษฎีนะ  ผมจะพยายามศึกษาทุกอย่างที่ขวางหน้า  แล้วค่อนข้างเป็นคนชอบประยุกต์  โดยไม่ชอบทำอะไรยืดยาด  หรือมัวแต่ร่ายรำรอให้สมบูรณ์ก่อนแล้วค่อยทำ คงไม่ทันกินแน่  แต่จะทำไปปรับไปพร้อมๆกัน จะพยายามอิงแนวทางวิจัยและพัฒนานั่นแหละโดยทำไปทดลองไป  ปรับไป  โดยไม่ได้ควบคุมในเรื่องประชากรกลุ่มตัวอย่างมากนัก  แต่จะทำตามความต้องการของลูกค้ามากกว่า  และไม่ได้รายงานออกมาในรูปแบบการวิจัยพัฒนา  แต่จะรายงานในรูปแบบการประเมินโครงการ  ที่แสดงนวัตกรรมให้เห็นมากกว่า
           ผมมีความเชื่อว่า คนจะคิดวิเคราะห์สังเคราะห์ได้ต้องมีข้อมูลความรู้มาก่อน  แล้วค่อยจัดระบบ  และกลั่นออกมาเป็นแนวปฏิบัติโดยอัตโนมัติ  ที่เขาเรียกว่า “เป็นองค์รวม”  หรือ  “”บูรณาการ”  โดยไม่คิดอย่างแยกส่วน กระมัง
              สำหรับทฤษฎีต่างๆที่ผมกลั่นออกมาและถือว่าเป็นหลักยึดของผมได้ในทุกเรื่องขณะนี้ก็น่าจะเป็น “ความคิดเชิงระบบ”  ที่เริ่มจากการวิเคราะห์ปัญหาความต้องการจำเป็น(NA)  วิเคราะห์สาเหตุของปัญหา  กำหนดทางเลือก  เลือกทางเลือกในการแก้ปัญหา  วางแผน   ดำเนินการ  ประเมินผล  และปรับปรุงพัฒนาต่อเนื่อง
             ทำไมผมมาลงเอยตรงนี้  ก็เพราะว่า “ความคิดเชิงระบบ”นี้สอดคล้องกับ หลักอริยสัจของพระพุทธเจ้า  สอดคล้องกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  กระบวนการวิจัย   วงจร PDCA  ฯลฯ  ไม่ว่าจะเอาทฤษฎีใดมาจับเข้าได้ทั้งนั้น 
            และอีกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบและพยายามยึดถือคือการมีวินัยเรื่อง  “เขียนในสิ่งที่ทำ  ทำในสิ่งที่เขียน  และปรับปรุงพัฒนาต่อเนื่อง”
            ที่จริงไม่อยากจะเล่าเรื่องการพัฒนาผลงานทางวิชาการเพราะเรื่องนี้เป็นดาบสองคม  ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีคนเป็นจำนวนไม่น้อย ที่ "อยากได้แต่ไม่ควรจะได้" และพยายามหาวิธีการทุกอย่างเพื่อให้ตนเองได้…และก็ได้จริงๆ  ทำให้คนที่อยู่ด้วยกัน เขาเห็นเขาก็เบื่อระบบนี้ ซึ่งทำให้คนมองข้าราชการครูเราไม่เป็นแบบอย่างการมีคุณธรรมจริยธรรม (แต่คนที่ตั้งใจทำงานที่ควรได้และได้ตามที่ต้องการซึ่งมีเป็นส่วนใหญ่ก็ควรสรรเสริญให้กำลังใจเขา)  โดยผมก็ไม่อยากให้เราเอาเป็นเอาตายเรื่องนี้ ซึ่งผมยืนยันมาตลอดว่า   “ผลงานทางวิชาการเป็นผลทางอ้อมหรือผลพลอยได้จากการคิดค้นนวัตกรรมแล้วนำไปสู่การพัฒนาครูหรือผู้เรียนจนบังเกิดผลดีที่ชัดเจน  แล้วเราจึงนำเอาผลจากอานิสงส์การทำความดีนี้มาเสนอขอกำหนดตำแหน่งให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลพลอยได้ไม่ใช่ผลทางตรง”   แล้วเราจะมีความสุขจากผลสำเร็จของการทำงานอย่างแท้จริง         
        สำนึกนี้ผมเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นๆปี 2530 แล้ว  โดยในการพัฒนาเรื่องบรรยากาศฯของผม ก็เพราะผมต้องการจะสนองนโยบายและทำให้เป็นแนวทางแก่โรงเรียน  พอทำเสร็จผมก็ต้องรายงานต้นสังกัด  เมื่อทราบว่า ก.ค.เขามีหลักเกณฑ์ให้ส่งผลงานได้ผมก็เอาตัวนี้ส่ง  ก็ได้ระดับ 7 มา(ประเมินโดยสำนักงาน ก.ค) แล้วก็ทำเรื่องประชาธิปไตยช่วยโรงเรียนต่อไปอีก พอส่งรายงาน  ก็สำเนาเล่มนี้ส่งก.ค.อีก ก็ได้ระดับ 8 มา (โดยทั้ง ระดับ 7 และ 8 ก.ค.ประกาศให้ผ่านก่อนเงินเดือนถึงขั้นต่ำทั้งสองครั้ง รอจนเงินเดือนถึงเขาจึงแต่งตั้ง)  พอมาระดับ 9 ก็มาช่วยพัฒนามาตรฐานตามแนวทางหนังสือที่เขียน “เจาะปัญหาพัฒนาโรงเรียน” ก็ได้มาอีกเช่นกัน ซึ่งถือเป็นผลพลอยได้มากกว่าผลทางตรง
        ตอนนี้ได้ระดับ 9 มา 10 ปีแล้ว เห็นอะไรมาเยอะ  รู้สึกว่าไม่อยากยึดติดกับสิ่งเหล่านี้แล้ว ยิ่งศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงเรายิ่งเข้าใจมากขึ้น  แต่ไม่ได้หมายความว่าจะหยุดคิด หยุดทำงานนะ  เพียงแต่ลดละเรื่องกิเลสต่างๆให้น้อยลงมากกว่า  และค้นพบว่าการทำตัวเป็นผู้ให้คนอื่นน่าจะมีความสุขมากกว่า
            ที่จริงเรื่องนี้ ก.ค.ศ.เขามีเจตนาดี  แต่อยู่ที่คนต่างหาก  รวมทั้งระบบก็ยังควบคุมคนได้ไม่ทั่วถึงและขาดมาตรฐานในการปฏิบัติอย่างจริงจัง  จึงเกิดผลกระทบตามมา 
            ดังนั้นแม้ ก.ค.ศ.จะคิดหลักเกณฑ์วิธีการดีอย่างไร ถ้ายังมีคนที่มุ่งใช้วิชามารอยู่  ก็คงป้องกันได้ยาก...

หมายเลขบันทึก: 57934เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2006 13:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท