ประสบการณ์การเป็นศึกษานิเทศก์ของผม (ตอนที่ 5)


พยายามเขียนอะไรที่ง่ายต่อการปฎิบัติ ไม่ยึดติดรูปแบบ ใช้ภาษาที่เรียบง่ายแต่กินใจ และเป็นธรรมชาติ โดยจะสังเกตจากการเป็นวิทยากรบรรยายของตนเองว่า ถ้าพูดอย่างไรแล้วคนพอใจ ก็จะเขียนเหมือนอย่างที่พูด
     ผมโชคดีที่ได้มาอยู่ฝ่ายนิเทศงานบริหารและการจัดการที่มีทีมงานเข้มแข็งมาก  เช่น  อ.สุธีร์  เอกอินทร์  อ.นิวัตร  นาคะเวช  อ.ชัด  บุญญา  (จนชาวโรงเรียนเรียกกันติดปากว่า "สุธีร์ ชัด  นิวัตร ธเนศ"  ซึ่งต่อมาเราได้คิดค้นเทคนิคการระดมสมองโดยใช้บัตรขึ้นมาเราเลยเรียกกันเองว่า “เทคนิคสุชวนะ” ก็มาจากชื่อย่อของพวกเรา 4 คนนี่แหละ)
          เราได้ไปเก็บเกี่ยวเทคนิคการบริหารจากวงการธุรกิจมาประยุกต์ใช้ ถือเป็นรุ่นแรกๆทีเดียว  เราทำเอกสาร และไปเป็นวิทยากรบรรยายกันมากมาย  เช่น  เทคนิคคิวซีซี   เทคนิคการวางแผนเป็นทีม(Team  Planning)  กิจกรรม 5 ส.  กิจกรรม Walk Rally   การบริหารเชิงระบบ ฯลฯ

         พวกเราจะพูดเสมอว่า  "การนิเทศที่ได้ผลดีต้องสามารถนิเทศผู้บริหารได้ เพราะจะเกิดการขับเคลื่อนได้รวดเร็วทั้งระบบ  เราจึงยืนยันว่าควรมีฝ่ายนิเทศงานบริหารและการจัดการ  โดย ศน.ฝ่ายนี้ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ประสบการณ์เชิงบริหาร  มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริหาร"  ผู้ที่พูดประโยคนี้มากกว่าใครคือ คุณนิวัตร  นาคะเวช (ปัจจุบันเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ)ซึ่งเป็นทีมงานเราคนหนึ่ง

          โดยส่วนตัวนอกจากผมจะชอบเขียนบทความทางวิชาการ  ไปเป็นวิทยากรบรรยายแล้ว  ผมยังเขียนหนังสือตีพิมพ์ในสำนักพิมพ์ต่างๆอีกหลายเล่ม (ไม่ได้คิดหวังเรื่องเงินทองอะไร  เจตนาเพื่อเผยแพร่แนวคิดตัวเองเท่านั้น  จึงส่งให้โรงพิมพ์เขาพิมพ์และจำหน่ายเอง  ไม่ไปยุ่งเรื่องการตลาดใดใด)  หนังสือที่มีคนกล่าวถึงมาก  เช่น โลกในใจของบุญถึง  เด็กชายปลายสวน  เจาะปัญหาพัฒนาโรงเรียน  แนวทางการนิเทศประชาธิปไตยในโรงเรียน  การจัดบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดีในโรงเรียน  การจัดทำผลงานวิชาการของผู้บริหารและผู้ช่วยผู้บริหารสถานศึกษา   จี้ใจได้แง่คิด  จี้ใจได้สาระ  สี่ปีที่เรือนราชมนู ศัพท์ปฏิรูปการศึกษาที่ควรรู้ ฯลฯ   สำนักพิมพ์ที่พิมพ์ เช่น  ไทยวัฒนาพานิช  วัฒนาพานิช  สำนักพิมพ์ดอกหญ้า  องค์การค้าของคุรุสภา  สำนักพิมพ์การศาสนา เพชรเกษมการพิมพ์ เป็นต้น
         กลวิธีที่ผมใช้ในการเขียนคือ  พยายามเขียนอะไรที่ง่ายต่อการปฎิบัติ  ไม่ยึดติดรูปแบบและทฤษฎีมากเกินไป แต่เป็นการประยุกต์ทฤษฎีมาเสนอแนะเป็นแนวปฏิบัติมากกว่า  โดยพยายามใช้ภาษาที่เรียบง่ายแต่กินใจ  และเป็นธรรมชาติ 
      โดยจะสังเกตจากการเป็นวิทยากรบรรยายของตนเองว่า  ถ้าพูดอย่างไรแล้วคนพอใจ  ก็จะเขียนเหมือนอย่างที่พูด  และเมื่อได้ศึกษาค้นคว้า  ได้ตรวจสอบจากประสบการณ์  และสภาพที่เป็นจริงมาเพียงพอแล้ว ก็จะลงมือเขียนด้วยความมั่นใจ  และมีใจกว้างพร้อมจะรับการประเมิน
       เพราะผมถือว่า เสียงสะท้อนจะเป็นผลดีช่วยให้เราได้พัฒนาผลงานให้ดีมากยิ่งขึ้น 
หมายเลขบันทึก: 57921เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2006 12:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท