ท่องคาถา"สันติวิธี-สมานฉันท์" ใช้เวลา 1 ปีเขียนแผนที่แห่งความสุข


                (บทสัมภาษณ์พิเศษ ลงใน นสพ.มติชน สุดสัปดาห์ คอลัมน์ในประเทศ ฉบับวันที่ 3-9 พฤศจิกายน 2549 หน้า 13)

                ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้รับการทาบทามจาก พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี คนที่ 24 โดยตรงให้มานั่งเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

                ทั้งๆ ที่เดือนก่อน (25-29 สิงหาคม 2549) ไพบูลย์กับคณะรวม 14 ชีวิต จาก 10 องค์กร เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศภูฏาน เพื่อค้นหาตัว "GNH" (Gross National Happiness) หรือ ความสุขมวลรวมประชาชาติ

               แล้วจู่ๆ วันดีคืนดี จากที่เคยนั่งทำงานอยู่ห้องเล็กๆ ณ ศูนย์คุณธรรม อาคารเอสเอ็ม ย่านพหลโยธิน นักพัฒนาสังคมอาวุโส ก็ถูกพลเอกสุรยุทธ์เชิญให้มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีด้านสังคม โดยนั่งทำงานที่วังสะพานขาว หรือตำหนักกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร อันเป็นอาคารรูปทรงตึกฝรั่งสมัยรัชกาลที่ 5

                "ถ้าให้ทำงานกระทรวงอื่น ผมอาจไม่รับตำแหน่ง กระทรวงอื่นมีคนเก่งกว่าผมเยอะ แต่กระทรวงนี้เป็นงานที่ผมเคยทำ เป็นถิ่นที่คุ้นเคยมาก คนก็คุ้นเคย งานก็คุ้นเคย คุ้นเคยไปหมด" รัฐมนตรีไพบูลย์กล่าว

                "ตลอดชีวิตของผม ไม่มีความหนักใจใดๆ แต่การรับตำแหน่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าดีใจอะไรนักหนา เพราะชีวิตเป็นเรื่องสัจธรรม เราก็เดินไปตามวิถีของชีวิต คิดว่าควรทำอะไรก็ทำไป อะไรที่จะเกิดขึ้น เราก็เผชิญหน้ากับสิ่งนั้น" รัฐมนตรีด้านสังคมกล่าว

                นับแต่อาจารย์ไพบูลย์เดินทางเข้ากระทรวงย่านตลาดโบ๊เบ๊กล่าวกันว่า ห้องทำงานกลายเป็นที่ชุมนุมของเครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายองค์กรเอ็นจีโอ (สายกลาง) นักวิชาการ และคนที่ทำงานด้านสังคม แวะเวียนกันมาฝากการบ้านให้รัฐมนตรีใหม่ช่วยผลักดัน จนเลขานุการหน้าห้องรัฐมนตรี ให้การต้อนรับแทบไม่ทัน

                ยามรักษาการหน้าวังสะพานขาว อันเป็นที่ทำงานของรัฐมนตรีไพบูลย์ เล่าให้ฟังว่า กลุ่มคนที่เข้าพบรัฐมนตรีไพบูลย์ กับพวกที่เข้าพบรัฐมนตรีคนก่อน (นายวัฒนา เมืองสุข) แตกต่างกันอย่างมาก ยุคก่อนมีแต่บรรดานักการเมืองกับพ่อค้านักธุรกิจ ยุคนี้มีแต่ชาวบ้าน นักวิชาการ และพระที่เข้าพบไม่เว้นแต่ละวัน

                และเข้าจริง รัฐมนตรีไพบูลย์ อดีตประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และอดีตประธานศูนย์คุณธรรม เดินทางเข้ากระทรวงพร้อมท่องคาถา 2 บท คือ สันติวิธี กับ สมานฉันท์

                นอกจากนี้ ใครที่เข้ามาพบปะหารือ รัฐมนตรีเป็นต้องแจกหนังสือมนต์พิธีแปล ฉบับรวบรวมโดย พระครูอรุณธรรมรังสี (เอี่ยม สิริวณโณ) ไปอ่านที่บ้าน นับเป็นของฝากที่แปลกกว่ายุคสมัยที่ผ่านมา "ผมทำงานพัฒนาสังคมมาตลอด มานั่งเป็นรัฐมนตรีก็เหมือนได้ทำงานต่อ แต่เป็นบทบาทระดับนโยบาย เมื่อก่อน เคยอยู่ในภาครัฐก็อยู่ในระดับปฎิบัติ เคยทำงานภาคประชาชนก็อยู่ระดับปฎิบัติ ผมทำมาหลายอย่าง ถือเป็นความผสมผสานของชีวิต"

                ส่วนแก่นสาระจริงๆ ที่รัฐมนตรีไพบูลย์ตั้งใจจะผลักดันไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้มีแค่ 4 เรื่องเท่านั้น หนึ่ง ดูแลแก้ปัญหาผู้ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย 47 จังหวัด สอง เยียวยาวิกฤตของพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้แนวทางสมานฉันท์ สาม นำแนวทางสันติวิธีมาลบรอยร้าวในสังคมไทยที่แตกแยกอย่างหนักทั้งในเมืองและชนบท สี่ พัฒนาด้านคุณธรรมและความดี เปลี่ยนสังคมไทยจากการนับถือเงินตราไปสู่การนับถือคนดีที่มีอุดมการณ์ "งานของผมไม่ยาก และไม่ง่าย แต่ผมมีเวลาแค่ 1 ปีเท่านั้น ผมเชื่อว่า ถ้าเราแก้ไขถูกวิธี ความสำเร็จก็เริ่มนับหนึ่งแล้ว เหมือนกับคนป่วยไปหาหมอรักษาโรค เคยรักษากับหมอคนเดิม ไม่หาย เมื่อเปลี่ยนหมอคนใหม่ ใช้วิธีการบำบัดแบบใหม่ อาจทำให้คนไข้ฟื้นไข้ ก็เป็นได้ แต่ทุกอย่างต้องค่อยๆ เปลี่ยน ผมเชื่อว่าความสำเร็จอยู่ไม่ไกล ขอเพียงเริ่มต้นให้ถูกวิธี" กล่าวกันว่า วิธีการทำงานของรัฐมนตรีไพบูลย์ อาจจะแตกต่างจากรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่ผ่านมา คือ ไม่ได้เอาโปรเจ็คต์ หรือเอาโครงการเป็นตัวตั้ง แล้วก็เอาโครงการไปแจกประชาชน เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร ที่กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวในเวลาต่อมา เมื่อความจริงถูกเปิดโปงว่ามีการชักค่าหัวคิวหลังละหมื่นบาท และยังมีความไม่โปร่งใส ยุ่บยั่บไปหมดทุกเฟสทั่วประเทศ 

                "บ้านเอื้ออาทรที่เป็นปัญหาก็ต้องเป็นหน้าที่ของการเคหะแห่งชาติ จะต้องไปสะสางให้เกิดความถูกต้อง ส่วนที่สร้างเกินความต้องการของชาวบ้านไปหลายแสนหลังก็ต้องยุติไว้ก่อน ผมอยากให้เริ่มต้นใหม่ ส่วนอะไรที่ไม่ถูกต้องก็ต้องตรวจสอบ แก้ไขให้เกิดความถูกต้อง จริงๆ แล้ว ตัวอย่างแห่งความสำเร็จ จะต้องมาจากความต้องการของชาวบ้านจริงๆ อย่างโครงการบ้านมั่นคงที่ภาคใต้ ประสบความสำเร็จอย่างดีมาก" รัฐมนตรีไพบูลย์กล่าว

                อย่างไรก็ตาม หลายคนอดเป็นห่วงว่า การวางรากฐานด้านคุณธรรมจริยธรรม เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา มิใช่เปลี่ยนแปลงกันได้เพียงชั่วเวลาแค่ 1 ปี รัฐมนตรีไพบูลย์ตอบว่า ตนมาในสถานการณ์พิเศษ ก็ทำเท่าที่ทำได้ สังคมต้องพัฒนาการไปเรื่อยๆ สิ่งที่ทำก็อาจจะดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ก็หวังจะทำดีให้มากที่สุด เพื่อให้สิ่งดีๆ นั้น จะเป็นเชื้อให้กับความดีต่อๆ ไป

                "ไม่เป็นไรหรอกครับ สังคมไทยมีสิ่งที่ดีอยู่เยอะ เราช่วยหนุนสิ่งที่ดีให้ปรากฏตัวมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดผลต่อเนื่องไปได้มาก เมื่อเราไม่อยู่แล้ว คนใหม่มารับช่วงต่อไป เป็นอย่างไรก็ต้องเป็นไป บางทีอาจจะดีกว่ารัฐบาลชุดนี้เสียอีก" อดีตประธานศูนย์คุณธรรมกล่าว

                อีกคำถามที่ทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศ ถามกันมากก็คือ ระบบเศรษฐกิจพอเพียง จะไปเกาะเกี่ยวกับระบบทุนนิยมของโลก ได้อย่างไร? โจทย์ข้อนี้รัฐมนตรีไพบูลย์ตอบโจทย์อย่างมั่นใจว่า จริงๆ แล้ว เศรษฐกิจพอเพียง ก็คือ ความพอประมาณ และความพอดี 

                ทุนนิยมที่ดีก็ต้องมีความพอประมาณ ทุนนิยมไม่ได้แปลว่า จะต้องสุดโต่ง ความสุดโต่งเป็นเรื่องของคนที่ไปทำกันเอง ทุนนิยมที่ดีก็คือ การใช้ทุนที่มีความพอดี เช่น การลงทุนที่มีการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ ไม่ใช่ยิ่งมากยิ่งดี (สักหน่อย)

                นอกจากนี้ ทุนนิยมจะต้องมีการจัดการที่ดี และมีการป้องกันความเสี่ยง นี่คือ ทุนนิยมที่ดี สุดท้าย ระบบเศรษฐกิจพอเพียงก็คือ การตอกย้ำในเรื่องการบริหารธุรกิจที่ดีนั่นเอง

                จากนี้ไป แผนที่แห่งความสุขตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง อาจค่อยๆ ปรากฏตัวขึ้นอย่างเงียบๆ ณ วังสะพานขาว ชั้น 2 โปรดติดตาม

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

8 พ.ย. 49
คำสำคัญ (Tags): #รัฐมนตรี
หมายเลขบันทึก: 57916เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2006 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท