​ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๖๓. คำนิยม หนังสือ การอ่านกับการพัฒนาสมอง


คำนิยม

หนังสือ การอ่านกับการพัฒนาสมอง

.....

          “การสอนเด็กให้อ่านหนังสือนั้น ไม่ได้มีประโยชน์เพียงเพื่อการ อ่านออกเขียนได้แต่การอ่านยังเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ และยังเสริมสร้างให้เกิดทักษะชีวิตด้านอื่นๆ ได้อีกมากมาย

          ข้อความข้างบน คัดมาจากส่วนหนึ่งของหนังสือ การอ่านกับการพัฒนาสมอง ที่ยืนยันว่าการอ่านมีคุณประโยชน์ ต่อการพัฒนาสมอง และต่อการเรียนรู้อีกมากมายหลายด้าน ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อฝึกให้อ่านออกเขียนได้เท่านั้น

          ผมขอแนะนำหนังสือเล่มนี้ต่อพ่อแม่ ครู และผู้สนใจการศึกษาหรือการเรียนรู้ทุกท่าน

          ในหนังสือเล่มนี้ อาจารย์แพทย์หญิงพิชญา ตันธนวิกรัย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น แห่งภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายกายวิภาคศาสตร์ และกลไกการทำงานของสมองอย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย ช่วยให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการอ่านกับพัฒนาการของสมองส่วนต่างๆ รวมทั้งเชื่อมโยงไปสู่ด้านอื่นๆ ของพัฒนาการเด็ก เช่น จากการอ่าน สู่จินตภาพคือเป็นการฝึกคิดเป็นภาพ จำเป็นภาพ ผมมีข้อสังเกตส่วนตัวว่า คนที่มีความจำเรื่องราวได้ดีเป็นพิเศษน่าจะจำเป็นภาพเคลื่อนไหว

          จากการอ่านต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ เพื่อประกอบการเขียนคำนิยม ผมได้ความรู้ใหม่เกี่ยวกับคุณค่าของการอ่านมากมาย อาทิ การอ่านให้อิสระในการสร้างจินตภาพ จากภาพตัวอักษรสู่ความหมายและจินตภาพ ได้สัมผัสประสบการณ์ (มือสอง) ที่ไม่พึงประสบในชีวิตจริง ทำให้สมองโลดแล่น

          การอ่านนิยาย นวนิยาย ช่วยให้เรียนรู้เรื่อง ใจเขาใจเรา (theory of mind) ต่างจากการดูโทรทัศน์ การอ่านหนังสือช่วยให้เข้าใจตนเอง ช่วยสร้างอัตลักษณ์ในช่วงวัยรุ่น ช่วยคลายความเครียด ได้ดีกว่าการฟังเพลง และเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ผมเชื่อว่า การอ่านหนังสือบางประเภทช่วยผ่อนคลายจิตใจ ผมเองต้องอ่านหนังสือสารคดีเบาๆ ก่อนนอน ช่วยให้นอนหลับง่าย

          การอ่านมีส่วนช่วยพัฒนาทักษะการคำนวณ เพราะการอ่านทำให้คุ้นเคยกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ คือมีทักษะการเรียนรู้ที่ดี และการอ่านในวัยเยาว์ ช่วยความจำในวัยสูงอายุ

          เป็นครั้งแรกที่ผมได้รู้จัก บรรณบำบัด (bibliotherapy) ที่เป็นการบำบัดรักษาทางจิตวิทยาอย่างหนึ่ง เพื่อช่วยให้ผ่านพ้นสภาพจิตใจที่เครียดและเป็นทุกข์ รวมทั้งช่วยการพัฒนาด้านจิตใจ มีตัวอย่างในบริบทไทย ใช้การอ่านช่วยพัฒนาความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเอง (self-esteem) ในเด็กพิการ

          ในตอนที่กล่าวถึงหนังสือดี สำหรับอ่านแล้วคลายทุกข์จากเหตุการณ์จำเพาะ ทำให้ผมนึกถึงหนังสือดีทั่วๆ ไป และนึกถึง “๑๐๐ หนังสือดี เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน” (http://www.qlf.or.th/Home/Contents/522) ซึ่งก็หมายความว่า มีหนังสือเลวด้วย ทั้งต่อเด็กและต่อผู้ใหญ่

          พ่อแม่ที่มีลูกเล็ก โปรดอย่าพลาดบทที่ ๖ สร้างลูกให้เป็นนักอ่าน ผมชอบตอนที่กล่าวถึงการสร้างเด็กให้เป็นนักอ่านบนตักของผู้ปกครอง อ่านแล้วสะท้อนคิด พ่อแม่ชวนลูกอ่าน ตีความ แล้วสะท้อนคิด สร้างความเพลิดเพลิน สนุกสนาน และเห็นคุณค่ามีขั้นตอนการฝึกให้ค่อยๆ พัฒนาทักษะการอ่าน

          ลงท้ายด้วยเด็กที่มีความบกพร่องด้านการอ่าน (dyslexia) เนื่องจากการทำงานของสมองผิดปกติเฉพาะส่วน โดยที่สติปัญญาด้านอื่นๆ ปกติ พบถึงร้อยละ ๓.๒ - ๑๓.๖ เป็นภาวะที่แก้ไขได้ โดยต้องได้รับการวินิจฉัย และช่วยเหลือเป็นรายคน เป็นความรู้ที่จะช่วยเหลือเด็กที่มีความบกพร่องในการอ่าน ให้แก้ไขความบกพร่องและเติบโตมีพัฒนาการปกติได้

          ผมเองมีความเชื่อว่า การเรียนรู้ในทุกๆ ด้านเป็นการพัฒนาสมอง หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงในสมอง แต่ไม่มีความรู้เรื่องสมองกับการเรียนรู้ดีพอ การได้อ่านต้นฉบับของหนังสือ การอ่านกับการพัฒนาสมอง โดย อาจารย์แพทย์หญิงพิชญา ตันธนวิกรัย ทำให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการอ่านกับการเปลี่ยนแปลงในสมอง และการพัฒนาสมอง รวมทั้งการพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ทำให้เห็นคุณค่าของการอ่านยิ่งขึ้น ผมรู้สึกว่าตนเองโชคดี ที่เกิดมาเป็นคนชอบอ่านหนังสือ มาแต่เด็กอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วพอจะอธิบายสิ่งที่เคยสงสัยหลายอย่างในชีวิตของตนเอง ว่ามีกลไกอย่างไร

          ผมขอขอบคุณ อาจารย์แพทย์หญิงพิชญา ตันธนวิกรัย และคณะผู้ดำเนินการของมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ที่ผลิตหนังสือดีเล่มนี้ออกเผยแพร่ เพื่อประโยชน์ต่อวงการศึกษาไทย และต่อสังคมไทยในวงกว้าง ให้เข้าใจคุณค่า ของการอ่านในแง่มุมที่ลึกและเชื่อมโยงยิ่งขึ้น

วิจารณ์ พานิช

ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

๒ กันยายน ๒๕๕๗

หมายเลขบันทึก: 578491เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2014 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2014 10:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เด็กเดี่ยวนี้ก้มหน้ากับจอเล็กๆครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท